ข่าวลือประเภท ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ที่บอกว่า ไวรัส COVID-19 เป็นไวรัสที่ ‘หลุด’ จากห้องปฏิบัติการนั้นไม่เคยจางหายไป หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าจนถึงบัดนี้ ก็ยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่า COVID-19 มีจุดตั้งต้นที่ไหนกันแน่ ที่ว่ากันว่า มันมาจากสัตว์ในตลาดค้าสัตว์ของเมืองอู่ฮั่นนั้น แท้จริงแล้วเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
บางกระแสข่าวบอกว่า ถ้าไปดูแผนที่ เราจะพบว่าศูนย์ควบคุมโรคของอู่ฮั่น หรือ Wohan Center for Disease Control (WCDC) ตั้งอยู่ไม่ห่างจากตลาดค้าส่งสัตว์ทะเลของอู่ฮั่นมากนัก แถมยังอยู่ใกล้กับโรงพยาบาล Union Hospital ซึ่งมีแพทย์ติดเชื้อไวรัสนี้เป็นกลุ่มแรกด้วย
บางคนก็ไปไกลถึงขั้นหยิบยกเอาหนังสือของ Dean Koontz ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1981 ว่าด้วยไวรัสจากอู่ฮั่นที่มีชื่อว่าไวรัส Wuhan-400 แล้วนำเลข 400 มาแยกธาตุออกมาเป็นเลข 20×20 ซึ่งก็เท่ากับปี 2020 เพื่อบอกว่านี่คือการทำนายเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว
เรื่องประเภท ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ เหล่านี้อาจฟังดูน่าเบื่อหน่ายหาวเรอสำหรับหลายคน เพราะบ่อยครั้งมันคือ ‘เฟกนิวส์’ ที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีหลักฐาน
แต่กระนั้น เรื่องนี้ก็มีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ
ถ้าดูเฉพาะกรณีของเมืองอู่ฮั่น เราจะพบว่าเมืองนี้เป็นเมืองเดียวในประเทศจีน ที่มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน Biosafety หรือมาตรฐานความปลอดภัยในทางชีวภาพในระดับ 4 คือเป็นห้องแล็บที่สามารถศึกษา pathogens หรือ ‘เชื้อโรค’ ที่อันตรายที่สุดได้
ตามมาตรฐานของ The Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC ห้องแล็บที่สามารถศึกษาหรือรับมือกับเชื้อโรคได้นั้น จะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ จาก 1 ถึง 4 และระดับ 4 คือระดับสูงสุด นั่นแปลว่าสามารถศึกษาเชื้อโรคที่มีความเสี่ยงสูงสุดได้ เรียกห้องแล็บเหล่านี้ว่า BSL-4
นักวิจัยใน BSL-4 จะต้องใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด ก่อนเข้าไปก็ต้องมีการอาบน้ำชำระล้างทุกสิ่งให้สะอาด โดยชุดที่ใส่เป็นชุดที่มีการอัดความดันอากาศเพื่อแยกตัวเองออกจากสิ่งที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ ที่สำคัญก็คือ ห้องแล็บนั้นต้องเป็นอาคารแยกต่างหาก หรือไม่ก็อยู่ในปีกตึกที่แยกขาดจากส่วนอื่นๆ โดยห้องแล็บประเภท BSL-4 นี้ จะมีไว้เพื่อเก็บและศึกษาเชื้อโรคร้ายแรงระดับอีโบลา หรือเชื้ออื่นๆ เช่น ไวรัส Nipah เป็นต้น
แต่ที่สำคัญก็คือ ห้องแล็บระดับ BSL-4 ในจีนนั้น มีอยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น และห้องแล็บที่ว่า – ก็ตั้งอยู่ในเมืองอู่ฮั่นด้วย (ดูเพิ่มเติม)
แน่นอน นี่ไม่ใช่การบอกว่า COVID-19 ที่แพร่ไปทั่วโลกนั้นหลุดรอดออกมาจากห้องปฏิบัติการนะครับ เพราะมันอาจเป็นอย่างนั้นหรือไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ ไม่มีใครรู้หรอก แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต เราจะพบว่าเคยมีการหลุดรอดของเชื้อโรคจากห้องแล็บมาแล้วหลายครั้ง แต่ที่ถือว่าร้ายแรงจริงๆ เป็นการหลุดรอดของเชื้อที่อาจลุกลามในระดับ pandemic นั้น มีอยู่ด้วยกัน 5 ครั้ง โดยมีรายงานนี้อยู่ใน The Bulletin of the Atomic Scienctists (ดูได้ที่นี่) ได้แก่
การระบาดของไวรัส H1N1 ในปี ค.ศ.1977
สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ H1N1 หลุดรอดจากห้องปฏิบัติการในจีนที่กำลังพยายามจะสร้างวัคซีนป้องกันโรคนี้ ไวรัสแพร่ลามไปทั่วโลก และมีอัตราการติดเชื้อราว 20-70% แต่โชคดีที่สายพันธุ์ที่หลุดรอดออกไป ก่อให้เกิดโรคไม่รุนแรง และมีผู้เสียชีวิตไม่มากนัก
โรคฝีดาษในอังกฤษ
โรคฝีดาษนั้นแม้จะถือกันว่าหมดโลกไปแล้ว แต่ก็ยังมีการเก็บรักษาเชื้อเอาไว้ในห้องแล็บ มีรายงานว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1963-1978 เชื้อฝีดาษหรือ smallpox ได้หลุดออกจากห้องแล็บสองแห่งในอังกฤษ ทั้งสามครั้งเกิดขึ้นจากมาตรฐานที่แย่และวิธีปฏิบัติที่หละหลวมในห้องแล็บ เมื่อรวมทั้งสามกรณีแล้ว มีผู้เสียชีวิตราว 80 คน
VEE หรือ Venezuelan Equine Encephalitis
ในปี ค.ศ.1995 ชาวเวเนซุเอลาราวหมื่นคน และชาวโคลัมเบียราว 75,000 คน ล้มป่วยด้วยเชื้อ VEE ที่หลุดรอดออกไปจากห้องแล็บหนึ่ง การระบาดนั้นทำให้คนเสียชีวิต 311 คน และอีกราว 3,000 คน มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท
การระบาดของ SARS
โรคซาร์สหรือ Severe Acute Respiratory Syndrome (SARS) นั้น เป็นโรคระบาดระดับโลก เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2003 ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 8,000 คน เสียชีวิต 774 คน ใน 29 ประเทศ (ซึ่งตอนนั้นฟังดูน่ากลัวมาก แต่ยังมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่า COVID-19) ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการเก็บรักษาเชื้อไวรัสนี้เอาไว้ในห้องแล็บหลายแห่งในโลก ปรากฏกว่า เชื้อโรคซาร์สหลุดรอดออกจากห้องแล็บได้ถึง 6 ครั้งด้วยกัน โดยสี่ครั้งหลุดจากห้องแล็บในกรุงปักกิ่ง อีกสองครั้งมาจากสิงคโปร์และไต้หวัน แต่โชคดีมากที่ทั้ง 6 ครั้ง ไม่ได้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด เพราะหยุดยั้งทันท่วงที โดยทั้งหมดเกิดจากความสะเพร่าและความผิดพลาดของคนทำงาน
โรคมือเท้าปาก
ในปี ค.ศ.2007 มีการระบาดของโรค Food and Mouth หรือ FMD ในอังกฤษ โรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อง่ายมากในปศุสัตว์ และอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้หลายพันล้านเหรียญ เพราะการติดเชื้อสามารถแพร่กระจายได้กว้างไกล ปรากฏว่า ในปี ค.ศ.2007 มีสัตว์ 278 ตัวในอังกฤษ ติดเชื้อ FMD นี้ เนื่องจากไวรัสที่เป็นต้นเหตุหลุดออกจากห้องแล็บที่อยู่ห่างออกไป 4 กิโลเมตร ทำให้ต้องฆ่าปศุสัตว์ไป 1,578 ตัว เพื่อยับยั้งการระบาด และสร้างความเสียหายรวม 200 ล้านปอนด์
เมื่อเดือนกันยายน 2019 หรือปีที่แล้วนี่เอง ก็เกิดเหตุระเบิดขึ้นกับห้องแล็บของรัสเซีย ซึ่งในปัจจุบันเป็นเพียงหนึ่งในสองของห้องแล็บ ที่เก็บรักษาไวรัสวาริโอลา (Variola Virus) ที่ยังมีชีวิตอยู่ ไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคฝีดาษ ซึ่งก็ก่อให้เกิดความกังวลขึ้นมาอีกว่า ไวรัสฝีดาษจะ ‘หลุด’ ออกมาอีกหรือเปล่า
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดข้อถกเถียงกันมากว่า
ห้องแล็บเหล่านี้ควรเก็บรักษาเชื้อโรคร้ายแรงเหล่านี้อย่างไร
หรือที่จริงแล้ว เราควรจะ ‘กำจัด’ เชื้อโรคเหล่านี้ไปเสียเลย (หลังจากศึกษาพวกมันอย่างถ่องแท้แล้ว) เพื่อไม่ให้เกิดเหตุไม่คาดหมายขึ้นได้อีกในอนาคต
หลังโรคฝีดาษถูกกำจัดไปแล้ว องค์การอนามัยโลกมอบหมายให้เก็บรักษาเชื้อโรคฝีดาษหรือวาริโอลาไวรัสนี้ไว้ในสองแล็บเท่านั้น คือ Russian State Centre for Research on Virology and Biotechnology กับอีกที่หนึ่งคือ Centers for Disease Control and Prevention ในแอตแลนตา
แต่เมื่อเกิดเหตุระเบิดขึ้นมา ในที่สุด องค์การอนามัยโลกก็ตัดสินใจว่าจะกำจัดทิ้งเชื้อโรคนี้ให้หมดไป แต่ไม่ได้กำจัดในทันที ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักวิจัยได้ศึกษาไวรัสนี้ให้ถ่องแท้เสียก่อน
ตอนนี้เริ่มเกิดคำถามถึงเชื้อโรคอื่นๆ ที่แม้ยังไม่ถึงขั้นถูก ‘กำจัด’ (Eradicate) ไปจากโลกจนหมดแล้ว แต่ก็เหลืออยู่น้อยเต็มที และมนุษย์ก็หาทางป้องกันรักษาได้แล้ว เช่น โรคโปลิโอ โรคหัด โรคคางทูม ฯลฯ ว่าควรจะกำจัดทิ้งเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเหล่านี้ด้วยหรือไม่
แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็แสดงให้เราเห็นว่า ในโลกยังมีห้องแล็บที่เก็บรักษาเชื้อโรคร้ายๆ ที่หากหลุดออกมา ก็อาจแพร่ระบาดไปได้กว้างไกลจนทำลายมนุษย์ได้ทั้งเผ่าพันธุ์อยู่อีกไม่น้อย แต่กระนั้นเราก็ยังจำเป็นต้องเก็บรักษาพวกมันเอาไว้เพื่อศึกษาวิจัยต่อไป จะได้หาวิธีรักษาและคิดค้นวัคซีนป้องกันได้
แต่กระนั้น เชื้อโรคเหล่านี้ก็เป็นคล้ายระเบิดเวลาที่จะระเบิดออกมาได้ทุกเมื่อ
ถ้าหากเกิดความผิดพลาดของมนุษย์ในห้องปฏิบัติการขึ้นมา