1
ชีวิตของ อลัน ทัวริง (Alan Turing) ทั้งมหัศจรรย์ น่าทึ่ง น่าเห็นใจ และลึกลับซับซ้อน
กระทั่งความตายของเขาก็ยังลึกลับซับซ้อน เพราะกระทั่งบัดนี้—ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า, เขาตายเพราะอะไรกันแน่
2
7 มิถุนายน 1954 แม่บ้านของทัวริง พบร่างของนักคณิตศาสตร์ชื่อดังผู้นี้ที่บ้านของเขา
เขาตายแล้ว ด้วยวัยเพียง 41 ปี
แน่นอน มันคือการตายก่อนวัยอันควร
ว่าแต่—เขาตายด้วยสาเหตุใดกันแน่?
3
ถ้าคุณเสิร์ชกูเกิลด้วยคำว่าอลัน ทัวริง พ่วงไปกับคำว่าเทพนิยายหรือ fairy tale มีโอกาสเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ผลการค้นหาจะพาคุณไปพบกับความหลงใหลในนิทานเรื่อง ‘สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด’ ของทัวริง
ผู้คนพูดกันอย่างแพร่หลายว่าทัวริงนั้นลุ่มหลงในนิทานเรื่องนี้ โดยเฉพาะตอนที่แม่มดอาบยาพิษลูกแอปเปิล แล้วนำมาให้สโนว์ไวท์กัดกินจนเธอล้มลงหมดสติ ต้องรอจนเจ้าชายมาจุมพิตจึงจะตื่นขึ้นมามีตอนจบแสนสุข
ในวันที่ทัวริงจากไป เขานอนอยู่ในห้องของตัวเอง และมีแอปเปิลที่ถูกกัดแหว่งไปครึ่งหนึ่งวางอยู่ข้างเตียงด้วย เมื่อมีการชันสูตรร่าง พบว่าทัวริงเสียชีวิตเพราะสารพิษไซยาไนด์ เจ้าหน้าที่จึงสันนิษฐานว่า เป็นตัวทัวริงเองนั่นแหละที่นำแอปเปิลไปอาบยาพิษแล้วกัดกินก่อนล้มตัวลงนอนเพื่อฆ่าตัวตาย
เมื่อประกอบเข้ากับความเชื่อที่ว่าทัวริงหลงใหลในนิทานเรื่องสโนว์ไวท์ ความเชื่อเรื่องทัวริงฆ่าตัวตายด้วยวิธีเดียวกับที่แม่มดกระทำกับสโนว์ไวท์จึงกลายเป็น ‘ความเชื่อ’ ที่แทบไม่มีใครสงสัยอะไรต่อไปอีก
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือ—มีการค้นพบว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้นำแอปเปิลไปตรวจสอบว่าแอปเปิลเจ้าปัญหานั้นมีไซยาไนด์อยู่จริงหรือเปล่า
คำถามก็คือ—เขาฆ่าตัวตายด้วยวิธีเดียวกับนิทานเรื่องโปรดจริงหรือ
หรือว่ายังมีเงื่อนงำซับซ้อนอื่นซุกซ่อนอยู่อีก?
4
ไบรอัน แจ็ก โคปแลนด์ (Brian Jack Copeland) เกิดในปี 1950 ก่อนหน้าที่ทัวริงจะเสียชีวิตสี่ปี เขาไม่ได้รู้จักมักจี่หรือเป็นญาติมิตรอะไรกับทัวริง แต่โคปแลนด์สนใจทัวริงมาก เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับทัวริงหลายเล่ม ทั้งแนวคิด วิธีคำนวณที่ทัวริงใช้ ไล่เลยไปจนกระทั่งถึงชีวิตของทัวริงด้วย
หนังสือเล่มล่าสุดของโคปแลนด์คือ The Turing Guide เป็นหนังสือที่พูดถึงทั้งชีวิตและงานของทัวริงอย่างละเอียด ความที่โคปแลนด์เป็นผู้อำนวยการของ The Turing Archive for the History of Computing อันเป็นศูนย์ ‘ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์’ แบบออนไลน์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง เขาจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับทัวริง รวมไปถึงวิธีคิดเรื่อง Hypercomputation ของทัวริงมากมาย
และเป็นโคปแลนด์นี่เอง ที่ตั้งคำถามว่า—จริงหรือ, ที่ทัวริงฆ่าตัวตาย
5
โคปแลนด์บอกว่า ก่อนนอน ถือเป็นนิสัยของทัวริงอยู่แล้วที่จะกินแอปเปิล และปกติแล้วเขาก็กินแอปเปิลไม่หมดลูกอยู่แล้วด้วย ดังนั้น การพบแอปเปิลที่ถูกกัดไปครึ่งหนึ่งจึงไม่สามารถใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่าเขาจงใจกินแอปเปิลเพื่อฆ่าตัวตาย และที่สำคัญ เมื่อไม่ได้มีการตรวจไซยาไนด์ในแอปเปิล ก็ยิ่งไม่มีหลักฐานเข้าไปใหญ่ว่าแอปเปิลนั้นคือสาเหตุการตายของเขา
สุดสัปดาห์นั้นเป็นวันหยุดยาวเนื่องจากเป็นวันหยุดธนาคาร โคปแลนด์บอกว่า ที่โต๊ะทำงานในสำนักงาน ทัวริงทิ้งโน้ตถึงตัวเองเอาไว้เพื่อเตือนว่าหลังกลับมาเริ่มงานแล้ว เขาต้องทำอะไรบ้าง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลเลยที่ผู้ที่ตั้งใจทำงานบางอย่างในสัปดาห์ถัดไปจะลุกขึ้นมาฆ่าตัวตายก่อนถึงวันนั้น
นอกจากนี้ ก่อนจะประกาศว่าใครฆ่าตัวตายในสมัยนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องย้อนกลับไปดูสภาวะอารมณ์ของผู้ตายว่าเป็นอย่างไร โคปแลนด์กลับไปดูหลักฐานเหล่านี้ และพบว่าก่อนหน้าจะเสียชีวิต ทัวริงไม่ได้แสดงอารมณ์อื่นใดเลย นอกจากร่าเริงสนุกสนานตามปกติ ไม่มีเรื่องเครียด ไม่มีเรื่องเศร้าใดๆ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สืบสวนบอกด้วยว่า สำหรับ ‘คนแบบนี้’ (A Man of His Type) ไม่มีใครรู้หรอกว่ากระบวนการทำงานทางจิตของเขาเป็นอย่างไร และเขาจะทำอะไรต่อไปในแต่ละขั้นตอน เขาอาจทำสิ่งที่คนทั่วไปคาดไม่ถึงก็ได้
เรื่องนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงต่อมาว่า คำว่า ‘คนแบบนี้’ ของเจ้าหน้าที่สอบสวนหมายความว่าอย่างไรกันแน่ มันคือการพาดพิงย้อนกลับเพื่อหยามเหยียดเพศวิถีและความเครียดของทัวริงหรือเปล่า หรือเป็นการพูดชื่นชมคนที่เป็นอัจฉริยะ ว่าคนทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้หรอกว่าเขาจะทำหรือไม่ทำอะไร
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนทั่วไป การบอกว่าทัวริงฆ่าตัวตายเป็นเรื่องไม่ยากนักที่จะจินตนาการถึง เพราะในปี 1952 ขณะอยู่ในวัย 39 ปี ทัวริงถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน คือมีพฤติกรรมแบบโฮโมเซ็กชวล ซึ่งในอังกฤษยุคนั้นถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงและต้องถูกลงโทษ
ทัวริงสามารถเลือกได้—ว่าสำหรับความเป็นโฮโมเซ็กชวลของเขานั้น, เขาจะถูกลงโทษอย่างไร อย่างแรกคือการถูกจองจำ อย่างที่สองคือการ ‘ถูกตอน’ โดยใช้สารเคมี หรือที่เรียกว่า Chemical castration
ทัวริงเลือกอย่างหลัง
วิธี ‘ตอน’ โดยใช้สารเคมี ก็คือการให้ยาที่เรียกว่า Anaphrodisiac drugs คือยาหรือฮอร์โมนที่ไปลดแรงขับทางเพศและพฤติกรรมทางเพศทุกอย่างลง การตอนโดยใช้สารเคมีไม่เหมือนการตอนทางกายภาพที่จะมีการตัดอัณฑะออกไป อวัยวะทุกส่วนของทัวริงยังคงอยู่ครบถ้วน และเมื่อใช้ยานี้ เขาก็ไม่ได้เป็นหมันด้วย ทว่ามันเป็นการใช้สารเคมีไปยับยั้งความต้องการทางเพศ ทำให้เขาไม่อยากมีอะไรกับใคร และหากเลิกใช้สารเคมีเมื่อไหร่ ความต้องการทางเพศก็จะสามารถกลับมาได้ดังเดิม แต่สารเคมีก็คือสารเคมี มันมีผลต่อร่างกายในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ทำให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง และทำให้หน้าอกหน้าใจใหญ่ขึ้น เป็นต้น
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นภายหลังก็คือ—การเป็นโฮโมเซ็กชวลคือความผิดร้ายแรงถึงขนาดต้องโดนลงโทษมากเพียงนั้นเลยหรือ?
ในปี 1953 คนรู้จักของทัวริงคนหนึ่งซึ่งเป็นเกย์ชาวนอร์เวย์ ส่งโปสต์การ์ดแสดงความตั้งใจจะไปเยี่ยมให้กำลังใจทัวริงที่บ้าน ปรากฏว่าทางการและตำรวจให้ความสนใจอย่างมาก ถึงขั้นที่ทัวริงต้องบอกกับเพื่อนอย่างเสียดสีประชดประชันว่า—ตำรวจทั้งอังกฤษตอนเหนือต่างออกมาลาดตระเวนตามหาตัวชายคนนั้น และที่น่าสนใจมากก็คือ ชาวนอร์เวย์คนดังกล่าวไม่เคยเดินทางไปถึงบ้านของทัวริงเลย เขาหายตัวไปอย่างลึกลับ
ในปัจจุบัน เมื่อมองย้อนกลับไป เราอาจสงสัยว่าคนอังกฤษไม่เห็นคุณค่าอะไรในตัวทัวริงเลยหรือ เพราะจะว่าไป ก็เป็นอลัน ทัวริง นี่เอง ที่เป็นตัวจักรสำคัญทำให้อังกฤษชนะสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากเขาถอดรหัสของเยอรมนีได้ ทั้งยังทำประโยชน์ให้ประเทศมากมายหลายอย่าง รวมไปถึงการคิดค้นคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆ และทำงานกับหน่วยงานความมั่นคงด้วย
แต่เมื่อเขาถูกกล่าวหาว่าประพฤติตัวไม่เหมาะสมในเรื่องเพศ เรื่องนี้กลับเป็นเหมือนคลื่นสึนามิยักษ์ที่พัดกลบทุกสิ่งที่เขาเคยทำให้ประเทศ จากเดิมที่เขาเคยเข้าถึงการทำงานในหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ รวมไปถึงการเป็นที่ปรึกษาเรื่องการถอดรหัส ก็ถูกปลดออกจากทุกงาน เหลือไว้เพียงงานวิชาการในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่งานอื่นๆ ที่เขาเคยเป็นตัวจักรสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง เขากลับ ‘ถูกถีบ’ ออกมาราวกับทุกอย่างเป็นเรื่องไร้ค่า กระทั่งสหรัฐอเมริกาก็ยังปฏิเสธการเข้าประเทศของเขา ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะทำให้ทัวริงเครียดมาก ดังนั้น ถ้าเขาจะฆ่าตัวตายก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก
อย่างไรก็ตาม แม้ต้องรับฮอร์โมนกดความรู้สึกทางเพศอยู่หนึ่งปีเต็ม และถูกปลดจากงานต่างๆ แต่ทัวริงก็สู้กับเรื่องเหล่านี้ด้วยอารมณ์ขัน เขาแข็งแกร่งมาก เพื่อนๆ บอกว่า ก่อนหน้าจะเสียชีวิต ทัวริงยังคงร่าเริงสนุกสนาน เพื่อนบ้านคนหนึ่งบอกว่า สี่วันก่อนที่ทัวริงจะจากไป เขายังจัดงานเลี้ยงน้ำชาให้เธอและลูกชายวัยสี่ขวบอยู่เลย เพื่อนสนิทอีกคนหนึ่งที่ไปพักกับเขาในสุดสัปดาห์ก่อนหน้าก็ให้การด้วยว่า ทัวริงดูมีความสุขกว่าปกติด้วยซ้ำ จึงไม่มีใครเชื่อเลยว่า ทัวริงจะฆ่าตัวตายได้
แต่กระนั้น เจ้าหน้าที่สืบสวนก็ลงความเห็นว่านี่คือการฆ่าตัวตาย เพราะสมดุลทางจิตใจของทัวริงน่าจะถูกรบกวนอย่างมาก
อย่างไรก็ดี โคปแลนด์บอกว่า ในบ้านของทัวริง มีห้องเล็กๆ อยู่ห้องหนึ่ง ทัวริงเรียกห้องนี้ว่า ‘ห้องฝันร้าย’ (Nightmare Room) มันเป็นห้องเก็บสารเคมีเพื่อการทดลองต่างๆ ของทัวริง การทดลองหนึ่งที่ทัวริงกำลังทำอยู่ ก็คือการใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อเคลือบทองคำลงไปบนช้อน ซึ่งในกระบวนการนี้ต้องใช้โปแทสเซียมไซยาไนด์ด้วย เพราะโปแตสเซียมไซยาไนด์เป็นสารที่เอาไว้ละลายทองคำได้
โคปแลนด์สงสัยว่า ทัวริงน่าจะ ‘สูดดม’ ไอของโปแทสเซียมไซยาไนด์เข้าไปโดยอุบัติเหตุมากกว่าการกิน หลังทัวริงเสียชีวิตใหม่ๆ ‘ห้องฝันร้าย’ มีกลิ่นไซยาไนด์ฉุนมาก และการดมก็ทำให้เสียชีวิตช้ากว่าการกิน ดังนั้นจึงสอดคล้องกับผลการชันสูตรมากกว่า
ข้อสรุปของโคปแลนด์จึงคือ—ทัวริงเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย แต่นักเขียนชีวประวัติของทัวริงอีกคนหนึ่ง คือแอนดรูว์ ฮ็อดเจส (Andrew Hodges) กลับเห็นไปอีกอย่าง เขาบอกว่าเป็นไปได้อย่างยิ่งที่การทดลองพวกนี้จะถูก ‘เซ็ตขึ้น’ เพื่ออำพรางการฆ่าตัวตาย เพราะในอดีต ทัวริงเคยเล่าให้เพื่อนฟังว่าหากเขาจะฆ่าตัวตาย เขาจะหาวิธีอำพรางอย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้ถูกตำหนิติเตียน
ใช่—กระทั่งวิธีตายของคนคนหนึ่ง, ก็ยังอยู่ในสายตาและคำวิพากษ์ของคนอื่นเสมอ
ด้วยเหตุนี้ การตายของทัวริงจึงยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่—ว่าเขาตายเพราะจงใจหรือเป็นเพียงอุบัติเหตุ,
และสโนว์ไวท์มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด
6
หลายสิบปีต่อมา เมื่อเกิดบริษัทอย่างแอปเปิลขึ้น โลกคิดว่าตัวเองได้พบความเชื่อมโยงระหว่างอัจฉริยะสองคน คือ สตีฟ จ็อบส์ และอลัน ทัวริง ผ่านโลโก้แอปเปิลที่ถูกกัดกินจนแหว่ง
สมมติฐานถึงที่มาของโลโก้แอปเปิลนั้นมีหลายอย่าง ตั้งแต่เกี่ยวพันไปถึงแอปเปิลที่ร่วงหล่นลงมาใส่เซอร์ไอแซค นิวตัน การที่แอปเปิลเป็นผลไม้แห่งความรู้ผิดชอบชั่วดีที่อีฟกินในสวนสวรรค์ หรือแม้กระทั่งเกี่ยวพันกับ อลัน ทัวริง เจ้าพ่อคอมพิวเตอร์ที่เชื่อว่าเสียชีวิตเพราะกัดแอปเปิล
แต่เรื่องนี้เรียบง่ายกว่าการตายของอลัน ทัวริง มากนัก
คนที่ออกแบบและวาดรูปแอปเปิล คือร็อบ จานอฟ (Rob Janoff) บอกว่าตอนที่วาดรูปโลโก้นี้ เขาไม่ได้นึกถึงใครหรืออะไรเลยนอกจากแอปเปิล การที่แอปเปิลต้องมีรอยกัดก็เพื่อแสดงให้เห็นว่ามันเป็นแอปเปิล ไม่ใช่เชอรี่ เพราะรอยกัดจะแสดงถึง ‘สเกล’ ของผลไม้ได้ว่ามีขนาดใหญ่แค่ไหน
ส่วนที่มาว่าทำไมจึงต้องเป็นแอปเปิล คำตอบที่ีเรียบง่ายมากๆ อีกเช่นกันก็คือ สตีฟ จ็อบส์ เคยไปทำงานอยู่ในไร่แอปเปิลที่โอเรกอน และเขาชอบชื่อแอปเปิลแบรนด์หนึ่งมาก นั่นคือแอปเปิลแม็คอินทอช (ที่สะกดว่า McIntosh) เมื่อต้องตั้งชื่อบริษัทและผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ชื่อแอปเปิลจึงเป็นตัวเลือกแรก
อย่างไรก็ตาม สตีฟ วอซเนียก (Steve Wozniak) ผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิลกลับบอกคนอื่นๆ ด้วยอารมณ์ขันว่า—สมมติฐานอะไรที่ฟังดูน่าสนใจล้วนถูกต้องหมดนั่นแหละ เพราะอย่างน้อยที่สุด มันก็ทำให้แบรนด์แอปเปิลดูมีที่มาที่ไปดี
ถ้าคิดโดยข้อเท็จจริง การเสียชีวิตของ อลัน ทัวริง และแอปเปิล—ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิลของแม่มดในสโนว์ไวท์ หรือแอปเปิลของสตีฟ จ็อบส์ จึงไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่หากคิดอย่างที่สตีฟ วอซเนียกว่า เรื่องนี้ก็อาจเกี่ยวข้องกันได้—ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้มอง และเลือกมองจากมุมไหน
เพราะเอาเข้าจริงแล้ว Turing Test อาจไม่ได้มีรูปแบบเดียวก็ได้