ในบรรยากาศของความเป็น ‘ผู้ปกครอง’ คุณไม่จำเป็นต้องเลี้ยงมนุษย์เพื่อให้ได้นิยามของความเป็นพ่อแม่ เพราะสัตว์ในธรรมชาติก็สามารถเลี้ยงลูก ‘ต่างสายพันธุ์’
โลกอินเทอร์เน็ตล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์ข้ามสายพันธุ์อันพิลึกกึกกือ คุณอาจจะเสียเวลาเป็นวันๆ นั่งดูคลิป’ลิงเลี้ยงไก่’ ‘กอริลล่าเลี้ยงแมว’ ‘ฮิปโปเลี้ยงเต่า ‘ช้างเลี้ยงแกะ’ แน่นอนว่าความสัมพันธ์พิสดารเหล่านี้มีความเป็น viral สูง โพสต์เมื่อไหร่ก็ปังเมื่อนั้น ไม่ต้องเสียงเงินบูสต์สักบาท
มากไปกว่าความน่ารักน่าชัง ก็กลับทำให้เราฉุกคิดว่า ทำไมในอาณาจักรสัตว์ถึงมีพฤติกรรม ‘เลี้ยงลูกต่างสายพันธุ์’ ให้พบเห็นอยู่เสมอ และอาจสะท้อนไปยังตัวตนของพวกเราด้วยว่า มนุษย์ก็สามารถเลี้ยงลูกของคนอื่น หรือเลี้ยงสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ที่สามารถพัฒนาเป็นสายใยผูกพัน ราวกับเลือดเนื้อเชื้อไขตัวเอง
ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตจึงเป็นปริศนาภาพมหึมา หากจะตอบให้ได้น่าฟัง เราอาจจะต้องเหลียวมองสิ่งมีชีวิตรอบๆตัวของพวกเราเสียก่อน ซึ่งในช่วงบรรยากาศของ ‘วันแม่’ นี้ ไม่จำเป็นว่าคุณต้องเป็นผู้ปกครองของมนุษย์เท่านั้นนี่!
ปริศนาแห่งความเป็นพ่อแม่
ในอาณาจักรของมนุษย์นั้น การอุปถัมภ์เด็กสักคนที่ไม่ใช่สายเลือดตัวเอง มักถูกมองว่าเป็น ‘ความดี’ และปราศจากความเห็นแก่ตัว (selfless act) แต่ในธรรมชาตินั้น พฤติกรรมนี้ได้สร้างความงุนงงต่อนักพฤติกรรมสัตว์ทุกครั้งที่พบเห็น มันช่างไม่มีเหตุผลอะไรเอาเสียเลยเลยที่เราต้องไปเลี้ยงลูกของคนอื่น เพราะการเลี้ยงลูกเป็นภาระหนักหนาที่ต้องทุ่มเทพลังกาย เวลา และทรัพยากรมหาศาลจนกว่าชีวิตน้อยๆ จะเติบโตยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง
และยิ่งเอาลูกเขามาเลี้ยง นั้นเท่ากับ ‘เอาเมี่ยงเขามาอม’ ก็ไม่ผิดนัก เพราะนี่ไม่ใช่สายเลือดที่เราต้องรักษาด้วยซ้ำ ไม่มีความผูกพันทางพันธุกรรม แต่เราก็ยังพบเห็นการเลี้ยงลูกต่างสายพันธุ์ได้ในสัตว์หลายชนิด พบเห็นได้มากหน่อยในกลุ่มสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยงไว้ตามบ้านเรือน (domesticated) และอาจมีสัดส่วนน้อยลงมาอีกหน่อยในตามธรรมชาติ (wild)
หากถามว่า วิวัฒนาการมีเหตุผลอะไรไหมที่สัตว์จะมีพฤติกรรมเช่นนี้ แน่นอน! มันมีทั้งกลยุทธ์เอาตัวรอดที่แอบแฝงแยบยลเพื่อหาประโยชน์ และในหลายความสัมพันธ์ก็สามารถก่อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่าง ‘ผู้เลี้ยงดู’ และ ‘ลูกอุปถัมภ์’ ได้เช่นกัน
สัตว์ที่มีลักษณะครอบครัวเดี่ยว (Nuclear family) ประกอบด้วยพ่อแม่ลูก ส่วนใหญ่เมื่อทายาทฟักหรือคลอดมาเป็นตัวแล้ว ก็มักปล่อยให้ลูกน้อยดิ้นรนเองแบบตามมีตามเกิด ส่วนสัตว์ที่มีพฤติกรรมฝูงเหนียวแน่น ตัวอย่างเช่น ‘ชิมแปนซี’ หน้าที่เลี้ยงดูจะถูกแชร์ให้กันในเหล่าชิมแปนซีเพื่อผลัดกันดูแลโดยสมาชิกในฝูง ลดความยากลำบากในการจัดหาทรัพยากร ลดภาระการคุ้มกันภัย และสร้างพลังความเป็นกลุ่มให้แน่นแฟ้นขึ้น
การแบ่งปัน (Sharing) จึงเป็นทฤษฏีหนึ่งที่อาจส่งต่อผ่านยีนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ทำให้เราต้องอยู่ร่วมสังคมเป็นหน่วยใหญ่ๆ
น่าสนใจที่ธรรมชาติเองก็เข้าใจกลไกนี้เช่นกัน เมื่อการเลี้ยงเด็ก (สักตัว) ใช้พลังงานมหาศาล ทำไมไม่ให้คนอื่นทำแทนไปเลย นกวงศ์คัคคู อย่าง ‘นกกาเหว่า’ (Asian koel) ที่มีพฤติกรรมวางไข่ให้กาและนกอื่นๆ เลี้ยงแทน เรียกพฤติกรรมนี้ว่า brood parasites โดยพวกมันจะเลือกนกสายพันธุ์อื่นที่มีศักยภาพพอที่จะเลี้ยงลูกแทนมันได้ ซึ่งทักษะนี้อาศัยความแนบเนียน อำพราง ไม่ให้ถูกจับได้ หากโอกาสเหมาะเจาะลูกกาเหว่าเจาะไข่ออกมาก่อนลูกนกเจ้าของรัง พวกมันจะผลักไข่ลูกแท้ๆ ของนกเจ้าของรังนั้นทิ้งไป เพื่อที่จะได้ไม่ต้องแชร์ทรัพยากรร่วมกัน ทำให้มันได้รับอาหารจากพ่อแม่อุปถัมภ์ (แบบตุกติก) บรรยากาศในรังจึงคุกรุ่นไปด้วยการแข่งขันทางวิวัฒนาการ ระหว่างว่าใครจะถูกจับได้ก่อน หรือเบียดคู่แข่งให้จนมุมได้ทันเวลา
ดังนั้นกลับมาที่คำถามว่า “การอุปถัมภ์ลูกคนอื่น” เป็นการกระทำที่โง่เขลาหรือไม่?
นักวิทยาศาสตร์ทึ่งกับพฤติกรรมนี้มาอย่างยาวนาน ซึ่งสัตว์เองก็ไม่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมใดๆ ที่พัฒนาให้มันรับลูกสัตว์สายพันธุ์อื่นมาเลี้ยงได้ เกาะ Ano Nuevoอยู่เหนือกว่าระดับน้ำทะเล 1 กิโลเมตรแถบแคลิฟอร์เนีย เป็นตัวอย่างที่น่าพิศวง ทุกๆ ปีฝูงแมวน้ำช้าง (elephant seal) จะมาพักบนเกาะนี้เป็นประจำ พวกมันเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์แมวน้ำสกุล Mirounga ขนาดใหญ่เท่าวอลรัสแต่ไม่มีเขี้ยว ในปี 1976 นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล Marianne Riedman พบว่า พวกแมวน้ำมีพฤติกรรมอุปถัมภ์ลูกบุญธรรมเช่นกัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมค่อนข้างทารุณ ทำให้มีอัตราแมวน้ำพลัดหลงหรือตายสูง ปล่อยให้เกิดลูกแมวน้ำกำพร้าจำนวนมาก ซึ่งในปีหนึ่งอาจมากถึง 570 ตัว
แมวน้ำโตเต็มวัยมีแนวโน้มที่จะรับเลี้ยงแมวน้ำกำพร้า โดยเฉพาะตัวเมีย ซึ่งมีทฤษฏีหนึ่งเชื่อว่า แมวน้ำตัวเมียที่ยอมรับเลี้ยงลูกทำให้กระตุ้นวงจรเจริญพันธุ์ของมันได้อีกครั้ง (หรืออีกนัยหนึ่ง กระตุ้นความรู้สึกของการเป็นแม่ maternal experience) มีน้ำนมหลั่งมากขึ้น สร้างภาวะตกไข่ และพร้อมสืบพันธุ์สร้างครอบครัว
ลูกที่เลือกพ่อแม่
ถึงเราจะเลือกเกิดกับใครไม่ได้ แต่ธรรมชาติดันให้เราเลือกที่จะโตกับใครได้ หากพ่อแม่แท้ๆ ไม่ถูกใจ เราก็หาพ่อแม่ใหม่ซะให้รู้แล้วรู้รอด หรือต่างสายพันธุ์ไปเลยก็น่าจะดีกว่า
พฤติกรรมเช่นนี้พบเห็นได้ในเหล่าปักษา เรียกว่า Nest switching พบบ่อยในกลุ่มนกทะเล นกกระสา นกยาง เมื่อลูกที่เกิดใหม่ไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ พวกมันก็เลือกที่จะ ‘สลับรัง’ หาพ่อแม่ใหม่ โดยมีอัตราถี่ถึง 40% ของนกเกิดใหม่ จะย้ายไปรังที่สมาชิกน้อยกว่า เพื่อให้ได้อาหารเพิ่มขึ้น โดยลดการแข่งขันกันเองในรังเดิม
แล้วทำไม พ่อแม่ถึงยอมให้ลูกรังไหนก็ไม่รู้มาอยู่ในความดูแลของตัวเอง พวกเขาให้เหตุผลว่า พ่อแม่เองก็ไม่สามารถแยกแยะลูกน้อยออกได้ว่าลูกใครเป็นลูกใคร มนุษย์ก็แยกไม่ได้หากไม่มีลักษณะเฉพาะที่ชัดเจน นอกนั้นก็ต้องตรวจ DNA เอาสถานเดียว
สัตว์ในกรง มักเลี้ยงลูกต่างสายพันธุ์มากที่สุด
พฤติกรรมนี้พบเห็นได้บ่อยที่สุดจากสัตว์ที่มนุษย์นำมาเลี้ยง (domestication) หรือขังไว้ในกรง (captive) มีงานวิจัยที่น่าตื่นตะลึงในปี 2004 พบลูกลิงมาโมเสต (marmoset) ใช้ชีวิตร่วมกับลิงต่างสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ คือ ลิงคาปูชิน (capuchin) ในส่วนอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า Green Wing Valley ในประเทศบราซิล ที่เรียกได้ว่าสนิทสนมจนเป็นครอบครัวเดียวกัน พวกมันใช้ชีวิตด้วยกันแบบติดพันยาวนานถึง 14 เดือน
เรื่องที่มหัศจรรย์คือ ลิง 2 ชนิดนี้มีขนาดต่างกันมาก คาปูชินโตเต็มวัยมีขนาดถึง 4 กิโลกรัม ในขณะลิงมาโมเสตมีขนาดจิ๋วเพียง 500 กรัมเท่านั้น ลิงสองสายพันธุ์มีรูปแบบการหาอาหารที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงมีโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เหมือนกันด้วย แต่ในความไม่เหมือนกลับทำให้พวกมันอยู่ร่วมกันได้!
ลิงน้อยมาโมเสตเรียนรู้พฤติกรรมการหากินรูปแบบใหม่อย่างรวดเร็ว พวกมันเป็นนักเรียนรู้ที่ดี ยอมรับรูปแบบสังคมแบบใหม่ มีรายงานว่า พวกมันเดินทางเป็นหมู่คณะไม่ทอดทิ้งกัน หากินร่วมกัน และตอบสนองต่อเสียงร้องเรียก ในขณะที่คาปูชินก็มีพละกำลังแข็งแรงกว่า แต่พวกมันสามารถ ‘ลดพละกำลังลง’ เมื่อต้องปฏิบัติกับลิงมาโมเสตที่เปราะบางกว่า ในระหว่างที่พวกมันเล่นกันในหมู่ลิง (social play) แสดงว่า ลิงรู้จักระดับความละเอียดอ่อนที่จะปฏิบัติต่อลูกอุปถัมภ์ต่างสายพันธุ์ พวกมันไม่ได้หยาบกระด้างอย่างที่พวกเราเข้าใจ และเมื่อการเรียกร้องจากบรรดาเด็กน้อยมากล้น สัตว์เองก็มี ‘น้ำอดน้ำทน’ (tolerance) ต่อความไร้เดียงสาเช่นกัน
หน้าที่ของการเป็นผู้ปกครองจึงครอบคลุมความเป็นสากลในแต่ละชีวิต เราปฏิบัติต่อสายพันธุ์อื่นด้วยรูปแบบพิเศษ ที่แม้แต่สัตว์เองก็สามารถใช้พฤติกรรมนี้สานสายสัมพันธ์ได้
มนุษย์จึงไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวที่เรียนรู้การอุปถัมภ์ การเอาใจใส่ (empathy) เป็นคุณสมบัติร่วมที่เราแชร์ไปพร้อมๆ กับสรรพชีวิตอื่น จนกลายเป็นแก่นแท้ของพฤติกรรมที่เชื่อมโยงเราไว้ด้วยกัน เมื่อสัตว์สามารถลิ้มรสชาติความเจ็บปวด หิวโหย และหงอยเหงา พวกมันเองจึงต้องแชร์ซึ่งกันและกันเพื่อเยียวยาไม่ต่างจากเรา
อ้างอิงข้อมูลจาก
Cross-genus adoption of a marmoset (Callithrix jacchus) by wild capuchin monkeys (Cebus libidinosus): case report.
Extraordinary Observation Of Wild Capuchin Monkey – Marmoset Association
Illustration by Waragorn Keeranan