ร่างกายของพวกเราคืออาณาจักรจุลชีพนับล้าน เมื่อเคลื่อนย้ายไปไหน ประชากรจุลชีพในอาณาจักรของคุณก็โยกย้ายถ่ายโอนไปด้วย บ้างก็เป็นจุลชีพที่คุ้นเคยกันดีตั้งแต่อ้อนแต่ออก บ้างก็เป็นพวกหน้าใหม่แอบเกาะขบวนอย่างเนียนๆ อาจเป็นประโยชน์ก็ได้หรือก่อโรคก็ไม่แน่ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่คุณเอาตัวไปปฏิสัมพันธ์ด้วย ถ้าเรามองการเคลื่อนย้ายนี้ในระดับจุลทรรศน์แล้ว ร่างกายของพวกเราจะเป็น ‘ฮับ’ (hub) แห่งการเดินทางที่ยุ่งเหยิงยิ่งกว่าสนามบินแห่งชาติทุกแห่งมารวมกัน
แต่ถ้าต่อไปเราไม่ได้อาศัยแค่บนโลกเท่านั้นล่ะ? มนุษย์จะเป็นนักเดินทางข้ามดวงดาว เราอาจต้องไปสร้างอาณานิคมใหม่ในดาวที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตเคยดำรงอยู่มาก่อน นัยหนึ่งเราอาจถูกเรียกว่า ‘ผู้รุกราน’ ที่เอาจุลชีพในร่างกายไปปนเปื้อนดวงดาวอื่นๆ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ และหากมองไปยังอนาคต ธุรกิจการเดินทางสู่ดาวนพเคราะห์ต่างๆ ที่จะดำเนินโดยเอกชนเป็นส่วนใหญ่ ผ่านการแข่งขันด้วยกลไกการตลาด ก็มีแนวโน้มที่คนทั่วไป (ที่มีเงินมากๆ) จะใช้บริการได้ (แม้จะไม่ใช่เร็วๆ นี้เหมือนแพ็คกระเป๋าไปเที่ยวเซ็นไดหรอก) เพราะฉะนั้นปัจจัยเรื่องการนำจุลชีพไปปนเปื้อนบนดวงดาวอื่นๆยังเป็นเรื่องซีเรียสที่ควรมีมาตรการหรือข้อตกลงออกมาแต่เนิ่นๆ ก่อนที่เราจะพัฒนาไปมากกว่านี้ เพราะจะยิ่งช่วยเรื่องการเฝ้าระวังการระบาดของโรคระดับ interplanetary (ระหว่างดาวนพเคราะห์) ที่มนุษย์อาจไปเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอย่างคาดไม่ถึง และอาจไม่ดีกับตัวเราเองในระยะยาว
ประเด็นนี้อาจดู Sci-fi จ๋าเสียจนหลุดมาจากนิยายสาย Hugo awards ก็ไม่เชิง แต่มีนักชีววิทยาถกเถียงเรื่องนี้มาสักระยะแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่รับทราบแต่ในเฉพาะภารกิจสำรวจระดับประเทศ แต่ต่อไปภารกิจนอกโลกจะเป็นหน้าที่ของเอกชนด้วย อาทิ บริษัท Space X ของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) และบริษัททุนหนารายอื่นๆ ก็มีความพร้อมไปถึงจุดนี้ได้เช่นกัน
เร็วๆ นี้จะมีกระสวยอวกาศอย่างน้อย 3 ลำ เดินทางไปสำรวจดาวอังคาร แถมยังมี Rover ยานยนต์เดินทางบนพื้นผิวของดาวอังคารจากหลายชาติทั้งของสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีนเพื่อหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตทั้งปัจจุบันและอดีต เป็นไปได้ไหมที่จักรกลตะลุยดาวเหล่านี้จะมีจุลชีพขนาดจิ๋วจากโลกเกาะขึ้นไปด้วย หรือในทางกลับกัน หากดาวอังคารมีจุลชีพที่มีชีวิตจริง เราก็คงไม่อยากให้มันเกาะกลับมาในจุดที่เราจัดการไม่ได้บนโลกเช่นกัน
องค์การ NASA มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงที่ชื่อ ‘Planetary Protection’ เจ้าหน้าที่หน่วยงานอย่าง แคททารีน คอนเลย์ (Catharine Conley) เคยกล่าวติดตลกว่า “ถ้าอยากจะหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารไม่เห็นจะยาก คุณก็แค่เอาเชื้อโรคจากโลกติดตัวไปด้วย” แต่การกล่าวเชิงขบขันนี้เองที่เธอต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นเป็นอันขาด ซึ่งการปนเปื้อนจุลชีพอาจทำให้ภารกิจสำรวจดาวล้มเหลวได้
ดังนั้น NASA จึงมีหน่วยงานเฝ้าระวังด้านความละเอียดอ่อนนี้ตั้งแต่ปีค.ศ. 1950 แต่คำถามคือบริษัทเอกชนหน้าใหม่ๆ ที่เข้าร่วมภารกิจสำรวจดาวอังคารจะมีหน่วยงานเพื่อเฝ้าระวังเช่นนี้หรือไม่ อย่างกรณีโครงการของ SpaceX ที่จะมีการนำมนุษย์ไปเหยียบดาวอังคาร ที่การปนเปื้อนจุลชีพจากโลกจะต้องถูกจับตามองให้ถี่ถ้วนอย่างถึงที่สุด หากเอามาตรฐานของ NASA มาจับกับบริษัทเอกชนอื่นๆ อาจทำให้หลายบริษัทต้องล้มเลิกภารกิจไปโดยปริยายเลยก็ได้ อันนี้ต้องยอมรับว่า NASA มีความถี่ถ้วนและมีระเบียบมากกว่าองค์กรเอกชนอื่นๆ คือไม่ใช่อยู่ๆ จะเอามนุษย์ไปเดินเตะฝุ่นดาวแดงได้ง่ายๆ เพราะเมื่อมนุษย์ไปที่ไหน เราก็มักไปเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศด้วยเสียทุกครั้ง
คราวนี้เพื่อให้บริษัทเอกชนมีมาตรฐานกลางที่ไม่ถึงกับต้องเข้มงวดระดับ NASA ก็ได้ แต่ต้องมีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับ ถ้าเข้มมากไปภารกิจต่างๆ จะล่าช้าหรือล้มเลิกไปเลย ซึ่งอาจกลายเป็นอีกทางหนึ่งเป็นการขัดขวางความก้าวหน้า และเป็นขั้นตอนที่เอกชนจะนำไปปฏิบัติได้จริง
NASA จึงจัดประชุมคณะกรรมการว่าด้วยเรื่อง Planetary protection policies นโยบายการป้องกันของดาวเคราะห์ขึ้นและนำเสนอต่อ คณะกรรมการวิจัยอวกาศ (Committee on Space Research (COSPAR)) ซึ่งก็มีบริษัท SpaceX มาร่วมรีวิวด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามบางข้อบังคับยังเป็นไปได้ยาก อาทิ “ห้ามให้มีจุลชีพที่มีชีวิตหรือสปอร์ใดๆ ปนเปื้อนในน้ำเพื่อการใช้สอยบนดวงดาว” ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีกระบวนการใดๆในการตรวจสอบที่ง่ายและแม่นยำ 100% เพื่อหาการปนเปื้อนของจุลชีพ
หลายเสียงแย้งว่า จุลชีพจากโลกถึงจะหลุดไปดาวอังคารก็ไม่สามารถมีชีวิตได้หรอก ทั้งรังสีที่รุนแรงและอากาศที่หนาวเหน็บไม่น่าจะเป็นที่อยู่ของจุลชีพจากพื้นโลกได้ ซึ่งจุลชีพเหล่านี้มีวิวัฒนาการร่วมกับระบบนิเวศโลกมานานหลายล้านปี ไม่น่าจะปรับตัวเข้ากับดาวอังคารได้ทัน ทำให้คนจากสถาบัน Planetary Science Institute ออกมาแย้งอีกว่า ที่คุณคิดแบบนั้นได้ เพราะแท้จริงแล้วเรามีความรู้เกี่ยวกับจุลชีพบนโลก ‘น้อยมาก’ ต่างหาก เรายังไม่รู้รายละเอียดของจุลชีพอีกหลายชนิดที่อาจมีคุณสมบัติพิเศษเมื่อถูกเปลี่ยนสภาวะ อาจจะทนทานต่อรังสี อาจมีความสามารถในการแพร่กระจายผ่านลม อาจอาศัยในชั้นน้ำแข็ง อาจถูกกระตุ้นด้วยรังสี
เพราะขนาดบนโลกที่คิดว่าไม่น่ามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ เรายังพบสัตว์กลุ่ม ‘เอกซ์ตรีมเมเฟียล’ (extremophile) หรือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในสภาวะสุดขั้วทั้งร้อนจัด เย็นจัด ไม่มีออกซิเจน อุดมไปด้วยรังสี แต่สิ่งมีชีวิตพวกนี้ยังรอดได้ และอาจเป็นไปได้ว่าดาวอังคารยังมีสภาพแวดล้อมบางแห่งที่มีความเฉพาะเจาะจงมากๆ จนเอื้อให้สิ่งมีชีวิตจากโลกดำรงอยู่ได้
อย่างไรก็ตาม บางกฎก็ได้บังคับใช้แล้วโดย COSPAR จะระบุพื้นที่พิเศษ (special regions) ที่จะไม่ให้ Rover ของชาติใดๆ เข้าไปเหยียบขณะสำรวจดาวอังคารเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เคยมีร่องรอยของแหล่งน้ำมาก่อนในอดีต กฏนี้ไม่เพียงครอบคลุมดาวอังคารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงดาวอื่นๆ เช่น ดวงจันทร์ 2 ดวง คือ ยูโรปาและเอนเซลาดัส ซึ่งเป็นบริวารของดาวเสาร์ เพราะทั้ง 2 ดวงมีแหล่งน้ำอยู่ใต้เปลือกน้ำแข็ง ที่หลายคนลุ้นว่าจะพบร่องรอยของสิ่งมีชีวิตหรือไม่ หากสิ่งมีชีวิตจากโลกไปปนเปื้อนกับแหล่งน้ำของดวงจันทร์ก็คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
กลับมาที่ดาวอังคาร แม้ระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา NASA จะได้ศึกษาดาวแดงนี้ไปไกลมาก แต่ก็เพียงแค่พื้นผิวด้านบนเท่านั้น ยังมีความลับอีกมากภายใต้เปลือกของดาวที่การส่งมนุษย์ไปสำรวจยังมีความจำเป็นอยู่ดี ซึ่งแน่นอนว่าการส่งมนุษย์เป็นๆ ไปต้องแหกกฎไกด์ไลน์นโยบายการป้องกันของดาวเคราะห์หลายข้อทีเดียว ตั้งแต่การทดลองถ่ายของเสีย (ที่แน่ๆ NASA อยากทดลองทิ้งอึลงบนดินดาวอังคารดู) หรือนักสำรวจทั้งหลายลืมฆ่าเชื้ออุปกรณ์ในการสำรวจ แม้กระทั้งทุกคนสวมใส่ชุดอวกาศมิดชิดแล้วก็อาจมีจุลชีพเล็ดรอดไปสู่ภายนอกได้ แต่ก็จริงว่าการใช้มนุษย์อาจให้ข้อมูลที่ ‘อินไซด์’ กว่าการส่งหุ่นยนตร์สำรวจอันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แม้แต่ NASA เองก็จำเป็นต้องแหกกฎบางครั้ง
แล้วถ้าบริษัทเอกชนล่ะ? ต่อไปการสำรวจอวกาศจะคึกคักและมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาผลกำไรเป็นที่ตั้ง กฎต่างๆ อาจถูกละเลย แต่ที่แย่กว่าคือกฎของ NASA ก็อาจไร้พลังใดๆ ในการควบคุมเอกชนเหล่านี้ที่จะพยายามไปให้สุดขอบเรื่อยๆ ทำให้ระเบียบต่างๆ ถูกท้าทายซึ่งอาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หรือหากบริษัทเอกชนจะร่วมใจกันอย่างดีในการรักษาสภาพแวดล้อมของดาวเคราะห์ต่างแดน แต่ดันมีบริษัทแย่ๆ สักแห่งทำลายกฎเสียหมด และทำให้ดวงดาวปนเปื้อนก็พาลทำให้บริษัทอื่นๆ ‘ซวย’ ไปด้วย
จริงๆ ไม่ต้องดูประวัติศาสตร์ที่ไหนไกล เพียงเราดูสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกจนเกิดภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงโดยฝีมือมนุษย์ภายในไม่กี่ร้อยปี เราจึงคาดว่ามนุษย์ก็สามารถทำเช่นนี้กับดวงดาวอื่นๆ ได้เช่นกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ซึ่งการทำให้ดวงดาวที่ไปเยือนปนเปื้อนก็ยิ่งส่งผลให้โอกาสพบสิ่งมีชีวิตดั้งเดิมยากขึ้นทุกที และอาจเกิดผลกระทบเหนือคาดเดา
เมื่อปราศจากหลักเกณฑ์ที่จะทำให้ดาว ‘ติดเชื้อ’ จากอาณาจักรจุลชีพในร่างกายพวกเรา อนาคต มนุษย์จึงไม่ได้ทิ้งเพียงรอยเท้าเท่านั้น แต่ทิ้งชีวิตอื่นๆ ไว้ดูต่างหน้าด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
Migrating microbes and planetary protection