เรารู้ว่าคุณเสียใจกับการจากไปของกอริลล่าหนุ่ม ‘ฮารัมเบ’ (Harambee) ที่ต้องจบชีวิตโดยไม่มีทางเลือกในสวนสัตว์
หลายคนเห็นพฤติกรรมของกอริลล่าที่เหมือนมนุษย์แทบไม่มีผิดจากวิดีโอ มันกำลังจะปกป้องเด็ก? หรือพละกำลังอันมหาศาลของมันอาจหักกระดูกอันเปราะบางของทารกให้เป็นผุยผง? (กอริลล่ามีพลังกำลัง 10เท่า จากน้ำหนักตัวแน่ะ) ท่ามกลางวิกฤตชีวิตของสองเผ่าพันธุ์ที่มีความตายเป็นเดิมพัน เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์จะเลือกปกป้องชีวิตของเผ่าพันธุ์เดียวกันและสังหารสิ่งที่เป็นภัยมากกว่า แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นความบกพร่องจากฝีมือมนุษย์ล้วนๆ ที่ชวนตั้งคำถามถึงระบบรักษาความปลอดภัย ความประมาทของผู้ชม จนลามไปถึงการตั้งคำถามว่า “ทำไมต้องมีสวนสัตว์” ที่ต้องอภิปรายกันนอกรอบอีกหลายตลบ…
แต่ถ้า The MATTER จะพาคุณไปสำรวจรูปแบบสังคมของเพื่อนวานร คุณจะสนใจไหมล่ะ?
พวกลิงบริหารจัดการสังคมซึ่งแตกต่างกับมนุษย์อยู่นะ พวกมันแบ่งสรรอำนาจอย่างไร และไม่จำเป็นที่เพศชายจะเป็นใหญ่เสมอไป เพราะลิงเมียๆ ก็บริหารความสัมพันธ์ในสังคมได้ดีไม่แพ้กัน!
กิ่งก้านสาขาของวิวัฒนาการกลุ่มไพรเมต (primate) หรืออันดับ “วานร” ซึ่งถือเป็นกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีพัฒนาการสูงสุด เมื่อวิเคราะห์ผล DNA ทำให้เราทราบว่า มนุษย์แยกสายวิวัฒนาการมาจาก ชิมแปนซีและโบโนโบ เมื่อ 8 ล้านปีที่แล้ว โดยมนุษย์มีพันธุกรรมคล้ายคลึงกับลิงเหล่านี้ถึง 98% ในขณะที่กอริลล่าก็แยกสายวิวัฒนาการจากเราไปเมื่อ 10 ล้านปีก่อนเช่นกัน
มนุษย์ (Human)
สังคมมนุษย์มีความหลายหลายที่สุดในกลุ่มไพรเมท พวกเรามีโครงข่ายสายใยอันซับซ้อนและมีความผูกพันทางสังคมที่แน่นแฟ้น (เส้นสีฟ้า) ผู้ชายสามารถทำงานร่วมกันได้ดี และผู้หญิงก็ผูกพันกับเพศเดียวกันได้ ความหลากหลายทางความสัมพันธ์ทำให้สังคมมนุษย์เป็นปึกแผ่น (และฉิบหายวุ่นวายในเวลาเดียวกัน) ดังนั้นการมีคู่เพียงคนเดียว (Monogamy) ผัวเดียวหลายเมีย (Polygyny) หรือเมียเดียวหลายผัว (Polyandry) ก็ล้วนเป็นเรื่องปกติในสังคมมนุษย์
ชิมแปนซี (Chimpanzee)
สังคมชิมแปนซีเป็นสังคมที่บีบคั้นสูง มีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา ทั้งภายในฝูงเองและฝูงคู่อริ ชิมแปนซีจึงต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพศผู้ด้วยกันให้แน่นแฟ้นเพื่อทำงานเป็นทีมในการออกล่า โดยตัวผู้จะแชร์อาณาเขตร่วมกัน ส่วนตัวเมียมีบทบาทน้อย และไม่สร้างความสัมพันธ์กันเองมากนัก เมื่อตัวเมียโตเป็นสาว มันจะออกจากกลุ่มไปใช้ชีวิตในป่าแบบสันโดษ แต่ชิมแปนซีเพศเมียก็ขึ้นชื่อเรื่องมีความเป็นแม่สูง มันจะเลี้ยงดูลูกจนโต ( 7 ปี) และใช้เวลาร่วมกันมาก
ชะนี (Gibbon)
ชะนีเป็นวานรสุดสันโดษ พวกมันรักเดียวใจเดียวและมีลูกหลานไม่เกิน 4 ตัว โดยแต่ละคู่จะมีอาณาเขตปกครองที่ห่างไกลจากคู่อื่นๆ แม้มีรายงานการพบเห็นเพศผู้อยู่กันเป็นฝูง (แต่น้อยมากหากอยู่ตามธรรมชาติ) และไม่มีเพศไหนเป็นใหญ่ ลูกชะนีจะติดแม่ของมันมากแทบจะไม่ออกห่าง พวกค้าสัตว์ป่าจึงมักจะจัดการตัวแม่ก่อนถึงจะได้ตัวลูก
อุรังอุตัง (Orangutan)
พวกมันชื่นชอบการอยู่อย่างโดดเดี่ยวอินดี้และสร้างความสัมพันธ์ในฝูงน้อย ตัวผู้จะไม่ถูกกับตัวผู้ด้วยกัน เมื่อถึงช่วงเวลาโตเต็มวัย อุรังอุตังจะสร้างอาณาเขตขนาดมหึมาโดยมีตัวเมียหลายตัวอยู่ในอาณัติเสมือน ‘ฮาเร็ม’ และตัวเมียแต่ละตัวก็ยังมีอาณาเขตแยกย่อยของตัวเองอีก อย่ามายุ่งน่า…ชิ้วๆ
โบโนโบ (Bonobo)
สังคมลิงโบโนโบช่างสงบร่มเย็น ตัวเมียจะมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และสามารถมีผัวได้หลายตัว โดยไม่จำเป็นต้องตบตี ซึ่งความเป็นไปในสังคมจะถูกกำหนดโดยตัวเมียหลายตัว ส่วนตัวผู้จะมีความสำคัญได้ต้องขึ้นอยู่กับสถานะของแม่ที่ให้กำเนิดมัน โบโนโบโดดเด่นโดยการใช้เซ็กซ์เข้าแก้ข้อพิพาท (MAKE LOVE NOT WAR) และเป็นวานรวงศ์เดียวที่มีเพศสัมพันธ์โดยหันหน้าชนกัน ‘Missionary’ คล้ายมนุษย์ที่สุด แม้โบโนโบจะถูกกระตุ้นทางเพศได้ง่าย แต่จำนวนประชากรในฝูงมักคงที่
กอริลล่า (Gorilla)
สังคมของกอริลล่านั้นเพศผู้เป็นใหญ่แบบชัดเจน มันเป็นผู้ตัดสินทิศทางทุกอย่าง ตั้งแต่กินที่ไหน นอนที่ไหน และแก้ไขข้อพิพาทในฝูง กอริลล่ามีสังคมแบบผัวเดียวหลายเมีย แต่มันจะพยายามบริหารความสัมพันธ์ของเหล่าเมียๆอย่างเข้าถึง ตัวเมียในฝูงจะมีระดับชั้นวรรณะอีกที (คล้ายเมียหลวง-เมียน้อย) แต่เมื่อมีภัยใกล้ตัว ตัวเมียก็สามารถผนึกกำลังกันร่วมต่อสู้ได้ ทั้งนี้การสูญเสียหัวหน้าฝูงเพศผู้คือหายนะ ตำแหน่งจ่าฝูงจึงเป็นที่หมายปองของกอริลล่าหนุ่มเกเรกลัดมัน ทำให้กอริลล่าผู้นำต้องมีพละกำลังเป็นทุนเดิมถึงจะสามารถขับเคลื่อนฝูงได้
พฤติกรรมทางสังคมเหล่านี้จะชัดเจนเมื่อเหล่าวานรอยู่หากินตามธรรมชาติ สังคมลิงจึงมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันด้วยสายใยแห่งครอบครัว เพราะการเอาตัวรอดในโลกเบี้ยวๆ บวมๆ ใบนี้ ต้องอาศัยผัวคุณ เมียคุณ เพื่อนคุณ และลูกที่น่ารักของคุณ เราในฐานะมนุษย์หากไม่ทำความเข้าใจธรรมชาติเลย เราก็มีแต่จะทำผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก
ไหนๆ มนุษย์ก็พรากลิงออกจากสังคมตามธรรมชาติ ดังนั้นหน้าที่พวกเราคือยิ่งต้องเข้าใจและดูแลพวกมันให้ดีที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก
Peacemaking among Primates : Frans B. M. de Waal