หากให้นึกถึง ‘แมงกะพรุน’ (Jellyfish) ที่ใกล้ตัวคุณมากที่สุด อาจไม่พ้นการที่เห็นมันนอนนิ่งๆ อยู่ในชามเย็นตาโฟหรือไม่ก็หม้อสุกี้ น่าเสียดายที่ชีวิตของแมงกะพรุนกลับเป็นที่รู้จักเพียงแค่นั้น ทั้งๆ ที่ตัวมันเองซุกซ่อนความมหัศจรรย์ไว้อีกมาก (แต่ลวกพอสุกก็กินอร่อย) เพราะแมงกะพรุนบางสายพันธุ์ครอบครอง ‘ความอมตะ’ (Immortality) อันเป็นนิรันดร์ที่มนุษย์นั้นอยากช่วงชิงบ้าง ซึ่งเรื่องราวของมันถูกค้นพบเพราะ ‘ความบังเอิญ’ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากเหล่านักวิทยาศาสตร์ขี้ลืม
ภารกิจตามหากลไกอายุวัฒนะในสิ่งมีชีวิตเป็นเทรนด์สุดฮิตของสถาบันวิจัยทั่วทุกแห่ง แน่นอนว่าหากใครปลดล็อคได้ ก็อาจนำมาซึ่งความก้าวหน้าทางวิทยาการและทุนสนับสนุน เพราะใครๆ ก็พร้อมจ่ายเพื่อให้ตัวเองมีอายุยืนยาวด้วยกันทั้งนั้น ทำให้ชีวิตแมงกะพรุนถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่ และในสายตาของนักชีววิทยาเองมักมองแมงกะพรุนมีชีวิตไม่ต่างจาก ‘สัตว์ต่างดาวที่อาศัยบนโลก’
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทั่วโลกหลงรักแมงกะพรุน และมักออกแบบส่วนจัดแสดงให้พวกมันราวกับล่องลอยท่ามกลางเอกภพ มีการตกแต่งไฟอย่างวิจิตรบรรจง คุณสามารถจ้องมองการแหวกว่ายของแมงกะพรุนได้เป็นชั่วโมงๆ โดยไม่รู้เบื่อ ร่างกายโปร่งใสของมันสอดรับกับสีสันแห่งใต้ทะเลได้อย่างงดงาม หากคุณเคยไปประเทศญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำคะโมะ (Kamo Aquarium) ในจังหวัดยะมะงะตะ (Yamagata) อันเป็นพิพิธภัณฑ์แมงกะพรุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่นั่นมีแมงกะพรุนจัดแสดงมากกว่า 50 สายพันธุ์ มากจนขนาดชนิดที่ว่าได้รับการบันทึกลงไว้ในกินเนสบุ๊ก ประเทศญี่ปุ่นจึงจัดว่าเป็นชาติที่มีงานศึกษาวิจัยแมงกะพรุนที่ก้าวหน้ามากที่สุด
แต่หากคุณไม่อยากไปไหนไกล สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบางแสน’ ก็เป็นแหล่งใกล้เมืองที่คุณสามารถชมแมงกะพรุนอย่างสนุกสบายกระเป๋า โดยมีนักศึกษาคอยให้ความรู้อย่างเป็นกันเองในทุกๆ วันเสาร์-อาทิตย์
ชีวิตของแมงกะพรุนไม่ต่างจากสายน้ำแห่งชีวิตที่ไม่มีจุดสิ้นสุด มันไหลลัดเลาะผ่านความซับซ้อนแห่งชีวิต แต่แมงกะพรุนทำตัวเองให้ง่ายเข้าไว้เสมอ ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของวิวัฒนาการที่สลับสับเปลี่ยนมือตลอดเวลา เผลอๆ การจ้องมองแมงกะพรุนอาจทำให้คุณพบสัจธรรมของชีวิตในมิติใดมิติหนึ่งก็ได้
ดังนั้นขออนุญาตนำท่านผู้อ่านไปหาคำตอบว่า ทำไมวิทยาศาสตร์ถึงสนใจความอมตะของแมงกะพรุนกันนัก
ปีศาจและเทพเจ้าในร่างนุ่มนิ่ม
ในทางวิทยาศาสตร์ระบุช่วงหนึ่งของวงจรชีวิตแมงกะพรุนว่า ‘เมดูซ่า’ (Medusa) หรือ ‘อีฟีรา’ (Ephyra)ซึ่งไปพ้องกับตำนานปกรณัมของกรีกอย่างจงใจ เรื่องของอสูรสาวผู้มีผมเป็นงูที่ชื่อว่า ‘เมดูซ่า’ หล่อนมีใบหน้าดุร้าย เพียงแค่จ้องตาก็อาจเปลี่ยนให้ร่างเนื้อของผู้โชคร้ายกลายเป็นศิลาที่น่าสังเวช แต่อีกนัยหนึ่งของเรื่องราวที่ไม่ค่อยมีคนรับรู้ เมดูซ่ากลับเป็นเหยื่อของเรื่องราวตัวเอง แท้จริงแล้วเธอมีชีวิตลึกซึ้งมากกว่าการเป็นเพียงอสูรกายให้ผู้คนหวาดกลัว
เมดูซ่าหญิงสาวผู้เลอโฉม เป็นข้ารับใช้ของอะธีนา (Athena) ในวิหาร แต่ความงามของเธอกลับไปเตะตาเจ้าสมุทรโพไซดอน (Poseidon) บางตำนานกล่าวว่า โพไซดอนขืนใจเมดูซ่าในวิหารศักดิ์สิทธิ์ แต่ด้วยความเป็นกรีกที่ทุกอย่างออกจะวิปลาสตามสไตล์และการรักษาพรหมจรรย์ถูกยกย่องเป็นสิ่งสูงส่ง อะธีนาจึงโกรธเป็นฝืนเป็นไฟที่วิหารของเธอแปดเปื้อนมลทิน จึงสาปเมดูซ่าให้เป็นอสูรกายที่น่าเกลียดน่ากลัวและขับไล่เธอออกจากวิหาร ซึ่งเมดูซ่าไม่เคยได้รับโอกาสพิสูจน์ตัวเองหรือเรียกร้องความเป็นธรรมใดๆ เลย จนกระทั่งจุดจบของเธอก็คือคมดาบของเพอร์เซอุส (Perseus) วีรบุรุษผู้พิชิตอสูรกายตามตำนาน
ชีวิตของแมงกะพรุนเองก็ถูกเข้าใจผิดไม่ต่างจากเมดูซ่า เพราะก่อนหน้านี้วิทยาศาสตร์มักมองข้ามแมงกะพรุนมาตลอดหลายร้อยปี จากที่พวกมันไม่มีสมองส่วนกลาง ร่างกายมีส่วนประกอบเป็นน้ำถึง 98% การจะทำความเข้าใจชีวิตแมงกะพรุนเป็นเรื่องเหลือกำลังของคนสมัยก่อน แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป วิทยาการก้าวหน้ายิ่งขึ้น เราพบว่าแมงกะพรุนมีพฤติกรรมซับซ้อนและรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมระดับลึกซึ้ง สามารถแหวกว่ายในน้ำโดยใช้พลังงานอย่างประหยัดที่สุด
เรารู้จักแมงกะพรุนส่วนใหญ่ในขั้นที่มันเป็นเมดูซ่า (Medusa)แล้ว แต่อีกสถานะหนึ่งที่ลี้ลับไม่แพ้กัน คือขณะที่มันยังเป็น ‘โพลิป’ (Polyp) ซึ่งมีสัณฐานเหมือนดอกไม้ทะเลขนาดจิ๋วเกาะอยู่ใต้ก้อนหิน หรือไม่ก็ถูกคลื่นกวาดเกยตื้น พวกมันเป็นสมาชิกอันชุกชุมของมหาสมุทร คอยช่วยเหลือสัตว์อื่นโดยเป็นอาหารของระบบนิเวศ แต่นักวิทยาศาสตร์ยัง ‘โนไอเดีย’ ว่าจะหาพวกมันเจอที่ไหน
จุดเริ่มต้นของ ‘ความอมตะ’ แมงกะพรุน
เรื่องราวแมงกะพรุนอมตะ (Immortal jellyfish) ถูกจุดติดขึ้นครั้งแรกในปี 1988 โดยนักศึกษาชีววิทยาทางทะเลที่ไปเก็บตัวอย่างแมงกะพรุนจากท่าเจนัว (Genoa) ในประเทศอิตาลี เรื่องราวความบังเอิญเกิดขึ้น เมื่อความขี้ลืมของเขาทิ้งเหล่าแมงกะพรุนไว้ในถังในคืนวันศุกร์โดยไม่ได้เก็บเข้าตู้แช่ เมื่อถึงวันจันทร์ก็ต้องผงะ เมื่อเหล่าแมงกะพรุนที่เป็นเมดูซ่าได้อันตรธานหายไปจากถังทั้งหมด! แต่แท้จริงพวกมันไม่ได้หายไปไหน แต่เปลี่ยนเป็น ‘โพลิป’ (Polyp) เหมือนดอกไม้ทะเลที่เล็กจิ๋วหลิวนั่นเอง
เป็นที่รู้กันว่าแมงกะพรุนมีวงจรชีวิตที่เปลี่ยนรูปร่างไปในแต่ละช่วงชีวิต จากไข่ที่ผสมแล้วของแมงกะพรุนโตเต็มวัยที่มีลักษณะเป็นถุงตัวอ่อน (Larva) ไปยึดเกาะกับหิน จากนั้นจะค่อยๆ พัฒนาเป็นโพลิปและกลายเป็นขั้นเมดูซ่าที่โตเต็มวัยพร้อมผสมไข่กับสเปิร์มต่อไปจนครบวงจร แต่สิ่งที่นักชีววิทยาหนุ่มพบกลับพิสดารกว่า เพราะแมงกะพรุนกลุ่มนี้ไม่น่าจะมีการขยายพันธุ์รวดเร็วตามวงจรชีวิตที่เราเคยรู้จักในเพียงไม่กี่คืนเท่านั้น แต่มันเหมือนกับแมงกะพรุนมีการเติบโตแบบ ‘ย้อนกลับ’ คือแทนที่จะแก่ กลับอ่อนเยาว์ลงกลายเป็นเด็ก คล้ายภาพยนตร์เรื่อง Benjamin Button ที่ แบรด พิตต์ แสดงนำเป็นชายชีวิตพิสดาร ที่ยิ่งมีชีวิตก็ยิ่งเป็นหนุ่มมากขึ้นเท่านั้น
แต่แมงกะพรุนหลายสายพันธุ์กลับไม่เล่นตามกฎวงจรชีวิตนี้ บ้างข้ามจากขั้นโฟลิปไปเลย อีกสายพันธุ์ก็ข้ามการเป็นเมดูซ่าเช่นกัน หรือคงสถานะเป็นโฟลิปอยู่อย่างนั้น กลายเป็นว่าวงจรชีวิตของแมงกะพรุนมีความยืดหยุ่นสูงมากกว่าที่ใครคาดคิด หลังจากนั้นนักวิจัย Stefano Piraino จากมหาวิทยาลัย Salento ในประเทศอิตาลีพบแมงกะพรุนอมตะกลุ่มเดียวกันที่มีชื่อว่า Turritopsis
พวกเขาศึกษาชีวิตมันอย่างใกล้ชิด พบพฤติกรรมที่แมงกะพรุนพัฒนาจากขั้นโพลิปเป็นเมดูซ่า และจากเมดูซ่ากลับไปเป็นโพลิปอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยที่ไม่ตาย อันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ลองจินตนาการว่า คุณพบผีเสื้อที่สามารถกลับไปเป็นดักแด้หรือถอยหลังกลายเป็นหนอนได้ตลอดช่วงชีวิตของพวกมัน และเหนือสิ่งอื่นใด ‘พวกมันเป็นอมตะจากอายุขัย’ อย่างไรก็ตามชีวิตของมันยังถูกทำลายได้จากการถูกกิน บี้ให้ตาย หรือติดเชื้อ
ในปี 2016 เกิดเหตุบังเอิญ (บังเอิญอีกแล้ว!) เมื่อนักศึกษาชาวจีน Jinru He ลืมดูแลแมงกะพรุนพระจันทร์ (Moon jellyfish) เขาพบมันลงไปนอนแน่นิ่งใต้ก้นบ่อ ร่างกระจุยเป็นชิ้นๆ ถ้าคนอื่นเห็นก็คงตักไปทิ้งแล้ว แต่นักศึกษาคนนี้เลือกจะจับตาดูร่างแมงกะพรุนต่ออีกหลายเดือน ก็ต้องตกตะลึงเมื่อร่างของแมงกะพรุนค่อยๆ ซ่อมแซมตัวเองอีกครั้ง ไม่ต่างจากนกฟีนิกซ์ที่เกิดใหม่จากเถ้าธุลี หนวดค่อยๆ งอกใหม่กลับไปสู่ร่างโฟลิป
เซลล์ของมันล้วนเป็นเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) ที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตอีกเรื่อยๆ ราวกับไม่มีขีดจำกัด เซลล์กล้ามเนื้อของ Turritopsis สามารถเปิด/ปิดยีนได้ ทำให้เซลล์เหล่านี้ย้อนกลับได้หลายครั้ง ซึ่งหากเราสามารถไขความลับนี้ได้ วิทยาการแพทย์สมัยใหม่อาจค้นพบกระบวนการรักษาที่เกี่ยวกับเซลล์เสื่อมสภาพได้ อาทิ โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) หรือโรคมะเร็งที่เซลล์เนื้อร้ายเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากเรานำความรู้ที่ได้จากแมงกะพรุนมาใช้เปิด/ปิดยีนเจริญเติบโตเซลล์มะเร็ง ก็อาจพบทางสว่างในการรักษามะเร็งที่มีผลกระทบต่อผู้ป่วยต่ำ
ล่าสุดพบว่าแมงกะพรุนสายพันธุ์ Turritopsis ที่พบในญี่ปุ่น ปานามา ฟลอริด้า สเปน ล้วนเป็นสายพันธุ์เดียวกันราวกับฝาแฝดที่ทำสำเนามา และสามารถเจริญเติบโตในทุกมหาสมุทรทั่วโลกโดยมีพฤติกรรมเบียดเบียนระบบนิเวศน้อยมาก และทำหน้าที่เป็นอาหารให้กับสัตว์ทะเลมากกว่า
นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเซลล์ต้นกำเนิดชาวญี่ปุ่น Shinya Yamanaka และ Kazutoshi Takahashi ได้ทดลองนำยีนของแมงกะพรุนอมตะไปฉีดในผิวหนังหนูทดลอง ด้วยการนำโปรตีนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการแสดงออกหรือไม่แสดงออกของยีนที่เรียกว่า ทรานสคริปชันแฟคเตอร์ (Transcription factors)ไปจับกับเส้น DNA เพื่อควบคุมการเปิดปิดของยีนคล้ายกลไกในแมงกะพรุน พบว่าสามารถควบคุมเซลล์ผิวหนังของหนูให้ย้อนกลับได้ ซึ่งอาจมีส่วนช่วยให้นักวิจัยเลี้ยงเซลล์ประสาท เซลล์เลือด เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ให้กลับมางอกใหม่ได้ ผลงานวิจัยนี้ส่งผลให้นักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบลในปี 2012
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องราวระดับ ‘น้ำจิ้มๆ’ ที่แมงกะพรุนกรุยทางไว้สำหรับวิทยาศาสตร์โลก ยังมีแมงกะพรุนอีกหลายสายพันธุ์ที่ซุกซ่อนความมหัศจรรย์ที่รอความบังเอิญ (หรือความขี้ลืม) เพื่อไปให้ถึงหัวใจของการตั้งคำถาม
ชีวิตแมงกะพรุนสอนใจเราได้อย่างดีเยี่ยมราวกับสัจธรรมบทหนึ่งที่ธรรมชาติมอบให้
“ทำชีวิตให้ง่ายเข้าไว้ เพื่อพร้อมเติบโตได้ใหม่ในเวลาที่เราแตกสลาย”
อ้างอิงข้อมูลจาก
Spineless: The Science of Jellyfish and the Art of Growing a Backbone
The Immortal Jellyfish – American Museum of Natural History