การเลี้ยงดูโดยเสริมแรงอย่างผิดวิสัยธรรมชาติ ผลักดันให้เด็กๆ คิดว่า ตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทั้งปวง
ใครๆ ก็รักตัวเองกันทั้งนั้น แต่ ‘ความหลง’ แบบหัวปักหัวปำ กำลังไปกดทับพื้นที่คนอื่นให้แคบอยู่หรือเปล่า?
การมองเห็นคุณค่าของตัวเองมักเป็นเรื่องจรรโลงใจ ความมั่นอกมั่นใจเป็นกลไกโดยธรรมชาติของมนุษย์แต่ไหนแต่ไร ใครๆ ก็ปรารถนาให้ตัวเองสมบูรณ์แบบแทบทั้งนั้นมิใช่หรือ?
แต่หากความมั่นใจของคุณกดทับพื้นที่ของคนอื่นล่ะ? ต้องการเรียกร้องให้ใครๆ เห็นดีเห็นงามด้วย และทุกครั้งที่ถูกปฏิเสธมักรู้สึกกระวนกระวายใจจนไม่เป็นหลับนอน ความหลงใหลในตัวเองเป็นตัวเร่งที่ผลักดันให้เกิด ภาวะ Narcissistic หรืออาการทางจิตชนิดหลงตัวเอง ซึ่งถูกจัดว่าเป็นอาการ Personality Disorder ที่กำลังมาแรงสุดๆ ในยุค digital age โดยเฉพาะปัจจัยหลักเกิดจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ที่เสริมแรงความมั่นใจอันบิดเบี้ยว จนสร้างความยากลำบากเมื่อต้องเข้าสังคมส่วนรวมที่ทุกอย่างล้วนดำเนินไปอย่างเอกเทศ คาดเดายาก หากคาดหวังไว้สูง เด็กๆ ก็มักจะร่วงลงมาเจ็บหนักยากเยียวยา
หากเรายังไม่พร้อมจะเพาะพันธุ์เมล็ดแห่งความหลงตัวเอง
อะไรเป็นปัจจัยร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างให้พวกเขาเติบโต
เลี้ยงให้มวลชนดู
ภาวะหลงตัวเอง Narcissistic Personality Disorders ปัจจัยสำคัญเกิดจากการการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ซึ่งเด็กๆ ล้วนต้องการการเอาใจใส่และความเห็นอกเห็นใจจากพ่อแม่ ซึ่งการเสริมแรงโดยมีข้อแม้และเงื่อนไขอย่างฝืนธรรมชาติ เป็นตัวเร่งให้เด็กๆ มีภูมิคุ้มกันทางสังคมต่ำ และสร้างเกราะคุ้มกันด้วยภาวะหลงตัวเองแทน
Alan Kazdin จากสถาบัน Yale Parenting Center ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Time ว่า ปัจจัยที่น่าตั้งข้อสังเกตใหม่ๆ อีกประการ คือบรรดาพ่อแม่เลี้ยงลูกผ่านสื่อออนไลน์ อย่าง YouTube หรือ Facebook โดยอัพเดทความเคลื่อนไหวตลอดเวลา จวบจนลงโทษลูกๆ เป็นตัวอย่าง (ซึ่งบางกรณีเข้าข่ายประจานออนไลน์) ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าเป็นจุดสนใจของผู้คนโดยขาดเวลาส่วนตัว การถูกจ้องมองตลอดเวลาทำให้พวกเขารู้สึกเป็นคนสำคัญ แม้ไปเที่ยว กินข้าว หรือระหว่างนอนหลับ พ่อแม่ก็มักหยิบกล้องมา live ให้คนเป็นพันๆดูอยู่เสมอ มันช่วยเร้าให้เด็กๆ ต้องทำ ‘สิ่งที่ดึงดูดความสนใจ’ เมื่ออยู่หน้ากล้องเท่านั้น
แม้พ่อแม่บางคนจะใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางการสื่อสารกับครอบครัวอื่นๆ เพื่อเป็นแบบอย่างในการเลี้ยงดู แต่หัวใจสำคัญคือการกำหนดช่องว่างบางอย่าง เพื่อให้เป็นพื้นที่ของลูกๆ โดยปราศจากการรบกวน และไม่ให้ลูกซึมซับ negative feedback โดยตรงจากคนอื่นๆ
เลี้ยงแบบ ใครทำได้ ให้รางวัล
บางครอบครัวชื่นชอบความท้าทาย กระตุ้นให้เด็กๆพยายามแสดงศักยภาพครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อแลกกับรางวัลล่อใจ แม้คุณจะพยายามทำดีแค่ไหน แต่ความกดดันไม่เคยยุติ เพราะมันมักมีอีกหลายเรื่องที่คุณไม่ถนัดและทำไม่สำเร็จ เท่ากับว่าหากคุณผิดพลาดเรื่องนั้นๆก็จะไม่สามารถรับรางวัลที่พ่อแม่ตั้งไว้ได้เลย เนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินอันไม่มีวันสิ้นสุด
เด็กๆ ที่ถูกครอบงำด้วยการแลกเปลี่ยนมักรู้สึกไม่ได้รับความรักที่มั่นคง และยากจะมีความสุขต่อรางวัลที่ได้รับ เนื่องจากพ่อแม่จะคาดหวังอีกว่าลูกๆ ของเขามีศักยภาพอะไรเหลืออยู่บ้าง เพื่อเป็นเครื่องมือให้พวกเขาเชิดหน้าชูตา
เด็กๆ จะสับสนกับคอนเซ็ปต์ของความสำเร็จ เพราะเข้าใจว่า เป็นวิธีเดียวเท่านั้นถึงจะเป็นที่ยอมรับในสังคม และจะพยายามไล่ตามหาความสำเร็จโดยสับสนกับความสุข
เลี้ยงโดยไม่เคยเชื่อว่าลูกทำได้
พวกเขาคือพ่อแม่ที่ไม่ศรัทธาในความสามารถของลูก มักมีนิสัยหัวรั้น อารมณ์ฉุนเฉียว และคาดหวังสูงเกินความจริง
การไม่เคยอยู่ในสายตาคนในครอบครัว ทำให้เด็กๆ รู้สึกโดนเหยียดหยามและไม่เท่าเทียม เด็กๆ มักแสดงออกแตกต่างกัน ตั้งแต่เป็นคนที่ยอมรับความพ่ายแพ้ง่ายๆ มีความเกลียดชังตัวเองอยู่ลึกๆ และหาทางออกอื่นๆ โดยการไปติดสิ่งอื่นที่ให้พื้นที่กับความผิดพลาดและการยินยอมได้มากกว่า
หรือเด็กอีกประเภทจะแสดงออกในทางตรงกันข้าม โดยเป็นหัวขบถของบ้าน ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้จากครอบครัว ทั้งชีวิตของพวกเขาจะมุ่งตรงเพื่อพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นว่า พวกเขาคิดผิด อย่างประชดประชัน และไม่ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ จากคนอื่นๆ
เลี้ยงแบบของตั้งโชว์
พ่อแม่กลุ่มนี้บ่มเพาะเด็กที่มีอาการ Narcissistic Personality Disorders มากที่สุดจากการสำรวจของ The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders เรียกว่าเลี้ยงแบบ Golden child พวกเขาชอบที่จะให้ลูกๆ อยู่ท่ามกลางแสงสปอตไลท์ ในลักษณะเป็นเครื่องมือในการโชว์ความสำเร็จของพ่อแม่เอง
โดยเด็กๆ จะได้รับรางวัลต่อหน้าคนอื่นๆ ชื่นชมท่ามกลางผู้คน โดยถูกพ่อแม่อัดฉีดบรรยากาศความสำเร็จให้เมื่ออยู่ท่ามกลางสายตาของคนอื่นๆ
สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นกลไกที่พื้นฐานที่สุดในการแฝงทัศคติหลงตัวเองอย่างแนบเนียน ทำให้เด็กๆ เชื่อมั่นในใจอยู่ลึกๆ ว่า เขาถูกสร้างมาเหนือกว่าคนอื่น เพราะถูกออกแบบมาอย่างดี มี ego เมื่อต้องทำงานกลุ่ม ไม่ยอมรับความผิดพลาดของคนอื่น
เด็กที่มีทัศนคติหลงตัวเอง จะไม่เห็นความเชื่อมโยงของตัวเองกับปัจจัยอื่นๆ รอบตัว ชอบโชว์เดี่ยวมากกว่าทำงานกับผู้อื่นและมีปัญหาในการรับมือกับความล้มเหลว
จากการรายงานของ psychiatry.org พบว่ามีผู้คนที่ทรมานกับอาการทางจิตแบบหลงตัวเองน้อยกว่า 1% ซึ่งคนที่เข้าขั้นป่วยจริงๆ อยู่ในข่ายโรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) ยังพบเห็นได้ยาก มีเส้นกั้นบาง ๆ ระหว่างอาการป่วยกับนิสัยส่วนตัว ซึ่งการบำบัดส่วนใหญ่คือการให้ยาเพื่อลดความวิตกกังวล และการปรับทัศนคติการใช้ชีวิตก็ล้วนได้ผลดีอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะให้หายทันทียังเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่สมดุลระหว่างการสร้างความหวัง พอๆ กับสร้างพื้นที่แห่งความล้มเหลวให้กับเด็กๆ เพราะพวกเขาจำเป็นต้องมีพลังในการลุกขึ้นสู้และทำเพื่อตัวเอง ในขณะที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้คนรอบๆ ด้วยเช่นกัน
มนุษย์แต่ละคนล้วนส่งอิทธิพลต่อกันโดยไม่มีใครที่เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งทั้งมวล เราเรียนรู้จากความผิดพลาดได้มากกว่าความสำเร็จเสียอีก
‘รัก’ กับ ‘หลง’ เส้นบางๆ กั้นเพียงนิดเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Narcissistic Personality Disorder
About Will I Ever Be Good Enough?
Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM–5)