จริงๆ สัปดาห์นี้ ตามประสาคนรักเบียร์ ก็อยากจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายการห้ามโพสรูปเครื่องดื่มมึนเมาลงใน social network นะครับ เพราะก็เหนื่อยใจกับความจุกจิกวุ่นวายเหล่านี้เหลือเกิน แต่ก็นึกได้ว่า เคยเขียนเรื่องเบียร์ไปแล้ว แถมทางญี่ปุ่นดาราเขาก็โฆษณาเบียร์หรือเหล้ากันเป็นปกติ ขนาดดาราสาวน่ารักๆ ก็ยังเป็นพรีเซนเตอร์ได้ เลยรู้สึกว่ามันห่างกันเกินกว่าที่จะเอามาเทียบกันนั่นล่ะครับ เลยไปสนใจอีกเรื่องหนึ่งที่คล้ายๆ กัน คือเรื่องของ บุหรี่ไฟฟ้า
ในฐานะคนไม่ได้สูบบุหรี่ ผมเองก็ไม่ได้สนใจเรื่องการสูบบุหรี่ไฟฟ้านัก แต่สนใจเรื่องระบบกฎหมายที่ควบคุมมันมากกว่า เพราะอยากรู้ว่ารัฐมีท่าทีกับมันอย่างไร เพราะจะได้ดูทัศนคติของรัฐที่มีต่อการควบคุมประชาชนด้วย ที่ผ่านมาก็พอทราบแค่ว่ามันต่างจากบุหรี่ธรรมดาแน่นอน แต่หลังๆ เห็นเป็นกระแสที่ญี่ปุ่นมากขึ้น เลยต้องไปค้นข้อมูลดูว่าเขามีแบบไหนกัน ควบคุมอย่างไร และปรับตัวเข้ากับโลกอย่างไร
ที่ญี่ปุ่นเอง ก็แบ่งบุหรี่ไฟฟ้า ออกเป็นสองกลุ่มนะครับ กลุ่มแรกคือกลุ่มที่คล้ายกับที่พอเห็นได้ในไทย หรือในคลิปที่มีคนพ่นควันโชว์เทคนิคต่างๆ (จริงๆ คือ ไอน้ำซะมากกว่า) คือแบบที่ใช้ของเหลวที่มีส่วนผสมของนิโคตินและสารอื่นๆ ถูกกระตุ้นแล้วกลายเป็นไอ แล้วสูบไอนั้นแทนที่จะสูบควันจากบุหรี่แบบเดิม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ E-Cigarettes หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Vape ซะมาก ซึ่งก็ว่ากันว่าปลอดภัยและผลกระทบน้อยกว่าบุหรี่ปกติ แล้วก็ไม่มีน้ำมันดินเหมือนการสูบควันบุหรี่ แต่ก็ยังได้รับนิโคตินพอกัน ซึ่งบางคนก็ค่อยๆ ลดปริมาณลงเรื่อยๆ จนเลิกสูบบุหรี่ได้ และส่วนของเหลวก็มีรสต่างๆ แล้วแต่จะปรุงรสกันมาอีก ซึ่งกลุ่มนี้ ถ้าเป็นของเหลวแบบที่ไม่มีนิโคตินผสม สามารถหาซื้อได้ทั่วไป แต่ถ้าเป็นแบบมีนิโคติน จะติดข้อกฎหมาย นำเข้าค้าขายไม่ได้ แต่สามารถนำเข้าเพื่อใช้ส่วนตัวได้
อีกแบบคือ กลุ่มที่เรียกว่า ใช้ความร้อน ซึ่งที่ญี่ปุ่นก็มีเจ้าใหญ่ 3 เจ้าแข่งกันผลิตออกมา ที่ดังสุดน่าจะเป็น iQOS (ไอคอส) ของ Philip Morris อีกสองเจ้าคือ Ploom TECH (พลูมเทค) ของ Japan Tobacco และ glo (โกล) ของ British American Tobacco โดยที่กลุ่มนี้จะเป็นการนำเอายาสูบแปรรูปตามแบบของบริษัทตัวเอง อย่าง iQOS จะมีรูปทรงเป็นมวน ส่วน Ploom TECH จะเป็นตลับ ซึ่งผู้สูบก็ต้องเอาใส่ในตัวอุปกรณ์สำหรับสูบเฉพาะแบรนด์ แล้วอุปกรณ์จะใช้ความร้อนในกระตุ้นในเกิดควันคล้ายควันบุหรี่ให้ผู้สูบได้สูบ ซึ่งจะว่าไประบบนี้ก็คล้ายกับบุหรี่ธรรมดาเพียงแต่ว่าลดความเสี่ยงเรื่องไฟ และควันจากบุหรี่โดยตรง ช่วยลดทอนปัญหาที่มีต่อผู้อื่นได้
ปัญหาคือ เมื่อมันฮิตขึ้นมากะทันหันแล้ว และเป็นของใหม่ในสังคม บางทีระเบียบกฎหมายก็ตามไม่ทัน หรือไม่รู้จะเอาอย่างไรกับมัน เพราะถึงจะได้ชื่อว่า บุหรี่ แต่มันก็ต่างกับบุหรี่แบบเดิมที่มีมา
เอาจริงๆ ผมก็เพิ่งรู้จักบุหรี่แบบนี้ละเอียดๆ ตอนได้ดูรายการ Ame Talk ที่ฉายเมื่อปีที่แล้วนี่เอง ตอน iQOS Geinin หรือ ดาราตลกที่ใช้ iQOS ซึ่งแต่ละคนก็มาพูดกันเรื่องพฤติกรรมการใช้ iQOS ของตัวเองแบบฮาๆ บ้าง อธิบายว่าเปลี่ยนมาสูบแบบนี้แล้วเป็นอย่างไร ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ผมเท่านั้น แต่ชาวญี่ปุ่นทั่วไปก็เพิ่งมารู้จัก iQOS กันเพราะรายการนี้ไม่น้อย ทำให้กลายเป็นสินค้าฮิตและมีคนเปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนเยอะเหมือนกัน (อย่าลืมว่า รายการทีวีญี่ปุ่นสามารถฉายภาพคนสูบบุหรี่ออกทีวีได้เป็นเรื่องปกติ) ซึ่งสาเหตุก็เพราะว่าผลกระทบต่อผู้อื่นน้อยลง บางคนก็ให้เหตุผลว่า เพราะควันไม่เหม็น สูบในห้องตัวเองกลิ่นก็ไม่ติดเสื้อ บางคนก็บอกว่าเพราะดีต่อสุขภาพมากกว่า (ซึ่งก็จริง เพราะนิโคตินลดลง ไม่มีน้ำมันดิน แต่ก็ไม่ได้ปลอดภัยโดยสิ้นเชิง และยังไม่มีการวิจัยถึงผลเสียระยะยาว)
แต่ปัญหาคือ เมื่อมันฮิตขึ้นมากะทันหันแล้ว และเป็นของใหม่ในสังคม บางทีระเบียบกฎหมายก็ตามไม่ทัน หรือไม่รู้จะเอาอย่างไรกับมัน เพราะถึงจะได้ชื่อว่า บุหรี่ แต่มันก็ต่างกับบุหรี่แบบเดิมที่มีมา แม้ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มีอะไรแปลกๆ อย่างเช่นการแยกพื้นที่สูบบุหรี่กับไม่สูบบุหรี่ในร้านด้วยฉากกั้นเท่านั้น แต่เขาก็พยายามในการวางระบบระเบียบให้คนอยู่กันได้โดยไม่กระทบกระทั่งกัน ดังนั้น พอมีของใหม่แบบนี้มา เขาก็พยายามหาวิธีการควบคุมวางระบบระเบียบให้คนสูบกับไม่สูบอยู่กันได้อย่างชัดเจนครับ
กลุ่มแรกๆ ที่ขยับตัวตอบสนองกับความฮิตของบุหรี่ไฟฟ้า ก็คือเครือธุรกิจต่างๆ ที่ต้องรีบออกระเบียบในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในร้านหรือในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อที่จะได้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาระหว่างผู้ใช้บริการกันเอง เช่น JR East ก็จัดให้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในกลุ่มเดียวกับบุหรี่ปกติ ต้องสูบในที่เฉพาะเท่านั้น เช่นเดียวกับเครือโรงแรมนิวโอทานิ ที่ใช้มาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีทั้ง 7-Eleven, TOHO Cinema, และ Sushi Zammai ที่ห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ของร้านและอาคารไปเลย
ที่น่าแปลกใจคือ เครือ Starbucks ที่เคยทำให้สิงห์อมควันเคืองตอนแบนบุหรี่ในร้าน กลับเลือกนโยบาย ‘แล้วแต่การจัดการของสาขา’ ว่าสาขาไหนจะสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้หรือไม่ได้ ก็แปลกดีนะครับ
ส่วนในระดับการจัดการของรัฐ ที่น่าสนใจที่สุดคือโตเกียว 23 เขต ที่แต่ละเขตจะมีแนวทางการวางนโยบายของตัวเอง ซึ่งสิ่งที่น่าเอามาเปรียบเทียบกันคือ ระเบียบว่าด้วยการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ เช่นบนฟุตปาธ ซึ่งพอเป็นบุหรี่ไฟฟ้า ก็แตกต่างกันไปตามเขตต่างๆ ครับ มีเขตที่ ห้ามสูบทั้งแบบน้ำ และแบบใข้ความร้อน อยู่ทั้งหมด 3 เขตคือ ชิบุยะ โอตะ และชินากาวะ และมี 4 เขต ที่ห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ความร้อนเด็ดขาด ซึ่ง 2 เขตคือ สุกินามิ และคิตะ อนุโลมให้สูบแบบน้ำได้ ส่วน อาราคาวะ ยังไม่มีกำหนดเกี่ยวกับแบบน้ำ และจิโยดะอนุโลให้สูบแบบน้ำในสถานที่จัดไว้เพื่อการสูบบุหรี่ได้ ส่วนที่เหลืออีก 16 เขต ล้วนอนุโลมให้สูบได้ หรือ ยังไม่มีมาตรการชัดเจน (เรียกได้ว่า สูบไป ก่อนเขาจะห้าม)
ที่ตลกคือ พอห้ามกันแบบนี้ บางทีก็ต่างกันแค่ถนนกั้นครับ ผมดูรายการข่าวของเขา เขาก็ไปถ่ายวิดีโอจากถนนที่กั้นระหว่างเขตมินาโตะและเขตจิโยดะ ซึ่งเส้นแบ่งเขตอยู่ที่กลางถนนพอดี ถ้าคุณสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ฝั่งมินาโตะ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเผลอเดินข้ามถนนไปฝั่งจิโยดะเมื่อไหร่ ก็ผิดเมื่อนั้นครับ เอ้อ ก็แปลกดี ต้องคอยระวังว่าเท้าจะอยู่ในเขตไหนด้วย (เอาจริงๆ ก็คงไม่มีใครบ้าจี้พุ่งไปประกบจับตัวมาปรับไวขนาดนั้น)
ถึงจะฟังดูแปลกๆ แต่เอาจริงๆ แล้ว นี่ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นต้องรีบจัดการให้ชัดเจนก่อนที่โอลิปิกปี 2020 จะเริ่มขึ้น เพราะจะได้มีแนวทางชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร ในเมื่อปริมาณผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าก็คงเพิ่มมากขึ้น (ในขณะที่บริษัทผลิตบุหรี่ก็มีแผนลดการผลิตบุหรี่แบบธรรมดาลง) และในช่วงโอลิมปิกก็จะมีชาวต่างชาติมากมายมหาศาลเข้ามาในโตเกียว ถ้าอะไรไม่ชัดเจนก็คงวุ่นวายแน่นอนครับ ถึงจะเป็นเรื่องใหม่ ของใหม่ แต่การปรับตัวเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันก็เป็นสิ่งสำคัญครับ โดยเฉพาะถ้าหากมันช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ได้
อ้าอิงข้อมูลจาก