“ถ้าฉันแก้ไขตัวเองได้ ตัวนายก็จะไม่มีอยู่น่ะสิ แล้วนายก็จะย้อนอดีตกลับมาหาฉันไม่ได้” โนบิตะพูด
“ไม่หรอก ลองคิดถึงการเดินทางไปต่างจังหวัดสิ ถึงจะเลือกเส้นทางอื่นเราก็ไปถึงที่หมายเดียวกันได้” โดราเอมอนบอก
นั่นคือครั้งแรกที่ผมได้รู้จัก ‘การเดินทางข้ามเวลา’ ลองคิดภาพเด็กประถมฯ ที่ยังอ่านหนังสือไม่แตก เปิดอ่านการ์ตูน โดราเอมอน ตอนแรก แล้วถูกโยนเรื่องเหล่านี้เข้าใส่สิครับ—ใช้คำว่าตื่นเต้นยังน้อยไป
คุณสัมผัสเรื่องราวการเดินทางข้ามเวลาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ครับ? สำหรับผมคือเมื่อวานนี้เอง ผ่านทาง Doctor Strange หนังซูเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวล แปลว่านับตั้งแต่ผมอยู่ประถมฯ ต้นจนถึงเมื่อวาน เรื่องราวการเดินทางข้ามเวลาไม่เคยห่างหายไปสักครั้ง
ไม่นานมานี้ James Gleick นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันที่ผมชื่นชอบพยายามแก้ไขโจทย์เรื่อง ‘เวลา’ ผ่านหนังสือที่ใช้เวลาเขียนนานถึงสี่ปี นั่นคือ Time Travel: A History ในนั้นเขาพูดถึงข้อมูลน่าสนใจมากมาย เช่น แม้มนุษย์จะอยู่ในกาลเวลามานานแล้ว แต่คอนเซปต์เรื่อง ‘การเดินทางข้ามเวลา’ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีให้หลังนี้เอง (ก่อนหน้านี้ตำนานต่างๆ ทางศาสนาไม่เคยพูดถึงมันเลยสักครั้ง) โดยเจมส์สืบสาวไปถึงต้นตอว่า คนที่เชื่อมคำว่า ‘เวลา’ กับ ‘เดินทาง’ เข้าด้วยกันไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก H. G. Wells ผู้เขียนนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง The Time Machine ในปี 1895 หลังจากนั้นผู้คนที่ได้แรงบันดาลใจจากเขาจึงแแต่งเรื่องราวการเดินทางข้ามเวลาในแบบของตน จนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม
ในทางทฤษฎี การเดินทางข้ามกาลเวลานั้นแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะการเดินทางไปในอดีตจะต้องเดินทางด้วยความเร็วมากกว่าแสง (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) ส่วนการเดินทางไปในอนาคตนั้นทำได้หากเดินทางด้วยความเร็วใกล้ความเร็วแสงมากๆ (ซึ่งมนุษย์อาจไม่มีวันไปถึง) แต่ถึงอย่างนั้นมนุษย์ก็ยังคงลุ่มหลงกับของเล่นทางความคิดชิ้นนี้อย่างไม่รู้จบ
อินเทอร์เน็ตเองก็เป็นไทม์แมชชีนแบบหนึ่ง มันพาเราเดินหน้าหรือถอยหลังไปในมิติที่สี่ไม่ได้ แต่มันทำให้ปัจจุบันของเรายืดยาวขึ้น เราทำหลายสิ่งในเวลาเดียวกันและอยู่ในวัฒนธรรมแห่งปัจจุบัน (nowness) James ใช้คำว่า อินเทอร์เน็ตเปรียบเสมือนห้องกระจกที่ทำให้เราอยู่ในปัจจุบันที่ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ และเทคโนโลยีซึ่งสามารถบันทึกได้มากขึ้นยังทำให้อดีตชัดเจนขึ้นราวกับอยู่ในปัจจุบัน เราบอกไม่ได้ว่าวิดีโอที่เรากำลังชมอยู่เป็นวิดีโอสดหรือถูกอัดเก็บไว้หลายปีแล้ว ทุกวันนี้เราจึงอยู่กับปัจจุบันและปัจจุบัน
รู้ไหมครับว่าทางการจีนเคยแบนการเดินทางข้ามเวลาในละครเรื่องหนึ่งด้วยข้อหาว่ามันเหลวไหลเกินไป แต่เหตุผลที่แท้จริงก็อาจเป็นเพราะกลัวว่า เมื่อชาวจีนตระหนักถึง ‘ความเป็นจริงแบบอื่น’ พวกเขาจะมีความสามารถในการจินตนาการจนดิ้นรนหลุดพ้นจากการควบคุมของผู้มีอำนาจ
นั่นอาจเป็นเหตุผลที่เราลุ่มหลงกับเรื่องราวการเดินทางข้ามเวลา เราสามารถย้อนกลับไปแก้ไขอดีตได้แม้เพียงในความคิด และเราสามารถจินตนาการว่า หากเหตุการณ์ไม่ดำเนินต่อเนื่องมาอย่างที่เกิด เหตุการณ์ในโลกมิติอื่นๆ จะเป็นแบบไหน
เมื่อจินตนาการเช่นนี้ได้ เราก็อาจกำหนดอนาคตได้ดีกว่าที่เคย
จากคอลัมน์ Lab โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
giraffe magazine 51 – Online News Issue