ช่วงนี้ไปไหนมาไหน ก็เจอ 9.9 ตัวใหญ่ๆ เต็มไปหมด ไม่ว่าจะบนหน้าฟีด หน้าจอ รถไฟฟ้า หรือบิลบอร์ดตามถนน เปิดเว็บเปิดแอพฯ มาก็เจอแต่โปรถูกใจ ของมันต้องมีต้องใช้ทั้งนั้น ‘โปรโมชั่น’ เดี๋ยวนี้เหมือนคิดมาเพื่อเราและเข้าถึงง่าย จนบางทีก็งงใจว่าอะไรคือราคาที่เราได้จ่ายไป จนแบรนด์หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ยอมทำเพื่อเอาใจเราขนาดนี้?
‘ข้อมูลส่วนตัว’ คือราคาที่เราได้จ่ายพวกเขาไปโดยไม่รู้ตัว (หรือรู้ ก็อาจจะไม่ได้สนใจนัก) ทุกๆ โพสต์สาธารณะบน Social Media ทุกๆ ตัวอักษรที่พิมพ์ลงบน Search Engine ทุกๆ การกดลิงก์กดปุ่ม หรือประวัติการดูหรือซื้อของต่างๆ ล้วนมีค่าและมีมูลค่าในการขับเคลื่อนธุรกิจบนโลกออนไลน์ ทำให้แบรนด์หรือแพลตฟอร์มต่างๆ สร้างและส่งแคมเปญหรือโปรโมชั่นโดนใจ จนนิ้วลั่นกดซื้อกันได้ทุกวัน (แทบจะสนิทกับคนส่งของอยู่แล้ว) คิดดูว่าเฟื่องฟูขนาดที่เกิดศัพท์บัญญัติบน NYTimes ว่า ‘Promoconomy’ หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้ด้วยโปรโมชั่น
คำถามคือ.. แล้วไม่ดีตรงไหน? ในเมื่อมันก็ดูจะเป็น win-win situation แบรนด์หรือแพลตฟอร์มก็ได้ข้อมูลไปทำการตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เราเองก็ไม่ต้องทนเห็นโฆษณาที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา แถมยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ไปรษณีย์ คนส่งของ ธุรกรรมธนาคาร บลาๆๆ อีกน่ะ
คำตอบสั้นๆ คือ เมื่อเราหวงความเป็นส่วนตัว (Privacy Concern) กันน้อยลง ตัวอย่างของ ‘ความไม่ดี’ นั้นอาจจะลองดูกันได้ในสารคดีอย่าง ‘The Great Hack’ ที่นำเสนอคดีอื้อฉาวแห่งวงการเทคโนโลยีเมื่อปีที่แล้วอย่าง Cambridge Analytica ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 87 ล้านบัญชี และนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หรือจะเป็นกรณีการแอบอ้างตัวตน (Identity Theft) เพื่อผลประโยชน์ด้านการทำธุรกรรม ปลอมแปลงเอกสาร ยักยอกทรัพย์ หรือการล่อลวงบางอย่าง ซึ่งนำพาผลเสียที่สุดจะคาดเดา
แม้ผลเสียร้ายแรงอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในวันที่เรากด Next หรือ Accept ไป แต่งานวิจัยของ โจเซฟ ทูโรว์ (Joseph Turow) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Marketing & Digital Privacy ประจำ University of Pennsylvania ก็พบว่า การยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อแลกกับโปรโมชั่นหรือข้อเสนอที่โดนใจ เป็นกิจกรรมที่สร้างพฤติกรรมหรือลักษณะนิสัยที่น่ากลัว เพราะเมื่อเรายอมให้ข้อมูลครั้งหนึ่งแล้วเกิดความพึงพอใจ ก็มีแนวโน้มที่เรายินดีจะให้อีกเรื่อยๆ
และถ้ายอมแลกเพื่อโปรโมชั่นได้ ก็มีแนวโน้มที่เราจะให้
ข้อมูลกับองค์กรต่างๆ หรือรัฐบาลได้ เพื่อผลประโยชน์ด้านอื่น
ว่ากันตามตรง การยินยอมให้ข้อมูลเพื่อสิทธิประโยชน์หรือโปรโมชั่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากเรายังจำวันที่เรายอมกรอกอีเมลหรือเบอร์โทรเพื่อรับเสื้อยืด ร่ม หรือกระติกน้ำจากบูธที่มาเปิดตามห้างหรือคอนเสิร์ตกันได้ เพียงแต่โลกออนไลน์ทำให้ทุกอย่างง่ายดายและอ่อนไหวขึ้น หากใครบางคนต้องการปลอมเป็นเรา หรือใช้ประโยชน์จากอัตลักษณ์บุคคลของเรา เพียงแค่สามารถค้นหาข้อมูลส่วนตัวของเราที่ปลิวว่อนอยู่ในโลกออนไลน์แล้วนำมารวมกันได้ ก็สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างง่ายดาย
พฤติกรรมของคนไทย ก็ดูเหมือนจะยิ่งเอื้อให้เกิดรูปการณ์แบบนี้ จากรายงาน ‘Financial Services Consumer Study 2019’ ของ Accenture ที่ทำการสำรวจผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่าง 47,000 คนใน 28 ประเทศ พบว่าผู้บริโภคในประเทศไทย 74% ยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ เช่น ข้อมูลด้าน location และข้อมูลเชิงลึกด้าน lifestyle กับธนาคารและบริษัทประกันที่ใช้บริการอยู่ ด้วยหวังจะได้การบริการพิเศษ โปรโมชั่นพิเศษ หรือส่วนลดพิเศษ ซึ่งความหวงความเป็นส่วนตัวก็ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับจีนที่ยินยอม 67% สหรัฐอเมริกา 50% ออสเตรเลีย 42% สหราชอาณาจักร 40% หรือเยอรมนีที่ยินยอมเพียง 40%
ข้อมูลอีกส่วนจากรายงาน ‘ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2561’ ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDTA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าการซื้อของออนไลน์กลายเป็นพฤติกรรมยอดฮิตติด 1 ใน 5 ของคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตมา 2 ปีติดต่อกันแล้ว และมีแนวโน้มที่น่ากังวลว่าข้อมูลส่วนบุคคลอาจถูกละเมิดมากข้ึน โดยข้อมูลในปีพ.ศ. 2561 ระบุว่า 51.28% ของคนไทย ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ขณะที่มีเพียง 11.4% เท่านั้น ที่ตระหนักและกังวลเรื่องการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
รายงานยังได้ทำการสำรวจกิจกรรมที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเคยให้ข้อมูลส่วนตัว พบว่า 71.3% ให้ข้อมูลสำหรับสมัครใช้บริการทางการเงิน เช่น Internet Banking, Mobile Banking, Promptpay หรือ e-Wallet รองลงมาคือ 58.4% ให้ข้อมูลเพื่อรับบริการทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ตรวจสอบประวัติการใช้โทรศัพท์หรือการซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ อีก 32.3% เคยให้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อรับบริการจากภาครัฐ เช่น การเสียภาษีออนไลน์ หรือการจดทะเบียนนิติบุคคล
ส่วนกิจกรรมที่นับว่ามีความเสี่ยงสูงในการให้ข้อมูลส่วนตัว
คือการสมัครใช้ Social Media 50.1%
การลุ้นรับรางวัล/ของสมนาคุณ 28.3%
และการทดลองใช้บริการฟรี 26.3%
แม้ในทางปฏิบัติ จะมีกฎหมายที่กำหนดกลไกขึ้นมาทำหน้าที่คุ้มครองการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในทางที่ผิด อย่างเช่นมาตรการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปในชื่อ ‘General Data Protection Regulation (GDPR)’ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปีที่ผ่านมา ทำให้หลายๆ องค์กรในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคธุรกิจพยายามยกระดับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล หรือในส่วนประเทศไทยเองที่เพิ่งออก ‘พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562’ ซึ่งดูจะมีข้อยกเว้นมากมาย จนไม่แน่ใจว่าจะคุ้มครองเราได้ไหม แต่สำคัญที่สุดในการปกป้องข้อมูลอันเป็นสมบัติส่วนตัว ก็คงต้องเป็นเราเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างการ log out, การเก็บรักษา password, การสังเกต https://, การอัพโหลดรูปต่างๆ แบบสาธารณะ ไปจนถึงการอ่านข้อตกลงในการเข้าถึงหรือเผยแพร่ข้อมูล ก่อนจะกด Next หรือ Accept เพื่อไม่ให้ใครมาละเมิดความเป็นส่วนตัวได้อย่างง่ายดาย
ในส่วนของโลกธุรกิจ เชื่อว่า Promoconomy ยังคงจะดำเนินต่อไปและเฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนข้อมูลที่ไหลเข้าสู่โลกออนไลน์ ลาร์รี่ โทมัส (Larry Thomas) กรรมการผู้จัดการของ Accenture ยังบอกเลยว่า โลกของโปรโมชั่นในอนาคตจะ ‘เรียลไทม์’ กว่านี้ โดยมี Google และ Facebook เป็นตัวช่วย เช่นเมื่อคุณเคยซื้อแชมพูร้านนี้ แล้วแบรนด์รู้ว่าคุณมีสภาพเส้นผมแบบไหน หากวันนี้ฝนตก คุณจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับเส้นผมของคุณทันที แต่นั่นแหละ เแบรนด์หรือแพลตฟอร์มเองก็อาจจะต้อง ‘concern the privacy concern’ และเผชิญกับข้อจำกัดที่มากขึ้น เพื่อไม่ให้จะต้องเจอกับบทเรียนราคาแพง (มาก) อย่างหลายๆ กรณีที่เห็นกันมา
เราต่างก็พูดกันว่าข้อมูลเป็นสิ่งมีค่า เปรียบเหมือนน้ำมัน เหมือนทองคำ เราจึงอาจจะต้องทบทวนโดยเริ่มจาก ‘ข้อมูลส่วนตัว’ กันให้ดีว่า มันคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้มาแค่ไหน
อ้างอิงข้อมูลจาก