สวรรค์บนโลกที่ไร้ความรุนแรงมีจริงหรือไม่? มนุษย์ที่อยู่ร่วมกันโดยไร้ความขัดแย้ง ไม่มีชนชั้นวรรณะ อุดมไปด้วยความเท่าเทียม ไม่มีสถาบันกษัตริย์ ไม่มีนักการเมือง สังคมที่มีความเท่าเทียมต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน ฟังดูเป็นอารยธรรมที่ไม่มีทางเป็นจริงได้ แต่โลกในอดีตเคยมีอารยธรรมไร้สงครามที่สามารถอยู่รอดได้ถึง 700 ปี ก่อนหายสาบสูญอย่างปริศนา มนุษย์เราสามารถอยู่ได้อย่างผาสุกได้ขนาดนั้นเชียวหรือ?
ลองจินตนาการถึงอาณาจักรที่ผู้คนไม่ต้องการต่อสู้ ไม่ต้องการยึดครองทรัพยากร ไม่ต้องการเข่นฆ่าใคร เมื่อ 500 ปีที่แล้ว Thomas More ลิขิตเมืองในจินตนาการของเขาเป็นผลงานที่สร้างชื่อที่สุดอย่าง Utopia ยูโทเปีย เมืองในฝันของมวลมนุษย์ท่ามกลางความขัดแย้งของโลกที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งประหัตประหาร สงคราม และการก่อการร้าย ยูโทเปียคงมีเพียงในนิยายที่ห่างไกลจากความจริงเสียเหลือเกิน
บ้างก็ว่า Thomas More ได้สร้างพิมพ์เขียวของสังคมในอุดมคติไว้เพื่อมวลมนุษยชาติ แต่บ้างก็ว่าแกคงประชดประชันโลกที่หื่นกระหายความรุนแรงด้วยงานเขียนที่พลิกดำเป็นขาวเสียเลย
อย่างไรก็ตามทุกคนล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า ‘ยูโทเปีย’ ไม่มีทางมีอยู่จริงบนโลกใบนี้ ไม่มีสังคมไหนที่อยู่ได้โดยปราศจากการทำสงคราม เพราะสัญชาตญาณการรบพุ่งมักอยู่ในกมลสันดานของพวกเราตั้งแต่รุ่งอรุณจวบจนปัจจุบัน
แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ หากจะมีอารยธรรมหนึ่งที่อาจเป็น ‘ยูโทเปียแท้จริง’ เคยดำรงอยู่จริงๆ บนโลก อารยธรรมในใจของนักวิชาการคือ ‘อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ’ (Indus valley) ซึ่งเป็นอารยธรรมเก่าแก่ 1 ใน 4 ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตร่วมกับ อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อียิปต์ และจีน
สวรรค์บนลุ่มแม่น้ำสินธุ
ขอพาทุกท่านย้อนอดีตไปสำรวจอารยธรรมเก่าแก่นี้เสียหน่อย อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นเคยเจริญรุ่งเรืองมากราว 5,600 – 4,000 ปีก่อน มีอาณาบริเวณราว 800,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของประเทศปากีสถาน อินเดีย และอัฟกานิสถาน ซากประวัติศาสตร์ของอารยธรรมโบราณนี้เพิ่งมีการค้นพบหลักฐานราวปี 1920 เท่านั้นเอง แต่ได้รับความสนใจจากนักประวัติศาสตร์จำนวนมากเพื่อสืบค้นชีวิตในอดีตของผู้คนนี้ที่ยังคงเป็นปริศนา
ความน่าสนใจของอารยธรรมนี้เริ่มเด่นชัดขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อนักโบราณคดีแทบจะไม่พบหลักฐานของอาวุธ ชุดเกราะ ยุทธภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการทำสงครามรบพุ่งกับชาติอื่นๆเลย สัณฐานเมืองก็ไม่มีการสร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันตัวเอง ไม่มีชุดเกราะม้าศึกสำหรับทำสงคราม มีเพียงหอก ลูกธนู และมีดแล่เนื้อเล่มเล็กๆ ที่มีไว้เพื่อทำการล่าสัตว์เลี้ยงปากท้องเท่านั้น
แม้การพยายามหาหลักฐานใหม่ๆ จะกินเวลานานนับศตวรรษ นักโบราณคดีพบการต่อสู้ของมนุษย์จากภาพแกะสลักนูนต่ำเท่านั้น ซึ่งล้วนเป็นไปในเชิงแสดงอิทธิฤทธิ์ของเทพยดามากกว่าจะเป็นการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุแทบไม่มีร่องรอยของวังหลวง วิหารใหญ่โต ไม่มีที่พำนักของกษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ รวมถึงบ้านช่องที่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นบ้านคนจนหรือบ้านคนรวย ราวกับว่าผู้คนมีการดำรงชีวิตอย่างเท่าเทียม แหล่งขุดค้นพบกระดูกมนุษย์ยังไม่พบหลักฐานของการจับเป็นทาส ซึ่งโดยปกติจะพบการจับมนุษย์มาใช้เป็นทาส เช่นอารยธรรมเมโสโปเตเมียใช้แรงงานมนุษย์สร้างวิหาร ‘ซิกกูแรต’ (ziggurats) หรือมหาพีระมิดของอารยธรรมอียิปต์โบราณ
Neil MacGregor อดีตผู้อำนวยการของ British Museum ในกรุงลอนดอน เชื่อว่าอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ เป็นยูโทเปียที่มีความใกล้เคียงกับแนวคิดของ Thomas More มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามมีอีกเสียงที่บอกว่า “เร็วเกินไปที่จะสรุปเช่นนั้น” Richard Meadow จาก Harvard University ชี้ว่า หอก มีด หรือธนูที่พบสำหรับล่าสัตว์อาจถูกใช้กับมนุษย์ด้วยกันเองก็ได้ คล้ายกรณีของอารยธรรมมายาที่นักประวัติศาสตร์ในอดีตยุคแรกๆ เคยเชื่อว่า เป็นชนชาติที่รักสงบ อบอุ่น จนกระทั่งมีการแปลความหมายอักษรภาพมายาสำเร็จ เราถึงได้รู้ว่าอารยรรมมายาเองก็เต็มไปด้วยการบูชายัญ เทคนิคทรมานน่าขนลุก และการต่อสู้กันเองที่ดุเดือดเลือดพล่าน
ดังนั้นอักขระที่พบในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุที่ปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถแกะออก อาจกุมปริศนาอันทารุณเอาไว้ ไม่แน่หากมีการแปลความหมายอาจพบความนองเลือดที่แอบแฝงอยู่ก็เป็นได้
มีหลายคำถามค้างคาใจว่า ทำไมชาวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุถึงไม่ถูกรุกรานจากอารยธรรมอื่นๆ จนต้องเตรียมอาวุธทำสงคราม ส่วนหนึ่งมาจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาและห้อมล้อมไปด้วยลุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำสินธุเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ไหลผ่านตลอดปี ชาวเมืองสามารถเข้าถึงทรัพยากรสำคัญทั้ง ไม้ หินล้ำค่า ทองแดง มีฤดูเพาะปลูก 2 รอบต่อปี น้ำถึงอาหารถึงซึ่งแตกต่างจากอารยธรรมเมโสโปเตเมียและอียิปต์อันแห้งแล้งอย่างสิ้นเชิงที่บังคับให้ผู้คนต้องรุกรานชาติอื่นๆเพื่อช่วงชิงทรัพยากร
ด้วยปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ ทำให้อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุมีศักยภาพในการพึ่งพาตัวเองสูง ไม่จำเป็นต้องรุกรานใคร ไม่จำเป็นต้องมีนายพลหรือกองทัพใดๆ
สวรรค์ที่สูญสิ้น
แม้ว่าอาณาจักรที่สงบสุขหรือโหดร้ายป่าเถื่อนที่สุด ก็ล้วนต้องเผชิญความเสื่อมสลายอย่างเท่าเทียมเมื่อเวลาและปัจจัยมาถึง ไม่มีใครหนีสัจธรรมอันแท้จริงนี้ได้ รวมไปถึงอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเช่นกัน ในปี 1920 นักโบราณคดีขุดพบซากกระดูกของมนุษย์ 14 ร่างที่ถูกฝังอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ในสมัยนั้นมีทฤษฏีว่า ชาวเมืองกลุ่มนี้อาจหนีการโจมตีจากชนชาติเร่ร่อนจากเอเชียกลาง ที่เข้ามายึดครองอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ อันเป็นจุดจบของเมืองยูโทเปียที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ ถือเป็นการยุติเมืองอุดมคติที่รอดจากความรุนแรงยาวนานถึง 700 ปี แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยการนองเลือด
แต่ในปี 1980 นักโบราณมีทฤษฏีใหม่มาอธิบายสาเหตุการตายของชาวเมืองจากโครงกระดูกที่พบ ซึ่งพวกเขาน่าจะตายจากโรคระบาดอย่าง มาลาเลีย (malaria) มากกว่าถูกเข่นฆ่า
หรืออีกทฤษฏีคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ climate change ที่ทำให้เกิดมรสุม น้ำท่วมสูง สัณฐานของแม่น้ำสินธุเปลี่ยนไปจนเมืองไม่สามารถตั้งอยู่ที่เดิมได้ บังคับให้ชาวเมืองอพยพไปที่อื่น รามไปถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงที่บริเวณหิมาลัยในช่วง 2,200 ปีก่อนคริสตกาล
แม้ธรรมชาติหรือโรคระบาดจะพรากผู้คนออกจากอาณาจักร แต่แนวคิดอันสงบสุขของผู้คนในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุได้กลายเป็นสัญลักษณ์กลายๆ ว่า ‘มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกได้ อย่างน้อยก็ช่วงเวลาหนึ่ง’
สันติปฏิบัติจึงเปรียบเสมือนแม่พิมพ์ที่ประทับบนดินเหนียว แม้หลายครั้งจะไม่ใช่วิธีที่ประสบความสำเร็จ พ่ายแพ้ต่ออำนาจเสื่อมทรามอันทรงพลัง แต่แผ่นดินเหนียวอันสงบสุขสามารถประทับครั้งแล้วครั้งเล่าในความคิดของผู้คน ถึงจะไม่ลึกมากและใช้เวลานานโข แต่ทุกครั้งผู้คนจะหวนกลับมาตั้งคำถามว่า “เราจะสร้างสังคมสงบสุขได้อย่างไร?” ไม่ต้องถึงกับถอดแบบมาจากยูโทเปียราวเพ้อฝัน แต่เป็นเมืองที่ผู้คนเข้าใจธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ของตนเองและผู้อื่น
อ้างอิงข้อมูลจาก
The Indus: Lost civilizations (Reaktion Books, 2015) Magazine issue 3091, published 17 September 2016
Illustration by Waragorn Keeranan