ต้องยอมรับว่า COVID-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพการใช้ชีวิตของผู้คน แต่ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งอาจถือได้ว่าทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเลยก็ว่าได้
หากมองย้อนกลับไปในอดีต เราต่างประสบวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วหลายครั้ง โดยวิกฤตแต่ละครั้งล้วนเกิดจากสาเหตุแตกต่างหลากหลายกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานการณ์ทางการเงินจากต่างประเทศ การจัดการและรับมือกับภัยธรรมชาติ ความไม่สงบทางการเมือง หรือแม้แต่โรคระบาดและการบริหารจัดการของภาครัฐอย่างที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
มาดูกันว่า เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในแต่ละครั้ง เราใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้
วิกฤตต้มยำกุ้ง
หรือ วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย ปี พ.ศ.2540 โดยหลายประเทศในเอเชียต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม ปี พ.ศ.2540 ทุกอย่างเริ่มจากการเปิดเสรีทางการเงินและจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจไทย (BIBF) ส่งผลให้ภาคเอกชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างประเทศและกู้เงินได้สะดวกกว่าเดิม คนส่วนใหญ่มักนำเงินไปลงทุนเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จนเริ่มเกิดภาวะฟองสบู่
ในช่วงกลางปี พ.ศ.2540 เศรษฐกิจเริ่มประสบปัญหา ทั้งภาคการส่งออกชะลอตัว บัญชีเดินสะพัดขาดดุล ท้ายที่สุดเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว วิกฤตครั้งนั้นส่งผลให้สถาบันการเงินปิดตัว ผู้คนล้มละลาย หลายคนตกงาน และมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เฉลี่ย 49-50%
วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
หรือ วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ เกิดจากการบริหารจัดการสินเชื่อที่ผิดพลาดของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง สถาบันการเงินไม่มั่นคง โดยปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ที่มีเครดิตทางการเงินต่ำกว่ามาตรการ (ซับไพรม์) เดิมทีดอกเบี้ยธนาคารกลางถือว่าถูกมาก ส่งผลให้กลุ่มคนที่มีเครดิตทางการเงินต่ำมายื่นขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านเป็นจำนวนมาก สถาบันการเงินหลายแห่งยอมปล่อยกู้ให้ลูกค้ากลุ่มนี้ โดยใช้วิธีรวมสินเชื่อของลูกหนี้กลุ่มนี้แล้วขายต่อคนอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง รวมทั้งออกตราสารให้ลูกหนี้เอาบ้านมาค้ำประกัน หากลูกหนี้ไม่จ่ายตามกำหนด ก็นำบ้านที่ค้ำประกันไปขาย
แต่เมื่อดอกเบี้ยเริ่มกลับมาสูงขึ้น คนส่วนใหญ่ก็เริ่มหยุดกู้เพื่อซื้อบ้าน ส่วนลูกหนี้ซับไพรม์ก็จ่ายหนี้ไม่ไหว ราคาบ้านตกลงเรื่อยๆ กองทุนต่างๆ ขาดทุนมหาศาล สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า ซึ่งรวมถึงไทยด้วย อีกทั้งยังทำให้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกได้น้อย เพราะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
มหาอุทกภัย / น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2554
เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ส่งผลให้ให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ.2554 หดตัวถึง 0.9% ซึ่งกระทบภาคการเกษตรเป็นหลัก นอกจากนี้ การใช้จ่ายภายในประเทศยังติดลบ 9% การจับจ่ายใช้สอยทั่วไป การใช้จ่ายของภาครัฐ การลงทุนในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งภาคการส่งออกและนำเข้า ล้วนมีอัตราการเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะสถานการณ์ตอนนั้นไม่เอื้อให้เกิดกิจกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ โรงงานอุตสาหกรรมต่างหยุดการผลิต การคมนาคมไม่สามารถทำได้ รวมทั้งระบบการกระจายสินค้ามีปัญหา
Bangkok Shutdown
เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดจากความไม่สงบทางการเมือง โดยเริ่มจากการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลจนนำไปสู่การปิดกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี พ.ศ.2556 ลากยาวมาจนถึงกลางปี พ.ศ2557 นอกจากจะนำมาสู่การทำรัฐประหารโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว Bangkok Shutdown ยังส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทั้งภาคท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน เพราะสถานที่ที่ใช้ทำกิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต้องถูกปิด และใช้เป็นที่ชุมนุม
ไทยส่งออกได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยภาคการส่งออกมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่คาดไว้ 10% ส่วนการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี พ.ศ.2557 ก็ต้องปรับลงมาเหลือไม่ถึง 2% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวได้ถึง 2.5%
การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าถือเป็น shock ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพผู้คน แต่ส่งผลกระทบวงกว้างจนเรียกได้ว่าเป็น ‘วิกฤตสาธารณสุข’ ที่ส่งผลมาถึงเศรษฐกิจไทย เพราะมาตรการบริหารจัดการควบคุมโรคล้วนส่งผลต่อธุรกิจและการจ้างงานของคนในประเทศไม่น้อย โดยมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจเป็นอย่างมาก
หากอ้างอิงจากการคาดการณ์ของวิจัยกรุงศรี คาดว่าจำนวนเจ้าของธุรกิจร้านอาหารที่จ่ายหนี้ไม่ได้จะเพิ่มขึ้น 39% ในขณะที่จำนวนเจ้าของธุรกิจโรงแรมและสายการบินที่ต้องการสภาพคล่องนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 35% และ 27% ตามลำดับ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาคค้าส่งและค้าปลีกที่ต้องการเงินหมุนเวียนประมาณ 4 แสนล้านบาท หรือธุรกิจโรงแรม ขนส่งทางอากาศ และร้านอาหารต้องการเงินหมุนเวียนประมาณ 3-5 หมื่นล้านบาท
ถึงอย่างนั้น ก็ต้องจับตาดูต่อไปว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป แล้วทิศทางหรือแนวโน้มการฟื้นตัวจะกลับมาได้เมื่อไหร่ อย่างที่รู้กันดีว่านี่ถือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นผลพวงจากวิกฤตสาธารณสุข ทางออกของการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยจึงอยู่ที่การได้รับวัคซีนกันอย่างทั่วถึงและรวดเร็วที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan