“อวกาศเป็นของทุกคน ไม่ใช่แค่สำหรับคนไม่กี่คนที่เก่งวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ หรือสำหรับนักบินอวกาศแค่บางกลุ่ม นั่นคือพรมแดนใหม่ของเรา และเป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องรู้เกี่ยวกับอวกาศ”
คำกล่าวจาก คริสตา แมคออลิฟ (Christa McAullife) คุณครูวิชาสังคมศึกษาจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ที่ได้รับเลือกในโครงการ Teacher in Space เมื่อปี 1984 นับเป็นความพยายามของ NASA ที่ต้องการจะพากระสวยอวกาศที่มีทั้งนักบิน ครู ประชาชนทั่วไป เดินทางขึ้นสู่อวกาศ แม้ว่าโครงการนั้นจะจบลงด้วยความสูญเสีย แต่คำกล่าวของเธอก็เป็นเครื่องสะท้อนถึงความสำคัญของการเข้าใจดาราศาสตร์ของเราทุกคน
ในปี 2023 นี้ เทคโนโลยีต่างๆ รัดกุมมากขึ้น ความพยายามทะยานสู่ดาว เข้าใจสิ่งต่างๆ ในอวกาศนั้นยังคงดำเนินต่อไปอย่างแรงกล้า และแม้ว่าระยะห่างจากระดับน้ำทะเลบนโลกไปถึงอวกาศจะห่างไปเพียง 100 กิโลเมตร แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ยังมองว่า เรื่องของดวงดาวบนท้องฟ้า มันเกี่ยวพันอะไรกับชีวิตบนโลกมนุษย์กันนะ?
เรื่องเหล่านี้ยังดูไกลตัว เพราะหลายครั้งที่เราแหงนหน้ามองฟ้าตอนกลางคืนแล้วก็ไม่เห็นอะไร แสงไฟจากพื้นโลกส่องไกลถึงท้องฟ้าจนกลบแสงดาวไปเสียหมด การมองท้องฟ้ายามกลางคืนในเขตเมืองจึงกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับคนจำนวนไม่น้อยไปเสียอย่างนั้น
แต่ท้องฟ้ายามกลางคืนนั้นมีสิ่งต่างๆ อีกมากมายให้เรามองหา ‘Dark Sky Star Party’ จึงถือกำเนิดขึ้นในอุทยานท้องฟ้ามืดประเทศไทย ด้วยวัตถุประสงค์ให้ผู้คนได้ดื่มด่ำไปกับการมองดูท้องฟ้ายามกลางคืน โดยในงานมีคาราวานกล้องโทรทรรศน์ราว 30 ตัวให้ผู้คนได้เวียนกันส่องวัตถุท้องฟ้าต่างๆ พร้อมกับมีกล้องสองตาให้ลองใช้ และกิจกรรมเดินป่ายามกลางคืนเพื่อจะได้ชมความงามของท้องฟ้ายามกลางคืนด้วย
และเมื่อท้องฟ้ามืดมิด ดวงดาวก็ฉายแสงให้เราได้ชมกัน
ทำไมต้องให้ท้องฟ้ามืด?
หากคุณกำลังอ่านข้อความนี้ในตอนกลางคืน ลองมองไปข้างนอก บนท้องฟ้ามีดาวเล็ดลอดสายตามาให้เห็นสักกี่ดวง?
1 2 3 … คุณอาจพอนับได้อยู่บ้าง และการที่สามารถนับออกมาเป็นจำนวนที่แน่ชัดได้เนี่ยแหละ ที่สะท้อนให้เห็นว่า ท้องฟ้ายามค่ำคืนของคุณอาจ ‘สว่าง’ จนเกินไป
หมายความว่าอย่างไร? ก็เพราะเราต่างรู้กันดีว่า ดาวบนท้องฟ้ามีอยู่มากเกินกว่าจะนับไหว แต่เพราะความสว่างของแสงไฟประดิษฐ์ต่างๆ ที่มีมากเกินไป มันเจิดจ้าเสียจนกลบแสงดาวที่เราควรจะมองเห็นนั่นเอง
ข้อมูลจากสหพันธ์ท้องฟ้ามืดสากล (International Dark-Sky Association: IDA) ระบุว่า ทุกวันนี้โลกของเราสว่างตลอด 24 ชั่วโมง จากเดิมที่ช่วงค่ำคืนจะเป็นเวลาแห่งความมืดมิด และผลลัพธ์ของแสงสว่างตลอดเวลานี้ก็คือ ‘มลภาวะทางแสง’
มลภาวะทางแสง คือแสงสว่างที่ส่องสว่างมากไปจนมองเห็นได้บนท้องฟ้ายามกลางคืน ซึ่ง IDA ระบุว่า มลภาวะทางแสง ถือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ไฟประดิษฐ์ที่มากเกินพอดี หรือใช้อย่างไม่ถูกวิธี ไม่มีการควบคุมทิศทางให้เหมาะสม รวมถึงขาดการออกแบบของการใช้แสงโดยเฉพาะในชุมชนเมือง
ปัญหาของการที่เรามองไม่เห็นดาวเพราะฟ้าสว่างไปนั้น ไม่ได้กระทบแค่อารมณ์สุนทรีย์และความโรแมนติกเท่านั้นนะ แต่ยังส่งผลอีกหลายอย่าง และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้เป็นอันดับแรกๆ ก็คือเหล่าสัตว์ที่ไร้ปากเสียงจำนวนมาก เช่น สัตว์ที่ใช้แสงนำทางในการผสมเกสรอย่างผีเสื้อกลางคืน ที่เมื่อเจอแสงฟุ้งไปทั่วก็จะหลงทางจนบินไปผสมเกสรไม่ได้ หรือนกที่สับสนกับแสงฟุ้งจนบินชนกระจกตายก็มีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้ ลูกเต่าทะเลบางสายพันธุ์ เมื่อเจอแสงเรืองบนท้องฟ้า บริเวณริมชายหาด ก็จะหลงทางเดินขึ้นบน ไม่ยอมลงไปในทะเลตามธรรมชาติ และอาจถูกรถชนบนถนนหรือเกิดภาวะขาดน้ำและทำให้ตายได้
ขณะที่ผลเสียกับมนุษย์นั้น จิม โดเฮอร์ตี (Jim Dougherty) ประธานสมาคม IDA เคยกล่าวไว้ว่า มลภาวะทางแสง จะไปรบกวนการนอนหลับ การสร้างฮอร์โมนของร่างกายมนุษย์ และยังเกี่ยวข้องกับมะเร็งบางชนิดด้วย
และเพื่อให้ประเทศไทยยังมีพื้นที่ที่ท้องฟ้ามืดอย่างที่ควรจะเป็น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือที่เรียกติดปากกันว่า NARIT จึงทำแคมเปญ ‘เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย (Dark Sky in Thailand)’ โดยมีเงื่อนไขว่าสถานที่นั้นต้องสามารถสังเกตเห็นดวงดาวในเวลากลางคืนได้ชัดเจน อาจเป็นอุทยานแห่งชาติ พื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ส่วนตัวก็ได้ อย่างเขตสงวนท้องฟ้ามืดอาโอรากิ แมคเคนซี ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งถือเป็นเขตสงวนท้องฟ้ามืดที่ IDA ยกย่องให้เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ดูดาวที่สวยที่สุดในโลก และผลพลอยได้จากการที่ท้องฟ้ามืดนั้นก็ทำให้เขตสงวนท้องฟ้ามืดอาโอรากิ แมคเคนซี สามารถจัดบริการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่
ส่วนในประเทศไทยนั้น ก็มีสถานที่ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2565 อยู่ 12 แห่ง ได้แก่
- อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จังหวัดเชียงใหม่
- อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกระมัง จังหวัดชัยภูมิ
- อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จังหวัดชัยภูมิ
- อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ
- ชุมชนออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
- ไร่องุ่นไวน์ อัลซิดินี่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
- โรงแรมเรนทรี เรซิเดนซ์ เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
- สนามมวกเหล็ก เอทีวี อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
- บ้านไร่ยายชะพลู อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
- เดอะเปียโน รีสอร์ท อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
- ไร่องุ่นไวน์กราน-มอนเต้ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
สถานที่เหล่านี้นับเป็นแหล่งที่เหมาะกับการไปดูดาวที่สุดในไทย และถือเป็นจุดที่การันตีได้ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นมือโปรหรือมือสมัครเล่น ถ้าแหงนหน้ามองท้องฟ้าก็จะมองเห็นดาวเหมือนกัน
สถานที่ที่ ‘ดวงดาว’ จะได้ฉายแสง
เราใช้เวลาเดินทางราว 2-3 ชั่วโมงจากตัวเมืองในจังหวัดอุบลราชธานีไปยังอุทยานแห่งชาติผาแต้ม เป็นเวลาที่ ‘เข้าใจได้’ เพราะยิ่งออกห่างเมืองไปเท่าไหร่ แสงรบกวนท้องฟ้ายามกลางคืนก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น
‘DARK SKY Star Party’ คือชื่อของงานดูดาวที่อุทยานท้องฟ้ามืด ผาแต้ม เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้คนมากหน้าหลายตาพากันจูงมือเดินเข้างานซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงพลบค่ำ หรือพูดอย่างภาษาคนดูดาวว่า ตั้งแต่ช่วงเวลาที่ดาวศุกร์ทะยานขึ้นขอบฟ้ามาให้เห็นกัน
พอดาวศุกร์แวะมาทักทาย ดาวพฤหัสก็ไล่ตามมา เรียกเสียงฮือฮาให้ผู้คนพากันต่อคิวชมดาวเคราะห์ทั้งสองผ่านคาราวานกล้องโทรทรรศน์ที่เรียงรายอยู่บนลานราว 30ตัว ซึ่งรวมมาจากนักดาราศาสตร์สมัครเล่นและเครือข่ายดาราศาสตร์ทั่วประเทศไทย
แล้วเมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ลับฟ้าไปจนหมด ความมืดก็เข้ามาเยือน ซึ่งธรรมดาแล้ว เมื่อคนมารวมตัวกันมาก ต่อให้เรานั่งรถออกห่างจากเมืองมาขนาดไหน ท้องฟ้าก็คงสว่างด้วยแสงจากไฟฉายและมือถือของผู้คนนับร้อยอยู่ดี แต่ทาง NARIT แจ้งให้ผู้มาร่วมงานใช้ไฟฉายสีแดง พร้อมกับมีจุดแจกกระดาษแก้วสีแดงสำหรับคนที่ไม่มีไฟฉายมา เพื่อให้เอากระดาษแก้วนั้นมาหุ้มไฟฉายจากมือถือ แล้วใช้ในกิจกรรมแทน
ถ้าเป็นคนที่ไม่ค่อยได้เดินป่าก็อาจสงสัยว่า ทำไมต้องใช้สีแดง? คำตอบก็คือแสงสีแดง เป็นสีที่จะไม่ทำให้ส่องสว่างจนเกินไปและเป็นแสงที่รบกวนสายตาเราน้อยที่สุด ทำให้เราปรับการมองเห็นในที่มืดได้
ราว 19.00 น. กิจกรรมดูดาวด้วยตาเปล่าก็เริ่มต้นขึ้น ผู้คนจำนวนมากคว้าเสื่อมาปูนอนดูดาวตามเลเซอร์ที่วิทยากรส่องและบรรยายไปด้วย กลุ่มดาวกลุ่มแรกที่ผู้บรรยายชี้ชวนให้เราชมก็คือ กลุ่มดาวนายพรานที่เริ่มเคลื่อนตัวขึ้นมาจากทิศตะวันออก และสังเกตได้ง่ายๆ จากบริเวณเข็มขัดซึ่งจะเป็นดาวสามดวงเรียงกัน
“ถ้าดูตรงดาบของนายพราน จะเห็นดาวดวงตรงกลางเล็กๆ ดวงนึง เมื่อดูผ่านกล้องโทรทรรศน์จะมีวัตถุหนึ่งมีลักษณะคล้ายๆ เมฆที่อยู่ในอวกาศ เราเรียกว่า เนบิวลานายพราน”
เสียงฮือฮาเกิดขึ้นตามการเล่าเรื่องของวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ที่วิทยากรบรรยาย กลุ่มดาวถัดไปที่เขาพาสำรวจคือกลุ่มดาวหมาใหญ่ กลุ่มดาวนี้มีดาวที่ชื่อซิริอุสหรือที่คนไทยเรียกว่าดาวโจรอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งนับว่าเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าของเรา
วิทยากรยังพาเราเรียนรู้การดูสีของดาวฤกษ์ซึ่งจะทำให้เราคาดเดาอายุและอุณหภูมิสูงของดาวฤกษ์ได้อย่างคร่าวๆ นั่นคือ หากเป็นดาวที่มีสีออกน้ำเงิน ถือเป็นดาวอายุน้อยที่มีอุณหภูมิสูง ขณะที่ดาวสีเหลืองส้มคือดาวที่อายุมากแล้วและอุณหภูมิที่น้อยลง
การดูดาวยังไล่ต่อไปอีกราวครึ่งชั่วโมง ด้วยตาเปล่าของเรายังสามารถมองเห็นสามเหลี่ยมฤดูหนาว (Winter Triangle) กลุ่มดาววัว กระจุกดาวลูกไก่ กลุ่มดาวสารถี กลุ่มดาวสิงโต ดาวอังคาร และอีกมากมาย
จากนั้น เราก็ไปลองใช้กล้องสองตาที่มีให้เช่าในงาน พลางทวนความรู้เรื่องดาวที่ได้เรียนมา (เมื่อครึ่งชั่วโมงก่อน) ด้วยการส่องไปบนท้องฟ้า ดูกลุ่มดาวต่างๆ ด้วยตาเปล่า ซึ่งพอใช้กล้องสองตาแล้วก็จะเห็นดาวต่างๆ ได้ชัดขึ้น และวัตถุท้องฟ้าบางอย่างที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ก็ปรากฏมาในกล้องสองตานี้ด้วย
เมื่อใช้กล้องสองตาจนหนำใจแล้ว เราก็ไล่เวียนไปส่องดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากหลายขนาดที่อยู่ในงาน ซึ่งกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในงานนี้ คือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 14 นิ้ว เป็นแบบหักเหและสะท้อนแสง ถือเป็นกล้องที่มองวัตถุท้องฟ้าได้ชัดเจนที่สุดในงาน
แม้ว่าผู้คนที่มาร่วมงานจะมีเยอะมาก แต่เราสังเกตว่า ระยะเวลาที่ใช้ในการต่อคิวดูกล้องโทรทรรศน์นั้นไม่นานเลย เพราะจำนวนกล้องสอดคล้องกันผู้คนอย่างพอดิบพอดี ทำให้เราได้เห็นทั้งภาพผู้สูงวัยจูงมือกันมาถ่ายรูปหมู่ดาว แก๊งชาววัยรุ่นที่มารวมตัวกันฟังคำบรรยาย และครอบครัวพ่อแม่ลูกน้อยเฝ้ารอคิวที่จะได้ส่องสายตาเข้าไปในกล้อง ทุกคนต่างสนุกสนานกับกิจกรรมในค่ำคืนนี้
กิจกรรมยังคงดำเนินต่อไปจนเกือบเที่ยงคืน ตลอดทั้งงานเราวนเวียนดูดาวจากกล้องโทรทรรศน์หลากหลายขนาดและรูปแบบ ฟังคำบรรยายจากเจ้าหน้าที่ ครู และนักเรียนในชมรมดาราศาสตร์ของโรงเรียนต่างๆ ที่อาสามาเป็นไกด์ช่วยให้ความรู้เรื่องดวงดาว พร้อมกับได้เห็นวัตถุท้องฟ้าน่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกระจุกดาวรวงผึ้ง กาแล็กซี่แอนโดรเมดา บริวารของดาวพฤหัส และดาวเสาร์
ไม่เพียงเท่านั้น เกร็ดความรู้มากมายเกี่ยวกับดาราศาสตร์ก็กระจายรายล้อมรอบพื้นที่ หันไปทางไหนก็ได้ยินแต่ประเด็นน่าสนใจ อย่างเรื่องที่ดวงจันทร์กำลังถอยห่างจากโลกปีละ 3.82 เซนติเมตร และ 1 วันของเราจะยาวนานขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อ 1,400 ล้านปีก่อน 1 วันบนโลกมีเวลาเพียง 18 ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น
หรือจะเป็นเรื่องที่โลกของเราจะอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะการโคจรของดวงอาทิตย์ และในอนาคตอันยาวไกล พื้นผิวของดาวอังคารจะอุ่นขึ้น น้ำแข็งใต้พื้นผิวของดาวอังคารอาจกลายเป็นทะเลสาบ ซึ่งนำไปสู่ทฤษฎีที่ว่า มนุษย์เราอาจจะได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่บนดาวอังคารแทน
แม้ตอนนี้ พื้นที่ที่ท้องฟ้ามืดจนเข้าข่ายเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดจะยังมีอยู่อย่างกระจัดกระจาย แต่พอเห็นแบบนี้แล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า หากท้องฟ้ายามกลางคืนในหลายพื้นที่มืดลงเสียหน่อย ไม่เพียงแต่สิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นไปด้วยแล้ว การชมดาวก็คงจะกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของผู้คนได้อย่างง่ายดายด้วยเช่นกัน
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก