หลังๆ มานี้ยุค 90s กำลังอิน เพราะประชากรที่เคยใช้ชีวิตวัยรุ่น กำลังกินกำลังเที่ยว แสวงหาตัวตนในสมัยนั้น เริ่มมีอิทธิพลทางตลาด วัฒนธรรม สังคม และอำนาจในการจับจ่าย หลายคนเพิ่งเกิดหรือเกิดไม่ทันช่วงทศวรรษนั้นก็ยังอยากเป็นมนุษย์ยุคนั้น ขณะเดียวกันมนุษย์เคยวัยรุ่นยุคนั้นก็หวง 90s กันเหลือเกิน จะมาตีตนร่วมรุ่นไม่ได้ คนละเผ่ากัน
มันก็น่าสนุกตื่นเต้นดีอยู่หรอก โลกช่วงเปลี่ยนผ่านจาก analog มาสู่ digital ที่ต่อให้มีเครื่องไม้เครื่องมืออำนวยความสะดวกความบันเทิงอะไร ก็ไม่ได้เข้าถึงกันง่ายๆ กันทุกคน ทีวีก็มีแค่ 3 5 7 9 ส่วน 11 ไม่ต้องพูดถึง ไม่เคยกดรีโมตดูสักครั้ง จะมีรายการที่เก้งกวางตั้งใจชมก็มี ‘ดาวล้านดวง’ คืนวันอาทิตย์ช่องสาม กับ ‘เซเลอร์มูน’ ช่อง 9 การ์ตูน
บ้านไหนมี IBC คือดีงาม มีอะไรให้ดูมากมาย มีหนัง Sister Act ที่มีชื่อไทยชวนปวดกบาลว่า ‘ชีเฉาเก๊วย’ หรือ ‘สี่แหววพลังแม่มด’ อย่าง The Craft ไม่งั้นต้องเข้าร้านเช่าวิดีโอ ต่อมาเป็น UBC ได้ดู Channel V ขอเพลงวีเจตะแง้ว วีเจเอิร์ท พอวันหยุดก็ไปดู MV แถวสยามสแควร์ ตามร้าน KFC นั่งกินไก่ทอดไปพลาง ร้องเพลง Maria Montel ไปพลาง ที่แม้ว่าไม่รู้ภาษาอังกฤษก็สามารถร้องเพลงสากลได้
ดิ๊ดาดิ๊ ดิ๊ดาดิ๊ ดาดิ๊ ดาดิ๊ ดิ๊ดาดิ๊ ดิ๊ดาดิ๊ ดาดิ๊ ดาดิ๊ ดิ๊ดาดิ๊ ดิ๊ดาดิ๊ ดาดิ๊ ด๊ะดี่…..
อยากจะเสพจะบริโภคอะไรก็ต้องออกนอกบ้าน ออกไปดูหนังรัก Titanic กับแฟนที่โรง ออกไปซื้อเทป (ใช่ๆ เทปคาสเซ็ท สมัยนั้นยอดขายมีหน่วยเป็นตลับนะแก) มารายห์ แครี่ วิทนีย์ ฮุสตัน
เพลงไทยก็ฟังนะแก โบ สุนิตา, ไล่ย้อนไป มาช่า วัฒนพานิช, ใหม่ เจริญปุระ, แอม เสาวลักษณ์ ผู้แจ้งเกิดตั้งแต่ 80s และเป็นการสืบทอดบัลลังก์ตั่งทองขวัญใจชาวเก้งกวางทรานนี้ จากแม่แดง ฉันทนา กิติยพันธ์ (ซึ่งนางก็เป็นแม่ของแอม เสาวลักษณ์) และ สุดา ชื่นบาน แห่งยุค 70s นี่ยังไม่ต้องพูดถึง T-Skirt, บุ๋ม ตรีรัก จากคีตา เรคคอร์ดส, และปุ๊กกี้ ชาลาล่า ที่ฮิตจนตุ๊ดหัวโปกจนต้องรี่ไปซื้อของสะสมที่ RS Star Club และที่ปังไปอีกก็ คริสตินา อากีล่าร์ ที่แจ้งเกิดทันทีที่เริ่มเข้าสู่ทศวรรษ 1990 ก่อนจะถูกอวยจนเกินจริงให้เป็น ‘แม่’ ของเก้งกวาง
ส่วน หนุ่ม ศรราม, เต๋า สมชาย, เจมส์ เรืองศักดิ์, นูโว ไมโคร อะไรไม่อิน แมนเกิน
ขณะที่วัฒนธรรมมวลชน (pop culture) วัฒนธรรมบันเทิงกลายเป็นหมุดหมายนิยามความหมายแห่งทศวรรษ วัฒนธรรมบันเทิงเพื่อกามารมณ์ก็เช่นกัน ในยุคที่ความหฤหรรษ์ทางเพศก็ไม่ได้หามาได้จากการโหลดได้ฟรีๆ ใครจะซื้อวีดิโอ วีซีดีโป๊ ก็ต้องไปซุ่มๆ ด้อมๆ มองๆ รีบเลือกรีบจ่ายเงินรับตังค์ทอน อยากประหยัดหน่อยก็หนังสือโป๊ มือ 1 มือ 2 ที่เป็นมรดกจากทศวรรษ 80 อีกเช่นกัน ในยุคที่เรียกได้ว่า ‘ยุคทองแห่งนิตยสารเกย์’
นับตั้งแต่ปี 1984 อนันต์ ทองทั่ว ได้ออกนิตยสารรายเดือน ‘มิถุนา จูเนียร์’ โดยมีสโลแกน “สำหรับหญิงสาวผู้อ่อนไหวและผู้ชายชาวดอกไม้”[1] และ “นิตยสารรายเดือนสำหรับคนทุกเพศ”[2] แต่เอาเข้าจริงมันคือนิตยสารสำหรับเกย์ กลายเป็นที่นิยมในหมู่เก้งกวางทั่วราชอาณาจักร ก่อนจะเริ่มมีนิตยสารเกย์ผุดพรายจำนวนมากเช่น ห้องห้าเหลี่ยม, HEAT, MALE, DOOR แต่ก็ใช่ว่าจะวางแผงได้เอิกเกริก เพราะปกหนังสือเป็นภาพเปลือยวาบหวิว จึงไม่สามารถปรากฏบนตามแผงหนังสือได้ง่ายเหมือนนิตยสารอื่นๆ พื้นที่ขายก็ไม่มากนัก บางแผงบางร้านก็ไม่รับกลัวขายไม่ออก ซ้ำเจ้าหน้าที่รัฐก็คอยปราบปราม เกย์ยุคนั้นจึงต้องรู้แหล่งซื้อกันเอง เช่นแผงขายหนังสือหน้าธนาคารกรุงเทพ ซอยธนิยะ ฝั่งถนนสุริวงศ์[3] หรือตามชุมชนเกย์ แหล่งที่เกย์นิยมไปรวมตัวหรือใช้บริการ เช่นร้านค้า สปา ผับบาร์ ร้านอาหาร ซาวน่า[4]
หากใครกลัวพ่อแม่จับได้ว่าเป็นเกย์ ก็อ่าน IMAGE ของ คำรณ ปราโมช ณ อยุธยา หรือ HEART, The Boy, เธอกับฉันของพจน์ อานนท์ ที่แม้ไม่ใช่หนังสือโป๊หนังสือเกย์โดยเฉพาะ แต่มันก็มีพื้นที่ให้เก้งกวางกะเทยอยู่บ้าง อย่างน้อยแฟชั่นสมัยใหม่ ก็ยังพอเป็นข้ออ้างในการมีรูปดารานายแบบชายถอดเสื้อถ่ายแบบเก็บไว้ในบ้าน และที่งานดีพอๆ กันก็ นิตยสาร POP ในปลาย 90s ต้น 2000 ด้วยเนื้อหาที่เป็นมิตรกับความหลากหลายทางเพศอย่างที่นิตยสารดนตรีอื่นไม่มี บวกกับสำนวนและทัศนคติสุดเผ็ชของบก.ตี้ ธิชา ชัยวรศิลป์ และภาคอวตารของนาง เจ๊เฮลล์ ก็ทำให้ LGBT วัยรุ่นชนชั้นกลางนิยมเสพวัฒนธรรมอเมริกันซื้ออ่านกันทุกเดือน แถม POP เองก็มีคอลัมน์หาเพื่อนทุกเพศสภาพเพศวิถี ในยุคที่มีช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัยอย่างโทรศัพท์ส่วนตัว, pct, pager, email, ICQ และ MSN
เก้งกวางกะเทยหัวโปกบางคนก็มีเพื่อนใหม่และแฟนจากนิตยสารเล่มนี้
เพราะว่าก่อนจะถึงยุคโหลดผู้ ที่มีการผลิตพัฒนาระบบ Android และ iOS ในปี 2007 กับ Smartphone แอพลิเคชั่นนัดเดทสำหรับเกย์มากมาย Grindr(2009), Jack’d (2010), GROWLr (2010) ที่สามารถโชว์รูปภาพ ประวัติ ความสนใจและระบุพิกัดของผู้ใช้และระยะห่างของคู่สนทนาในขณะนั้นได้แม่นยำ ช่วยให้การหาผู้ง่ายดายสะดวกโยธินเพียงเขี่ยนิ้วจิ้มๆ ไปมาบนมือถือ ก่อนจะถึงยุคนั้นก็ต้องพึ่งคอลัมน์หาคู่จากนิตยสารนี่แหละที่สื่อรักที่มีประสิทธิภาพที่สุดในขณะนั้น
ในช่วง 1990 นิตยสารเฉพาะเพศสภาพเพศวิถีจึงไม่เพียงโฆษณาสถานที่บันเทิง จุดพบปะสังสรรค์ของบรรดาเก้งกวางเปลี่ยวใจ แต่ยังทำหน้าที่พ่อสื่อแม่ชักประกาศหาคู่รัก เช่นนิตยสารเกย์เล่มแรก ‘มิถุนา จูเนียร์’ ที่มีคอลัมน์ ‘Gemini Club’ ภายใต้สโลแกน “…เป็นสื่อกลาง เป็นสถานที่นัดพบ…” ใครเหงาใจก็ต้องส่งชื่อเบอร์โทรศัพท์และที่อยู่เผื่อส่งจดหมาย ใจกล้าหน่อยก็โชว์รูปมาให้ดูเลยจะได้ตัดสินใจคุยกัน มีทั้งรูปชุดว่ายน้ำ ภาพกำลังกอดตุ๊กตา ถอดเสื้อเผยสัดส่วน เสื้อกล้าม ไปจนถึงสูทตัดเย็บอย่างดี ชุดครุย ชุดข้าราชการ[5] พร้อมกับพรั่งพรูความในใจมากมาย
ช่วยหาเพื่อนให้ผมหน่อย ผมเหงา ผมต้องการเพื่อน แมน คิง ไบ แต่ไม่แสดงออก รูปร่างหน้าตาดี วัยไม่สำคัญ ขอแต่เพียงความจริงใจ เข้าใจ ไม่เห็นแก่ตัว ปัจจุบันผมอายุ 24 ปี สูง 180 ซ.ม. เป็นคนสะอาด ไม่ดื่มเหล้า สำหรับเพื่อนๆ ที่ต้องการรู้จักผมมากกว่านี้ ต้องจดหมายมาคุยกันเป็นการส่วนตัว ผมยินดีตอบทุกฉบับ (ส่งรูปถ่ายมาด้วย) ส่งมาที่ ยนน.ยนน.ยนน.ยนน. (เซนเซอร์ที่อยู่จ้า)[6]
หรือ
ควีนน่ารัก ผมอายุ 16 สูง 175 เป็นควีนน่ารัก คล่องแคล่ว ผิวขาว แสดงออกเล็กน้อย ต้องการพี่ชาย อายุไม่เกิน 25 สูงล่ำหน่อยก็ดี ส่งมาที่ ยนน.ยนน.ยนน.ยนน. (เซนเซอร์ที่อยู้จ้า) ขอรูปด้วย[7]
ไม่เช่นนั้นก็ต้องออกไปแสวงหาสถานที่ท่องเที่ยวราตรี ผับตามบาร์ ซาวน่า เก้งกวางยุคนั้นจึงมี skill และสัญชาตญาณเกี้ยวพาราสี จีบกันแบบ manual ทั้งสะกิด แกล้งวางมือไปโดน ขยิบตา ผงกหัว พูดคุยซึ่งๆหน้า ทำผ้าเช็ดหน้าตก
หลายคนจึงต้อง ‘เก็กชง’ สาวมากไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะ ‘แห้ว’ (ไม่ใช้คำว่า ‘นก’ นะตอนนั้น)
วัฒนธรรมการหาผู้จึงเป็นอีกเส้นแบ่งกำหนดยุคสมัยของเกย์ Analog กับ Digital เพราะ นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา พัฒนาการของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและเทคโนโลยีประเภทอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า World Wide Web ก็ได้ปักหมุดการปฏิวัติเทคโนโลยีในช่วงที่กำลังจะก้าวข้ามศตวรรษ และประกาศยุคสมัยที่เรียกว่า ‘ยุคดิจิทัล’ (digital age) ธุรกิจร้านอินทอร์เน็ตคาเฟ่เริ่มดกดื่นทั่วทุกหัวระแหง cyber space ก็ได้ขยายเข้ามายึดครองพื้นที่วิถีชีวิตประจำวันซึ่งรวมไปถึงการปฏิบัติต่อรสนิยมทางเพศและเพศวิถี
การประกาศหาคู่รักจึงไม่ได้จำกัดในสื่อสิ่งพิมพ์เสมอไป หากแต่ยังไปปรากฏในช่องทางสื่อสารต่างๆ เช่นเว็บปาล์ม-พลาซ่า อันเป็นสถาบันหลัก ชุมชนในจินตนาการ และศูนย์รวมความต้องการของเกย์กะเทยในยุคนั้น โปรแกรม ICQ และ Pirch โดยเฉพาะโปรแกรม Pirch ที่มีห้องเฉพาะเกย์โดยเฉพาะ เช่น ห้อง ‘คนหล่อครับ’ ‘เกย์กรุงเทพ’ สามารถเลือกห้องได้ตามท้องถิ่นภูมิลำเนาหรือระดับการศึกษา เช่น ‘เกย์ลาดพร้าว’ ‘เกย์เชียงใหม่’ ‘เกย์ขอนแก่น’ ‘เกย์ม.ปลาย’ ‘เกย์มหาลัย’ พูดคุยแลกเบอร์โทรศัพท์บ้าน โทรนัดกันก็ต้องระบุเสื้อผ้าหน้าผม จำหน้าจากรูปที่ส่งให้ดูให้แม่น แล้วก็ออกจากบ้านไปเจอตามเวลาที่กำหนด ตามสถานที่ที่สังเกตได้ง่าย น้ำพุ หอนาฬิกา เพราะถ้าคลาดกันไม่กี่นาที่นั่นก็หมายความว่าอาจจะไม่ได้เจอกัน รวยหน่อยก็ใช้เพจเจอร์ มือถือโนเกีย 3310 ซื้อบัตรเติมเงินมาคุยกัน
เหมือนจะยากลำบากแต่ในยุคนั้นมัน ก็อยู่กันได้ และจินตนาการไม่ออกจริงๆ ว่ามีอะไรง่ายดายไปกว่านี้อีก
ก่อนจะก้าวเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียล Y2K ที่เปิดศตวรรษใหม่ด้วยภาพยนตร์ที่ตัวละครหลักดำเนินเรื่องไม่ใช่ผู้ชายผู้หญิง ‘สตรีเหล็ก’ (2543) ที่หมุดหมายการเปลี่ยนเรื่องเล่าในสื่อภาพยนตร์ จากเกย์กะเทยเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอกหักรักคุดตุ๊ดตาย อย่าง ‘เพลงสุดท้าย’ (2528) ‘ฉันผู้ชายนะยะ’ (2530) ในสังคมลักปิดลักเปิดความหลากหลายทางเพศมาสู่การปรากฏตัวบนพื้นที่สาธารณะผ่านการเป็นตัวตลก ในปีเดียวกันก็มีละคร ‘ชายไม่จริงหญิงแท้’ แหม่มแคทเล่นเป็นผู้หญิงปลอมตัวเป็นสาวประเภทสองประกบพระเอกที่เราจะจำไม่ได้ว่าคือดู๋สัญญา และวง SEVEN ที่โกยชะนีตัวแม่และลูกสาวศิริรวม 7 นาง ผนึกกำลังออกเทปเป็นแพ็คเกจคู่ ให้เก้งกวางกะเทยเลือกเอาว่าใครจะมีคาแรคเตอร์ไหน แม้ต้นทศวรรษนี้ สถานที่ท่องเที่ยวยามราตรีจะชงักงันและน่ารำคาญใจภายใต้การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์
วัฒนธรรมบันเทิงไม่เพียงช่วยให้กับความหมายแห่งทศวรรษ แต่ยังช่วยเปิดพื้นที่ให้ตัวตนของเพศสภาพเพศวิถีปรากฏเฉดสีมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นในยุค 90’s เองก็มีอีกปรากฏการณ์ของสื่อบันเทิงต่อต้านเกย์กะเทยอย่างตรงไปตรงมา
ยุคเพลงอัลเทอร์เนทีฟเฟื่องฟู ในพ.ศ. 2537 มีวงดนตรีใต้ดินปล่อยเพลงต่ำตมออกมาอย่าง ‘เกลียดตุ๊ด’ ก่อนจะมีเพลงประเภทนี้ออกมาอีกในปี 2543 ‘ประเทศเทย’ เข้ายุคมิลเลนเนียลพอดิบพอดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพ.ศ. 2541 ที่ถือได้ว่าเป็นยุค homophobia ของค่ายแกรมมี่ ปล่อยเพลงประเภท ‘ยายตุ๊ดตู่’ ของ อ่ำ-อัมรินทร์ แต่งเนื้อร้องโดย ชนะ เสวิกุล และเพลง ‘ประเทือง’ ของไท ธนาวุฒิ คำร้องโดย กมลศักดิ์ สุนทานนท์ ที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับเก้งกวางกะเทยมากมาย และกลายเป็นคำล้อเลียนเย้ยหยันเกย์กะเทยเรื่อยมาข้ามทศวรรษ ทำเอาเกย์กะเทยที่เคยใช้ชีวิตผ่านยุค 90s ยังไม่เลิกเกลียดศิลปินพวกนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] มิถุนา ฉบับ 1 ปีที่ 1 มีนาคม 2527หน้า 5
[2] มิถุนา ฉบับ 1 ปีที่ 1 มีนาคม 2527หน้า 3
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน, หน้า 81
[4] สัมภาษณ์คุณณัฐจักร อินทะกนก Stylist & Fashion Coordinator บริษัท Play House Co., Ltd 19 มกราคม 2552 อ้างถึงใน สทาศัย พงศ์หิรัญ. การบริหารจัดการนิตยสารสำหรับเกย์. กรุงเทพฯ : วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2552.หน้า 119
[5] Gemini Club. ใน มิถุนา ฉบับ 1 ปีที่ 1 (มีนาคม 2527), หน้า 41.
[6]Gemini Club. ใน มิถุนา ฉบับที่ 59 ปีที่ 8 (2533), หน้า 108-114.
[7] Gemini Club. ใน มิถุนา ฉบับที่ 72 (2535), หน้า 105-115.