มนุษย์ทั่วทุกมุมโลกใช้การ ‘อุปมาระยะ’ ในการกำหนดความหมายของเวลา แต่ในหลายๆ วัฒนธรรมกลับมีแนวคิดของเวลาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สภาพแวดล้อมและอิทธิพลของภาษา ล้วนทำให้เรามองอนาคตต่างกัน
จะปีใหม่แล้ว ใครๆ ก็นึกถึงเรื่องราวใน ‘อดีต’ ที่ผ่านมา ล้วนสุขสมหวังหรือหดหู่เจ็บปวด ในขณะที่ ‘ปัจจุบัน’ เรากำลังใคร่ครวญถึง ‘อนาคต’ ที่วาดฝันเอาไว้ พร้อมแผนการใหม่ๆ ของชีวิต
อดีต ปัจจุบัน อนาคต คือคำถามในอยู่ในหัวใจของพวกเราเสมอมา
‘มนุษย์’ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอีกพันล้านสายพันธุ์ตั้งแต่ อะมีบา ผึ้ง นก และช้าง ล้วนถูกออกแบบมาโดยมีคุณสมบัติในการรับรู้เวลาติดตัวมาโดยธรรมชาติ เช่น จังหวะของพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก วันและคืน คาบพระจันทร์โคจร และการเปลี่ยนผ่านของแต่ละฤดู
แต่มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ตรงที่เราไม่รอคอยให้เวลาผ่านพ้นไป เราพยายามทำความเข้าใจมัน และพยายามคาดเดาถึงอนาคต เราจึงออกแบบหน่วยของเวลาขึ้นมา มันยิ่งละเอียดไปจนถึงขึ้น มิลลิวินาที นาโนวินาที จนถึง ยอคโตวินาที 1 ในล้านล้านล้านล้านวินาที โดยที่เราพยายามตีความอายุขัยของสรรพสิ่งทั้งปวงรอบตัวเรา
มนุษย์ทุกอารยธรรมพยายามสร้าง Concept ของเวลาและยึดถือมันในการใช้ชีวิต จากปรากฏการณ์ของธรรมชาติและวัฒนธรรม
ภาษาอังกฤษ (และภาษาอื่นๆ รวมถึงภาษาไทย)
อุปมาระยะ (Spatial Metaphor)
อดีต – ข้างหลัง
อนาคต – ข้างหน้า
อ้างอิงจาก – การเดินไปข้างหน้า
การเดินและมุ่งตรงไปข้างหน้า โดยอ้างอิงร่างกายของเราเป็นพื้นฐานของการกำหนดเวลา เวลาในความหมายนี้คือการ “เคลื่อนที่” จากที่หนึ่งไปสู่ที่อีกแห่งหนึ่ง รวมไปถึงวัฒนธรรมทางการเขียนจากซ้ายไปขวา (ซ้ายคืออดีต ขวาคืออนาคต) เราจึงเห็นปฏิทินที่ไล่วันจากบนลงล่าง ตาราง Timeline ที่ไล่วันของสัปดาห์แรกทางซ้ายและท้ายสัปดาห์ทางขวา และการวาดภาพวิวัฒนาการที่ลิงกลายเป็นมนุษย์จากซ้ายไปขวาก็เช่นกัน
ภาษาฮีบรู
อุปมาระยะ (Spatial Metaphor)
อดีต – ทางขวา
อนาคต – ทางซ้าย
อ้างอิงจาก – รูปแบบการเขียน
เป็นภาษาที่เก่าแก่โดยมีอายุมาอย่างน้อยตั้งแต่ 3,500 ปีที่แล้ว ในอดีตเคยเป็นภาษาตาย เหมือนดั่งภาษาบาลี สันสกฤต และละติน โดยเป็นภาษาที่ใช้เพียงแต่ในวงจำกัด หนังสือต่างทางศาสนา และสถานที่ทางศาสนาเท่านั้น แต่ปัจจุบัน มีการกลับมาใช้เป็นภาษาพูดใหม่ และเป็นภาษาที่ชาวอิสราเอลใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน โดยภายในในอิสราเอล มีผู้พูดมากกว่า 4,380,000 คน
การเขียนที่มีรากฐานมาอย่างยาวนานคือการกำหนด Concept ของเวลาในอารยธรรมนี้ อักษรในภาษาฮีบรูนี้เขียนจากขวาไปซ้ายในแนวนอน ดังนั้นหากถามเวลาอนาคต พวกเขามักตอบว่า ‘ทางซ้าย’ คืออนาคต ซึ่งพวกเขามี Concept เวลากลับด้านจากสังคมอื่นๆ
ภาษาจีนกลาง (Mandarin)
อุปมาระยะ (Spatial Metaphor)
อดีต – ข้างบน
อนาคต – ข้างล่าง
อ้างอิงจาก – รูปแบบการเขียนแบบแนวดิ่ง
รูปแบบการเขียนมีอิทธิพลสูงในการกำหนด Concept ของเวลา จากรากฐานทางภาษาจีนที่แข็งแรง
ซึ่งแตกต่างจากภาษาอังกฤษและภาษาโดยส่วนใหญ่ที่มักคิดถึงช่วงเวลาเป็นเส้นแนวนอน แต่ภาษาจีนแมนดาริน มักคิดเวลาเป็น “แนวดิ่ง” อดีตอยู่บนสุด ในขณะอนาคตจะอยู่ด้านล่าง มีงานวิจัยว่า แม้คนจีนกลางที่ใช้ภาษาอังกฤษดี หากมองปฏิทินที่เรียงเดือนเป็นลักษณะแนวดิ่ง พวกเขาจะตอบได้รวดเร็วกว่า ว่าเดือนมีนาคมมาก่อนเดือนเมษายน
ภาษาไอย์มารา (อเมริกาใต้)
อุปมาระยะ (Spatial Metaphor)
อดีต – ข้างหน้า
อนาคต – ข้างหลัง
อ้างอิงจาก – การมองเห็น
“อนาคตอยู่ด้านหลัง” ภาษาไอย์มารา (Aymara) เป็นภาษาของชาวพื้นเมืองแถบเทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้ มีแนวคิดเวลาที่แตกต่างจากอารยธรรมอื่น พวกเขาใช้ “การมองเห็น” เป็นตัวกำหนด อดีตคือเรื่องราวที่ดวงตาได้รับรู้แล้ว มีความรู้ความเข้าใจหรือมีประสบการณ์ร่วมไปกับมันแล้ว แต่อนาคตคือความไม่รู้ ยังไม่มีใครเคยเห็นอนาคตในแนวคิดของไอย์มารา ส่วนใหญ่พวกเขาสื่อสารกันในภาษาพูด พวกเขาบอกได้ว่าสภาพอากาศในปีที่แล้วเหมาะแก่การเพาะปลูกหรือไม่ แต่มักบอกไม่ได้ว่าปีหน้าจะเป็นเช่นไร และจากวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ชาวไอย์มาราจะไม่พูดในสิ่งที่เขาไม่เห็น
ภาษายัปโน (ปาปัวนิวกินี)
อุปมาระยะ (Spatial Metaphor)
อดีต – ลงเขา
อนาคต – ขึ้นเขา
อ้างอิงจาก – ภูเขา
การถูกห้อมล้อมด้วยธรรมชาติ ทำให้ชาวเผ่าปาปัวนิวกินี ที่ใช้ภาษายัปโน (Yupno) อ้างอิงเวลาและอนาคตจาก ภูเขา
อดีตคือ การเดินลงภูเขา อนาคตคือการเดินขึ้นภูเขาที่สูงลิบ (สายน้ำ ก็ถูกจัดเป็นอนาคต เพราะมีต้นน้ำมาจากภูเขา) ช่วงชีวิตของชาวปาปัวนิวกินีผูกพันกับการเดินขึ้นลงหุบเขาวันละหลายๆครั้ง การแหงนหน้ามองภูเขาเปรียบเสมือนการมองไปยังอนาคต ซึ่งเต็มไปด้วยอันตราย ความท้าทาย และมุมมองที่กว้างไกลกว่า
ภาษาปอมปูราอาว (ออสเตรเลีย)
อุปมาระยะ (Spatial Metaphor)
อดีต – ตะวันออก
อนาคต – ตะวันตก
อ้างอิงจาก – การขึ้นของพระอาทิตย์
ชนเผ่าอะบอริจิ้น ‘ปอมปูราอาว’ (Pormpuraaw) ทางตอนใต้ของแหลมยอร์ค ในออสเตรเลีย ใช้ ‘ทิศทาง’ ในการบอกเวลา
แทนที่จะเป็น ด้านหน้า ด้านหลัง ซ้ายขวา โดยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่พวกเขากลับใช้ ‘ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก’ โดยใช้พระอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งในหลายๆ ชนเผ่ายังคงใช้พลังของธรรมชาติในการกำหนดกรอบของเวลาอยู่
การทักทายตามธรรมเนียมของปอมปูราอาว มักเริ่มต้นว่า “ท่านกำลังจะไปไหน” มักจะตอบกลับมาอย่างสุภาพว่า “เรากำลังเดินทางขึ้นเหนือ” ซึ่งหมายถึงมีความสุขสบายดี และกำลังมุ่งไปยังอนาคต
อ้างอิงข้อมูลจาก
The Spatial Language of Time : Metaphor, Metonymy and Frames of Reference
lera.ucsd.edu/papers/language-time.pdf
www.newscientist.com/article/mg21428675-400-time-flows-uphill-for-remote-papua-new-guinea-tribe/