ใครๆ ก็อยากจะมีชีวิตง่ายขึ้นด้วย ‘นวัตกรรม’ ไม่ใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้นหรอกที่เป็นยอดนักประดิษฐ์ ในธรรมชาติยังมียอดนักประดิษฐ์ฉลาดหลักแหลมมากมายที่พยายามเปลี่ยนสิ่งรอบตัวให้เป็นเครื่องมือง่ายๆ แม้พวกมันจะไม่ถึงกับสร้างไอโฟนขึ้นมาสักเครื่อง (ซึ่งคุณก็อาจจะทำไม่ได้เหมือนกัน) แต่พวกมันก็มีความฉลาดเฉลียวพอที่จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นผ่านการแก้ปัญหา ไม่ได้ถูกผลักดันด้วยสัญชาตญาณล้วนๆ อย่างที่มนุษย์เคยปรามาสไว้
เรามาดูกันว่าเหล่าสัตว์จะเรียนรู้ในการใช้เครื่องมืออย่างไร แม้คุณจะมีสี่ขา สองแขน มีปีก หรือแหวกว่ายในน้ำ พวกเราต่างก็ต้องรู้จักแก้ปัญหาอยู่ดี
ร่มของอุรังอุตัง
เมื่อฝนตกเราก็ต้องกางร่ม เช่นเดียวกับอุรังอุตังในหน่วยวิจัย Camp Leakey บนเกาะบอร์เนียว ที่รู้จักเอากิ่งไม้ใบไม้มาบังฝน โดยแม่อุรังอุตังจะสอนให้ลูกรู้จักเลือกหยิบใบไม้มาบังหัวตัวเอง เป็นพฤติกรรมแสนรู้น่ารักน่าชังที่อุรังอุตังรุ่นใหม่ๆ เรียนรู้มาจากพ่อแม่ โดยพวกอุรังอุตังก็จำมาจากพฤติกรรมมนุษย์ในศูนย์วิจัยอยู่ดี
มีรายงานมากมายอีกว่า อุรังอุตังในธรรมชาติใช้ไม้หยิบจับอาหารที่เกินเอื้อมกันจนเป็นเรื่องปกติ ใช้ไม้วัดความลึกของธารน้ำก่อนที่จะเดินข้ามเพื่อความปลอดภัย นักวิจัยเชื่อว่าอุรังอุตังที่อยู่กับมนุษย์จะมีทักษะในการแก้ปัญหามากขึ้น เพราะพวกมันเป็นนักเลียนแบบตัวยงจากการสังเกตและรู้จักตรรกะในการแก้ปัญหา
นอกจากนี้อุรังอุตังในสวนสัตว์ San Diego Zoo เคยหนีออกจากกรงถึง 9 ครั้งโดยการใช้ไม้ดัดเป็นแชลงงัดกลอนออกมา เพียงเพราะมันเคยเห็นมนุษย์ใช้เครื่องมือแชลงในสวนสัตว์มาแล้วครั้งหนึ่ง
ค้อนของปลานกแขกเต้า
ปลาไม่ค่อยอยู่ในทำเนียบสัตว์สมองไวแต่ไหนแต่ไรมา ซึ่งในระยะหลังนักวิทยาศาสตร์เริ่มหลงใหลกระบวนการแก้ปัญหาของปลามากขึ้น เพราะไม่ค่อยมีใครเห็นพวกมันทำอะไรใต้น้ำ เราจึงชอบคิดไปว่าปลาไม่ค่อยฉลาด กินอร่อยอย่างเดียว
ถ้าใครเคยดู Blue Planet II จะรู้จักกับพระเอกในตอนหนึ่งคือ ปลานกแขกเต้า (tuskfish) ที่อาศัยในแถบเกรตแบร์ริเออร์รีฟในออสเตรเลีย แม้ปลาจะไม่มีมือในการหาหินมาทุบเปลือกหอยแข็งๆ แบบกลุ่มลิง แต่ปลานกแขกเต้ารู้จักที่จะคาบชิ้นส่วนแข็งๆ ของปะการังทำเป็นค้อนเล็กๆ ทุบจนเปลือกหอยแตกออก แล้วค่อยกินเนื้อข้างใน
นักวิชาการอาจยังไม่สรุปว่าพฤติกรรมนี้ถูกจัดอยู่ในนิยามของการใช้เครื่องมือหรือไม่ แต่ก็เป็นการพิสูจน์ว่าปลามีการตระหนักรู้ที่สามารถแก้ปัญหา เพราะมันจะทุบอยู่ ณ จุดๆ เดิมด้วยความมุมานะจนกว่าเปลือกจะแตกออก
ตะขอของนกกระตั้ว
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย University of Vienna ได้พบกับนกกระตั้วตัวหนึ่งในศูนย์วิจัย โดยที่มันพยายามดัดขดลวดที่อยู่ตรงๆ ให้เป็นตะขอเกี่ยว แล้วยื่นตะขอไปเกี่ยวอาหารออกมาจากท่อเล็กๆ กินสบายใจเฉิบ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครพบพฤติกรรมนกดัดวัตถุให้เป็นรูปทรงที่เอื้อประโยชน์มาก่อน
เรื่องนี้สร้างความฮือฮาให้กับนักพฤติกรรมสัตว์ได้ตื่นเต้นกันทีเดียว เมื่อพวกเขาพบว่านกกระตั้วเป็นนักเรียนรู้แบบ Spontaneous Leaner โดยสามารถเรียนรู้และแก้ปัญหาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครมาสอน คาดว่านกกระตั้วไปจดจำรูปทรงตะขอมาจากที่อื่น แล้วนำมาปรับใช้ทันทีเมื่อพบว่ามีอาหารในจุดที่เอื้อมไม่ถึง
ซึ่งแสดงว่านกเป็นสัตว์ที่มีความจำแม่นยำ และสามารถบูรณาการมาใช้ได้โดยทันที เพราะฉะนั้นอย่าพยายามทำให้นกอารมณ์เสียล่ะ เพราะมันจะแค้นคุณไปนานทีเดียว
เครื่องมือหินของลิงจิ๋วคาปูชิน
ลิงจิ๋วคาปูชินดูจะเป็นนักนวัตกรรมที่โดดเด่นในช่วง 5 – 6 ปีมานี้ หลังจากนักไพรเมตวิทยาพบว่า ลิงคาปูชินอาจกำลังเข้าสู่ยุคหินของตัวเอง พวกมันฮิตการใช้หินเป็นเครื่องมือทุบงัดแงะ ซึ่งนักวิจัยด้านไพรเมท Lydia Luncz จากมหาวิทยาลัย University of Oxford พบว่าพฤติกรรมนี้ถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นในคาปูชิน เหมือนกับ ‘วัฒนธรรม’ ในมนุษย์
ลิงคาปูชินจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Serra da Capivara นอกจากจะใช้หินเป็นเครื่องมือทุบแล้ว ยังใช้หินเป็นเกราะกำบังน้ำยางที่มาจากผลมะม่วงหิมพานต์ ใช้หินเป็นจอบขุดแมลงที่อยู่ใต้ดิน หรือตัวเมียก็ยังใช้หินเป็นของมอบให้กันเพื่อกระชับความสัมพันธ์ราวกับเป็นเครื่องทำครัวที่ทำให้ครอบครัวอื่นอิจฉา
โล่เปลือกมะพร้าวของหมึกยักษ์
หมึกยักษ์เป็นมันสมองพิลึกแห่งท้องทะเล พวกมันมีกลไกการทำงานของเซลล์ประสาทที่แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ โดยสิ้นเชิง ความเป็นนักแก้ปัญหาทำให้เป็นเรื่องยากที่จะเลี้ยงพวกมันในตู้ เพราะหมึกสามารถตระหนักรู้ได้ว่ากำลังถูก ‘จองจำ’
ยังมีรายงานว่าหมึกยักษ์สามารถใช้เปลือกมะพร้าวผ่าซีกมากันเป็นโล่กำบังตัว โดยใช้หนวดยึดเปลือกมะพร้าวไว้แล้วเอามาครอบเพื่ออำพรางกาย ซึ่งเปลือกมะพร้าวผ่าซีกส่วนใหญ่ก็มาจากฝีมือมนุษย์ทิ้งไว้ นี่จึงเป็นสัญญาณว่า หมึกยักษ์สามารถปรับเปลี่ยนการเรียนรู้จากอิทธิพลของพฤติกรรมของมนุษย์ได้ แถมมันยังพกติดตัวไปด้วย หยิบใช้ได้หลายครั้ง (ซึ่งเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่นักวิทยาศาสตร์นิยามไว้เพื่อจัดอันดับว่าเป็นสัตว์ใช้เครื่องมือ) พฤติกรรมของหมึกยักษ์อันชาญฉลาดนี่จึงเป็นครั้งแรกที่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังก็ยังใช้เครื่องมือได้