แม้คุณจะดูแลตัวเองอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่มันจะมีอวัยวะในร่างกายที่อยู่ในหลืบในพง และมักไม่ได้รับการเหลียวแลจากคุณอยู่เสมอ เพราะพวกมันอาจจะไม่โดดเด่นเหมือน “ผิวหรือผม” ที่คุณจะเอาไปอวดใครๆได้ แต่อวัยวะเหล่านี้กลับเป็นทีม Support ที่ทำงานอย่างขยันขันแข็งแทบจะไม่เคยหยุดพัก
เรามาทำความรู้จักมักจี่กับพวกมันเสียหน่อย จากการจัดอันดับของพวกเรา ก่อนที่ “อวัยวะน่าสงสาร” ทั้งหลายจะประท้วงงานหยุดยาว จนชีวิตคุณต้องเดือดร้อนรัวๆ และทำอย่างไรที่พวกเราจะดูแลอวัยวะส่วนต่างๆให้สมกับภาระหน้าที่อันยากลำบากโดยไม่มีบ่น
1. เท้า
วิ่งคนละก้าว วิ่งเพื่อสุขภาพ วิ่งตามกระแส หรือวิ่งระดมทุนให้โรงพยาบาล หากคุณไม่มี “เท้า” มันก็ยากที่คุณจะวิ่งเพื่อคนอื่นๆ (หรือแม้แต่ตัวเอง) เท้าเป็นอวัยวะที่อยู่ล่างสุดของมนุษย์ สัมผัสกับพื้นทุกวินาที ไม่ว่าจะเดิน วิ่งหรือยืนเฉยๆ เปรียบเสมือนเสาหลักสำคัญที่ค้ำจุนร่างทั้งหมดของคุณเอาไว้
ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรา “เดิน” ด้วยเท้า เป็นระยะทางประมาณ 100,000 กิโลเมตร หรือเท่ากับเดินรอบโลกชิวๆประมาณ 4 รอบ ซึ่งในขณะเดินนั้น เท้าจะรับน้ำหนัก 1.2 เท่าของน้ำหนักตัว และในขณะวิ่ง เท้ารับน้ำหนักมากเกือบ 3 เท่าของน้ำหนักตัวเลยทีเดียว! ทนเว่อร์!
มันจึงเป็นหนึ่งในอวัยวะจำเป็นที่คุณจะเห็นสัญญาณปัญหาสุขภาพเริ่มแรก แม้คุณจะเชื่อว่าเท้าหนาขนาดไหนก็ตาม มันก็ยังต้องเผชิญกับสิ่งสกปรกทุกวันจากฝุ่นหรือคราบสกปรกตามทางเดิน (ซึ่งบางทีเราก็ไม่ได้ใส่รองเท้าไง) จึงทำให้สิ่งสกปรกพวกนี้สัมผัสกับเท้าโดยตรง ยิ่งคนที่มีบาดแผลเท้า จะยิ่งเหมือนเปิดประตูค่ายเชื้อเชิญให้เหล่าแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสเข้าสู่ร่างกาย
คุณจึงอาจจะต้องใส่ใจสุขภาพเท้าอย่างง่ายๆ โดยเริ่มที่การเลือกรองเท้าให้เหมาะกับกิจวัตรในแต่ละวัน รักษาความสะอาดของเท้าอยู่เสมอ เพราะแค่ปัญหา “เล็บขบ” ที่ฟังดูอาจขี้ผงเอาฮา แต่ทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามไปยังส่วนต่างๆของร่างกายได้ ก็มักเริ่มต้นที่ “เท้า” ของคุณเนี่ยล่ะ
2. กระเพาะปัสสาวะ
ปลายทางที่ช่วยขับถ่ายของเสียให้ออกไปจากร่างกาย แต่ทำไมคนเราถึงได้ชอบอั้นไว้นัก? บีบบังคับให้กระเพาะปัสสาวะกลายเป็นเพื่อนรักที่แสนจะอัดอั้นช้ำใจ เจ้านายประชุมยาวสามชั่วโมงก็ต้องทนอั้น ติดสายลูกค้านานๆก็ต้องอั้น เสาร์อาทิตย์ติดซีรีย์เกาหลีจะปวดแค่ไหนก็ต้องอั้นไว้ก่อน เดี๋ยวจบ EP นี้จะไปเข้าห้องน้ำละ!
“ทำแบบนี้มันไม่ไหวนะเว่ย!” การไปกดดันน้องเค้ามากๆ ปล่อยให้ทำงานหนักเกินความจำเป็น OT ก็ไม่ได้ มีแต่จะทำให้กระเพาะปัสสาวะมีโอกาสติดเชื้อได้มากขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิงซึ่งมีท่อปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชาย ทำให้มีโอกาสที่เชื้อจะปนเปื้อนเข้ามาทางท่อปัสสาวะได้ หากเราขับถ่ายไปตามที่กระเพาะปัสสาวะเรียกร้อง เชื้อเหล่านี้ก็จะถูกขับออกไปเองได้ตามธรรมชาติ แต่หากเราดันไปอั้นเอาไว้นานๆ นอกจากจะไม่ฟังเสียงคร่ำครวญของเพื่อนรักแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เชื้อโรคที่เล็ดรอดเข้าไปเจริญเติบโตได้อีกด้วย
กว่าจะรู้ตัวอีกทีเพื่อนรักก็หมดความอดทน กลายเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบไปซะแล้ว นิสัยนั่งติดกับที่ไม่ลุกไปไหน ปล่อยให้ธรรมชาติเรียกร้องอยู่ฝ่ายเดียวมันไม่คูล!
3. ม้าม
หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “เดี๋ยวเตะม้ามแตก!” ก็ยังไม่มีนึกออกอยู่ดีเวลาม้ามแตกจะเป็นอย่างไร แม้ภายนอกม้ามจะดูหน้าตาเรียบๆบ้านๆ แต่ภายในม้ามมีช่องทางที่ซับซ้อนคดเคี้ยว ซึ่งเลือดต้องไหลเวียนผ่านตลอดเวลา
ม้ามสร้างและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย (โดยสร้างสาร Antibody) ทำลายแบคทีเรียและสิ่งแปลกปลอมในกระแสเลือด อีกทั้งม้ามยังทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดงให้กับทารกขณะอยู่ในครรภ์มารดาด้วย
ม้ามทำหน้าที่ในการดึงเอาธาตุเหล็กจากฮีโมโกลบินของเซลล์เม็ดเลือดแดงนำมาใช้ในร่างกาย เพราะม้ามเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับเลือดอยู่ตลอดเวลา จึงมีเส้นเลือดอยู่ภายในมากเป็นพิเศษ ทำให้ม้ามมีลักษณะเป็นสีแดง บางและเปราะสุดๆ หากมีอุบัติเหตุมากระทบถูกม้ามแรงๆ ม้ามก็จะแตกได้ ร่างกายจะเสียเลือดมากจนเสียชีวิต
แต่อย่างไรก็ตามวิทยาการทางแพทย์สมัยใหม่ ทำให้เราสามารถผ่าตัดม้ามได้โดยไม่ต้องมีการปลูกถ่ายม้ามชดเชยเช่น กรณีมีอุบัติเหตุที่ทำให้ม้ามแตกฉีกขาด แต่คุณต้องยอมรับผลกระทบที่ตามมาว่า ภูมิคุ้มกันจะลดลง ทำให้ต้องเข้ารับวัคซีนอย่างเคร่งครัด จะมาขี้เกียจเอาไม่ได้
4. ต่อมหมวกไต
อวัยวะที่น่าน้อยเนื้อต่ำไต ชื่อเรียกของตัวเองก็ยังไม่มี ต้องไปเป็น “หมวก” ให้ไต ซึ่งทำหน้าที่อะไรคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้
“ต่อมหมวกไต” เปรียบเสมือนแม่ของบ้าน ที่คอยดูแลการทำงานของอวัยวะต่างๆในบ้านให้ทำงานได้อย่างราบรื่น โดยการส่ง “ฮอร์โมน” ไปควบคุมดูแลทั่วร่างกาย ฮอร์โมนดังๆที่เรารู้จักกัน อย่างฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน หรือฮอร์โมนความเครียดอย่าง “คอติซอล” ก็ได้คุณแม่หมวกไตนี่แหละที่คอยผลิตให้ เป็นอวัยวะที่คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ แต่ถ้าขาดคุณแม่หมวกไตไป อย่าหวังเลยว่าสมาชิกในบ้านจะอยู่ได้อย่างสงบสุข
ความสุขของทุกคนในบ้านก็คือความสุขของแม่ เมื่อเกิดความเครียดคุณแม่หมวกไตจึงเป็นคนแรกที่จะต้องรับภาระจัดการความเครียดด้วยฮอร์โมนคอติซอล แต่เมื่อปัญหามันชักจะมากเกินไป คุณแม่ที่เคยนิ่งเย็นเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ทุกคนก็เหนื่อยล้าได้เหมือนกัน กลายเป็นอาการ “ต่อมหมวกไตล้า” ที่ต้องรักษากันอีกยาว
หากเป็นไปได้ก็ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เครียดมากเกินไป เพราะถึงคุณแม่หมวกไตจะสตรองแค่ไหน แต่ก็มีวันที่จะอ่อนล้าได้เหมือนกันนะ
5. ตับ
อวัยวะที่น่าสงสารที่สุด ผู้ถูกลืมตลอดกาล Loser ของแท้แห่งอาณาจักรอวัยวะทั้งมวล เพราะแม้จะทำดีเพื่อเธอแค่ไหน ก็ยังต้องรับ “ของเสีย” จากเธอเท่านั้น ตับเปรียบเสมือนโรงงานกำจัดของเสียร่างกายที่ทำงานไม่เคยหยุดพัก
มันพยายามทำให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางและเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่พฤติกรรมใช้ชีวิตของคนยุคนี้กลับทำร้ายตับอย่างเหลือเชื่อ ตับจึงควรเป็นอวัยวะที่ต้องเริ่มดูแลอย่างเร่งด่วน
“ตับ” เป็นอวัยวะสำคัญ ซึ่งทุกอย่างที่คุณทำ ตั้งแต่การกินอาหาร ดื่มเครื่องดื่ม แม้กระทั้งการทานยารักษาโรคทุกขนาน ล้วนส่งผ่านไปที่หน้าที่ของตับทั้งหมด และจากผลงานการวิจัยใหม่ๆค้นพบว่า ตับทำหน้าที่มากกว่า 500 หน้าที่ ร่วมกับอวัยวะอื่นๆให้ทำงานสมบูรณ์ แต่ในความเป็นจริงมันกลับเป็นอวัยวะรั้งท้ายที่สุดในลิสต์สุขภาพ ที่น้อยครั้งจะมีใครกล่าวถึง
ตับทำหน้าที่ทำความสะอาด ขจัดสารพิษในร่างกาย สร้างพลังงานและสารสำคัญต่างๆ หล่อเลี้ยงให้ร่างกายคุณทำงานลื่นไหลตราบเท่าที่คุณยังมีลมหายใจ เพราะทุกๆวินาทีแม้ในยามคุณหลับใหล ตับจะขจัดสารพิษออกจากระบบเลือด สารพิษมักปนเปื้อนในอาหาร สารเคมีจากยา แอลกอฮอล์ และมลพิษต่างๆที่คุณมีปฏิสัมพันธ์
ตับของคุณจึงสำคัญขนาดเป็น “ศูนย์กลาง” ของร่างกายเลยด้วยซ้ำ ทั้งรับวัตถุดิบ ทั้งผลิต ทั้งเก็บรักษา ทั้งตรวจสอบคุณภาพ ทั้งแจกจ่าย ทั้งเก็บขยะและทิ้งขยะของเสียสารพัด
สารเคมีจากยา แอลกอฮอล์ หรือโลหะหนักต่างๆ ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ตับไม่เคยรู้จัก เมื่อสารเคมีหลุดเข้าสู่กระแสเลือด ตับจะพยายามเก็บไว้ในฐานะสารพิษ หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ เซลล์ตับรับมือสารพิษไม่ไหว จึงอาจบาดเจ็บ เป็น “โรคตับอักเสบ” หรือเซลล์ตับตายกลายเป็นอาการ “ตับแข็ง” คราวนี้ก็ยุ่งยากชีวิตโขเลย
แม้ตับจะทำงานโดยไม่บ่น แต่คุณยังมีโอกาสให้ช่วงเวลาดีๆกับตับได้ พืชพรรณหลายชนิดในธรรมชาติมีคุณสมบัติในการดูแลตับอย่างน่าอัศจรรย์ จากข้อมูลขององค์กรอนามัยโลก WHO ระบุว่า การบริโภคผักผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน ช่วยป้องกันโรคภัยต่างจากๆสารอนุมูลอิสระ ลดภาระหนักในการขจัดสารพิษในตับ ชะลอกระบวนการอักเสบ และยับยั้งการดูดซึมของสารพิษ
“ตับ” แม้จะศรัทธาและทุ่มเทเพื่อคุณขนาดไหน มันก็ต้องยังรอคอยการปรนนิบัติที่ดีจากคุณอยู่เสมอ
ตับ ไม่ใช่เรื่องเล็ก! เปลี่ยนพฤติกรรมทำร้ายตับง่ายๆ เริ่มที่ตัวคุณเอง ทำความเข้าใจกับความเสี่ยงที่ตับต้องเผชิญก่อนเนิ่นๆ โดยไม่ต้องรอให้โรคถามหา ธรรมชาติมักจะหากลไกลเยียวยาธรรมชาติด้วยกันเอง อาจจะถึงเวลาที่คุณต้องเผื่อใจให้กับตับที่ซื่อตรงมากกว่านี้ มอบความปรารถนาดีกลับคืนอย่างเหมาะสม เพราะเมื่อตับพร้อมจะอยู่ร่วมกับคุณไปตลอดตั้งแต่ครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน ลองให้ธรรมชาติเป็นพันธมิตรที่ดีในการดูแลตับของคุณ