“อย่าทำบาปนะ เพราะดูจากอากาศตอนนี้ก็น่าจะรู้แล้วใช่ไหมว่าในนรกมันจะร้อนแค่ไหน”
ประโยคพูดทีเล่นทีจริงของประชาชนชาวไทยโดยทั่วไปในทุกหน้าร้อน ไม่ว่าเราจะคิดว่าฤดูร้อนนี้อากาศร้อนมากแค่ไหน ก็ดูเหมือนกับว่า ปีถัดไปอุณหภูมิในทุกเดือนมีนายาวไปจนถึงพฤษภาก็พร้อมจะไต่ระดับขึ้นทุกปี
หรือเอาจริงๆ ก็ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งที่พวกเราเองต่างเฝ้าอธิษฐานภาวนาแล้วให้พระสุริยเทพทรงพักผ่อนบ้าง อย่าต้องทรงงานหนักเกินไปเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าร้อนนี้ที่อุณหภูมิไต่ขึ้นไปเลย 40 กว่าองศาในปีนี้!
แต่จะภาวนายังไงก็ดูเหมือนกับว่าพระสุริยเทพท่านจะยังคงมุ่งมั่นในการทรงงาน สาดส่องแสงอาทิตย์และความอบอุ่น (จนร้อนไปถึงขั้นแสบผิว) มายังโลกของเราอย่างไม่ลดละ
ถ้าสิ่งที่ทำให้มนุษย์ยังคงเป็นเผ่าพันธุ์ที่อยู่เหนือห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศทั้งปวง คือทักษะการปรับตัวและการเอาตัวรอด แต่การเอาชนะอากาศร้อนและแดดแรงๆ คงเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมนุษย์คนไหนกล้าฝันถึงเมื่อหลายร้อยหลายพันปีที่แล้ว
เพราะฉะนั้นความพยายามจะเอาชนะพลังของพระสุริยเทพ หรือความทะเยอะทะยานอยากจะอยู่เหนือธรรมชาติครั้งนี้ของมนุษย์นั้นทรงพลังและยิ่งใหญ่เหลือเกิน แม้ว่าต้นกำเนิดของความทะเยอะทะยานนี้กลับหาได้เกิดจากความตั้งใจจะลดอุณหภูมิของาอากาศเพื่อทำให้กายเนื้อของมนุษย์เย็นสบายไม่ แต่เกิดจากการที่บริษัทโรงพิมพ์แห่งหนึ่งอยากแก้ปัญหาความตีรวนของเครื่องพิมพ์ที่เกิดจากอากาศร้อนๆ และความชื้นในฤดูร้อนที่ทำให้คุณภาพของสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์ออกมามันผิดเพี้ยนไปหมด
บริษัทที่ว่าคือ บริษัท Brooklyn’s Sackett-Wilhelms Lithographic and Publishing Company ที่ประสบปัญหาอย่างหนัก พวกเขาต้องทนอยู่กับความมึนงงของเครื่องพิมพ์ในหน้าร้อนมาสองปีแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็อย่างเช่น เครื่องร้อนจนพิมพ์สีออกมาแล้วเบลอ หมึกพิมพ์ออกมาแล้วสีเพี้ยน ขอบเส้นสีไม่ชัด กระดาษติดขัดอย่างหนักเพราะเครื่องพิมพ์ร้อนจัด และปัญหาอื่นๆ อีกเพียบที่พวกเขาต้องเจอในหน้าร้อน
มองซ้ายมองขวาก็เห็นว่า น่าจะต้องเอาปัญหานี้ไปปรึกษาบริษัทที่เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการความเย็นสักหน่อย ซึ่งในสมัยนั้นบริษัทที่เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการความเย็น ก็คือบริษัทที่ทำพวกเรื่องพัดลมหรือระบบหมุนเวียนอากาศเกี่ยวกับใบพัด ทั้งหมดจึงเป็นที่มาที่ทำให้วิศวกรหนุ่มวัย 25 ปีที่ชื่อ วิลลิส แคเรีย (Willis Carrier) ได้มีโอกาสคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นจุดกำเนิดเครื่องปรับอากาศหรือแอร์คอนดิชั่นเนอร์ให้กับมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้
สิ่งประดิษฐ์ที่แคเรียคิดขึ้นในตอนนั้น คือระบบความเย็นที่ช่วยลดความชื้นรอบๆ ปริ๊นเตอร์ โดยวิลลิสใช้พัดลมอุตสาหกรรมเป่าสตรีมคอยล์ที่หล่อด้วยน้ำเย็น ทำให้อุณหภูมิเย็นขึ้นแถมเป็นการลดความชื้นลงอีกต่างหาก
จากตอนแรกที่จะคิดระบบนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความตีรวนของเครื่องพิมพ์ เลยกลายเป็นว่าอานิสงค์แห่งความจะทำให้เครื่องพิมพ์เย็นนี้พลอยส่งผลให้ผู้คนที่อยู่ในโรงพิมพ์นั้นได้อยู่ในอากาศที่เย็นๆ ไปด้วย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบและเครื่องปรับอากาศบนโลกมนุษย์นี้
ต่อมาจึงมีการเปิดบริษัทที่สร้างและพัฒนาระบบปรับอากาศและความเย็นกันอย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จากที่ระบบปรับอากาศเครื่องใหญ่มากและติดตั้งเฉพาะในที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟ โรงหนังก็เริ่มพัฒนาให้มีการติดตั้งในที่อยู่อาศัย และทำให้เครื่องมันเล็กลงมาเรื่อยๆ จนสามารถติดตั้งในรถได้
บางคนอาจจะบอกว่าหากเราจะให้เครดิตกับคนที่พัฒนาเครื่องปรับอากาศที่ให้ความเย็นแบบเครื่องปรับอากาศสมัยใหม่นี้ เราควรให้เครดิตไปตั้งแต่คนที่คิดค้นพัดลมหมุนมือ ระบบน้ำหล่อเย็น และอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นจุดเริ่มต้นไม่ให้แคเรียต้องไปนับหนึ่งกับการทำให้เกิดลมเย็นขึ้นในอากาศ แต่ยังไงก็ตาม วิลลิสก็ยังคงเป็นบุคคลที่คนทั่วโลกต่างคารวะให้ด้วยใจเคารพว่าเป็นบิดาแห่งเครื่องปรับอากาศ เพราะเขาเองเป็นคนเริ่มต้นระบบการทำความเย็นทั้งหมดที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาให้เครื่องปรับอากาศเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้แบบไม่กระเป๋าฉีกจนเกินไปนัก
ดังนั้นถ้าเราต้องขอบคุณใครสักคนบนโลกที่ทำให้พวกเราไม่ต้องจำลองการอยู่ในนรกภูมิ ก็คงจะเป็น คุณวิลลิส แคเรีย นี่แหละ พวกเราเลยสามารถใช้ชีวิตในหน้าร้อนได้อย่างอยู่เย็นและไม่เป็น “สุก”
อ้างอิงจาก