เรามาสำรวจตัวเองก่อนว่า เคยรู้สึกอะไรแบบนี้กันบ้างไหม?
อยากกระโดดจากที่สูง
แม้คุณไม่ได้รู้สึกอยากฆ่าตัวตาย แต่ความสูงกลับยั่วยวนให้คุณกระโดด ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า High-place phenomenon เกิดจากความไม่ลงรอยกันของสำนึกรู้คิด (Cognitive dissonance) แม้จิตจะพยายามให้คุณเลี่ยงจากที่สูง แต่สัญญาณสมองกลับบอกให้คุณเดินไปข้างหน้าแทน หากคุณรู้สึกเช่นนี้ทุกครั้ง เราว่าคุณควรปรึกษาแพทย์
เอานิ้วแหย่พัดลม
ความคิดอุตริแบบนี้ไม่ใช่เรื่องประหลาด เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยพยายามตัดนิ้วตัวเองลง Youtube เพื่อลองว่ากำลังของใบพัดเพียงพอทำให้นิ้วขาดไหม จนรายการ MythBusters ถึงกับทำรายการตอน ‘Fan Decapitation’ เพื่อทดลองว่าพัดลมแต่ละขนาดมีอำนาจหั่นร่างกายมนุษย์ขนาดไหน
ชอบดูหนังหายนะ
ภาพอารยธรรมสูญสลาย รัฐบาลพังเป็นจุณ ผู้คนดิ้นรนภายใต้สภาพแวดล้อมโหดร้าย ทำให้พวกเราหลบลี้จากโลกแห่งความจริงอันน่าเบื่อหน่าย มีงานวิเคราะห์จาก John Hoopes นักจิตวิทยาสังคมชี้ว่า มนุษย์ไม่ชอบแนวคิดที่ว่า ‘ทุกคนจะตายพร้อมๆ กัน’ แต่ต้องมีคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่รอดได้ เพราะโลกหายนะ ‘สงวนไว้’ สำหรับผู้ถูกคัดสรรแล้ว
ชอบดูภาพคนตาย
คุณไม่ใช่คนเดียว เพราะคนทั้งโลกก็เป็นนักแอบดูเป็น/แอบดูตาย Website รวบรวมภาพคนตายจากอุบัติเหตุ ทำเงินเป็นล่ำเป็นสัน (เราคงไม่แนบ Link ไว้ คุณควรไปหาเอาเอง) โดยเฉพาะภาพศพของดาราที่มีชื่อเสียง มีสถิติคนทั่วโลกเข้า Website เพื่อดูภาพศพกว่า 5 แสนคนต่อวัน
ส่องเฟซแฟนเก่าแบบเจ็บๆ
Facebook คือคนแรกที่รู้ว่า คุณเลิกกับใคร จนล่าสุดระบบของ Facebook พยายามช่วยเหลือโดยการแสดงผลแฟนเก่าให้น้อยลงด้วยการ ‘ซ่อน’ ภาพบาดตาบาดใจ แต่คุณก็มักอดไม่ได้ที่จะเป็นผู้สังเกตการณ์ชีวิตคนรักแบบห่างๆ (และอาจเจ็บแค้นอยู่ไม่ใช่น้อย)
ไทยมุง
จริงๆจะเรียกว่า ‘ไทยมุง’ ก็ไม่ถูก เพราะคนทั่วโลกก็ชื่นชอบการมุงเพื่อสังเกตการณ์ความไม่ชอบมาพากลของสถานการณ์โดยรอบ มีปรากฏการณ์ทางท้องถนนที่น่าสนใจว่า คนขับรถเกือบ 100% จะชะลอความเร็วเพื่อดูอุบัติเหตุข้างทาง
อดไม่ได้ที่จะอ่าน Negative Comment
ไม่มีใครบนโลกรักคุณทุกคน ใครบางคนอาจแขยะแขยงภาพที่คุณภูมิใจ บางคนไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกทางการเมือง บางคนพยายามเอาเฟซคุณไปล่าแม่มดให้โดนรุมด่าแบบไม่รู้ตัว แต่กลายเป็นว่าคุณกลับไล่ตอบโต้ทุก Comment จนเป็นทุกข์แทน
ทำไมมนุษย์ถึงใคร่สงสัย ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่าผลลัพธ์คือความเจ็บปวด?
หากคุณมีพฤติกรรมเหล่านี้ คุณไม่ใช่คนเดียวเท่านั้น มีเพื่อนร่วมอาการคล้ายกันอีกเป็นล้านๆคนทั่วโลก มันคือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Morbid Curiosity’ หรือ ความสงสัยอันนำมาซึ่งความเจ็บปวด มนุษย์เกิดมาพร้อมๆกับความวิตกกังวลและพยายามหาทางออกโดยการทำอะไรที่เสี่ยงเกินหรือเจ็บปวดเกิน
นักปรัชญาและกลุ่มนักคิดสายจิตวิเคราะห์ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานว่า ทำไมมนุษย์โหยหาความตาย อย่างกลุ่มทฤษฎีของฟรอยด์ ก็มีแนวคิดเรื่อง Death Instinct/Death Drive หรือสัญชาติญาณแห่งความตาย เป็นแรงขับดันให้เราหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับภัยที่นำมาซึ่งความตาย อันเป็นกุญแจสำคัญในการเอาชีวิตรอด เราต้องเรียนรู้ความเจ็บปวดเสียเนิ่นๆ ก่อนที่มันจะเกิดกับตัวเราเอง
ปัจจุบันงานวิจัยหลายชิ้นในแวดวงวิทยาศาสตร์จิตวิทยายังพยายามหาคำตอบอยู่ ยิ่งพวกเราสงสัยในความไม่แน่นอนของชีวิตมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งโหยหาคำตอบที่แม้จะรู้อยู่แล้วว่า มันจะลงเอยด้วยความเจ็บปวดมากขึ้นเท่านั้น
มีงานวิจัยสนุกๆ ที่ควรค่าแก่การเล่าเสียหน่อย
นักพฤติกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Chicago Booth School of Business พยายามศึกษาว่าอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษา จะสามารถ ‘ต้านทาน’ ความขี้สงสัยต่อสิ่งเร้าได้มากแค่ไหน ทีมวิจัยจึงสร้างการทดลองโดยจัดปากกาชุดหนึ่งมาให้อาสาสมัครสำรวจ
ก็ดูไม่มีปัญหาอะไรนี่? จนกระทั้งรู้ว่า ปากกาพวกนี้ ‘ช็อตไฟฟ้า’ ได้ (เหวออออ!?)
จากนั้นทำการทดสอบโดยการแบ่งกลุ่ม
- กลุ่ม A จำนวน 27 คน ที่รู้ว่ากดปากกาเล่มไหนแล้วช็อต
- กลุ่ม B จำนวน 27 คนเช่นกัน แต่ผู้คุมบอกแบบเหมาๆว่า มีปากกาที่ช็อตได้และปากกาปกติ ปะปนรวมๆกัน
จากนั้นทุกคนจะถูกทิ้งไว้ในห้องตามลำพัง ผลปรากฏว่า กลุ่ม B พยายามลองกดปากกาเพื่อคลายความสงสัยว่าแท่งไหนกันที่ช็อตได้ ทำให้พวกเขายอมถูกไฟฟ้าช็อตครั้งแล้วครั้งเล่า มากกว่าคนที่รู้ว่าแท่งไหนแน่ๆ (แต่คนที่รู้แล้วก็ดันอยากลองว่ามันเจ็บแค่ไหน เออดี)
ซึ่งการทดลองย่อยๆ มีการเปลี่ยนสิ่งเร้าเป็นของอื่นๆนอกเหนือปากกา เช่น เสียงขูดเล็บบนกระดาน หรือภาพแมลงหน้าตาประหลาดๆ ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างกันมากนัก
หรือจริงๆแล้ว ‘ความสงสัย’ เป็นสิ่งที่ดี?
นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ตัวพ่อ George Loewenstein ผู้วางรากฐานงานวิจัยที่ศึกษาเรื่อง Curiosity ก็มองในมุมเดียวกันว่า ความใคร่สงสัยบางครั้งก็เป็นสัญชาตญาณอันดีเลิศ ทำให้มนุษย์ออกจากพื้นที่เดิมๆ ทำอะไรที่เสี่ยง แต่อาจได้ผลตอบรับที่สวยงาม (ถึงแม้จะเจ็บปวดก็ตาม)
และในมุมมองของ Glenn Wilson นักจิตวิทยาสมัยใหม่ผู้ผลักดันแนวคิดเรื่อง ‘Attitude & Personality’ กลับมีมุมมองอันละมุนละม่อมมากกว่า โดยเขาให้เหตุผลว่า มนุษย์ดึงดูดเข้าหาความเจ็บปวด เพื่อการลิ้มรสประสบการณ์ความสูญเสียของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งเป็นรากฐานของความเห็นใจ (Empathize) อันเป็นคุณสมบัติขั้นสูงของสิ่งมีชีวิต
ความเห็นอกใจ สัมผัสความเจ็บปวดจากเพื่อมนุษย์ด้วยกันหรือสัตว์ต่างสปีชี่ย์ ก็ล้วนทำให้มนุษย์สร้างพันธะทางสังคมอันแน่นแฟ้น อย่างการเปิดผ้าคลุมศพของคนรักเพื่อจากลาครั้งสุดท้าย ซึ่งสังคมทั่วไปมองเป็นเรื่องที่ยอมรับได้และเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน หรือการดูข่าวภาพเหตุการณ์ซึนามิ ติดตามข่าวการสังหารโหดใน Orlando ก็เป็นเสมือนแรงผลักดันให้เราออกแบบสังคมที่ปลอดภัยกว่า
แต่หากคุณเสพติด Morbid curiosity จนมากเกินไปจนเกิดความทุกข์ใจที่ไม่สามารถหาทางออกได้ พฤติกรรมเหล่านี้จะนำมาสิ่งความเจ็บป่วยทางจิต กลายเป็นคนที่เก็บกด มองโลกในแง่ร้าย และอาจทำอะไรจนเป็นภัยต่อตนเองและคนรอบๆตัว
Morbid curiosity เป็นเรื่องที่จัดการได้หากรู้จักเส้นแบ่งระหว่างความพอดีและความเกินเลย การดำดิ่งไปกับความตายอาจทำให้คุณได้ ‘ตายจริง’ อย่างไม่ทันเตรียมใจ และคุณมีสิทธิ์ทำให้คนอื่น ‘ตายทั้งเป็น’ ได้เช่นกัน
“Pompa mortis magis terret quam mors ipsa.”
– The pomp of death alarms us more than death itself.-
Senaca
อ้างอิงข้อมูลจาก
Curiosity Is Not Intrinsically Good
This column will change your life
Scientific American July 2016