หากคุณกำลังต้องดูแล พ่อแม่ หรือ ญาติๆ ที่แก่ตัวลงไปทุกวัน ในขณะที่คุณต้องเร่งทำงานในช่วงที่ไฟลุกโชนที่สุดของชีวิต คุณไม่ใช่คนเดียวหรอกที่กำลังดิ้นรนอยู่อย่างเดียวดาย เพราะมีคน Gen Y ทั่วโลกถึง 1 ใน 5 ที่ต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุภายใต้ความกดดัน ไม่ว่าจะในฐานะลูกแท้ๆ ลูกเขย ลูกสะใภ้ หรือแย่หน่อย หากคุณเป็น ‘พี่สาวคนโต’ แล้วดันโสดอีกต่างหาก
แม้จะไม่มีใครอยากเห็นคนที่คุณรักต้องมีบั้นปลายชีวิตที่เปลี่ยวเหงาเดียวดาย แต่การเลี้ยงดูผู้สูงอายุก็จัดเป็น ‘การเสียสละ’ ที่มีราคาค่างวดที่ต้องจ่ายโขอยู่ ไม่เฉพาะเงินและเวลา แต่เป็นผลกระทบทางจิตใจที่บั่นทอนวันละน้อย แม้คุณจะมีความสัมพันธ์กับพ่อแม่ที่แน่นแฟ้นขนาดไหนก็ตาม ยอมรับเถอะว่าบางครั้งก็แอบ ‘น็อตหลุด’ ไปเหมือนกัน
แล้วใครล่ะจะดูแล คนดูแลผู้สูงอายุ เช่นคุณ
งานวิจัยหลายชิ้นเปิดเผยว่า คน Gen Y มีภาระที่เรียกร้องสูง และการดูแลผู้สูงอายุโดยที่ไม่ทำความเข้าใจตัวเองก็ทำให้พวกเขาเดียวดาย ซึมเศร้า และกลายเป็นคนวิตกกังวลในระยะยาว
คุณคือที่พึ่งของ ‘วัยพึ่งพิง’
ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางประชากรอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโครงสร้างอายุของประชากร โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นของประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็น ‘ประชากรวัยพึ่งพิง’ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้คนในเขตเมืองของไทย มีลักษณะคล้ายกับประเทศจีน นั่นคือ 1 คน ต้องดูแลพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และทวด โดยในอนาคตสังคมไทยจะมี ‘ครัวเรือน 5 วัย’ เพิ่มมากขึ้น
จากรายงานของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ มีตัวเลขที่แทบจะไม่สมดุลเอาเสียเลย เมื่อภายในปี พ.ศ. 2583 ประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) จะมีสัดส่วนลดลงเป็นร้อยละ 55.1 ในขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นร้อยละ 32.1
55.1 ต่อ 32.1 ถือเป็นตัวเลขที่น่ากังวลเลยทีเดียว
พี่สาว คนโสด มือวางอันดับ 1 ‘คนดูแลผู้สูงอายุ’ ในบ้าน
แม้คุณจะต้องเข้ามาทำงานในเมือง ไม่มีเวลามากนักในการดูแลพ่อแม่ที่อยู่ต่างภูมิลำเนา จากข้อมูลของ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (2559) แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ดูแลตัวเองตามอัตภาพเป็นสัดส่วนที่มาก ซึ่งหน้าที่รองๆ ก็จะถูกจัดจ่ายไปในแต่ละครอบครัว เรามาดูกันว่ามีใครกันบ้างนะ?
- ผู้สูงอายุดูแลตัวเอง ร้อยละ 89.6
- ลูกสาว พี่สาวคนโต ร้อยละ 5
- คู่สมรส สามี ภรรยา ร้อยละ 3.1
- ลูกชาย พี่ชายคนโต ร้อยละ 1.5
- ลูกเขย/ ลูกสะใภ้ ร้อยละ 0.5
- ลูกของลูก ร้อยละ 0.4
ลำบากหน่อย! หากคุณเป็นลูกสาวคนโตพ่วงตำแหน่งพี่ใหญ่ของบ้าน มักถูกสังคมและครอบครัวคาดหวังให้เป็นเสาหลักในการดูแลผู้สูงอายุ ‘คนแรกๆ’ เสมอ อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ยิ่งหากเป็นคนโสด ไม่มีลูก ไม่มีสามี ก็เหมือนจะไม่มีใครปราณีหน้าที่นี้เลย
เมื่อคุณโสด ใครๆ ก็ดูจะยกหน้าที่ดูแลบ้านและเสาหลักของครอบครัวให้ดื้อๆ (ถ้าเต็มใจก็ถือว่าโชคดีไป) โดยปัจจุบันมีสัดส่วน สตรีเป็นหัวหน้าครัวเรือนโดยตัวคนเดียวถึงร้อยละ 34.7 ที่ต้องรับผิดชอบหารายได้หลัก ดูแลความเรียบร้อยในบ้าน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภค และต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ที่เหลือดูแลสารทุกข์สุขดิบของพ่อแม่สูงอายุในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆออกไปทำงาน
เวลาว่างเพื่อไปหา ‘แฟน’ หรือพัฒนาศักยภาพอื่นๆ กลายเป็นเรื่องที่ ‘เป็นไปไม่ได้’ ซะอย่างนั้น
ฝรั่งก็โดน ไม่ใช่แค่ใน “สังคมไทย”
ปรากฏการณ์นี้ ผู้เขียนพบเรื่องน่าสนใจที่แม้แต่สังคมตะวันตกเอง ‘ลูกสาวคนโต’ ก็เจอภาวะกดดันนี้เช่นกัน เป็นสัจธรรมอันเป็นสากลหรืออย่างไรไม่ทราบ Prof.Steven H. Zarit ผู้บุกเบิกแวดวง ‘ชราภาพวิทยา’ (Gerontology) เป็นคนแรกๆ ที่ศึกษาผลกระทบทางจิตใจของคนที่รับหน้าที่คนดูแลผู้สูงอายุ พวกเขามักถูกสังคมคาดหวังว่า ‘การดูแลผู้สูงอายุที่เรารักอย่างใกล้ชิดเปรียบดั่งพร’ (Blessing)
แต่ภาระของความคิดเหล่านี้มักตกไปยังคนเพียงคนเดียวในบ้าน ซึ่งความกดดันทางจิตใจมันมากกว่าภารกิจในแต่ละวัน โดยก่อนหน้านี้เรามองข้ามไปเสมอๆ
ในปี 2013 งานวิจัยของนักจิตวิทยา Judy R. Strauss นำเสนอความต่างของ ‘ลูกชาย ลูกสาว และลูกสะใภ้’ กับหน้าที่รับผิดชอบผู้สูงอายุในบ้าน พบว่า ความเครียดจากภาระดังกล่าวสะสมมากที่สุดใน ‘ลูกสาว’ ขณะที่ลูกสะใภ้รู้สึกมีพันธะต่อพ่อแม่ของสามีน้อยกว่า แต่เมื่อลูกสะใภ้ทำหน้าที่ดูแลครอบครัวสามีก็มักได้รับการชื่นชมจากสังคม และถูกมองว่าเป็น ‘ลูกสะใภ้ตัวอย่าง’ อันเป็นที่สรรเสริญเยินยอทั้งหมู่บ้าน ไปที่ไหนก็แทบจะมีคนเอาถ้วยรางวัลสลักชื่อมามอบให้เป็นเกียรติ
แต่ลูกสาวกลับมองเป็นของตาย เพราะคุณก็ต้องดูแลพ่อแม่ของคุณอยู่แล้วนี่ และธรรมชาติของผู้หญิงเมื่อเผชิญปัญหาการเลี้ยงดูพ่อแม่ มักไม่มองหาตัวช่วยอื่นๆ มาแก้ปัญหา หากเทียบกับลูกชายที่มีแนวโน้มหาทางออกโดยการปรึกษาสถานดูแลผู้สูงอายุหรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มากกว่า
แล้วลูกชายหายไปไหนล่ะ?
ในงานวิจัยปี 2014 ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Family Nursing เมื่อสำรวจคนที่ดูแลผู้สูงอายุกว่า 533 กรณี พบว่าลูกชายรู้สึกรับภาระน้อยกว่าในการดูแลพ่อแม่ เนื่องจากได้รับการคาดหวังในการทำหน้าที่ ‘ขยายครอบครัว’ สร้างครอบครัวใหม่ ขณะผู้หญิงต้องดูแล ‘ครอบครัวที่ตัวเองมีก่อน’ เสมอๆ ภาระจึงถูกผลักไปที่ลูกสาวของบ้าน
ผู้สูงอายุต้องเริ่มออมเป็น ลดภาระแต่เนิ่นๆ
ผู้หญิงรับภาระในการหาเลี้ยงครอบครัวอย่างยากลำบาก ยากมากที่ลูกสาวคนโตจะทำงานไปด้วยและเลี้ยงดูผู้สูงอายุไปด้วยในเวลาเดียวกัน กลายเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะจะทุ่มสรรพกำลังเพื่อความก้าวหน้าทางอาชีพก็ไม่ได้ จะดูแลพ่อแม่ที่บ้านแบบเต็มเวลาก็กลายเป็นการแช่แข็งตัวเองอยู่กับที่ ในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆสามารถทำอะไรต่อมิอะไรอย่างไปเรียนต่อ ลงคลาสอาชีพเสริม หรือท่องเที่ยวสันทนาการ
ปัญหาเงินเข้าบ้านบางครั้งจึงต้องขอความช่วยเหลือจากสมาชิกคนอื่นๆ จนดูเหมือน ‘ถูกจ้าง’ ให้ทำหน้าที่นี้แทน เพราะลูกบางคนหารายได้เข้าบ้านไม่ได้จากการที่ต้องดูแลผู้สูงอายุแบบเต็มเวลา ทั้งๆ ที่ตัวเองยังมีศักยภาพทำอะไรได้อีกมากมาย
การศึกษาตัวอย่างประชากรวัยแรงงานในประเทศเกาหลีใต้และไต้หวัน (ซึ่งรับมือ Aging Society ได้ยอดเยี่ยมมากๆ เป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ในเอเชีย) พบว่าหนุ่มสาวได้รับการปลูกฝังให้มีเงินออมเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในวัยสูงอายุก่อนเนิ่นๆแล้ว
ในขณะที่ประชากรไทยยังไม่มีความรู้ในการออมเงิน กลายเป็นความท้าทายในการรับมือสังคมสูงวัย เพราะประชากรสูงวัยนั้นจัดว่าเป็น ‘วัยพึ่งพิง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านงบประมาณที่ค่อนข้างสูง เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูภายหลังการเจ็บป่วย เนื่องจากเป็นวัยที่มีอัตราการเจ็บป่วยและภาวะทุพพลภาพสูงกว่าวัยอื่น
รายได้ของคนวัยแรงงานยังหดตัวลงจากการลดลงของประชากร เกิดเป็นช่องว่างที่สูงมากระหว่างการบริโภคและรายได้ จนไม่สามารถชดเชยหรือเกื้อหนุนประชากรสูงวัยได้เพียงพอ มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นทีเดียวที่รัฐต้องชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการสนับสนุนส่งเสริมให้ประชากรไทยเริ่มดูแลตัวเองทั้งเรื่องเงินออมและสุขภาพตั้งแต่อายุ 30 ปีเป็นต้นไป (หลังจากนั้นก็เกรงว่าจะช้าไปเสียแล้ว)
เมื่อคุณรู้สึกไม่ดี ก็มักจะส่งต่อพลังลบ
ไม่มีใครอยากปล่อยให้คนที่เคยห่วงใยเราต้องเผชิญช่วงเวลาบั้นปลายด้วยความโดดเดี่ยว แต่การทำความเข้าใจข้อจำกัด และความปรารถนาลึกๆ ของตัวเองอยู่เสมอ จะทำให้เราดูแลผู้สูงอายุโดยไม่ตรากตรำและทรมานจนเป็นการบ่อนทำลายความสัมพันธ์อย่างถาวร
ทำไมน่ะเหรอ? เพราะความฝืนตัวเองของคุณอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าสถานการณ์ความกระทำรุนแรงต่อผู้สูงอายุไทยมีหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน ผู้สูงอายุไทยจำนวนมากให้ข้อมูลว่าเคยถูกกระทำรุนแรงทางจิตใจจากบุตรหลานหรือบุคคลในครอบครัว โดยคำพูด การไม่ให้เกียรติ หรือพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกต่อผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุเสียใจ หมดกำลังใจ แต่ที่ผ่านมาสาเหตุคดีความมีน้อย เพราะผู้สูงอายุที่เป็นพ่อแม่ที่ชราไม่ต้องการแจ้งความดำเนินคดีกับลูกๆ
มันยังมีโอกาสอยู่ที่คุณจะหาช่วงเวลาดีๆ เพื่อตัวเอง แม้คุณจะมีภาระต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุในบ้าน แต่การรักษาสมดุลตัวเองจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน สำคัญคือการจัดสรรทรัพยากรโดยไม่ผลักภาระทุกอย่างไปที่คนเพียงคนเดียวในบ้าน
ไม่มีใครอยากทำหน้าที่ตัวเองบกพร่อง แต่คุณเตรียมพร้อมได้ดีแค่ไหนภายใต้กระบวนทัศน์ทางสังคมที่เปลี่ยนไป
อย่าใช้คำว่ากตัญญูทำให้คุณเจ็บปวดกว่าใครๆในบ้าน มันไม่แฟร์เท่าไหร่
อ้างอิงข้อมูลจาก
The effect of caregiver support interventions for informal caregivers of community-dwelling frail elderly: a systematic review
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3601532/
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (2559)
รายงานวิจัยความอยู่ดีมีสุขของครัวเรือนชนไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคม
http://knowledgefarm.in.th/well-being-rural-household/