ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่มนุษย์เราเริ่มสิ้นหวังในอนาคตของพวกเราเอง
เมื่อไหร่กันที่เราเริ่มมองว่าอนาคตที่คืบคลานเข้ามา ไม่ได้สดใสเหมือนอย่างที่ใครต่อใครบอก
ความก้าวหน้า พัฒนาการ และวิทยาการต่างๆ อาจไม่ได้ทำให้เราฝันถึงวันพรุ่งนี้ที่สวยงามสุขสงบอีกต่อไป
หรือจริงๆ แล้ว ‘ความสุขสงบ’ ที่เป็นอุดมคตินี่แหละที่น่ากลัว?
ในปี 1516 มีหนังสือชื่อ Utopia เขียนโดยเซอร์โทมัส มอร์ (Sir Thomas More) นักคิดชาวอังกฤษ เนื้อหาพูดถึงดินแดนสมมติในอุดมคติที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์พร้อม คำว่า ‘ยูโทเปีย’ ของเซอร์โทมัสนี้ไม่ได้หมายถึงดินแดนที่ดีงามจากราก eu- (ดี) + topia (สถานที่/ดินแดน) แต่อย่างใด แต่มาจากภาษากรีกที่แปลว่า ou (not) + topia (place) แปลว่า ที่ๆ ไม่มีอยู่จริง
ถ้าอย่างนั้นแล้วก็แปลว่าทัศนะของลุงมอร์ก็ค่อนข้างมองโลกว่าดินแดนที่สมบูรณ์พร้อมมันไม่มีอยู่จริง ช่วงต้นศตวรรษที่ 16 นี้จะว่าไปก็เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางความคิดพอสมควร โดยเฉพาะการมองโลกที่อิทธิพลของศาสนาเริ่มลดลง เพราะถ้าเราลองดูโลกทัศน์ของคนยุคก่อนหน้า ที่มักจะมีศาสนาเป็นสิ่งที่มากำกับมุมมองเป็นสำคัญ ในสมัยก่อนนั้นดูเหมือนว่า Eutopia (อันนี้คือ ดินแดนที่ดี eu+topia) ก็จะยังมีตัวตนในความเชื่อของคนอยู่บ้าง
ง่ายๆ คือ ศาสนาเหมือนเป็นสิ่งที่ ‘ให้เหตุผล’ ซึ่งในที่นี้คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงอยู่ที่นี่ และเรากำลังจะไปไหน ส่วนใหญ่แล้วมุมมองทางศาสนามักอธิบายว่า ที่เธออยู่ตรงนี้ ในโลกมนุษย์ ในดินแดนตรงกลางระหว่างสวรรค์และนรก ระหว่างความดีและความชั่ว ระหว่างอดีตและอนาคตนี้ ถึงชีวิตเธอจะทุกข์ทน แต่ถ้าเธอทำตามศรัทธา สุดท้ายแล้วหลังจากโลกที่ไม่สวยงามนี้ จะมีโลกที่สวยงามอันอุดมรออยู่ข้างหน้าแน่นอน
คงจะไม่ผิดนักที่จะบอกว่ายุคก่อน มนุษย์มักจินตนาการถึงอนาคตในแง่บวกอย่างมีความหวัง ในศาสนาต่างๆ ก็ต่างมีดินแดนในอุดมคติเป็นสิ่งที่รอศาสนิกชนทั้งหลายอยู่ เช่น สวรรค์ หรือในจักรวาลวิทยาแบบพุทธเองก็มีดินแดนชื่อ ‘อุตรกุรุทวีป’ ดินแดนที่ผู้คนสุขสนุก เต็มไปด้วยความสะดวกสบายและไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
พอมาถึงโลกสมัยใหม่ ก็มี ‘คำสัญญา’ ของมันไม่ต่างอะไรกับโลกของศาสนาสมัยก่อน แต่ความซวยคือคำสัญญาของโลกสมัยใหม่มันพิสูจน์ได้ไม่เหมือนกับโลกหน้าของศาสนาที่จะมีจริงแค่ไหนไม่รู้ คำสัญญาของโลกสมัยใหม่คือการบอกว่า ‘โลกจะต้องดีขึ้นด้วยความรู้และวิทยาการความก้าวหน้าทั้งหลายของมวลมนุษย์’ แต่แล้วเมื่อความก้าวหน้าทั้งหลายเริ่มมาถึง…ดูเหมือนว่า โลกในคำมั่นสัญญาจะไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง
จาก Utopia ภายใต้เงื้อมมือของมนุษย์ พลังของเราไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไปจนถึงความสงบเรียบร้อย การอยู่ดีกินดี ความเป็นปึกแผ่น ใน ‘ความเป็นอุดมคติ’ แบบที่เรานิยาม สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ใช่อะไรนอกจากฝันร้าย ที่กลับมาทำลายความเป็นมนุษย์ของเรา
แต่เรายังมีความหวังอยู่แค่ไหน – การจินตนาการถึงโลกสิ้นหวังไม่ได้แปลว่าเราหมดหวัง เพราะในเรื่อง คนก็ยังเป็นคน มีการต่อสู้ ต่อต้าน และต่อรอง โดยไม่ว่าเรื่องราวจะจบลงแบบไหน เรื่องราวการต่อสู้ดิ้นรนต่อการบังคับกดขี่ การต่อต้านตรงนี้เอง ที่เป็นลักษณะสำคัญของมนุษย์เรา
เรานึกถึงอนาคตอันมืดมนกันอย่างไร แล้วเราในฐานะคนตัวเล็กๆ ในระบบทั้งหลายนั้น จะทนอยู่หรือต่อสู้อย่างไรบ้าง The MATTER รวบรวมนวนิยายแนว Dystopia ทั้ง 7 เล่ม เผื่อให้เราไปอ่าน ทดลองสิ้นหวัง และมองหาความหวัง เพื่อรับมือกับประเทศที่คนเริ่มสิ้นหวังกันบ้างแล้ว
1. The Handmaid’s Tale (1985) / Margaret Atwood
ไม่ใช่แค่ในบ้านเราหรอกนะที่เริ่มหมดหวัง ในสหรัฐฯ เองก็เริ่มมองเห็นว่า เออ อนาคตของโลกใบนี้คงไม่สดใสอย่างที่คาดอีกต่อไป ล่าสุด The Handmaid’s Tale ของ Atwood ได้รับการนำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ออกฉาย นวนิยายเรื่องนี้จินตนาการถึงโลกที่ถูกปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ และผู้หญิงที่เรียกว่า ‘Handmaid’ ได้กลายสภาพเป็นเสมือนสินทรัพย์ของผู้ปกครอง และนี่คือเรื่องราวของพวกเธอ ที่เหล่าหญิงสาวในหมวกสีขาวผ้าคลุมสีแดงอาจจะลึกลับซับซ้อน ไม่ต่างกับที่เรารู้สึกเวลาเห็นภาพอันน่าฉงนของพวกเธอ
2. Nineteen Eighty-Four (1949) / George Orwell
อีกครั้งกับ 1984 ของ George Orwell หนึ่งในงานต้นแบบของนวนิยายแนว Dystopia เมื่อออร์เวลชวนนึกถึงอนาคตอันไกลที่โลกเต็มไปด้วยการปกครองแบบเบ็ดเสร็จ การแหกตา และการควบคุมผู้คนผ่านระบบการบริหารสอดส่องอันซับซ้อน ซึ่งจากอนาคตอันไกลในสมัยของออร์เวล บางทีสำหรับทุกวันนี้ อนาคตที่ออร์เวลวาดไว้ อาจจะเข้าใกล้ปัจจุบันของเรากว่าที่คาดก็ได้
3. Brave New World (1932) / Aldous Huxley
ถ้า 1984 จินตนาการถึงโลกที่ถูกปกครองอย่างเบ็ดเสร็จในนามของรัฐ Brave New World ของ Huxley ก็คล้ายๆ กัน แต่ค่อนไปทางประเด็นเรื่อง ‘วิทยาศาสตร์’ มากกว่าหน่อย หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในปี 1931 เป็นช่วงที่วิทยาการต่างๆ เริ่มรุดหน้า รุดไปจนมนุษย์เองเริ่มกังวลถึงเส้นแบ่งและการใช้วิทยาการต่างๆ เหล่านั้น ว่าภายใต้นามของวิทยาศาสตร์ คนจะยังเป็นคนอยู่ไหม นวนิยายไซไฟเรื่องนี้พูดถึงโลกใหม่ตามชื่อเรื่อง ที่วิทยาการก้าวหน้าและบงการชีวิตเราได้อย่างสมบูรณ์ ผู้คนในโลกใหม่ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาพื้นฐานทั้งหลาย ถ้าไม่มีความสุขก็กินยา การผลิตทายาทก็มีโรงงานที่สร้างและเลือกสรรค์ได้ แต่สุดท้ายแล้ว ‘คน’ ยังเป็นคนอยู่แค่ไหนในเงื่อนไขที่สุดโต่งนี้
4. Uglies (2005) / Scott Westerfeld
Young Adults Fiction ที่พูดเรื่อง ‘ความงาม’ ‘ภาพลักษณ์’ และ ‘ตัวตน’ ผ่านโลกดิสโทเปียที่ผู้คนหน้าสวยงามเหมือนตุ้กตา ในโลกที่แบ่งแยกระหว่าง ‘พวกอัปลักษณ์’ และ ‘พวกพริตตี้’ แน่ล่ะไม่มีใครเกิดมาสวย การจะสวยได้ต้องผ่านการผ่าตัดที่ดูเหมือนว่า ใครๆ ก็ตั้งตารอ แต่สุดท้ายการผ่าตัดเปลี่ยนรูปลักษณ์อาจจะไม่ได้นำมาซึ่งความงามอย่างที่เราปรารถนาแต่อาจพรากบางอย่างออกไปจากตัวตนของผู้คนด้วย งานเขียนชิ้นนี้ชวนให้เราขบคิดและสะท้อนใจถึงวัฒนธรรมที่ใส่ใจแต่รูปลักษณ์หน้าตารวมถึงปัญหาของความคิดและการเสพติดการศัลยกรรม
5. Neuromancer (1984) / William Gibson
เจ้าพ่อแห่งวรรณกรรมไซไฟแนวไซเบอร์พังก์ เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีและการสื่อสาร คอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ความจริงเสมือนและการก่อตัวขึ้นของบรรษัทขนาดยักษ์เข้ามามีบทบาทและบงการมนุษย์ ภายใต้เงื่อนไขล้ำสมัยเหล่านี้ คำถามก็วนกลับมาอยู่ที่ว่า ‘อะไรคือความหมายของการเป็นมนุษย์’ งานเขียนชิ้นนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของงานแนวไซเบอร์พังก์และเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์งานเขียนของ William Gibson ที่กลายเป็นต้นธารและมรดกส่งทอดมาสู่งานเขียนและภาพยนตร์ในยุคต่อๆ มา
6. The Hunger Games (2008) / Suzanne Collins
อีกหนึ่ง Young Adults Fiction ที่ระยะหลังมักมีฉากเป็นโลกมืดมนและเหล่าเด็กวัยรุ่น วัยแห่งการขบถต่อต้าน ก็ต้องทนอยู่ภายใต้ระบบแห่งการกดขี่อันไม่เป็นธรรมนั้น The Hunger Games เองก็พูดถึงโลกที่มีการแบ่งสรรหน้าที่ และมีเกมที่เหล่าวัยรุ่นต้องเข้าแข่งขันต่อสู้กัน เบื้องหลังของเกมนั้นคือโครงสร้างทางสังคมที่เป็นธรรมแลกระบวนการที่จะธำรงรักษาระบบระเบียบของโลกที่ไม่เสมอภาคนั้นไว้ สุดท้ายปลายทางของการกดขี่ และระบบที่ดูเข้มแข็งอาจจะเปราะบางและพังทลายได้ด้วยเบอร์รีกำมือเดียว
7. Farenheit 451 (1953) / Ray Bradbury
ถ้าหนังสือหนังหามันนำความปวดหัวมาให้ ก็เผามันซะให้สิ้นซาก Farenheit 451 เป็นอุณหภูมิกระดาษในหน้าหนังสือขณะที่ถูกเผาไหม้ Ray Bradbury ชวนเราจินตนาการถึงอนาคตช่วงไหนซักแห่งที่หนังสือและความรู้ทั้งหลายเป็นของต้องห้าม หน้าที่ Fireman ไม่ใช่คนที่จะดับแต่ทำหน้าที่จุด ค้นหาทำลายเหล่าหนังสือที่เป็นของต้องห้ามในโลกอนาคต โลกในจินตนาการที่ฟังดูประหลาดไม่น่าเป็นจริงที่ไล่จัดการปิดกั้นความรู้ต่างๆ นี้ สุดท้ายอาจจะคล้ายคลึงกับโลกที่เราอยู่อย่างน่าขนลุกก็เป็นได้