เวลาเรานึกถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ ป่า หรือพื้นที่อนุรักษ์ สิ่งที่แฝงอยู่ในแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ คือ พื้นที่บางแห่งในธรรมชาติที่สงวนหรือรักษาไว้ แล้วการเก็บรักษานี่แหละที่มนุษย์ไปสร้างเขตแดนขึ้นมา แล้วเขตแดนเหล่านั้นก็จะกลายเป็นพื้นที่ของธรรมชาติและไม่มีมนุษย์เข้าไปกล้ำกราย
มันเลยมีข่าวประเภทตากับยายเข้าไปเก็บเห็ดเลยโดนจับ ล่าสุดชาวกะเหรี่ยงถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ไฟเผาบ้าน เพราะบ้านไปสร้างไว้ในพื้นที่ป่า
แน่ล่ะ มนุษย์เราโดยเฉพาะมนุษย์สมัยใหม่ที่สร้างเมือง สร้างอารยธรรม สร้างอุตสาหกรรมขึ้นมา ซึ่งก็มนุษย์ที่นั่งหน้าคอมแบบเราๆ นี่แหละที่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติ แล้วมนุษย์แบบเดียวกันนี่แหละที่เห็นว่าเฮ้ย พวกเรามันห่วย เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เราต้องหันกลับมาเอาธรรมชาติทั้งปวงเป็นศูนย์กลางแล้วนะ
แต่มันกลายเป็นว่า นอกจากคนเมืองแบบเราๆ ในโลกนี้ยังมีคนแบบอื่นๆ อีก
คำถามคือคนเหล่านี้จะอยู่ตรงไหนในธรรมชาติ?
Deep Ecology การอนุรักษ์ก็ดี แต่บางทีก็มีปัญหา
ไม่มีอะไรในโลกที่ดีไปซะทุกอย่าง การอนุรักษ์ที่ว่าดีมันก็มีปัญหาต้องขบคิดเหมือนกัน แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สำคัญอันหนึ่งเรียกว่า deep ecology แปลเป็นไทยได้ประมาณว่าการอนุรักษ์แบบลึก การอนุรักษ์แบบลึกซึ้งนี้จุดกระแสโดยนักปรัชญาชาวนอร์เวย์ชื่อ Arne Næss ประเด็นสำคัญคือการบอกว่าเฮ้ย มนุษย์ไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาลนะโว้ย ต้องย้ายความสำคัญไปที่ธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับธรรมชาติในฐานะระบบนิเวศ มนุษย์อย่างเราต้องพยายามแตะต้องธรรมชาติให้น้อย และเลิกทำลายธรรมชาติ
อ่านแล้วก็แบบ อ้าวก็ดีนี่นา ควรทำเนอะ เพราะว่าอารยธรรมนุษย์เราได้ทิ้งร่องรอยไว้ในธรรมชาติจริงๆ
คือนักปรัชญาเขาก็เป็นแบบนี้ ชอบครุ่นคิดถกเถียง ต่อมาก็เริ่มมีการวิพากษ์ว่า เฮ้ย มึงบอกว่ามัน deep เนี่ย แล้วมันดีกว่าอีกด้านที่มึงหาว่ากลวง (shallow) ที่เป็นแนวคิดปรัญชาแบบที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีกว่าตรงไหนหรอ นักคิดบางคนเช่น Warwick Fox ก็ลุกขึ้นมาแล้วบอกว่า พวกนักอนุรักษ์สายลึกซึ้งนี่นะ บางทีก็ต้องระวังเพราะว่าจะมีความคิดแบบที่เกลียดชังมนุษย์ไป หลายเสียงก็บอกว่าแนวคิดแบบที่ว่า มันมาจากโลกตะวันตกผิวขาวเป็นหลัก ถ้าเอาไปใช้กับชนกลุ่มอื่นๆ ก็จะมีปัญหา
การอนุรักษ์มันมีมิติของจินตนาการของมัน คือการที่เราจินตนาการถึงพื้นที่ธรรมชาติขึ้นมา การสร้างพื้นที่ธรรมชาติในลักษณะที่แยกออกและเป็นคู่ตรงข้ามกับเมืองมันเกิดขึ้นในราวๆ ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นยุคที่คนใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ อยู่ไปนานๆ ก็อึดอัด เลยต้องออกไปสู่ธรรมชาติในฐานะพื้นที่อื่นๆ คล้ายๆ กับการที่เราไปป่าไปเขาเพื่อไปพักผ่อน ไปชมความงามของธรรมชาติ
แนวคิดประเภทนี้พบได้ตามงานเขียนโรแมนติก คือมนุษย์ได้ออกจากเมืองใหญ่ที่ยุ่งเหยิงและเลอะเทอะ กลับไปสู่ธรรมชาติที่บริสุทธิ์และสงบงาม
รักษาอะไร? ไว้ให้ใคร?
ประเด็นคือการวาดภาพธรรมชาติของเรามันเหมือนวาดโดยศูนย์กลาง วาดโดยคนเมือง เพื่อคนเมือง จินตนาการของพื้นที่ธรรมชาติเลยเป็นพื้นที่หนึ่งของประเทศ ที่ถูกรักษาไว้เพื่อบางอย่างอันเป็นประโยชน์กับคนในชาติ เช่น เป็นแหล่งทรัพยากร เป็นแหล่งความรู้ แหล่งท่องเที่ยวที่ให้ความรื่นรมย์ที่เราควรอนุรักษ์เก็บไว้ให้กับลูกหลาน
เวลาที่เรานึกถึงสิ่งที่ต้องรักษาไว้ มันก็มีปัญหาอยู่บ้าง เพราะคำว่าธรรมชาติเราเลยนึกถึงทุกสิ่งยกเว้นมนุษย์ เรานึกถึงเสือ แพนด้า ต้นไม้อายุยืนยาว เรานึกภาพนิเวศหรือ ecology คล้ายกับที่เรานึกถึกป่า สิ่งมีชีวิตหลายส่วนเกื้อกูลกัน เราเรียกมันรวมๆ ว่าธรรมชาติ และเป็นสิ่งที่ต้องอนุรักษ์
แต่ในองค์ประกอบของนิเวศนั้น กลับไม่มีมนุษย์อยู่ภายในจินตนาการของเราเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่มนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเหมือนกัน
เพราะจินตนาการเรื่องธรรมชาติ เป็นจินตนาการจากคนที่เป็นคนเมือง ‘คน’ จึงไม่ได้อยู่ในพื้นที่ธรรมชาติแต่อยู่ในพื้นที่เมือง ปัญหามันเลยเกิด เพราะว่าในโลกยังมีคนที่อยู่ในธรรมชาติ ซึ่งเราอาจไม่เคยจินตนาการถึง
การอนุรักษ์เป็นเรื่องดี แต่ต้องมีพื้นที่ที่หลากหลาย
การถอนคนออกจากธรรมชาติ คงไม่ใช่เรื่องถูกต้อง เพราะคนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
ถึงพวกเขาอาจจะเป็นส่วนน้อยของคนทั้งหมด
แต่เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา