ก่อนหน้านี้เรามีคำนิยามว่า ‘สิงห์อมควัน’ สำหรับผู้ที่นิยมสูบบุหรี่เป็นชีวิตจิตใจ แต่ในปัจจุบันเรามีคำเรียกใหม่ คือ ‘Vaper’ อันเป็นกลุ่มคนที่นิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งยังไม่มีคำเฉพาะในการกล่าวขานกลุ่มนักสูบแห่งยุคดิจิทัลนี้เท่าไหร่ และล่าสุดยังมีเทรนด์ใหม่ที่ ‘อยู่ตรงกลาง’ ระหว่างของเก่าและของใหม่ เป็นลูกผสมของบุหรี่ทั่วไปและบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง แต่ปัจจัยด้านสุขภาพยังคงถูกตั้งคำถามถึงผู้ใช้และผู้ที่เสี่ยงสูดควันบุหรี่มือสอง
อุ่นร้อน แต่ไม่เผา
นักสูบวัยรุ่นเริ่มหันไปสูบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า เครื่อง HNB ย่อจาก heat-not-burn ซึ่งแทนที่เครื่องสูบบุหรี่นี้จะเผาไหม้มวนยาสูบแบบเก่า แต่กลับค่อยๆ เพิ่มความร้อนให้บุหรี่อุ่นขึ้นเรื่อยๆ จนปล่อยหมอกควันนิโคตินและสารประกอบอื่นๆ เพื่อให้ผู้ใช้สูดเข้าไปในร่างกาย เป็นลูกผสมระหว่างบุหรี่มาตรฐานและบุหรี่ไฟฟ้า ออกแบบเป็นหลอดแล้วสอดบุหรี่เข้าไป พกพาสะดวก ใช้งานง่าย แม้ตัวเครื่องจะเริ่มวางจำหน่ายมาแล้วหลายปี แต่ผู้ผลิตเพิ่งเริ่มหาช่องทางในการ PR อย่างหนักหน่วงเพื่อเรียกนักสูบหน้าใหม่สาย Vape
บริษัทที่ลุยเป็นรายแรกคือ Philip Morris International ที่เริ่มออกขายเครื่องสูบ HNB ในชื่อเก๋ไก๋ IQOS ย่อจาก I Quit Ordinary Smoking (ฉันเลิกสูบบุหรี่แบบเดิมๆ แล้ว) เรียกได้ว่าเป็นแคมเปญนำโด่งอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติให้เครื่องสูบบุหรี่รูปแบบใหม่นี้วางตลาดได้อย่างถูกกฎหมาย ทางบริษัท Philip Morris International อ้างว่า ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับความนิยมสูงใน 41 ประเทศทั่วโลก และมีผู้ใช้มากถึง 10 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักสูบที่เลิกไปแล้ว หรือเคยสูบบุหรี่แบบเดิมๆ มาก่อน
แคมเปญการตลาดของ Philip Morris International พยายามดึงให้ผู้ใช้หันมาสูบบุหรี่แบบ heat-not-burn โดยกล่าวถึงสรรพคุณที่ส่งผลลบต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่มาตรฐานที่ใช้การเผาไหม้ แต่แน่นอนว่าคำกล่าวอ้างด้านสุขภาพนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงไม่ต่างจากเทรนด์ ‘สูบบุหรี่ไฟฟ้า’ อย่างที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้
แล้วบุหรี่ HNB ปลอดภัยต่อสุขภาพไหม
บุหรี่ heat-not-burn นี้ช่วยทำให้คนเลิกบุหรี่ หรือไปๆ มาๆ ทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่กันแน่ และผลจากการใช้ระยะยาวล่ะ?
คำถามเหล่านี้สำคัญทีเดียวที่บริษัทผลิตยาสูบต้องตอบให้ชัดเจน อย่างไรก็ตามบริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่ระบุว่า เครื่องสูบบุหรี่ HNB มุ่งเน้นไปที่ผู้สูบบุหรี่อยู่แล้ว แต่ยังลังเลว่าจะหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าดีไหม หรือคนที่ไปสาย Vape แล้วไม่ถูกใจ อยากหวนกลับมาอ้อมกอดของบุหรี่ที่อัพเกรดด้วยเทคโนโลยีนิดหน่อย
เอาเข้าจริงแนวคิดการอุ่นให้บุหรี่ร้อนแทนการเผาไหม้นั้นก็ไม่ใช่ของใหม่ ย้อนไปถึงปีค.ศ. 1988 เมื่อบริษัท R. J. Reynolds Tobacco Company ผลิตรุ่นต้นแบบขึ้นมา แต่ล้มพับไม่เป็นท่า เพราะอาจเป็นนวัตกรรมที่ ‘มาก่อนกาล’ บวกกับการ PR ที่ล้มเหลว ทำให้เลิกผลิตไปอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมบุหรี่เองก็พยายามผลักดันมาตลอดอีกหลายปี แต่นักสูบบุหรี่ส่วนใหญ่ยังเป็นอนุรักษ์นิยม พวกเขาไม่ชอบให้อะไรมาเปลี่ยนบุหรี่ที่เสมือนเป็นวัตนธรรมศักดิสิทธิ์หลายร้อยปี บริษัทผู้ผลิตในสมัยนั้นจึงพยายามดันจุดขายว่า เครื่อง HNB ช่วยลดเถ้า ลดกลิ่นเหม็นติดเสื้อ แต่ก็ไม่ช่วยให้ยอดขายกระเตื้องมากนัก
ผ่านมากว่า 20 ปี จึงมีบริษัทผู้ผลิตเอาเทคโนโลยีนี้มาปัดฝุ่นใหม่ เปลี่ยนการ PR เป็น ‘เน้นสุขภาพ’ มากขึ้นตามกระแส Healthy Life ที่แม้แต่นักสูบเองก็อยากจะมีสุขภาพดีกับเขาด้วย (ย้อนแย้งจัง) เพราะตรรกะหลักๆ ของสารบ่อนทำลายสุขภาพในบุหรี่ส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ ซึ่งเครื่อง HNB ระบุว่า ช่วยลดสารอันตรายเหล่านี้ได้ แต่ยังคงรักษา signature ของสารนิโคตินและรสชาติของบุหรี่ดั้งเดิมที่เหล่านักสูบต้องการ และที่สำคัญ HNB มีสิ่งที่เอาชนะบุหรี่ไฟฟ้าได้คือ ความรู้สึก ‘Throat Hit’ ที่บุหรี่ไฟฟ้ามอบให้ไม่ได้ อันเป็นเอกลักษณ์ของบุหรี่ดั้งเดิมที่เมื่อสูบ กลุ่มควันจะปะทะเข้ากับลำคอซึ่งเป็นความรู้สึกที่นักสูบติดอกติดใจ
อย่างไรก็ตาม เครื่องสูบ HNB ในชื่อทางการค้า IQOS ที่อ้างว่าปลอดภัย กลับไม่ได้ปลอดภัยซะทีเดียว เพียงแค่ช่วยลดความเสี่ยงบางประการได้ ซึ่งในบุหรี่มีสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพราว 58 ชนิดเมื่อเผาไหม้ ซึ่งเครื่อง HNB จะช่วยลดสารดังกล่าวลงราว 90% แต่ประเด็นที่ต้องขยิบตาข้างหนึ่งไว้หน่อย เนื่องจากงานวิจัยด้านสรรพคุณ HNB นั้น มาจากงานวิจัย 11 โครงการ ที่ 10 โครงการมาจากทุนวิจัยที่สนับสนุนโดยบริษัทผู้ผลิตยาสูบเอง ก็ลองคิดว่างานวิจัยที่มาจากใบสั่งของบริษัทอาจจะดู ‘โน้มน้าว’ ใครๆ น้อยไปหน่อยหากรู้ตื่นลึกหนาบาง
ยังมีการตั้งคำถามอีกว่า เครื่อง HNB แม้จะลดอันตรายจากควันบุหรี่ลงนิดหน่อย แต่อาจเกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่อาจนำไปสู่โรคอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบุหรี่โดยตรง และผู้ผลิตเองก็ยังไม่สามารถโน้มน้าว FDA ได้ว่าเครื่อง HNB นี้ปลอดภัย ดังนั้นผู้ผลิตจึงไม่สามารถใช้คำว่า ‘Safer’ (ปลอดภัยกว่า) ในเชิงการค้าได้ แต่ต้องเลี่ยงเป็น ‘modified risk tobacco product’ หรือ “ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ปรับแต่งความเสี่ยงแล้ว
ส่วนคำถามที่ว่า เครื่อง HNB จะช่วยให้คนเลิกบุหรี่ตามที่ผู้ผลิตหลายรายกล่าวอ้างอีกได้หรือไม่
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Sorbonne University ในกรุงปารีสพบว่า แทนที่จะช่วยให้คนเลิกบุหรี่ แต่กลับทำให้กลุ่มคนที่ไม่สูบบุหรี่ (non smoker) หันมาสูบบุหรี่มากขึ้นถึง 69% ยิ่งเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่า HNB ไม่ได้ช่วยให้คนเลิกบุหรี่ แต่ก็รู้ๆ กันว่า อุตสาหกรรมบุหรี่กำลังมียอดผลิตลดลงทั่วโลก นวัตกรรมอะไรที่ทำให้บริษัทยืนหยัดต่อไปได้ก็ต้องทำแบบไม่มีทางเลือกมากนัก แต่หากถามว่า นวัตกรรมอะไรจะปลอดภัยต่อสุขภาพที่สุดสำหรับนักสูบ
‘การเลิกสูบบุหรี่’ คงเป็นนวัตกรรมที่ดีที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก
‘Heat-Not-Burn’ Device Gets FDA Approval — How It’s Different from E-Cigarettes