ความรักนั้นไร้เหตุผลและควบคุมไม่ได้ เราไม่สามารถเลือกที่จะรักหรือไม่รักใครบางคน และเมื่อเรารู้สึกรักไปแล้ว ก็ไม่มีปุ่มให้เรากดหยุดความรู้สึกที่มีได้ เราไม่สามารถหนีจากความรู้สึกนั้น แต่หลายครั้ง.. เราต้องเลือกเก็บความรักนั้นไว้ด้วยเหตุผลและเงื่อนไขต่างๆ แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าแม้แต่การจะเก็บความรู้สึกนั้นไว้ ..ยังทำไม่ได้
‘Love Alarm’ ซีรีส์เกาหลีที่ Netflix เพิ่งปล่อยซีซั่น 2 ให้ดูกันเมื่อไม่กี่วันมานี้ เป็นเรื่องราวของโลกที่ความรู้สึกที่ไม่อาจแอบซ่อนได้ สำหรับใครที่ยังไม่เคยดูมาก่อน นี่เป็นซีรีส์ที่สร้างจากการ์ตูนยอดฮิตบนเว็บตูน บอกเล่าเรื่องของแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนที่สามารถจับความรู้สึก โดยจะแสดงผลแจ้งเตือนเมื่อมีคนชอบเราอยู่ในระยะ 10 เมตร (ยกเว้นว่าเราจะไม่โหลดแอพฯ มาใช้ แต่ก็จะเสียโอกาสรู้ว่าใครชอบเราไปเหมือนกัน) เรื่องส่วนใหญ่โฟกัสอยู่ที่รักสามเส้าของเหล่าตัวเอก แต่ภายใต้พล็อตรักวัยรุ่น ม.ปลาย ซีรีส์เรื่องนี้ยังสะท้อนให้เราเห็น ‘ดิสโทเปียของความรัก’ จนมีนักวิจารณ์หลายคนถึงกับบอกว่า นี่คือซีรีส์ที่มีส่วนผสมระหว่าง Black Mirror กับ Means Girl / Gossip Girl
Are you in love with algorithms?
ในเรื่องนี้ แอพฯ Love Alarm กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดความเป็นไปของความรัก จากปกติที่เราต้องมานั่งลุ้นเวลาแอบชอบใครสักคน ว่าเขาจะรู้ไหม? จะมีใจให้เราหรือเปล่า? ถ้าเราและเขาใช้แอพฯ ก็จะรู้ได้ทันทีเมื่ออยู่ใกล้กันในระยะ 10 เมตร แต่ประเด็นอยู่ที่ความรักไม่ใช่เรื่องสมหวังเสมอไป บางทีเมื่อเดินมาใกล้กัน มีแค่แอพฯ ของฝ่ายเดียวเท่านั้นที่ดังขึ้น กลายเป็นว่าแอพฯ ให้ทั้งความชัดเจนและความเจ็บปวดในเวลาเดียวกัน แถมมันจะยิ่งเลวร้ายเข้าไปใหญ่ กับคู่รักคบกันแล้ววันนึง แอพฯ ของเราเลิกดังเมื่ออยู่ด้วยกัน นำไปสู่คำถามว่าเราไม่ได้รักกันแล้วหรือเปล่า?
จริงอยู่ที่เทคโนโลยีอาจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจได้ในหลายๆ เรื่อง แต่ไม่ใช่กับเรื่องความรักและความรู้สึกของมนุษย์ เป็นไปได้ว่าการเร่งรัดความชัดเจนอาจไม่ได้เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์และความรู้สึก แอพฯ ที่เปลือยความรู้สึกระหว่างกันจึงนำไปสู่ความขัดแย้ง ความอึดอัด และความวิตกกังวลของตัวละครในเรื่อง เพราะผู้ใช้ยึดติดกับการใช้งานแอพฯ มากเกินไป จนหลงลืมไปว่ามันมีหน้าที่แค่แสดงผลตามอัลกอริธึมที่ติดตั้งไว้ แต่มันไม่ได้รับประกันความปลอดภัยในความรู้สึก ไม่อาจเข้าใจเงื่อนไขใดๆ ที่ซับซ้อนไปกว่านั้น รวมถึงไม่ใช่ผู้กำหนดความเป็นไปของความสัมพันธ์
และแน่นอนว่าเราทุกคนยังไม่อาจก้าวข้ามเรื่องของรูปร่างหน้าตาไปได้ แอพฯ อย่าง Love Alarm จึงกลายเป็นตัวเร่งให้ขีดของความนิยมไปสุดแกนในทุกด้าน ตัวละครที่ ‘น่าดึงดูด’ ก็จะมีเสียงแจ้งเตือนในแทบทุกก้าวที่เดินไปไหนมาไหน ขณะที่บางคนกลับไม่เคยได้ยินเสียงแจ้งเตือนเลยสักครั้งตั้งแต่โหลดแอพฯ มา ด้วยตัวเร่งที่ตอกย้ำถึงการให้คุณค่ากับรูปลักษณ์ และการเปลี่ยนความรักให้กลายเป็นการจัดประกวดความนิยมนี้ ในซีรีส์จึงมีเหตุการณ์อย่างการบูลลี่ตัวละครที่ไม่ได้รับคะแนนนิยม รวมถึงการฆ่าตัวตายหมู่ของกลุ่มคนที่ไม่เคยได้ยินเสียงแจ้งเตือนจากแอพฯ เพราะเชื่อว่าไร้ซึ่งคนที่จะมารักพวกเขา และนำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักกิจกรรมที่ออกมาทวงถามถึงมาตรฐานจริยธรรมในการสร้างเทคโนโลยีจากผู้พัฒนาแอพฯ พร้อมเตือนให้ประชาชนเลิกใช้แอพฯ นี้
จากหน้าจอ.. สู่โลกจริง
ถ้าเราลองกดเสิร์ช Love Alarm ใน App Store หรือ Google Play ก็จะพบว่ามีแอพฯ นี้อยู่จริงๆ แต่มันไม่ได้ใช้ฟังก์ชันได้จริงเหมือนในซีรีส์ (เพราะสร้างมาด้วยเหตุผลทางการตลาด) และตอนนี้ก็ยังไม่มีแอพฯ ที่ใช้เชื่อมต่อกับหัวใจและบอกความรู้สึกให้โลกรู้อยู่จริง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการจะสร้างแอพฯ แบบนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องยากในวันที่เทคโนโลยีก้าวกระโดดมาขนาดนี้อีกต่อไป (แม้ในซีรีส์จะไม่ได้ให้คำอธิบายถึงระบบการทำงานของแอพฯ ไว้อย่างชัดเจนนัก) เป็นไปได้ว่าเราอาจเห็นเทคโนโลยีอ่านใจอย่าง AlterEgo ของ MIT หรือ Neuralink ของ Elon Musk กระโดดเข้าสู่สนามธุรกิจหาคู่ออนไลน์ ที่มีมูลค่าพุ่งสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา และมีผู้ให้บริการเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
วันนี้เราอาจจะยังไม่มีแอพฯ ที่แจ้งเตือนเมื่อมีคนชอบเราอยู่ในระยะ 10 เมตร แต่เรามีแอพฯ ที่หาความเชื่อมโยงระหว่างเรากับใครอีกคนได้อย่าง Tinder เรามีเว็บไซต์อย่าง eHarmony ที่ช่วยวิเคราะห์แชทและแนะนำเราได้ว่าเราควรมูฟต่อไปอย่างไรกับความสัมพันธ์ครั้งนี้ เรามี AI ของ Loveflutter หรือ Badoo ที่ช่วยเราคิดว่าเราควรชวนเขาไปเดทที่ไหน หรือแม้แต่วิเคราะห์ใบหน้าว่าคนคนนี้น่าจะเป็นคนที่ชนะใจเราได้หรือเปล่า การมีแฟน VR ให้ซ้อมเดทเพื่อที่จะได้ไม่พลาดกับความรักในโลกจริง
ทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่าเราไม่ได้มาไกลน้อยไปกว่าแอพฯ Love Alarm เลยในโลกนอกจอ และการที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนในเรื่องความรักความสัมพันธ์นี้ คือสิ่งที่นักเทคโนโลยีหลายคนคาดการณ์ว่าจะเป็นตัวออกแบบเรื่องหัวใจของเราในอนาคต ซึ่งก็มีเรื่องให้ต้องพึงระวังไม่ต่างจากในซีรีส์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ จนนำไปสู่ปัญหาการบูลลี่ สุขภาพจิต หรือการสร้างค่านิยมแบบผิดๆ เรื่องของอคติและมาตรฐานจริยธรรมในการสร้างเทคโนโลยีจากผู้พัฒนา รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่าเทคโนโลยีจะทำให้ความรักเป็นดิสโทเปียเสียหมด การวิจัยในหลายๆ ด้าน พบว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเทคโนโลยีกับมนุษย์ คือการที่เทคโนโลยีทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย ไม่ใช่ผู้กำหนดหรือควบคุม เราเองใช้เวลาหลายทศวรรษในการพัฒนาและนำมาใช้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เราก็ควรเรียนรู้วิธีใช้แอพฯ ช่วยให้ความรักของเราดีขึ้นได้ เหมือนกับที่เรารู้จักใช้ไฟได้โดยไม่เผาบ้านตัวเอง
ที่สำคัญคือไม่ปล่อยให้อัลกอริธึมรู้จักเราดีกว่าหัวใจของเราเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก