ระเบิดเวลาที่เตรียมสั่นคลอนพุทธศาสนา ไม่ใช่ภัยมืดอะไรที่ไหน แต่เป็นแคลอรีปริมาณมหาศาลที่เหล่าญาติโยมถวายด้วยความหวังดี
เมื่อพระสงฆ์ไทยอ้วนเกินพิกัดกว่า 48% จากพระทั้งหมดในประเทศ จึงเสี่ยง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดและมะเร็ง
หรือถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนมุมมองการให้แบบยกเครื่องใหม่เสียที?
สังคมแห่งการให้ ทานบารมีเพียบ
ใครๆ ก็ว่าสังคมไทย คือสังคมแห่งการให้ แต่ก็ใช่ว่าเราจะให้โดยไม่หวังอะไรตอบแทนเลย (มีความแอบหวังอยู่ลึกๆ)
การทำบุญด้วยอาหารหรือการ ‘ทำบุญตักบาตร’ เป็นวิธีที่นิยมปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธถือกันว่าเป็นการสร้างบุญ แผ่ส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ โดยเชื่อกันว่าอาหารที่ถวายไปนั้นจะส่งถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือ Level Up ผลบุญให้แก่ตนเองในอนาคต
เพราะแบบนี้ใครๆ ก็เลยต้องถวายของดีๆ เลิศๆ ให้พระสงฆ์ฉันสินะ จะไปน้อยหน้าได้อย่างไร!
แต่กลายเป็นว่า เราเชื่อพลังแห่งการให้ โดยไม่เคยหยุดถาม ‘สิ่งที่ให้’ มาหลายพันปี จนรูปกาลปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว และพระสงฆ์ไทยกำลังตกที่นั่งลำบาก
ตักบาตร – ตัวบวม
ไม่มีใครมีเวลาว่างเข้าครัวทำอาหารเพื่อถวายพระท่านกันแล้ว ความนิยมซื้ออาหารถุงปรุงสำเร็จ ดูรวดเร็วสอดรับกับยุคสมัยใยแก้วนำแสง และอาหารยอดนิยมคงหนีไม่พ้น แกงกะทิ ผัดผัก ของทอด มัสมั่น (อาหารที่มีส่วนผสมของกะทิ) และในส่วนของหวานมักเป็นขนมสายแข็งอย่าง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ซึ่งล้วนเป็นอาหารแคลอรีสูง
ที่สำคัญเมื่อเราซื้อจากร้านในตลาด เราแทบไม่รู้เลยว่าแม่ค้ามือหนักใส่อะไรไปในอาหารพระท่านบ้าง
- แกงมัสมั่นไก่ 1 ถ้วย 325 Kcal
- แกงเผ็ดฟักทองหมู 1 ถ้วย 250 Kcal
- แกงเขียวหวานไก่ 1 ถ้วย 240 Kcal
- ปีกไก่สอดไส้ทอด 1 ชิ้น 103 Kcal
- ทองหยิบ 420 Kcal มีประมาณ 7 – 12 ดอก ใช้วัตถุดิบไข่เป็ดและน้ำตาล
- ทองหยอด 400 Kcal มีประมาณ 15 – 20 ลูก ใช้วัตถุดิบไข่เป็ด น้ำตาลทราย และแป้ง
- ฝอยทอง 440 Kcal ใช้วัตถุดิบไข่แดงจาก ไข่ไก่ ไข่เป็ด และน้ำตาลทรายเป็นหลัก
- เม็ดขนุน 374 Kcal วัตถุดิบที่ใช้เป็นถั่วเหลือง กะทิ น้ำตาลทราย ชุบไข่แดงและต้มในน้ำเชื่อม
วงวารกิจวัตรสงฆ์
เมื่อฆราวาสถวายอาหารเพล ตามหลักศาสนาแล้วพระสงฆ์เลือกฉันไม่ได้ จึงต้องฉันตามที่เราๆ ท่านๆ ถวาย แต่แท้จริงแล้ว พระสงฆ์เองก็ฉันของที่ท่านชอบซ้ำไปซ้ำมาทุกวัน จนได้สารอาหารที่ไม่หลากหลาย และเป็นการฉันเพลเพียงมื้อเดียว บั่นทอนสุขภาพ บีบให้สงฆ์ต้องฉันคราวละมากๆ ผิดสัดส่วนตามช่วงเวลา
น้ำปานะเป็นอีกปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม การสำรวจพบความถี่ในการฉันเครื่องดื่มประเภทต่างๆ เช่น น้ำชาเขียว น้ำผลไม้บรรจุกล่อง น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และกาแฟสำเร็จรูป เมื่อพระสงฆ์ฉันเข้าไปในช่วงท้องว่าง น้ำตาลในเครื่องดื่มจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว
กิจกรรมสงฆ์ที่วนเวียนในลูปเดิมๆ ทำให้ไม่สามารถเผาผลาญแคลอรี่ได้ กลายเป็นกับดักที่ทำให้สงฆ์ไทยไม่มีทางเลือกมากนัก
วัฏสงสารแห่งความป่วยไข้
แม้โรคภัยไข้เจ็บจะเป็นสัจธรรมอันเที่ยงแท้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องให้มันเกิดเร็วอย่างไม่มีทางเลือกเสียหน่อย! พระสงฆ์ไทยกำลังกลายเป็นผู้ป่วย มีรายงานว่า พระสงฆ์เป็นโรคอ้วน 48% โรคเบาหวาน 10.4% โรคคอเลสเตอรอลสูง 42% และโรคความดันโลหิตสูงอีก 23%
พระสงฆ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อการทำงานของไตผิดปกติถึง 8 เท่า หากมีภาวะอ้วนก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะระดับไขมันในเลือดผิดปกติถึง 2 เท่า และหากมีภาวะอ้วนลงพุง จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานถึง 2 เท่า แสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์ในประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงสูงอย่างน่าตกใจ
ฟิตบิท ฟิตบุญ
อาจถึงเวลาที่ต้องคิดใหม่ทำใหม่ หากเรายังติดนิสัยการให้แบบเดิมๆ คงมีแต่บาปที่จะได้แทน โครงการ ‘สงฆ์ไทยไกลโรค’ โดย รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส. ทำการศึกษาปรากฏการณ์นี้อย่างต่อเนื่องครบทุกมิติ เพื่อให้พระสงฆ์ไทยเข้าใจหลักโภชนาการและการดูแลสุขภาพในขณะที่ยังครองสมณเพศ เพราะต่อให้เป็นพระก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะเมินเฉยต่อสุขภาพ
แล้วในมิติผู้ให้อย่างเราๆ ล่ะ เริ่มตรงไหนดี มี 6 ข้อหลักๆ ให้คุณยังทำบุญได้โดยไม่สร้างบาป
- ใส่บาตรด้วยข้าวขัดสีน้อย อย่างข้าวกล้องให้ท่านบ้าง ผสมกับข้าวขาวอย่างละครึ่งก็โอเค
- ผัก ผลไม้ อย่าให้ขาดในทุกครั้ง ยิ่งให้มาก ยิ่งดี
- แกงกะทิ และขนมหวาน เป็นไปได้อย่าใส่บาตรท่านเลย (เลี่ยงเป็นกะทิผสมนมจืดแทนเถอะ)
- อาหารเค็มจัด No
- อาหารทอด และใช้น้ำมัน ก็ No อีก
- เครื่องดื่ม น้ำหวาน ชาเขียว เป็นไปได้เลือกที่หวานน้อยๆ แคลอรี่ต่ำ
ท้ายที่สุด หน้าที่ของชาวพุทธในการสืบทอดศาสนาก็ไม่ได้หมายความว่า เราต้องตั้งป้อมป้องกันสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก แต่กลายเป็นการทำให้คนในศาสนาเองมีสุขภาพดี เข้าใจพลวัตรแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะคุณเองก็คงไม่อยากให้ไขมันส่วนเกินกลายเป็นของคู่กันกับศาสนาพุทธหรอกใช่ไหม
อ้างอิงจากข้อมูลจาก
โครงการขับเคลื่อน “สงฆ์ไทยไกลโรค” โดย รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)