“ใครวานให้ออกไปปากซอยตอนเที่ยง มีโกรธ!”
เหมือนเลือดในตัวกำลังเดือดปุดๆ นัยน์ตาจะถลนออกมากลิ้งขลุกๆ เซลล์ร่างกายคุณแทบจะแตกเป็นเสี่ยงๆ นี่แค่เดินออกมาปากซอยเท่านั้นนะ ร่างกายกลับมีอาการยอมแพ้เปลวแดดหน้าร้อนของประเทศไทยเสียแล้ว
ทั้งๆ ที่พวกเราอยู่ในประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรมาจนหัวหงอก แต่ก็ยังไม่ชินเสียที มันอดสงสัยไม่ได้ว่า ร่างกายของมนุษย์ถูกออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับความร้อนได้ดีแค่ไหน ร่างกายคุณตอบสนองอย่างไรเมื่อเจอภาวะร้อนจัด หรือเรามีวิธีลดความร้อนร่างกายที่กำลังเดือนระอุเช่นนี้ให้น่าชื่นใจขึ้นอย่างไร (นิดหน่อยก็ยังดี) ผ่านมุมมองทางวิทยาศาสตร์และสรีระวิทยา
ผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์เฉียดตายเพราะความร้อนระอุที่ไม่ปราณีปราศรัย อาจเพราะความเป็นนักปั่นทั่วริ่งอ่อนประสบการณ์ด้วย เมื่อหลายปีก่อนผมปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ไปมุกดาหารในช่วงเดือนมีนาคม ช่วงที่เข้าพื้นที่ภาคอีสานสภาพอากาศทารุณมาก และการปั่นปลีกวิเวกคนเดียวก็ทำให้ผมไม่มีตัวช่วยมากนัก ทำได้เพียงเปิดแผนที่กระดาษออกมาหาเส้นทางชนบทที่น่าสนใจ เลยลองทะลึ่งปั่นบนเส้นทางลี้ลับนี้ดูเผื่อจะได้รับประสบการณ์แปลกใหม่บ้าง
และก็เป็นดั่งใจหวัง ได้ประสบการณ์ใหม่ที่ ‘เฉียดตาย’ จากอากาศร้อนจัด ระหว่างทางไม่มีแหล่งน้ำเลย หาบ้านคนไม่เจอ น้ำที่เตรียมมาก็หมดเกลี้ยง ท่ามกลางเปลวแดดที่สาปส่ง ขาล้าหมดแรงเหมือนจะเป็นลม ผมล้มไปพร้อมๆ กับจักรยานแต่ก็ต้องกัดฟันค่อยๆ พยุงตัวหาที่หลบแดด ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนร่างกายกำลังจะแตกเป็นเสี่ยงๆ หูแว่ว ภาพหลอน โชคดีที่เจอนาข้าวของใครไม่รู้ จึงค่อยๆ ซมซานไปอย่างช้าๆ นาข้าวยังมีน้ำอยู่ประมาณหน้าแข้ง ผมค่อยๆ สัมผัสน้ำ ลูบขาแขนเบาๆ เพื่อไม่ให้เกิดอาการช็อก จากนั้นก็นอนแช่น้ำในนาข้าวไม่สนอะไรทั้งสิ้น ใครมาเห็นก็คงเป็นภาพที่พิลึกพิสดารไม่น้อย
แต่ครั้งนั้นเองทำให้ผมเรียนรู้ว่า อากาศร้อนๆ ‘ฆ่าคนได้’
ร้อนแค่ไหนที่เธอรับได้?
สำหรับคนขี้ร้อน จั๊กกะแร้เปียก ช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน เป็นช่วงที่ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงที่สุดทะยานไปเกิน 40 องศาฯ ซึ่งเป็นระดับความร้อนที่ร่างกายมนุษย์ทนไม่ได้เป็นเวลานาน แม้แต่สัตว์ต่างๆ ทั้งในสวนสัตว์และปศุสัตว์ทั่วประเทศยังช็อกจากคลื่นความร้อน แล้วมนุษย์อย่างเราๆ จะไปเหลืออะไร?
ต้องยอมรับว่าประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกล้วนล้มเหลวในการเตือนภัยคลื่นความร้อน ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอัตราการตายจากอากาศร้อนจัดเพิ่มสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ในประเทศฝรั่งเศสที่ดูจะมีวิทยาการยอดเยี่ยมก็ยังพลาดอยู่บ่อยครั้ง เพราะมีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนจัดถึง 70,000 รายใน 15 ปี หากเอาอัตราเสียชีวิตจากภัยพิบัติทั้งจากแผ่นดินไหว พายุเฮอร์ริเคน และน้ำท่วมมารวมกันก็ยังเอาชนะความตายจากอากาศร้อนไม่ได้เลย
เทรนด์อากาศร้อนเกิดขึ้นในหลายประเทศ มันพิสดารและคาดเดาได้อยากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าเป็นห่วง ล่าสุดวารสารวิชาการ Lancet ตีพิมพ์งานวิจัยที่อ้างอิงจาก 26 สถาบัน เนื้อหาเกี่ยวกับภัยความร้อนที่มีผลต่อสุขภาพ ทั้งจากสำนัก WHO หรือ World Bank ที่ล้วนจัดความร้อนให้เป็น ‘Public Health Emergency’ วิกฤตฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่คนทั่วโลกกว่า 30% ยังคงต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย และอาจเสียชีวิตจากอากาศร้อนจัด มันจึงเป็นภัยที่น่าหวั่นวิตกไม่น้อยสำหรับคนที่ไม่มีทางเลือกหลบร้อนอย่างใครๆ เขา
อย่างไรก็ตามศักยภาพของร่างกายมนุษย์สามารถรับมือกับความร้อนที่สูงได้ถึง 50 องศาเซลเซียส ตราบใดที่คุณยังเหงื่อออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ ‘ความชื้น’ (Humidity) ต่างหากที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตคุณ ร่างกายจะพยายามลดความร้อนผ่านเหงื่อให้ระเหยออกมาเพื่อมอบความเย็นให้ แต่เมื่อความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีมากถึง 90% ขึ้นไป ความชื้นที่หนาแน่นระดับนี้ มีแต่ทำให้เหงื่อคุณหยดติ๋งๆ เป็นน้ำแทนที่มันควรจะระเหยออก ทำให้อุณหภูมิในร่างกายคุณไม่ได้ลดลงเลย แถมสูญเสียน้ำในร่างกายอีกต่างหาก
มีการวางข้อสันนิษฐานโดยคร่าวๆ ระบุว่า ร่างกายมนุษย์นั้นสามารถรับมือความร้อนที่ 40 องศาเซลเซียสโดยมีค่าความชื้นอยู่ที่ 75% ถือเป็นระดับที่ ‘มนุษย์พอจะมีชีวิตรอดในระยะเวลา 6 ชั่วโมง’ หากมากเกินไปกว่านี้ ร่างกายจะไม่สามารถทำงานได้ปกติ แต่ก็ยังไม่มีที่ใดบนโลกที่อุณหภูมิสูงระดับ 40 องศาและความชื้นสูงเกิน 75%
แม้เมือง Bandar Mahshahr ในประเทศอิหร่านในปี 2015 ที่อุณหภูมิสูงระดับประวัติการณ์ไปแตะถึง 50 องศาเซลเซียส แต่ค่าความชื้นสัมพัทธ์ก็อยู่ที่ 46% เท่านั้น ถือว่ายังปราณีต่อมนุษย์อยู่ เหงื่อที่ออกยังระเหยมอบความเย็นได้บ้าง
แม้ข้อสันนิฐานที่ว่า ยังไม่มีที่ใดบนโลกตามธรรมชาติอุณหภูมิสูง 40 องศา บวกกับค่าความชื้นเกิน 75% แต่ก็ไม่แน่ที่สถิตินี้จะคงอยู่ถาวรต่อไปภายใต้สถานการณ์โลกร้อนผีเข้าผีออกเช่นนี้
เอาเข้าจริงอุณหภูมิที่สูงถึง 31 องศาฯ ของบ้านเราก็เริ่มมอบความไม่สบายทางกายแล้ว เพราะร่างกายของคุณสร้างความร้อนขึ้นมาอยู่เสมอจากทุกอิริยาบถ โดยมีความร้อนพอๆ กับหลอดไฟขนาด 100 วัตต์ แต่หากร่างกายมีการออกแรงในช่วงสั้นๆ อาจเป็นการวิ่งหรือกระโดด ร่างกายของคุณอาจสร้างความร้อนใกล้เคียงกับหลอดไฟ 1,000 วัตต์ หรือเทียบเท่ากับความร้อนของเครื่องอบไมโครเวฟ 1 เครื่องที่อาจทำให้อวัยวะภายในได้รับความเสียหายเลยทีเดียว
นักสรีระวิทยามีความเห็นว่า กล้ามเนื้อของมนุษย์ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการส่งผ่านพลังงานได้ดีอย่างที่เราคิด
กล้ามเนื้อมนุษย์สูญเสียพลังงานไปถึง 90% เป็นพลังงานความร้อน ตั้งแต่ก้าวแรกที่คุณออกเดินหรือวิ่ง ความร้อนที่เกิดขึ้นจะสะสมอิงกับอุณหภูมิสภาพแวดล้อมภายนอกด้วย ดังนั้นอุณหภูมิร่างกายของมนุษย์จึงอิงกับสภาพแวดล้อม ที่หากเพิ่มหรือลดเพียงไม่กี่องศาก็อาจทำให้รูปแบบการทำงานของร่างกายเปลี่ยนไปจากเดิม
อุณหภูมิร่างกายมนุษย์มีสมดุลอยู่ระหว่าง 36.5 – 37.5 องศาเซลเซียส ซึ่งระบบเผาผลาญ เอนไซม์และโปรตีนในร่างกายจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด อันเป็นผลมาจากวิวัฒนาการหลายล้านปีที่การอาศัยบริเวณทุ่งสะวันน่าทำให้ร่างกายคุ้นชินจนสร้างระบบลดความร้อนในร่างกายที่ซับซ้อนและเป็นไปโดยสัญชาตญาณ
แต่หากกระบวนการร่างกายไม่สามารถจัดการได้ พฤติกรรมที่ไม่ผ่านการตระหนักรู้จะทำให้คุณหาวิธีอื่นๆมาลดความร้อน ทั้งการพัดกระพือให้เกิดลมเย็น ถอดเสื้อที่หนาออก รู้สึกกระหายต้องหาน้ำดื่ม เนื่องจากพฤติกรรมเหล่านี้ถูกควบคุมผ่านประสาทรับอุณหภูมิ (thermoreceptors) ที่กระจายไปทั่วร่างกายทั้งในผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระเพาะอาหาร ล้วนอ่อนไหวต่ออุณหภูมิเป็นพิเศษ
แม้คุณจะไม่ชอบเหงื่อ (sweat) แค่ไหนก็ตามในหน้าร้อนนี้ เพราะมันอาจทำให้รักแร้เปียก มีกลิ่นตัวไม่พึงประสงค์ แต่เหงื่อเองมีประสิทธิภาพในการช่วยลดความร้อนร่างกายมาก หากมันจะทำหน้าที่ได้ดีที่สุด เหงื่อต้องพึ่งพาระดับสมดุลเลือดในร่างกาย ซึ่งมีน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญ หากร่างกายคุณเข้าสู่ภาวะขาดน้ำ (dehydrated) หรือมีอวัยวะใดสูญเสียการทำงาน ร่างกายจะเกิดอุณหภูมิที่สูงขึ้นไปถึง 40 องศาเซลเซียส และจะเข้าสู่ช่วง Heat Stress ความเครียดจากความร้อนจะทำให้ผิวคุณเริ่มมีสีแดงคล้ำ เหงื่อออกมาก หากไม่ได้รับการเยียวยาร่างกายจะเข้าสู่ขั้น Heatstroke ผิวจะขาวซีด แห้ง เนื่องจากเลือดจำนวนมากถูกนำไปใช้หล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญ เพื่อลดทอนความเสียหายจากความร้อนจากการที่สูญเสียออกซิเจนที่เรียกว่า Hypoxia
ส่วนใหญ่หากคนทั่วไปอยู่ในขั้นนี้ราว 70% จะเริ่มมีสัญญาณอวัยวะเสียหาย และหัวใจอาจล้มเหลวจากการพยายามสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ อย่างหนัก
ผู้สูงอายุมักเสี่ยงต่อ Heatstroke เป็นพิเศษเนื่องจากหัวใจอ่อนแอเป็นทุนเดิม และผิวหนังสูญเสียประสิทธิภาพในการออกเหงื่อเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย ในขณะที่เด็กเล็กก็เสี่ยงไม่น้อย เนื่องจากมีพื้นผิวที่อ่อนไหวต่อความร้อนมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ ทำให้ดูดกลืนความร้อนได้เร็ว เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในหน้าร้อนเกือบทุกประเทศ
ไม่มีใครเลยที่มีภูมิต้านทานความร้อน พวกเราล้วนเป็นเหยื่อของเปลวแดดและความชื้นอันไม่ปราณีปราศรัยทั้งสิ้น มันไม่เหมือนโรคอื่นๆ ที่หากมีภูมิต้านทานดีก็อาจต่อสู่ได้ แต่ความร้อนมีศักยภาพในการสังหารคนได้อย่างเท่าเทียมกัน
ปรับตัวเพื่ออยู่กับความร้อนอันโหดร้าย
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิได้อย่างยอดเยี่ยม เราสามารถอยู่ในที่หนาวสุดขั้วและร้อนสุดขั้วโดยอารยธรรมยังสามารถเจริญงอกเงยอย่างน่าประหลาด หากให้เวลาเราปรับตัวอีกสักหน่อย จากหลักฐานคือ ‘ต่อมเหงื่อ’ (sweat glands) อันเป็นผลพวงของวิวัฒนาการเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้ผู้คนที่อาศัยในแต่ละโซนของโลกมีพฤติกรรมการออกเหงื่อที่ไม่เหมือนกัน แต่หากรอคอยให้วิวัฒนาการจัดการอย่างเดียว เที่ยงนี้คุณอาจกรอบจนเป็นกบตากแห้ง เราจึงมีวิธีง่ายๆ ที่จะคลายร้อนในวันที่สาหัสมาฝากคุณ
- ไอศกรีม หวานเย็น บรรดาของคลายร้อนสำหรับผู้ใหญ่ใจเด็กยังใช้งานได้ดีเสมอมา และเป็นวิธีที่ลดอุณหภูมิร่างกายได้รวดเร็ว ง่าย และอร่อย การเอามือหรือเท้าแช่น้ำเย็นเวลาอยู่บ้านก็ช่วยลดความร้อนจากร่างกายได้เนื่องจากมือและเท้าเต็มไปด้วยหลอดเลือดฝอยที่เสมือน ‘หม้อน้ำ’ ตามธรรมชาติในการควบคุมอุณหภูมิร่างกายคุณ
- เครื่องดื่มร้อนๆ ดูเป็นสิ่งตรงข้ามกับการคลายร้อน แต่ชาดำและชาสมุนไพรที่มีคาเฟอีนต่ำเป็นมิตรกับคุณในฤดูร้อน เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากกระตุ้นการเผาผลาญและทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลังที่มีคาเฟอีนและเทารีน รวมไปถึงแอลกอฮอล์ต่างๆ ที่มีผลในการก่อกวนระบบการปรับอุณหภูมิกาย (thermoregulation) ของคุณ
- ในวันร้อนๆ พัดลม ก็เหมือนกับพัดลมจากตู้อบที่ดูดเอาลมร้อนๆ มาปะทะคุณ ยิ่งพัดลมเพดานไม่ต้องพูดถึง อากาศร้อนมักลอยตัวสูง พัดลมเพดานยิ่งดูดความร้อนกลับลงมาอีก ถ้ามีเพียงพัดลมเท่านั้นที่ช่วยชีวิต ลองวางถาดน้ำแข็งหลังพัดลม เพื่อให้พัดลมดูดไอเย็นพัดพามาปรนเปรอคุณ เหมือนเป็นเครื่องปรับอากาศเวอร์ชั่นคนยาก ที่ใช้แก้ขัดไปพลางๆ ก่อน
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งโดยเฉพาะเมื่อมีค่าความชื้นสูง เหงื่อจะกลั่นตัวเป็นหยดมากกว่าที่จะระเหยมอบความเย็นให้ คุณจึงอาจรู้สึกป่วยกลับมาเป็นของแถม
- ยังไม่มีหลักฐานว่าการกินอาหารเผ็ดๆ จะช่วยทำให้ร่างกายเย็นลง มื้อเที่ยงครั้งต่อไปลองเลือกอาหารที่รสชาติไม่เผ็ดร้อนมากนัก หรือมีส่วนประกอบของน้ำมากเป็นพิเศษ ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนและไขมันมาก เพราะใช้เวลานานกว่าจะย่อยสำเร็จ ทำให้เลือดไปเลี้ยงกระเพาะและลำไส้มากเป็นพิเศษ คุณจึงสูญเสียการควบคุมอุณหภูมิร่างกายไปเพื่อย่อยอาหารซะมากกว่า
- อาบน้ำเย็นๆ ก่อนนอนช่วยให้ร่างกายคุณรักษาอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นระหว่างนอนหลับ และทำให้คุณหลับสบายขึ้น แต่การไม่นอนเลยสร้างผลเสียที่ร้ายแรงกว่า เพราะร่างกายที่ขาดการนอนหลับทำให้สูญเสียสมดุลในการปรับอุณหภูมิกายด้วยเช่นกัน
- น้ำเป็นทุกสิ่ง ควรดื่มน้ำเยอะๆ เพราะหน้าร้อนจะสูญเสียเหงื่อมาก และควรดื่มน้ำเปล่าที่สุกแล้ว หรือจะเสริมปรุงแต่งด้วยน้ำตาล เกลือแร่ อย่างพอเหมาะในบางโอกาส จะออกไปไหนติดกระติกน้ำเอาไว้อุ่นใจกว่า
พวกเรายังต้องอาศัยอยู่กับอากาศร้อนอีกเป็นเวลานาน ยกเว้นคุณมีทุนทรัพย์จะหนีไปประเทศไหนก็ได้ในช่วงซัมเมอร์ แต่ความเป็นจริงคือ ทุกประเทศกำลังเผชิญสถานการณ์โลกร้อนร่วมกันและไม่มีทางหนี ทุกชีวิตกำลังตกที่นั่งลำบากจากอุณหภูมิที่ร้อนระอุ
ร้อนกายคุณยังหาทางคลี่คลายได้ไม่ยาก แต่หากร้อนใจ ไม่ว่าจะฤดูไหนความร้อนรุ่มก็บ่อนทำลายคนรอบข้างได้ทุกเมื่อ สำรวจตัวเองดีๆ ว่าคุณร้อนแค่ไหน พระอาทิตย์อาจยังแพ้ใจคนอย่างคุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
threegenerationsleft.files.wordpress.com
Hypoxia and Inflammation
Bandar Mahshahr in Iran experiences ‘second hottest temperature ever
Preparing for and Responding to Extreme Heat and Cold Events