“น้องเอาของหนูไปอีกแล้ว! เอาคืนมา!” เสียงกรีดร้องดังขึ้นกลางบ้านเป็นเรื่องปกติของที่นี่ และมักตามมาด้วยเสียงร้องไห้ตัวโยนอย่างเสียอกเสียใจ เปลี่ยนวันอาทิตย์บ่ายๆ ให้เป็นสมรภูมิทางอารมณ์ ทุกครั้งที่ผู้เขียนไปเยี่ยมน้าที่กำลังมีบรรดาหลานๆ วัยกำลังซน 2 – 3 ขวบ วิ่งพล่านไปมา เด็กๆ ที่นี่กำลังอยู่ในวัย ‘หวงของ’ เป็นที่สุด
เด็กๆ ชี้ได้ว่าชิ้นไหนเป็นของตัวเอง ชิ้นไหนเป็นของคนอื่น และอยากได้ของชิ้นใหม่ๆ เข้ามาในอาณัติของตนเสมอ เด็กอายุ 2-3 ขวบ มักรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของทุกอย่าง ทำให้หลายๆ คนเป็นนักแย่งมือฉกาจ และหวงของเล่นมากราวกล่องดวงใจ เมื่อถูกแย่งของ เด็กมักจะจู่โจมเพื่อทวงของคืนอย่างรุนแรง อาจถึงขั้นทุบตี หรือขว้างปา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เด็กยังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กเป็นคนก้าวร้าวหรืออารมณ์รุนแรงอย่างใด เพราะในวัยนี้ พวกเขารับรู้เฉพาะความรู้สึกต้องการของตัวเองเท่านั้น
แต่ทำไมเด็กๆ ที่ยังไม่รู้จักคุณค่าสิ่งของ ยังไม่เข้าใจกลไกแห่งการแลกเปลี่ยน ทำไมเราถึงมีแนวคิด ‘ความเป็นเจ้าของ’ (Ownership) ตั้งแต่ฟันน้ำนมยังไม่ขึ้น กลไกรูปแบบความคิดนี้อาจฝังแน่นตั้งแต่วิวัฒนาการ และพัฒนาร่วมกับเราไปเรื่อยๆ สู่การเติบโตในสังคมที่ซับซ้อน
คุณจ่ายเงินไปกับรองเท้ารุ่น Limited Edition เก็บหอมรอมริบผ่อนคอนโดกลางกรุงฯ หรือไม่ก็เตรียมออกรถป้ายแดงอีกคันเพราะโรงจอดรถยังมีที่ว่างเหลือเฟือ การครอบครองอันแท้จริงนั้นคือการบ่งบอกอัตลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตที่แท้จริง
พวกเราเป็นใคร อาจสะท้อนได้จากสิ่งที่มี
กระบวนการตระหนักรู้ของเรามักเผชิญกับความท้าทายหลักๆ คือ การแสดงความเป็นเจ้าของและการแลกเปลี่ยนสิ่งที่คุณมีกับคนอื่นๆ มันเป็นกิจกรรมที่ต้องทำทุกวันเมื่อทรัพยากรทุกอย่างบนโลกมีอยู่จำกัด
คุณต้องแย่งชิงหรือแชร์สิ่งของร่วมกับคนอื่นทั้งที่ชอบและชังขี้หน้า โลกต่างหากที่เผชิญความท้าทายในทุกสรรพสิ่ง ความขัดแย้ง ข้อพิพาท ความหึงหวง และสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มักนำไปสู่ต้นตอของการประกาศความเป็นเจ้าของ (Ownership) ทั้งสิ้น
เด็กๆ เพียงไม่กี่ขวบเริ่มแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของ พวกเขามักผูกพันและอุ่นใจเมื่อได้ครอบครองสิ่งที่พวกเขาเติบโตมาด้วยกัน และตลอดชีวิตพวกเราก็ยิ่งแสดงออกถึงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแสดงอัตลักษณ์ว่าเราต่างจากคนอื่น (Self-Identity) แม้ตุ๊กตาหมีที่เราเลือกนั้นมีหน้าตาเหมือนๆ กันกับตัวอื่นๆ ที่ผลิตออกมาจากโรงงานเดียวกัน แต่ตัวที่คุณเลือกนั้นมักมอบความรู้สึก ‘คุ้มค่า’ มากกว่าตัวที่คุณไม่ได้เลือก
การประเมินคุณค่าเช่นนี้ (ที่ค่อนข้างไปทางลำเอียงอยู่หน่อยๆ) มีอิทธิพลกำหนดอารมณ์ของมนุษย์ ในวัฒนธรรมตะวันตกเรียกว่า ‘วัตถุคือส่วนขยายตัวตน’ (objects as extensions of themselves) จึงไม่แปลกเมื่อหลายคนเห็นสิ่งของตัวเองถูกทำลาย จึงเจ็บปวดร่างกายราวถูกมีดกรีดแทง
การแสดงความเป็นเจ้าของในมนุษย์ อาจแตกต่างกว่าสัตว์อื่นๆ ในหลายมิติ เราอาจเป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์เดียวก็ได้ที่แสดงความเป็นเจ้าของอย่างเปิดเผย (หรือซุกซ่อนไว้อย่างแนบเนียน) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เช่น กลุ่มลิง อาจมีการใช้เครื่องมือหรือวัตถุบ้าง พวกมันใช้หินเพื่อตีเปลือกถั่วให้แตก หรือเอาไม้แยงรูมดปลวก แต่หลังจากภารกิจดังกล่าว เสร็จสิ้น ของชิ้นนั้นก็ถูกทิ้งไป หมดความสำคัญ
แม้นักวิทยาศาสตร์จะตั้งข้อสงสัยว่านกในธรรมชาติเรียนรู้ความเป็นเจ้าของหรือเคารพสิทธิในการถือครองหรือไม่ แต่นกหลายสายพันธุ์ก็มีความเป็นนักขโมยและนักสะสมชั้นยอด นกกางเขนมักตาเป็นมัน เมื่อเห็นของวาววับจับตา ส่วนนกบาวเวอร์ นักสร้างซุ้ม (Bower Bird) สายพันธุ์ออสเตรเลีย ก็มักเก็บข้าวของมนุษย์มาตกแต่งรังเป็นซุ้มลอดสวยงามเพื่อเกี้ยวพาราสีตัวเมีย
แต่สัตว์เหล่านี้ก็ยังไม่เทียบเคียง Ownership ในระดับเดียวกับมนุษย์ ที่สามารถผลิต แลกเปลี่ยน และให้คุณค่ากับสิ่งของเพื่อความพึงพอใจตัวเองได้
หนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นแรกๆ ของมนุษย์ คือ ดินเหลือง (Ochre) ปั้นแกะลายโดยฝีมือมนุษย์ดึกดำบรรพ์อายุกว่า 100,000 ปี ในแอฟริกาใต้ มันอาจเป็นการแสดงออกของศิลปินในยุค หรือวัตถุที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ แต่มันเป็นหลักฐานสำคัญว่า มนุษย์เริ่มให้คุณค่าเชิงสุนทรียศาสตร์กับวัตถุจากธรรมชาติแล้ว แถมยังมีการปรับเปลี่ยน ลงลายแกะสลัก สื่อถึงการครอบครองวัตถุชิ้นนั้นๆ ด้วย
อุตสาหกรรมยุคปัจจุบันทำให้เราถอยห่างจากสถานะผู้ผลิตมือที่ 1 แทบไม่ต้องทำอะไรด้วยตัวเอง แต่ความรู้สึก Ownership ยังเต็มเปี่ยม นักวิชาการหลายคนเคยกล่าวว่า เราอยู่ในยุค ‘ใช้แล้วทิ้ง’ (The Age of disposables) ความต้องการครอบครองนั้นยังคงมีอยู่แต่ไม่จีรังยั่งยืน สามารถถูกสับเปลี่ยนด้วยของชิ้นใหม่กว่า ตัวอย่างเด่นชัดที่สุดคือความปรารถนาในสิ่งของที่นอกเหนือจากการใช้งานจริงหรือมูลค่าทางการตลาด ซึ่งกลยุทธ์ทางด้าน Marketing ในศตวรรษที่ 20 เป็นต้นไปเห็นธรรมชาติของมนุษย์ในจุดนี้ จึงสร้างความรู้สึกผูกพัน การครอบครองอภิสิทธิ์พิเศษเหนือจากสินค้าที่ขาย เน้นกระตุ้นความรู้สึกของความเป็น Ownership ที่คนอื่นไม่มี และพยายามทดแทนสินค้าเก่าด้วยของใหม่กว่า แต่ประสิทธิภาพอาจเท่าเดิม การสร้างอารมณ์ร่วมในสินค้าให้นอกเหนือจากตัวตนเดิม ทำให้เราจ่ายเงินง่ายและใช้เวลาตัดสินใจเพียงนิดเดียว
เห็นได้ว่าการตลาดของศตวรรษที่ 20 ไม่ได้บอกว่า สินค้าที่ขายเป็นเพียงสิ่งของอีกแล้ว หากแต่เป็นเครื่องแสดงออกว่า ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์นั้นสะท้อนความปรารถนาของตัวเองเช่นไร หลายแบรนด์จึงนิยามตัวเองว่า ‘ผู้แสวงหาความสำเร็จ’ ความเป็นแบรนด์นั้น บางครั้งก็ทำให้คนพยายามปกป้องทรัพย์สินตัวเอง โดยยอมแลกด้วยชีวิต เพราะ โจรมิได้พรากสิ่งของไปเท่านั้น แต่พรากส่วนหนึ่งของตัวตนเขาไปด้วย
คุณเป็นคนอย่างไร มองจากของที่คุณมี
วัตถุนั้นสามารถล้วงเอาความเป็นตัวคุณออกมาได้ดีที่สุด นอกเหนือความสบายอกสบายใจเมื่อใดครอบครองมันส่งสัญญาณสถานะบางอย่างที่พิเศษออกไป เด็กผู้ชายมักต่อยกันแย่งของเล่น ไม่ใช่แค่พวกเขาต้องการเป็นเจ้าของ แต่พวกเขากำลังสร้างอัตลักษณ์สำคัญในการครอบงำเด็กอีกคนที่อ่อนแอกว่า จำแนกอำนาจออกไปให้มีลำดับชั้นขึ้น มีผู้แข็งแรงกว่าและอ่อนแอกว่าในสังคม ทุกครั้งในอนุบาลเด็กเล็ก คุณมักจะได้ยินเสียงกรีดร้อง “ของเรา” ตามมาด้วยน้ำตา โดยผู้ใหญ่เองก็พยายามจูนให้เด็กๆ เชื่อมั่นว่า “การแบ่งปันนั้นต่างหากเป็นสิ่งที่ดี” แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแบ่งปัน
วิลเลียม เจมส์ (William James) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเป็นคนแรกที่ทำความเข้าใจว่า สิ่งของที่คุณมี เป็นเครื่องบ่งชี้ตัวตนคุณ ในปี 1890 เขารวบรวมงานเขียนเชิงวิเคราะห์เป็นหลักการทางจิตวิทยาว่า
“อันตัวตนของมนุษย์นั้น มิใช่มีเพียงร่างกายหรือจิตว่าครอบครองได้แล้ว แต่ยังรวมไปถึง เสื้อผ้า บ้าน สามี ภรรยา ลูกๆ บรรพบุรุษ เพื่อน ชื่อเสี่ยงที่เขาสะสมมา ผลงานที่เคยทำ ที่ดิน ม้า เรือยอชท์ หรือบัญชีธนาคารในกระเป๋าถือของเขา”
ดังนั้นเมื่อสิ่งของที่มีแสดงความเป็นปัจเจกชน สถาบันต่างๆ อาทิ ทหาร โรงเรียน (หรือแม้กระทั้งคุก) จึงพยายามลบตัวตนของคุณบางอย่างเพื่อลุแก่ความเท่าเทียม ผ่านกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ หรือบทลงโทษ จะเห็นได้ว่าเครื่องแบบของทุกคนต้องเหมือนกัน ทรัพย์สินจะถูกริบ นอกจากสร้างพื้นที่กักขังเชิงกายภาพแล้ว ยังต้องสร้างพื้นที่กักขังความเป็นตัวตนด้วย ถึงจะเป็นการริบอัตลักษณ์ออกจากคนนั้นๆ อย่างสิ้นเชิง
ผู้เขียนเคยไปสำรวจคุกจากการเชื้อเชิญของกรมราชทัณฑ์เมื่อหลายเดือนก่อน ผู้ต้องขังล้วนมีสมบัติติดตัวเพียงน้อยชิ้น อย่างมากที่สุดคือ ‘รองเท้าแตะ’ ที่ทุกคนต้องเขียนชื่อหรือถ้อยคำที่มีความหมายกินใจไว้บนรองเท้า อันแสดงถึงตัวตนที่เหลืออยู่อย่างน้อยนิด
โรงเรียนในการดูแลของกระทรวงศึกษาก็ใช้กลยุทธ์นี้ไม่ต่างกัน โรงเรียนมักบังคับให้นักเรียนต้องใช้กระเป๋าที่ทางโรงเรียนผลิตเอง ด้วยการอ้างเหตุผลว่า ‘ป้องกันขโมย’ แต่แท้จริงแล้ว การลบตัวตนผ่านกฎระเบียบโรงเรียนเป็นการบริหารอำนาจ ‘แบบง่าย’ ที่สุดที่กระทำในคนหมู่มาก
หรือการให้แท้จริงแล้วยาก
การแบ่งปัน อาจเป็นเรื่องง่ายสำหรับหลายคน และอาจเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับอีกคนหากพวกเขาฝังอัตลักษณ์ส่วนลึกทั้งหมดไว้ในสิ่งของที่อยู่รายล้อม การแบ่งปันจึงมีนัยเสมือนสูญเสียตัวตนบางอย่าง แม้เด็กๆ จะเกิดมาพร้อมกับความหวงของอันเป็นธรรมชาติ แต่พวกเขายังอยู่ในช่วงเวลาดีที่สุดในการเรียนรู้หัวใจแห่งการแบ่งปัน ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายสำหรับพ่อแม่ยุคปัจจุบัน
เราไม่ได้อาศัยอยู่ในสังคมที่กระตุ้นให้เกิดการแบ่งปันอย่างเป็นธรรมชาติ แต่เป็นการลดทอนความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของเพื่อให้ทุกคนเหมือนกัน ทั้งที่จริงแล้วมนุษย์ล้วนต้องการการแสดงออกทางอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
การแบ่งปันเพื่อหวังให้ทุกคนเหมือนๆ กัน จึงมักล้มเหลวด้วยประการเช่นนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก