พืชพันธุ์ คือขุมทรัพย์และความมั่นคงทางอาหาร ที่กำลังถูกคุกคามจากหายนะ Climate Change และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่ไม่เคยปราณีปราศรัย หากเราไม่มีของกินที่เกิดขึ้นจากการเพาะปลูก อนาคตของมวลมนุษย์คงจบสิ้นในอีกไม่กี่อึดใจ แต่ในความสิ้นหวังยังมีศูนย์รวมแห่งจิตใจ เพราะตราบใดที่เรายังมีเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง ลูกหลานรุ่นต่อไปอาจดิ้นรนอยู่ได้
ถึงไม่สบาย แต่พวกเขาจะอยู่รอด
ขอต้อนรับสู่ ‘ห้องนิรภัยเมล็ดพันธุ์พืชแห่งสฟาลบาร์’ (Svalbard Global Seed Vault)
ณ ใจกลางขั้วโลกเหนือ ห่างจากจุดศูนย์กลางเพียง 1,300 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของสถานที่สุดลึกลับซึ่งน้อยคนจะรู้จัก ท่ามกลางความโดดเดี่ยวและหนาวสะท้านล้วนมีเหตุผล เพื่อรักษาเมล็ดพันธุ์พืชสำคัญของโลกไว้ได้มากที่สุด
และมันจะเป็นแหล่งอาหารสุดท้ายของมนุษย์ เมื่ออุบัติการณ์สิ้นโลกกำลังเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบ แม้หลายคนจะรู้แล้ว และอีกหลายคนแสร้งทำเป็นไม่เห็นก็ตาม
ปราการน้ำแข็งและอุโมงค์เมล็ดพันธุ์พืชแห่งสฟาลบาร์
หากคุณมีอำนาจพอที่จะควบคุมดาวเทียมนับพันๆ ดวงที่โคจรอยู่นอกโลก ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะชี้พิกัด ‘ห้องนิรภัยเมล็ดพืชโลกสฟาลบาร์’ (Svalbard Global Seed Vault) ท่ามกลางภูเขาน้ำแข็งมหึมาและอุณหภูมิติดลบ จะบอกว่าเป็นแหล่งเหมาะสมต่อการรักษาพืชพันธุ์ก็ดูย้อนแย้งสิ้นดี เพราะความหนาวเหน็บติดลบ ไม่มีทั้งดินอันอุดมสมบูรณ์ ไม่มีทั้งแสงอาทิตย์ และไม่มีคนสวนสักคน จะไปดูแลพืชอย่างในคำกล่าวอ้างอย่างไร
แต่องค์ประกอบเหล่านี้ ล้วนทำให้ขั้วโลกเหนือเป็นสถานที่น่าสนใจที่สุด สำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์อันเปรียบเสมือนทรัพยากรที่ล้ำค่าที่สุดของมวลมนุษยชาติ พืชจากทั่วโลกมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ ห้องนิรภัยเก็บรักษาพืชสายพันธุ์บริสุทธิ์ กว่า 1 พันล้านเมล็ด ที่รอคอยการแจกจ่ายและนำไปปลูกทั่วโลก
ภารกิจช่วยเหลือมนุษย์อันเงียบเชียบดำเนินมาราว 8 ปีโดยไม่เรียกร้องการเป็นจุดสนใจ หลังจากโลกกำลังเผชิญกับภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชเพื่อเป็นอาหาร และกำลังทำให้ความหลากหลายทางสายพันธุ์ตกอยู่ในความเสี่ยง ‘ห้องนิรภัยเมล็ดพันธุ์โลกแห่งสฟาลบาร์’ (Svalbard Global seed vault) เป็นโครงการที่ถูกออกแบบมาอย่างละเอียดลออ โดยใช้ปราการน้ำแข็งตามธรรมชาติเป็นกองหน้าในการเก็บรักษาพืชพันธุ์สำหรับมนุษย์ หากเกิดหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่พวกเราเองเป็นตัวตั้งระเบิดเวลาให้เร็วขึ้น
ออกแบบมาดี โดยธรรมชาติ
น้อยคนนักจะมีโอกาสเยือนห้องนิรภัยสฟาลบาร์ แม้คุณจะเป็นบุคคลสำคัญของโลกลำดับต้นๆ แล้วก็ตาม
มันถูกออกแบบมาเพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์น้อยที่สุด (ไม่นับรวมหมีขั้วโลกที่เดินอ้วนๆผ่านไปมาแถวๆนั้น) ส่วนของอุโมงค์ใต้ดินอยู่ลึกไปในชั้นน้ำแข็งอันหนาแน่น มีประตูนิรภัยเหล็กกล้าปิดซ้อนอยู่หลายชั้น โดยการควบคุมของระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นหัวใจในการจัดสรรทุกอย่างโดยใช้พลังงานต่ำ และเพื่อการรักษาอุณหภูมิให้คงที่อยู่เสมอ มันจึงต้องอยู่ลึกไปในอุโมงค์หินที่ถูกรายล้อมด้วยภูเขาน้ำแข็ง
ทางเดินไปสู่ห้องนิรภัยเป็นอุโมงค์ลึกยาวสุดตา ผนังน้ำแข็งอายุกว่าล้านปี ถูกขุดเจาะและเสริมด้วยเหล็ก ท่อส่งความร้อนและท่ออากาศทำให้คนทำงานภายในมีชีวิตแบบพออยู่ได้ท่ามกลางความหนาวเย็น (ไม่สบายหรอก)
แม้ภายในจะไม่ได้ดูเหมือนห้องวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ล้ำสมัยน่าตื่นตา หรือแลปปลอดเชื้อที่สถาบันวิจัยดังๆ สร้างไว้ดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่มันถูกออกแบบเพื่อวัตถุประสงค์ในการเก็บตัวอย่างพันธุ์พืชอย่างเหมาะสมที่สุด
ระบบภายในต่างๆ พึ่งพามนุษย์ในการดูแลน้อยมาก จนเหมือนทุกอย่างสามารถดำเนินไปได้โดยไม่ต้องรับการทำนุบำรุง มันใช้พลังงานน้อยอย่างเหลือเชื่อในการหมุนระบบ สมกับการเป็นห้องนิรภัยที่สามารถยืนหยัดได้เป็นศตวรรษๆ เพราะหากเกิดเหตุหายนะ คงไม่มีมนุษย์มากพอให้เรียกใช้
ห้องเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์มีสภาพแวดล้อมที่ควบคุมด้วยธรรมชาติเป็นหลัก จากความหนาวเย็นของน้ำแข็งและชั้นหินหนาที่รักษาอุณหภูมิให้คงที่ตลอดเวลาที่ –18 องศาเซลเซียส ห้องนิรภัยมีจำนวน 3 ห้อง (ในขณะนี้) แตละห้องกว้างราว 27 เมตร สูง 5 เมตร แต่มีเพียงห้องเดียวเท่านั้นที่มีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ ที่เหลือสร้างไว้เพื่อรอคอยเมล็ดพันธุ์ที่จะมาเพิ่มเติมภายหลัง
เมล็ดพันธุ์พืชจากทั่วทุกมุมโลก เกือบทุกสายพันธุ์ที่มีการค้นคว้าวิจัย และพิสูจน์อัตลักษณ์ทางสายพันธุ์แล้ว ถูกจัดเก็บไว้ได้นานหลายพันปี (หรือมากกว่านั้น) ซึ่งเมล็ดพันธุ์ยังคงมีคุณสมบัติงอกได้ตามปกติ เมื่อถูกนำไปปลูกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอีกครั้ง
เมล็ดพันธุ์สำคัญอยู่ในที่เดียว
ห้องนิรภัยสฟาลบาร์เปิดทำการมา 9 ปีอย่างเงียบๆ ภายในปี 2008 (ใช้เวลาก่อสร้างอุโมงค์ก่อนหน้านั้น 2 ปี) มีมูลค่าราว 45 ล้านโครนนอร์เวย์ (9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่ได้มาจากรัฐบาลนอร์เวย์
การปฏิบัติการดูแลและสนับสนุนเงินโดยนอร์เวย์และกองทุนความหลากหลายแห่งธัญพืชของโลก ซึ่งกองทุนได้รับมาจาก มูลนิธิบิลแอนด์เมลินดาเกต, สหราชอาณาจักร, นอร์เวย์, ออสเตรเลีย, สวิตเซอร์แลนด์ และสวีเดน ไปจนถึงประเทศที่กำลังพัฒนา 4 ประเทศอย่าง บราซิล, โคลอมเบีย, เอธิโอเปีย และอินเดีย ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่กำลังเผชิญความท้าทายทางสภาพภูมิอากาศ และพืชในประเทศกำลังอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลายพันธุ์หรือสูญพันธุ์ไปตลอดกาล
เมล็ดพันธุ์ที่ถูกเก็บรักษามีคุณสมบัติไม่ธรรมดา เพราะเมล็ดพันธุ์มียีนที่สามารถต้านทานยากำจัดศัตรูพืช และทนทานต่อสภาพอากาศ ไม่ว่าจะร้อนหรือแห้งแล้ง นักเพาะพันธุ์พืชจากทั่วโลกสามารถนำเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ไปปลูกต่อและยืดอายุกิจกรรมทางเกษตรกรรมเพื่อต่อสู้กับอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น และเป็นรากฐานสำคัญในการเผชิญหน้ากับยากำจัดศัตรูพืชใหม่ๆ ที่พัฒนาจนทำให้ก่อให้เกิดโรคกลายพันธุ์ที่ยากเกินจะจัดการ
นั่นหมายความว่า อนาคตของพืชในยุคต่อๆ ไปอยู่ในสารรหัสพันธุกรรมที่มีความหลากหลายและลักษณะเฉพาะตัวเท่านั้นถึงจะอยู่รอด
พืชจำนวน 880,000 สายพันธุ์จากทั่วทุกมุมโลก ทุกสภาพภูมิอากาศ ทั้งพืชพื้นเมืองดั้งเดิม พืชต่างถิ่น ถูกจัดเก็บรักษาอย่างดีในรูปแบบเมล็ดพันธุ์ ปริมาณ 500,000,000 เมล็ด หรือคิดเป็นน้ำหนัก 40 ตัน รายชื่อของพืชทั้งหมดอยู่ในรายงานความหนา 55 หน้ารวดแบบพิมพ์ติดกัน และแน่นอน มันจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ เมล็ดพันธุ์สำคัญต่างๆ กำลังเดินทางมาสมทบเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา
เมล็ดพันธุ์ทุกเมล็ดถูกจัดเก็บไว้ในถุงกันความร้อน ทำจากลามิเนตกันชื้น และมีลักษณะเป็นสุญญากาศ แต่ละถุงถูกเก็บในกล่องประมาณ 400 ถึง 500 ตัวอย่าง ขึ้นอยู่กับลักษณะเมล็ด หลังจากนั้นกล่องจำนวน 2,291 จะถูกนำไปเก็บในห้องนิรภัยที่แต่ละห้องมีความจุ 1.5 ล้านตัวอย่าง ตั้งแต่ถั่วสายพันธุ์เก่าแก่หายากของโคลัมเบีย อย่าง carcha ซึ่งเป็นสายพันธุ์ถั่วลิมา มีอายุกว่า 6,000 ปี และสายพันธุ์ข้าวจากทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 120,000 สายพันธุ์ถูกเก็บไว้ในสฟาลบาร์แห่งนี้
แม้ปัจจุบันเราจะยังไม่รู้ว่าโลกใบนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพขนาดไหน หรือมีพืชกี่สายพันธุ์ แต่เรามีพืชจำนวนไม่น้อยกำลังสูญพันธุ์โดยที่ไม่มีใครรับรู้
โครงการเฟ้อฝัน
ใครๆ ก็ยอมรับว่าไอเดียสร้างห้องนิรภัยเพื่อเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เป็นสุดยอดโครงการที่ดีที่สุดในศตวรรษที่ 20 ได้รับการชื่นชมมากมายในฐานะความหวังของมวลมนุษยชาติ แต่หากย้อนไปในปี 2004 มันกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และหาว่า ‘เฟ้อฝันราวนิยายวิทยาศาสตร์’ ไม่มีรัฐบาลไหนจะไปสร้างห้องนิรภัยใจกลางอุณหภูมิติดลบในขั้วโลกเหนือและใช้ทุนสร้างมหาศาลเพื่อเพียงจัดเก็บเมล็ดพืช
แต่รัฐบาลนอร์เวย์ ยืนยันว่า “มันคุ้มที่จะสร้างเพื่อมวลมนุษยชาติ เพราะการจัดเก็บเมล็ดพืชนั้นสำคัญ”
โครงการสฟาลบาร์ ริเริ่มด้วยเจตนาดี มองโลกในแง่บวก และทำได้จริงในเชิงปฏิบัติ มันห้อมล้อมไปด้วยผู้คนที่แม้มีจำนวนน้อย แต่พวกเขาล้วนเห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ต้องยอมอุทิศตัว ตัดขาดความสบายชีวิตส่วนตัวและโลกภายนอก ไปอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่หนาวเหน็บและเปลี่ยวร้าง
การนั่งรอคอยหายนะอย่างไร้หวังโดยไม่ทำอะไรเลยต่างหากเป็นเรื่องที่เจ็บปวด
ห้องนิรภัยทางเมล็ดพันธุ์จึงเป็นศูนย์กลางแห่งความหวัง สำหรับคนรุ่นต่อไป
แม้เราจะไม่ได้การันตีความสะดวกสบายสำหรับพวกเขาในวันหน้า แต่อย่างน้อยยังมีความหวังรอคอยพวกเขาอยู่เสมอ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Seed on Ice : American Scientist October 2016