มีเรื่องติดตลกที่ภาพ UFO เบลอๆ ที่เราเห็นกันตั้งแต่เด็กๆ พอมาถึงตอนนี้มันก็ยังคงเบลออยู่ไม่ยักจะชัดขึ้น ทั้งที่มือถือบางรุ่นส่องดวงจันทร์ได้แล้ว ภาพจานบินเหล่านี้ปรากฏตั้งแต่มนุษย์ค้นพบเทคโนโลยีภาพถ่าย แต่ภาพทั้งหมดล้วนยากจะใช้อ้างอิงในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และไม่สามารถระบุได้ว่านี่คือ สิ่งมีชีวิตมาเยือนจากนอกโลก เพราะ UFO ทั้งหมดก็ยังคงเป็น UFO (unidentified flying object) หรือ ‘วัตถุบินกำหนดเอกลักษณ์ไม่ได้’ ซึ่งไม่สามารถบ่งบอกได้เลยว่าเป็นผลงานของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิ หรือเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ปรากฏบนโลกใบนี้มาก่อน
นี่ทำให้ภาพ UFO ไม่ใช่หลักฐานที่องค์กร NASA ใช้วิเคราะห์เพื่อหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก แต่อย่างไรก็ตาม NASA ยังไม่เคยละทิ้งภารกิจตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกอยู่ดี พวกเขามีทฤษฎีมากมายที่เชื่อว่า เมื่อพวกเรามีโชค เวลา เทคโนโลยี และตำแหน่งที่ต้องการหาได้ครบถ้วน เราอาจพบสิ่งมีชีวิตในดาวดวงอื่นที่ไม่จำเป็นต้องทรงภูมิมากมายหรอก แค่พบเพียงสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวบนดาวอันห่างไกลก็เพียงพอจะสะเทือนรากฐานวิทยาการชีวิตของพวกเราอย่างสิ้นเชิง
เรามาดูกันว่าทฤษฎีอะไรบ้างที่ NASA เชื่อว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์อื่นให้รอการค้นพบ โดยแทบไม่ต้องพึ่งภาพ UFO แถมมีความเป็นไปได้มากกว่าอีก
คุณคือส่วนหนึ่งของจักรวาล
ธาตุในการสร้างชีวิตนั้นอยู่ในจักรวาลและอยู่ในตัวคุณ ทั้ง ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน และคาร์บอน ซึ่งเป็นธาตุพื้นฐานที่สุดในจักรวาล สิ่งมีชีวิตบนโลกนั้นมีธาตุทั้ง 4 เพิ่ม ซัลเฟอร์ ฟอสฟอรัส และธาตุอื่นๆ อย่างละนิดละหน่อยรวมกันราว 26 ธาตุ น่าทึ่งเหลือเกินว่า ธาตุจำนวนเพียงแค่นี้สามารถเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตได้
องค์ประกอบอีกอย่างที่สำคัญคือ ‘น้ำ’ เมื่อมีน้ำ ชีวิตก็สามารถธำรงอยู่ได้ในทุกสภาพอากาศ ทุกสภาพแวดล้อม ซึ่งนอกจากโลกของเรามีน้ำเป็นองค์ประกอบหลักแล้ว น้ำยังปรากฏไปทั่วจักรวาล แต่อยู่ในรูปแบบของน้ำแข็งที่มากกว่าของเหลว
เมื่อมีองค์ประกอบทางด้านเคมีพร้อม ก็อาจยังไม่เกิดสิ่งมีชีวิตได้ในทันที เพราะการเกิดสิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องมีวิวัฒนาการที่คอยผลักดัน หรือก็คือความปั่นป่วนและภัยพิบัติ (catastrophes) ทั้งภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม แผ่นดินไหว การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และฝนอุกกาบาต ความปั่นป่วนเหล่านี้ทำให้โลกเกิดวิวัฒนาการ เพราะหากทุกอย่างอยู่นิ่งกับที่ แบคทีเรียจะไม่มีทางมีวิวัฒนาการจนมีโครงสร้างที่ซับซ้อนได้เลย
ดังนั้นโลกจึงอยู่ในเงื่อนไขที่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดชีวิต องค์ประกอบเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งของจักรวาลได้ไหม
มีดาวดวงใดที่มีเงื่อนไขพร้อมจะเป็นบ่อกำเนิดสรรพชีวิต? จากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่โลกสั่งสมมา เราพบสถานที่น่าสนใจที่น่าจะมีองค์ประกอบ ‘ใกล้เคียง’ เช่น ดวงจันทร์ไททัน (Titan) และเอนเซลาดัส (Enceladus) ของดาวเสาร์ มีน้ำในสถานะของเหลวใต้แผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมผิวดาว บริเวณขั้วใต้ของดาวยังปรากฏภูเขาไฟน้ำแข็ง (Cryovolcano) พ่นอนุภาคน้ำแข็งขนาดเล็กขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งอนุภาคบางส่วนตกกลับสู่พื้นผิวดวงจันทร์ในรูปของหิมะ ส่วนดวงจันทร์ ‘ยูโรป้า (Europa)’ ของดาวพฤหัสบดี มีมหาสมุทรขนาดใหญ่อยู่ใต้เปลือกที่ห่อหุ้มด้วยผิวน้ำแข็งหนา และได้รับความร้อนจากแกนกลาง หรือแม้แต่ดาวอังคาร (Mars) ที่เมื่อพันล้านปีก่อนเคยเป็นดาวที่มีน้ำและชั้นบรรยากาศ ดาวทั้งหมดอยู่ในระบบสุริยะอันใกล้ที่เราสามารถส่งยานสำรวจไปเก็บตัวอย่างแล้วส่งข้อมูลกลับมาถึงโลกได้ โดยอาจใช้เวลาเพียง 7 ปีเป็นอย่างน้อย ปัจจุบันองค์กรสำรวจอวกาศในหลายๆ ประเทศมีโครงการสำรวจดาวเหล่านี้ทั้งหมดใน 20 ปีข้างหน้า อย่างเร็วที่สุด NASA จะส่งยานสำรวจไปโฉบเอาอนุภาคน้ำแข็งของดาวเอนเซลาดัสโดยไม่ต้องลงจอด
และไกลออกไปจากกาแล็กซีของพวกเรา ยังมีดาวแคระแดง ‘กลีเซอ 581 ซี‘ ที่อยู่ในเขตอาศัยได้ (Circumstellar habitable zone) ที่ทุกๆ ปี NASA จะค้นพบดาวดวงใหม่มากมาย ล่าสุดเราพบระบบดาวกลุ่มใหม่ห่างจากเราไปแค่ 40 ปีแสง โดยพบดาวเคราะห์ทั้ง 7 ที่โคจรรอบดาวที่ชื่อว่า ‘TRAPPIST-1’ ซึ่งมีดาว 3 ดวงในวงโคจรที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ร้อนเกินไป ไม่เย็นจนสุดขั้ว คลายคลึงระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ มีแนวโน้มว่าในอนาคตเราจะค้นพบระบบสุริยะที่เป็นฝาแฝดของพวกเราเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี
เป็นไปได้ไหมที่ดาวเหล่านี้จะมีโครงสร้างสิ่งมีชีวิตที่คล้ายแบคทีเรียอาศัยอยู่ แม้มันจะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตทรงภูมิอย่างที่เราคาดหวัง แต่ครั้งหนึ่งโลกของเราเมื่อพันล้านปีก่อนก็ถูกครอบครองไปด้วยแบคทีเรียเช่นกัน แต่ชีวิตก็คือชีวิต แม้ว่าสิ่งที่ค้นหาจะเป็นเพียงแบคทีเรียที่มีองค์ประกอบเซลล์เล็กนิดเดียว แต่มันก็เพียงพอจะตอบคำถามมหัศจรรย์ของการดำรงอยู่ในจักรวาลกว้างใหญ่นี้แล้ว
ดังนั้นภารกิจตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกไม่ใช่แค่นิยายวิทยาศาสตร์ NASA ยังคงศรัทธาว่า เราจะมีโอกาสพบสิ่งมีชีวิตในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอย่างแน่นอน และพวกมันอาจอยู่ในระบบสุริยะเดียวกันกับเรา
ซึ่งในความหมายของชีวดาราศาสตร์ พวกเขาอาจไม่ใช่สิ่งมีชีวิตทรงภูมิที่มากับจานบินมันเงาสีเทา หรือเอเลี่ยนตาโตออกมาโบกมือต้อนรับ แต่ขอเพียงเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ (Multi cellular organisms) หรือ เซลล์เดียว (Single cell organisms) ก็เพียงพอแล้วที่เราจะยืนยันว่า
โลกไม่ใช่ดาวเคราะห์แห่งชีวิตอันเดียวดาย
จุลชีพสายพันธุ์ทรหด
แม้โลกจะเป็นดวงดาวที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตมากที่สุด แต่บางส่วนของโลกก็ยังโหดร้ายทารุณเกินไปที่จะก่อให้เกิดชีวิต ในความขับเคี่ยวที่สาหัสยังคงมีสิ่งมีชีวิตบางจำพวกอาศัย นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกแปลกใจที่ สิ่งมีชีวิตสุดขั้วเหล่านี้ เราเรียกพวกมันว่า ‘เอ็กซ์ตรีโมไฟล์ (Extremophiles)’ เป็นทั้งจุลินทรีย์ (ส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรีย) หรือสิ่งมีชีวิตที่มีร่างกายซับซ้อนมาเป็นตัวๆ เลยก็มี พวกมันทนทานต่อสภาวะเป็นกรด ความร้อนสูง แรงดันใต้มหาสมุทรอันมหาศาล และแม้กระทั่งในภาวะสุญญากาศ โดยไม่ยี่หระต่อความท้าทายใดๆ ของธรรมชาติ
นักวิทยาศาสตร์พบจุลชีพที่ไม่ต้องหายใจด้วยออกซิเจนในปล่องภูเขาไฟใต้ทะเลอันอุดมไปด้วยแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ แคดเมียม สารหนู และตะกั่ว แม้พื้นที่แตกต่างกันอย่างภูเขาสูงเฉียดหลังคาโลกก็พบชีวิตในบ่อน้ำกร่อยบนเทือกเขาแอนดีสอันแปรปรวน และแม้กระทั่งแท่งคริสตัลในถ้ำเม็กซิโกก็ยังเป็นบ้านของจุลินทรีย์ที่มีอายุมากว่า 50,000 ปี ซึ่งนักวิจัยเพิ่งปลุกมันขึ้นมาจากการจำศีลสำเร็จ
ดังนั้นหากความโหดร้ายของสภาพแวดล้อมไม่สามารถยุติชีวิตได้ ก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่ที่เราจะพบสิ่งมีชีวิตในโลกอื่นด้วย
แม้โลกเรากำลังอยู่ ณ หุบเหวของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 เพราะในอีก 100 ปีข้างหน้า จะมีสิ่งมีชีวิตในโลกจะหายไปราว 50% หากเราไม่เริ่มคิดใหม่ทำใหม่กับทรัพยากรที่มีอยู่ แต่นักวิจัยก็ยังค้นพบสัตว์สปีชีส์ที่หลากหลายกว่าเดิมและสายพันธุ์หายากจากความก้าวหน้าทางพันธุศาสตร์ มีหลักฐานการค้นพบฟอสซิลในแอฟริกาใต้ พบแบคทีเรียที่มีอายุ 2.5 พันล้านปี หรือก่อนที่โลกจะมีออกซิเจนเสียอีก โดยแบคทีเรียดังกล่าวใช้กำมะถันในการดำรงชีวิต ยิ่งสร้างความหวังว่า อาจมีบางชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาออกซิเจน หรือแม้กระทั่งน้ำในการดำรงชีวิตเลยด้วยซ้ำ
Biosignatures ช่วยระบุว่าดาวไหนมีบรรยากาศที่น่าจะมีชีวิต
อีกหนึ่งเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้ NASA ค้นหาดาวที่มีศักยภาพสูงต่อการเอื้อชีวิต เราอาจต้องการโมเดลเป็นแกนในการค้นหาจากดาวนับพันล้านดวง ชั้นบรรยากาศ (Atmospheres) จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมบนผืนดาวให้เอื้อต่อการธำรงชีวิต นั้นคือการใช้ฐานข้อมูล Biosignatures เพื่อเป็นพิมพ์เขียว หาองค์ประกอบทางเคมีหลายชนิดบนดวงดาว ซึ่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) สามารถเก็บข้อมูลเหล่านี้ได้ จากนั้นนำข้อมูลองค์ประกอบทางเคมีมาประมวลผลโดยอาศัยจำลอง คัดกรองดาวที่เหมาะสม เพื่อให้พบดาวที่มีชั้นบรรยากาศใกล้เคียงต่อการมีชีวิต นี่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราค้นพบดาวดวงใหม่เร็วขึ้น จนกลายเป็นแคตตาล็อกเล่มหนาๆ ที่จักรวาลเราเต็มไปด้วยดาวที่มีศักยภาพแทบทั้งหมด
การค้นพบสิ่งมีชีวิตในมิติของ NASA จึงไม่ได้ต้องการตามหาภาพถ่าย UFO ชัดๆ แต่การหาหลักฐานอัตลักษณ์สำคัญของสิ่งมีชีวิต ซึ่งต้องอาศัยเวลา เทคโนโลยี และโชค ถึงจะทำให้เราค้นพบชีวิตใหม่อันเป็นการค้นพบสำคัญของมวลมนุษย์
ข้อมูลอ้างอิงจาก