เดี๋ยวนี้ยังมีใครกินยา 1 เม็ดแล้วบอกว่าตัวเอง ‘หายปวด’ อยู่รึเปล่า
อาการติดยาแก้ปวดเป็นปัญหาสาธารณสุขเรื้อรังระดับโลก ในสังคมแห่งความเจ็บปวด ‘อาการปวดศีรษะไมเกรน’ (migraine) ดูจะเข้าวินมาเป็นรายแรกๆ เนื่องจากคนหนุ่มสาวยุคนี้เป็นกันมากขึ้น ลักษณะสำคัญคือปวดศีรษะข้างเดียวบ่อยๆ (อาจเป็นทั้งสองข้างร่วมด้วย) อาการอาจคงอยู่หลายชั่วโมงจนถึง 2-3 วัน คนส่วนใหญ่จึงใช้ยาแก้ปวดในการระงับโดยทันที และมีพฤติกรรมทานเป็นประจำจนนำไปสู่การติดยาแก้ปวด (painkiller addiction) กลายเป็นปัญหาที่ยุ่งขึ้นเรื่อยๆ
หนึ่งในความย้อนแย้งของอาณาจักรยาแก้ปวดคือ หากยาแก้ปวดทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น มันจะทิ้งผลกระทบระยะยาวอันน่าหนักใจไว้เสมอ และนำไปสู่อาการติดยาแก้ปวดงอมแงม (addiction) เหตุนี้เองจึงมีความต้องการพัฒนายาแก้ปวดที่มีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาและไม่ทำให้ติด ไม่ต้องใช้ยาติดกันนานเกินไปนัก
แต่อะไรคือความท้าทายสำหรับอาวุธชิ้นใหม่ในการต่อสู้กับความเจ็บปวดของมนุษย์?
ในอเมริกามีปัญหาภาวะติดยาแก้ปวดประเภท โอปิออยด์ (opioid) อันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งในสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวมีผู้ป่วยติดยาแก้ปวดมากถึง 2.1 ล้านราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาด (overdose) ราว 91 รายต่อวัน ถือเป็นค่าสถิติที่เยอะมาก ยิ่งเราอยากให้ความเจ็บปวดหายไปเท่าไหร่ ชีวิตก็ยิ่งริบหรี่มากขึ้นจากผลกระทบที่เป็นเหมือนเพชฌฆาตเงียบ
เทรนด์นี้ทำให้รัฐบาลทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อยาแก้ปวดประเภทโอปิออยด์ จากที่วางขายในร้านยาทั่วไปแบบประเภทที่ 3 จึงมีความพยายามให้ขยับขึ้นเป็นประเภทที่ 4 ที่ผู้ซื้อจำเป็นต้องมีใบคำรับรองแพทย์เท่านั้น ซื้อรับประทานเองไม่ได้ กลยุทธ์นี้อาจช่วยไม่ให้ผู้คนเข้าถึงยาแก้ปวดโอปิออยด์ได้ก็จริง แต่ยังมีแนวโน้มที่คนจะกระเสือกกระสนหายาแก้ปวดขนานอื่นๆ มารักษาแทน—คนที่ไม่เจ็บปวดจริงก็ใช้โอปิออยด์ในลักษณะสารเสพติดเพื่อความเพลิดเพลินใจ ในขณะที่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้โอปิออยด์เพื่อเผชิญหน้ากับโรคเรื้อรังก็ยังทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดต่อไป
ยังไงยาแก้ปวดก็ยังจำเป็นต้องมี และในปัจจุบันก็ยังตอบสนองความต้องการเราได้ดี มีน้อยประเภทมากที่มีผลเพียงชั่วคราวจนไม่ทำให้ติด แต่ฤทธิ์จะลดหลั่นลงตามไปด้วย รวมไปถึงอิทธิพลของกลไกร่างกายมนุษย์ที่เมื่อใช้ไปนานๆ จะมีความชินชา ต้านทานฤทธิ์ยาให้อ่อนลงเรื่อยๆ บังคับให้ต้องใช้ยามากขึ้น กลายเป็นว่ายิ่งคุณติดยาแก้ปวด อาการคุณกลับแย่ยิ่งกว่าเก่า สิ้นเปลืองเงินมากขึ้น และเอาชีวิตไปแขวนอยู่บนเส้นดายทุกๆ ครั้งที่กลืนยาลงท้อง
ยาแก้ปวดที่ไม่ทำให้คุณเคลิ้มตาม
ปัญหาที่ยาแก้ปวดฤทธิ์รุนแรงมีคือมักทำให้รู้สึกผ่อนคลายเคลิบเคลิ้ม นักวิจัยพยายามศึกษากลไกของสารเคมีที่ช่วยลดความอยากลง พวกเขาพบสารองค์ประกอบหนึ่งในโอปิออยด์ชื่อว่า AT-121 สารนี้ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีงานวิจัยชั้นต้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Translational Medicine ได้ผลการทดลองที่น่าสนใจว่า AT-121 มีฤทธิ์ระงับปวดได้ดีกว่ามอร์ฟีน โดยไม่ทำให้ผู้ใช้มีความรู้สึกรื่นรมย์เคลิบเคลิ้มจากการใช้ยาที่เรียกว่า euphoric effects อันนำไปสู่พฤติกรรมติดยาแก้ปวดงอมแงมซึ่งพบได้ในมอร์ฟีน โอปิออยด์ และทรามาดอล
โดยทั่วไปโอปิออยด์ถือเป็นกลุ่มยาแก้ปวดที่มีประสิทธิภาพสูงในการลดความเจ็บปวดเรื้อรังมากกว่ายาชนิดอื่นๆ โอปิออยด์ทำงานโดยไปจับกับตัวรับสัญญาณประสาทที่รับรู้ความรู้สึกเจ็บปวด แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไปจับกับประสาทที่ทำให้รู้สึกเป็นสุขหรือพึงพอใจ ทำให้ผู้ป่วยต้องการยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าอาการเจ็บปวดจะหายขาดไปแล้ว ผู้ป่วยจึงไม่สามารถควบคุมปริมาณในการเสพได้ หลายครั้งถึงขั้นเสพเกินขนาด (overdose) หมดสติและเสียชีวิตกะทันหัน ความท้าทายของการใช้โอปิออยด์คือการ ‘ชั่งน้ำหนัก’ ระหว่างอาการเจ็บปวดกับปริมาณยาที่ควรได้รับ ซึ่งเป็นเรื่องยากและยุ่งเหยิง
นักวิจัยส่วนใหญ่จึงมีความเห็นร่วมกันว่า เราควรพัฒนายาที่ยังมีศักยภาพในการระงับปวดแบบอยู่หมัด ไม่รู้สึกต้องการเพิ่ม ไม่เกิดความสุข หายปวดแล้วสามารถเลิกใช้ได้ทันที ทั้งหมดล้วนเป็นความเห็นที่ ‘คิดง่าย แต่ทำยาก’
อย่างน้อยที่สุด สารต้นแบบในรหัส AT-121 จะเป็นอาวุธที่ ‘น่าตื่นตา’ ในการต่อสู้กับความเจ็บปวด เนื่องจากกลไกของ AT-121 จะมีอยู่ 2 แอ็กชั่น คือ ไปจับกับตัวรับประสาทส่วนรับความเจ็บปวดอย่างแม่นยำ และไปจับกับ Nociceptin receptor ที่ระงับความรู้สึก ‘อยากยา’ ถือว่า AT-121 ช่วยกดอาการเจ็บปวดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนับเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ของวงการยาโลก
ยาแก้ปวดแห่งอนาคตเริ่มทดลองในลิง
ทีมวิจัยจาก Wake Forest School of Medicine ทำการทดลองสาร AT-121 ในลิงแม็กแคกจำนวน 15 ตัว พวกเขาพบว่าสารนี้สามารถยับยั้งความเจ็บปวดโดยมีประสิทธิภาพเหนือกว่ามอร์ฟีน 100 เท่า ทีมวิจัยทดลองปล่อยให้ลิงสามารถควบคุมการให้ยาด้วยตัวเองผ่านการกดปุ่ม ซึ่งหากเป็นยาแก้ปวดอื่นๆ ลิงจะกดปุ่มไปเรื่อยๆ เพื่อเรียกใช้ยามากขึ้นแม้มันจะไม่เจ็บปวดแล้วก็ตาม ตรงกันข้ามกับ AT-121 ที่ลิงจะไม่ขอเพิ่มเติม หายเจ็บแล้วก็พอ จากงานวิจัยที่ทดลองในสัตว์ยังไม่พบผลข้างเคียงเชิงลบ เช่น อาการแพ้ คัน เป็นผื่นตามตัว หรือหายใจบกพร่องเหมือนกรณีของยาแก้ปวดมอร์ฟีน
และเมื่อเปรียบเทียบกับยาแก้ปวด ออกซิโคโดน (oxycodone) อันเป็นสารสังเคราะห์โอปิออยด์ที่ขึ้นชื่อว่ามีโอกาสทำให้ติดยาสูงมาก ซึ่งลิงเองก็ติดงอมแงมในระหว่างการทดลอง จนมันเองเกือบจะ overdose ตัวเอง นักวิจัยจำต้องคอยขัดขวางและยุติไม่ให้มันใช้ต่อ โดยเปลี่ยนมาใช้ AT-121 แทน พวกลิงก็ตอบรับอย่างดี จากประสิทธิภาพยาที่สูงกว่า พวกมันเลิกใช้ยาออกซิโคโดน และหันมาใช้ AT-121 ภายในเวลาไม่นาน
แม้ผลการวิจัยในสัตว์ทดลองจะน่าตื่นตะลึง แต่การทดลองในมนุษย์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่า AT-121 จะพร้อมสำหรับมนุษย์ 100% แต่ถือเป็นความประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในสัตว์ทดลองโดยเฉพาะลิง ซึ่งมนุษย์และวานรเองก็แชร์องค์ประกอบทางสรีระต่างๆ ร่วมกัน การทดลองในลิงนี้ยังเป็นการทดลองระยะสั้น ทำให้ข้อมูลผลกระทบระยะยาวยังว่างเว้นอยู่ จึงต้องมีการศึกษาในระยะยาวหากผู้ป่วยมนุษย์จะใช้เป็นยาแก้ปวดที่มาเสียบแทนยาอื่นๆ ในท้องตลาด และยังมีคำถามมากมายที่ AT-121 ต้องถูกทดสอบอีกเป็นพันๆ ครั้ง
ถึงเราะมีโอกาสใหม่ในการรักษาอาการปวด แต่ไม่ควรมีใครวางใจไว้กับตัวยาเพียงชนิดเดียวในวิกฤตที่สังคมโลกกำลังติดยาแก้ปวด มันอาจจะใช้เวลาอีกหลายปี (มีการคาดการณ์ว่า 10 ปีขึ้นไป) ที่ AT-121 หรือสารอื่นๆ ที่ทรงประสิทธิภาพจะพร้อมถึงมือคุณในท้องตลาด
อย่างไรก็ตามการมีชีวิตในโลกที่อุดมไปด้วยความเจ็บปวดไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องพึ่งพาเพียง ‘ยา’ อย่างเดียว การคิดค้นยาชนิดใหม่ถือว่าจำเป็น แต่การตั้งคำถามกับสาเหตุความเจ็บปวดก็มองข้ามไม่ได้เช่นกัน
อะไรที่สร้างความเจ็บปวดให้คุณ สาเหตุของมันน่าแก้กว่ามาตามรักษาทีหลัง
อ้างอิงข้อมูลจาก
- A bifunctional nociceptin and mu opioid receptor agonist is analgesic without opioid side effects in nonhuman primates : Science Translational Medicine 29 Aug 2018: Vol. 10, Issue 456, eaar3483 DOI: 10.1126
- A new painkiller promises relief without addiction, but there’s still lots to do
- Scientists discover compound for a non-addictive painkiller
- Scientists take big step toward finding non-addictive painkiller