ร้านอาหารและกิจการร้านอาหารกลางคืน ผับและบาร์ เป็นเป้าหมายสำคัญที่ถูกปิดในช่วงล็อกดาวน์ บ้านเราเองล่าสุดก็สั่งปิดร้านอาหารในห้าง และแน่นอนว่ามีการปิดการนั่งรับประทานที่ร้านมาพักใหญ่ การปิดร้านเป็นสิ่งที่หลายเมืองใหญ่ทำในช่วงการระบาดระยะแรก แต่ว่าเมืองส่วนใหญ่ก็พบว่าการปิดไม่ใช่ทางแก้ การสั่งปิดร้านและกิจการท้องถิ่นจำนวนมากมีแต่จะทำร้ายระบบเศรษฐกิจของเมือง ดังนั้นการเปิด—ในที่นี้คือเปิดถนนและเปิดที่ของเมืองให้กิจการได้มีพื้นที่บริการ รักษาตำแหน่งงาน และกิจการที่เป็นเสน่ห์สำคัญของเมือง ให้ธุรกิจร้านค้าไปต่อได้ เมืองก็จะไปต่อได้
ถ้าเรายังจำได้ การระบาดระลอกแรกเมื่อราวต้นปีที่แล้ว หลายเมืองใหญ่รับมือกับการระบาดด้วยการประกาศปิดเมือง ล็อกดาวน์อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อการระบาดยืดเยื้อ หลายเมืองจึงเห็นว่าการปิดเพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ แต่การปรับตัว ผ่อนปรน และหาวิธีการใช้พื้นที่เมือง พื้นที่รัฐ และเปลี่ยนแปลงมาตรการต่างๆ จึงเป็นหนทางที่เมืองจะรักษาธุรกิจของผู้คนไว้ได้ หลักการสำคัญคือการให้พื้นที่เพื่อให้ร้านอาหารและกิจการที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินต่อไปได้โดยมีพื้นที่เปิดโล่งและมีพื้นที่สำหรับการรักษาระยะห่างตามหลักการการลดโรคระบาด
ด้วยเงื่อนไขเรื่องพื้นที่เปิดโล่งที่สามารถลดโอกาสการระบาดลงได้ ประกอบกับภาพถนนของเมืองที่เริ่มว่าง เมืองเริ่มเห็นความสำคัญของการเดิน หลายเมืองก็เลยตัดสินใจปิดถนน เปิดทางเท้า ลดความสำคัญของรถยนต์ลง และเปิดพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นให้กับร้านอาหารได้เปิดเป็นพื้นที่ให้บริการกลางแจ้งชั่วคราว เมืองเช่นวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนียเป็นเมืองแรกๆ ที่ปรับการล็อกดาวน์โดยเปิดทางเท้าและจัตุรัสของเมืองให้กลายเป็นร้านอาหารและคาเฟ่กลางแจ้งขนาดใหญ่ ความสำคัญของโครงการนี้นอกจากจะช่วยกิจการแล้ว เมืองยังเปิดให้ร้านเช่นผับบาร์เปิดบริการกลางแจ้งตอนกลางคืน รักษางานและอาชีพที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆ กับเปิดโอกาสให้ผู้คนได้หย่อนใจ กินดื่ม ให้เมืองยังมีความอบอุ่นน่ารักอยู่
นอกจากลิทัวเนียแล้ว หลายเมืองสำคัญของสหรัฐอเมริกา รวมถึงปารีสต่างก็เรียนรู้ความสำคัญของพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สาธารณะ เมืองเช่นนิวยอร์กที่แข็งแรงด้วยร้านอาหารและบาร์เล็กๆ รวมถึงปารีสที่สวยงามด้วยคาเฟ่ต่างก็เลือกที่จะเปิดพื้นที่ถนนและทางเท้าให้กับร้านอาหารเพื่อรักษาร้านรวงต่างๆ เอาไว้ แถมแม้ว่าภาวะระบาดจะคลี่คลายแล้ว หลายเมืองก็ยังจะรักษาพื้นที่เปิดสำหรับการเดินแทนการรักษาถนนไว้ให้รถยนต์ต่อไป
ทว่า การเปิดพื้นที่สาธารณะก็อาจจะนำไปสู่ความกังวลเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งทางแต่ละเมืองก็มีการวางมาตราการ โดยที่แน่นอนว่าเมืองจะสงบ เรียบร้อย สวยงาม แต่กลับว่างเปล่าและเงียบงันไม่มีร้านค้าอยู่นั้น ย่อมไม่ใช่เมืองที่มีชีวิต
1. Vilnius, Lithuania (Open Air Cafe)
ลิทัวเนียเป็นอีกประเทศที่มีการระบาดตั้งแต่ระยะแรกคือปลายปี ค.ศ.2019 ช่วงต้นปี ค.ศ.2020 ลิทัวเนียมีการประกาศล็อกดาวน์ ในตอนนั้นการล็อกดาวน์เริ่มต้นเดือนมีนาคม และปิดเมืองยาวไปสามเดือน ทว่าในเดือนเมษายนหลังปิดเมืองได้เดือนหนึ่ง ทางเมืองวิลนีอุสก็ได้ผ่อนปรนมาตรการ ประกาศให้เปิดร้านอาหารได้แต่ต้องมีเงื่อนไขควบคุมปริมาณและรักษาระยะห่าง หลังจากการประกาศให้เปิดได้ ทางเมืองคงเห็นว่าไม่ใช่ทุกร้านที่จะทำตามได้ ก็เลยประกาศมาตรการที่เป็นที่ฮือฮา คือ เมืองจะเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับกิจการร้านอาหารที่สนใจฟรี เพื่อให้ร้านมีที่บริการให้กับลูกค้าและรักษาร้านรวงในเมืองต่อไป ในช่วงต้นของโครงการทางเมืองระบุว่ามีร้านอาหารและคาเฟ่สนใจเข้าร่วมกว่า 400 ร้าน
โดยหลังจากนั้น พื้นที่สาธารณะของเมืองก็เลยกลายเป็นพื้นที่กินดื่มขนาดมหึมา ลาน จัตุรัสสำคัญที่เป็นโบราณสถานปรับสภาพกลายเป็นคาเฟ่ เป็นร้านอาหารชั่วคราว นอกจากร้านกลางวันแล้ว ในเวลากลางคืนพื้นที่เมืองจึงกลายเป็นพื้นที่หย่อนใจ จิบเครื่องดื่มโดยทางเมืองบอกว่าถือเป็นช่วยผ่อนคลายความรู้สึก และรักษาบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาของเมืองไว้ ซึ่งโครงการนี้ก็มีผลทั้งให้กิจการทั้งหลายสามารถเปิดและต่อลมหายใจต่อไปได้ กับอีกด้านก็คือชาวเมืองบางส่วนเจอปัญหาเรื่องการรักษาความสะอาด เสียงรบกวน รวมถึงการไม่รักษาระยะห่าง ซึ่งทางเมืองก็พยายามออกมาตราการมารับมือ มีการปรับเพื่อบังคับให้รักษาระยะห่างเป็นต้น
2. New York, USA (Open Boulevard)
ทิศทางการพัฒนาเมืองล่าสุดคือการออกแบบเมืองให้ดีกับคน ไม่ใช่กับถนนและรถยนต์ หลังจากโรคระบาด เมืองก็เห็นว่าการเดิน จักรยาน และย่านเป็นหัวใจของเมือง นิวยอร์กเป็นหนึ่งในเมืองที่พยายามปรับเมืองและออกแบบเมืองที่เป็นมิตรขึ้น ในช่วงโรคระบาดนิวยอร์กออกมาตรการจำนวนมากเพื่อให้คนมีพื้นที่เปิดโล่งที่เพียงพอ ในเดือนมิถุนายนและกรกฏาคมของปี ค.ศ.2020 นิวยอร์กออกโปรเจกต์ Open Restaurant และ Open Street โครงการ Open Street จะเป็นการปิดถนนและเปิดให้ใช้พื้นที่กินดื่มได้โดยรักษาระยะห่าง ในขณะ Open Restaurant เป็นการเปิดร้านอาหารขยายพื้นที่บริการออกมาบริเวณทางเท้า โดยร้านต้องปิดและเก็บโต๊ะในช่วงเที่ยงคืนถึงตีห้าของทุกวัน
ล่าสุดแม้ว่าการระบาดที่สหรัฐอเมริกาจะคลี่คลายแล้ว ทางนิวยอร์กยังเลือกที่จะรักษาโครงการปิดถนนไว้ นิวยอร์กมองว่าช่วงโรคระบาดทำให้เราเห็นความสำคัญของพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เปิดโล่ง ดังนั้น ถนนจึงควรเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชน นิวยอร์กเลยออกโครงการต่อเนื่องชื่อ Open Boulevard คือจะมีการปิดถนนสายสำคัญๆ ของนิวยอร์กและเปิดเป็นพื้นที่เดินและทำกิจกรรมสันทนาการ รวมถึงเป็นพื้นที่กินดื่มหย่อนใจให้กับผู้คนต่อไป การปิดจะมีช่วงเวลาประกาศแตกต่างกัน
3. Paris, France (Café Terraces)
ปารีสเป็นอีกเมืองที่ทั่วโลกจับตายภายใต้การนำของ แอนน์ ไฮดาลโก (Anne Hidalgo) ด้วยทิศทางปัจจุบันปารีสจะเป็นเมืองสีเขียว เป็นเมืองเดินได้โดยพึ่งพารถให้น้อยที่สุด สำหรับปารีสแล้วเรามักนึกถึงร้านอาหารและคาเฟ่อันเป็นกิจการคู่เมืองปารีสในฐานะเมืองแห่งอาหารการกินของโลก ในช่วงโควิดปารีสก็พยายามรักษากิจการร้านอาหารด้วยการออกโครงการ café terraces คืออนุญาตให้ร้านอาหารใช้พื้นที่ทางเท้า รวมถึงที่จอดรถบริเวณร้าน เปิดเป็นพื้นที่สำหรับนั่งรับประทานชั่วคราว ทางร้านก็จะมีการขออนุญาต และนำเอาโต๊ะเล็กๆ มาตั้ง มีการประดับตกต่างตามแต่กละร้านบนถนน ทางเท้าด้านหน้าหรือข้างๆ ของร้าน
ทว่า โครงการนี้นอกจากจะส่งผลกับกิจการทั้งร้านอาหาร บาร์ คาเฟ่เกือบหมื่นแห่งของปารีส ก็มีเสียงตำหนิว่าโครงการนี้ทำให้ปารีสเละเทะ ชาวปารีสบางส่วนมองว่าแต่ละร้านลงมาใช้พื้นที่ส่วนกลางเลยทำให้เมืองปารีสน่าเกลียด แถมยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึง คือ กีดขวางทาง รถเข็นเข้าไม่ได้ ตลอดจนปัญหาเรื่องเสียงและรบกวนการนอน แต่กรุงปารีสก็พยายามปรับปรุง มีการวางข้อตกลงหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องความงามของส่วนที่ต่อเติมและปัญหาอื่นๆ
สำหรับตัวโครงการดูทรงแล้วโครงการน่าจะไปได้ดี เพราะล่าสุดปารีสประกาศว่าโครงการเปิดพื้นที่หน้าร้านจะกลับมาอีกแม้ว่าโรคระบาดจะซาลงแล้ว และบางส่วนอาจจะกลายเป็นโครงการถาวร เมืองเตรียมขยายจากร้านอาหารสู่กิจการอื่นๆ เช่นร้านดอกไม้ ร้านหนังสือ และทางเมืองก็มีข้อกำหนดเพิ่มเติมคือต้องปิดภายในสี่ทุ่ม ห้ามประกอบอาหารที่มีความร้อน และเมืองจะพัฒนาระบบจับเสียงรบกวนชื่อ Medusa เพื่อควบคุมปริมาณเสียงรบกวนของเมือง ทิศทางการปรับพื้นที่หน้าร้าน ลดที่จอดรถนั้นสอดคล้องกับการปรับเมืองสู่การเดินของปารีสด้วย
4. UK (Pub Car Park)
อังกฤษเป็นประเทศที่ค่อนข้างเข้มงวดกับกฎเกณฑ์ของร้านอาหารและกิจการต่างๆ เรื่องความปลอดภัย การใช้พื้นที่ทั้งของส่วนบุคคลและสาธารณะ ในช่วงวันที่ 4 กรกฏาคม ค.ศ.2020 ปีที่แล้ว ทางอังกฤษมีการผ่อนคลายมาตรการ อนุญาตให้ร้านอาหารและผับบาร์กลับมาเปิดให้บริการได้ พร้อมกันนั้นทางการก็อนุญาตให้ร้านอาหารและบาร์ที่จะเปิดสามารถใช้พื้นที่ริมทางเท้าและลานจอดรถเพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการพร้อมรักษาระยะห่างต่อกันได้ ลดความแออัดของร้านลง
ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา (ค.ศ.2021) หลังจากล็อกดาวน์อีกรอบ และรัฐบาลประกาสให้บาร์กลับมาเปิดได้อีกครั้งในวันที่ 12 ทางการอังกฤษก็ได้ผ่อนปรนพิเศษให้กับกิจการผับและบาร์ คือมีการปรับให้พื้นที่ลานจอดรถสามารถเป็นเทอร์เรซได้ คือผู้ค้าสามารถใช้พื้นที่ลานจอดรถของร้านสามารถปรับเป็นพื้นที่นั่งดื่มกลางแจ้งได้ ตรงนี้จะส่งผลกับบาร์และร้านกินดื่มบริเวณนอกเมือง คือปลดล็อกให้ร้านขายแอลกอฮอล์นอกร้านได้ เปิดโอกาสสู่กิจกรรมของกิจการ เช่นเปิดตลาดนัดเล็กๆ เทศกาลลานเบียร์ย่อมๆ ตลาดนัดเปิดท้ายและตลาดเปิดต่างๆ สามารถเปิดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ทั้งยังวางแผนให้บาร์สามารถยื่นขอพื้นที่ทางเท้าหน้าร้านเพื่อเปิดเป็นพื้นที่นั่งได้ง่ายขึ้นด้วย
5. San Francisco, USA (Shared Spaces Program)
ที่ซานฟรานซิสโกก็เป็นอีกเมืองที่กำลังหาทางเยียวยาฟื้นฟูกิจการท้องถิ่นจากโรคระบาด ช่วงกลางปีที่แล้ว (ค.ศ.2020) เมืองซานฟรานซิสโกก็ออกโครงการ ‘Shared Spaces Program’ เป็นโครงการผ่อนปรนการใช้พื้นที่สาธารณะให้โดยเปิดโอกาสให้กับกิจการท้องถิ่นซึ่งก็ตามชื่อโครงการคือเปิดพื้นที่ของรัฐแชร์เพื่อร่วมใช้ในการกิจการต่างๆ ของผู้คน ตัวโครงการนี้ค่อนข้างกว้าง มีหลักมาให้ว่า โอเค หลังจากนี้ใครที่อยากจะใช้พื้นที่เช่นทางเท้า ถนนทั้งบางส่วนหรือทั้งหมด พื้นที่สาธารณะใกล้เคียงทั้งสวนสาธารณะ จัตุรัส ก็จะสามารถขอใช้พื้นที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารขอใช้เป็นพื้นที่รับส่ง ใช้เปิดพื้นที่นั่งรับประทานหน้าร้าน ซึ่งทางการก็จะมีแนวทางการขออนุญาตเป็นกรณีๆ ไป
หลักการสำคัญของโครงการนี้คือทั้งต้องการวางแนวทางไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ เน้นเพิ่มพื้นที่ให้กับกิจการต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่เปิดโล่งเพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ ทั้งนี้ธุรกิจชองเมืองทางฝั่งตะวันตกจะค่อนข้างกลับมาคึกคักในช่วงหน้าร้อน การให้พื้นที่เปิดกลางแจ้งจึงสอดคล้องกับการสนับสนุนกิจการท้องถิ่น ทั้งยังทำให้รัฐมองเมืองและใช้พื้นที่เมืองในมุมใหม่ๆ
6. Seattle, USA (Food Pickup Zone)
ด้วยภาวะ COVID-19 เงื่อนไขการประกอบและรักษากิจการก็ยากด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ภาครัฐหรือทางเมืองก็รับรู้และพยายามอำนวยให้กิจการต่างๆ ดำเนินและรักษาลมหายใจต่อไปได้ กรณีของเมืองซีแอตเทิลก็มีความพยายามช่วยเหลือ คือเมืองเข้าใจว่าในช่วงการระบาด การขายสินค้าแบบนำกลับเป็นหัวใจสำคัญของร้าน แต่สารพัดร้านก็มีสารพัดเงื่อนไข บางร้านก็ไม่สะดวก เข้าถึงยาก ร้านอยู่ลึก ไม่มีที่จอดรถ อาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องความแออัด รถติด และนำไปสู่การระบาดที่มากขึ้น
ทางซีแอตเทิลก็เลยพยายามอำนวยความสะดวกด้วยการเพิ่มจุดรับส่งสินค้าที่ทางเมืองจัดพื้นที่ของเมืองให้ เพื่อให้ร้านต่างๆ กำหนดเป็นจุดรับส่งและบริหารจัดการสินค้า ทางฝ่ายคมนาคมและขนส่งของเมือง (Seattle Department of Transportation) ก็เลยใช้ระบบวิเคราะห์และจัดการข้อมูลของรัฐจัดการวางจุดของแต่ละย่านเพื่อเป็นศูนย์รับส่งสินค้าและทรัพยากรต่างๆ ให้กับทางร้านอาหาร ทางเมืองบอกว่าเราต้องทำทุกอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยให้ร้านอาหารและคาเฟ่อยู่ได้ ในกรณีนี้คือการอำนวยให้ลูกค้าและทางร้านสามารถรับอาหารได้เร็วและสะดวกขึ้นแม้ซักเล็กน้อยก็ต้องทำ
อ้างอิงข้อมูลจาก