พอไม่ได้ไปโรงเรียน หน้าตาห้องเรียนของแต่ละคนเป็นอย่างไร? นั่งเรียนบนเก้าอี้ หรือนอนแผ่อยู่บนเตียง? มีการบ้านต้องทำเหมือนเดิมไหม หรือเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อน? .. เรียนทางไกลกันมาสักพักแล้ว รู้สึกยังไงกันบ้าง?
เมื่อโรคระบาด ทำให้เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน ระบบการเรียนทางไกล จึงถูกนำมาใช้ในช่วงที่เราต้องรักษาระยะห่างทางกายภาพกัน แต่คำถามที่ตามมาก็คือ การเรียนทางไกลนานๆ จะส่งผลอย่างไรต่อเด็กๆ บ้าง?
เมื่อการเรียนจากที่บ้าน ทำให้เด็กเหนื่อยล้าเป็นพิเศษ
ในช่วงที่ต้อง study from home ห้องเรียนของเด็กๆ ก็กลายเป็นช่องสี่เหลี่ยมแบบ 2 มิติ ที่มีผู้คนและฉากหลักปรากฏอยู่บนจอแตกต่างกันออกไป
นี่คือการเรียนผ่านระบบวิดีโอคอล ซึ่งจะทำให้ครูและนักเรียน สามารถสื่อสารและมองเห็นกันได้ ผ่านโปรแกรมสนทนาต่างๆ มากมาย อย่าง Zoom และ Hangout โดยสามารถเข้าใช้งานได้ ผ่านคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอื่นๆ อีกมามาย
แสดงว่า แค่เปิดอุปกรณ์เหล่านี้ ก็เข้าเรียนได้ง่ายๆ เลยรึเปล่านะ?
วิธีการเรียนแบบนี้อาจจะดูสะดวกสบาย แต่เหล่าผู้เชี่ยวชาญกลับบอกว่า การสนทนาผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการประชุมงาน ทำให้เราอ่อนล้ามากกว่าปกติ เพราะการสื่อสารผ่านวิดีโอคอลทำให้เราต้องใช้สมาธิสูงกว่าการพูดคุยแบบเห็นหน้าเห็นตากัน
หลายคนอาจไม่รู้ตัวว่า จริงๆ แล้ว เวลาเราสื่อสารกันนั้น เราไม่ได้ฟังแค่เสียงสนทนาของอีกฝ่ายเท่านั้น แต่เรายังมองสีหน้า และสังเกตท่าทางของอีกฝ่ายอีกด้วย ซึ่งการพูดคุยผ่านระบบออนไลน์เหล่านี้ ก็ทำให้เราอ่านภาษากายของคนอื่นๆ ได้ยากขึ้น เพราะเราต้องพึ่งพาคุณภาพของวิดีโอที่สูง และอินเทอร์เน็ตระดับที่มีความแรงมากพอสมควร จึงจะมองเห็นหน้าผู้สนทนาได้อย่างชัดเจน ซึ่งแปลว่า เราต้องใช้พลังในการรับสาร เพิ่มขึ้นอย่างมากเลยทีเดียว
“ฉันเหนื่อยมากๆ – มันเหมือนเราต้องใช้ ‘อารมณ์’ มาช่วยในการสนทนามากขึ้น เพราะเราเป็นเพียงแค่กล่องเล็กๆ ที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอเท่านั้น”
คำกล่าวจาก โจดี้ ไอเคลอร์-ลาวีน (Jodi Eichler-Levine) คุณครูผู้ประสบกับความเหนื่อยล้า จากการสอนผ่านทาง Zoom จนเผลอหลับไปทันทีที่สอนเด็กๆ เสร็จ และหลับลึกกว่าเวลาปกติที่เธอสอนนักเรียนในห้องเรียน โดยเธอเล่าว่า เธอไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อนเลย
นอกจากนี้ ความเงียบที่เกิดขึ้นมาระหว่างการวิดีโอคอลยังสร้างแรงกดดันให้เรามากกว่าความเงียบในห้องเรียนธรรมดาอีกด้วย
“ความเงียบทำให้เกิด ‘จังหวะธรรมชาติ’ ในบทสนทนาในชีวิตจริง แต่ถ้ามันเกิดขึ้นระหว่างการคุยแบบวิดีโอคอล คุณจะรู้สึกกังวลกับเทคโนโลยีที่ใช้ และทำให้ผู้คนรู้สึกอึดอัด” จาเปียโร แพทริลิเอริ (Gianpiero Petriglieri) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ศึกษาค้นคว้าด้านการเรียนรู้แบบยั่งยืนกล่าว
ขณะเดียวกัน ก็มีงานวิจัยที่ระบุว่า ความล่าช้าหรือความเงียบทางโทรศัพท์หรือการวิดีโอคอลทำให้เรามองคนในแง่ลบมากกว่าเดิม และรู้สึกอึดอัดกันมากกว่าปกติ แม้จะล้าช้าไปเพียงแค่ 1.2 วินาทีก็ตาม
อีกทั้ง มาริสซา ชัฟเฟลอร์ (Marissa Shuffler) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก Clemson University เล่าว่า เมื่อเราอยู่ต่อหน้ากล้อง เราอาจจะเกร็งหรือกดดันขึ้นมาแบบไม่รู้ตัวก็เป็นได้ เพราะเรารับรู้ว่า ทุกคนมองเห็นเรา เปรียบเหมือนการยืนอยู่บนเวที ในตอนที่ต้องเตรียมตัวขึ้นแสดง ซึ่งจะมีแรงกดดันพุ่งตรงมาหาเรา
เมื่อมีแรงกดดันมาก เราก็จะยิ่งเหนื่อยล้ากว่าปกติ โดยปรากฎการณ์นี้ มีชื่อเรียกว่า ‘Zoom Fatigue’ ซึ่ง ลินดา เคย์ (Linda Kaye) นักจิตวิทยาจาก UK’s Edge Hill University เล่าว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เรามองเห็นตัวเองอยู่บนหน้าจอ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เราก็อยากจะเสนอภาพลักษณ์ที่ดีต่อหน้าเพื่อนๆ ของเราอยู่แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นเรื่องยากมากๆ ที่เราจะไม่มองหน้าตัวเองบนหน้าจอ รวมไปถึง เรามักจะตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าเราอยู่หน้ากล้อง ซึ่งจะทำให้เราแอบคิดอยู่เสมอว่า ต้องทำท่าทางยังไง และควรวางตัวแบบไหน
“การวิดีโอคอลคุย โดยเฉพาะในกลุ่มใหญ่ มันเหมือนเรากำลังดูทีวี แล้วทีวีก็กำลังดูเราอยู่เหมือนกัน”
แพทริลิเอริ กล่าวด้วยว่า การสนทนาผ่านทางวิดีโอคอลเป็นสิ่งที่เตือนให้เราระลึกถึงคนที่เราสูญเสียไปชั่วคราว มันสร้างความทุกข์ใจทุกครั้งที่คุณเห็นคนอื่นๆ อย่าง เพื่อนร่วมงาน ร่วมห้อง ผ่านทางออนไลน์ และยังทำให้รู้สึกว่า เราควรจะอยู่ด้วยกันจริงๆ ในสถานที่เดียวกัน
“ทุกคนเหนื่อยกันหมด ไม่สำคัญว่าพวกเขาจะเป็น introverts หรือ extroverts เรากำลังประสบกับการหยุดชะงักของบริบทที่เราคุ้นเคยไป ในช่วงของการระบาดใหญ่ (pandemic)”
แล้วจะทำยังไงไม่ให้เราเกิดอาการ Zoom Fatigue ล่ะ?
จริงๆ แล้ว อาการเหล่านี้อาจหายไปได้ เมื่อเราเรียนรู้ที่จะจัดการกับความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นในจิตใจจากการวิดีโอคอลได้
แต่ถ้าเรายังรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่ โคลด์ นอร์แมน (Claude Normand) นักวิจัยจาก University of Québec Outaouais’s ก็แนะนำว่า เราควรปิดกล้องไปเสีย เพื่อเก็บพลังงานไว้ใช้กับการสื่อสารที่สำคัญๆ หรือหัวข้อที่เราคิดว่า จำเป็นจะต้องสังเกตสีหน้าท่าทางของผู้สอนหรือผู้สนทนาดีกว่า
พัฒนาการของเด็กกับการเรียนทางไกล
ก่อนหน้าที่เหล่านักเรียนจะเริ่มเรียนออนไลน์ พวกเขาห่างหายจากห้องเรียนไปเป็นเวลานานมากๆ จนอาจเป็นไปได้ว่า ความรู้ที่พวกเขารับมาในเทอมก่อนๆ นั้น ถูกคืนกลับสู่คุณครูไปหมดแล้ว
อาการคืนความรู้สู่ครูนี้ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘ปรากฏการณ์ Summer Slide’ โดยเกิดขึ้นเมื่อเด็กๆ หยุดเรียนไปเป็นเวลานาน เหมือนอย่างช่วงปิดเทอมใหญ่ที่ตรงกับหน้าร้อนพอดิบพอดี ซึ่งอาจทำให้ความรู้ที่เด็กๆ รับมานั้น หยุดชะงักหรือถดถอยลงไปได้
โดยปกติแล้ว เมื่อเด็กๆ หยุดเรียนในช่วงปิดเทอม พวกเขาก็เผชิญภาวะนี้อยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์ที่ COVID-19 แพร่ระบาดไปทั่ว ปรากฏการณ์นี้ก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม เพราะพวกเขาต้องห่างหายจากการเรียนในห้องเรียนไปนานมากกว่าเดิม
แล้วถ้ามาเรียนทางไกล หรือเรียนออนไลน์แทนล่ะ จะช่วยยับยั้งปรากฏการณ์นี้ได้หรือเปล่า?
จอห์น คิง จูเนียร์ (John King Jr.) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐฯ ในสมัยของ บารัค โอบามา บอกว่า ต่อให้มีการเรียนการสอนทางไกล ก็ยังมีความกังวลว่า เด็กๆ จะสูญเสียความรู้บางส่วนไปด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ภาพที่เราเห็นจากการทดลองเรียนทางไกล ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น คือเหล่าเด็กน้อยทั้งหลายที่ฟุบหลับไปหน้าจอทีวีหรือคอมพิวเตอร์ หรือบางคนก็หันไปทำกิจกรรมอื่น แทนการเรียนทางไกลที่กระทรวงศึกษาธิการวางแนวทางเอาไว้
อย่างกรณีของคุณแม่คนหนึ่งที่คอยดูแลลูกน้อยวัย 10 ปี ซึ่งต้องเรียนทางไกลในช่วงนี้ ก็เล่าให้ฟังว่า
“พอให้ลูกเรียนออนไลน์นานๆ เด็กเขาก็สนใจเรียนกันไม่นานหรอก เพราะเขาไม่ค่อยมีสมาธิ แล้ววัยเขาก็ไม่เหมาะกับการเรียนผ่านจอเป็นเวลานานๆ”
สำหรับเด็กยังไม่โตมากนั้น จำเป็นจะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ปกครองเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะให้ช่วยเปิดอุปกรณ์ ล็อกอินเข้าแอพพลิเคชั่น อ่านคำแนะนำการใช้งาน การคลิกและพิมพ์คำตอบ รวมไปถึง การช่วยให้เด็กๆ จดจ่ออยู่กับงานที่ได้รับมอบหมายด้วย
การเพ่งสมาธิให้มากกว่าเดิม การใช้เวลาเรียนเท่ากับการเรียนในห้องในช่วงที่ต้องเรียนทางไกล และ การแบกรับความเหนื่อยล้าที่สะสมมาจากการเรียนทางไกล อาจเป็นผลให้พัฒนาการของเด็กถดถอยลงกว่าเดิมไปมาก ดังนั้นแล้ว การออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์ หรือการเรียนทางไกล จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้ดึงความสนใจของเด็กๆ และช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ อีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นต่อการเรียนของเด็กๆ ก็คือ สภาพแวดล้อมสำหรับเรียนรู้
หลายคนอาจเคยชินกับการเรียนรู้ในห้องเรียน เพราะเป็นบรรยากาศที่บังคับตัวเองให้เรียนหนังสือไปด้วยในตัว แต่เมื่อต้องเรียนจากที่บ้าน สภาพแวดล้อมที่ใช้ในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน ก็แตกต่างกันออกไป บางบ้านอาจมีห้องส่วนตัวให้เด็กๆ ใช้เรียนออนไลน์เป็นเวลานานๆ ได้ แต่บางบ้านก็ไม่สามารถจัดสัดส่วนหรือแบ่งพื้นที่ในบ้านร่วมกับสมาชิกครอบครัว เหมือนอย่างบ้านอื่นๆ ได้
ยิ่งกว่านั้น ความปลอดภัยในบ้านก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กเช่นกัน เพราะสำหรับเด็กบางคน บ้านไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับเขา และโรงเรียนกลับกลายเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อชีวิตของพวกเขาแทน
แต่เมื่อโรงเรียนปิดการเรียนการสอนไป แล้วให้เด็กๆ อยู่บ้านพร้อมปรับให้เรียนทางไกล หรือเรียนออนไลน์แทน เด็กกลุ่มที่เผชิญกับความรุนแรงเหล่านี้ ก็ไม่สามารถเรียนรู้ได้เหมือนเพื่อนๆ เพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนของพวกเขา แถมยังเสี่ยงที่ต่อการเผชิญกับอันตรายจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัวอีกด้วย
ระบบการสอนที่ต้องปรับตัว และเปลี่ยนไปเมื่อเป็นการเรียนทางไกล
พอพูดถึงการเรียนทางไกล หรือการเรียนออนไลน์ สิ่งที่คาดไม่ได้ก็คือสื่อกลางของการสื่อสารอย่าง สมาร์ทโฟน ทีวี คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือระบบสัญญาณที่ใช้ในการรับสาร แต่ก็อย่างที่เรารู้กันดีว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถมีอุปกรณ์สื่อสารเป็นของตัวเอง
การเข้าไม่ถึงอุปกรณ์เหล่านี้ ก็คือ ความเหลื่อมล้ำ นั่นเอง
แม้การเรียนทางไกลจะถูกยกมาเพื่อให้เด็กๆ เข้าเรียนในช่วงที่โรงเรียนยังไม่เปิดสอนได้ แต่สิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในหลายพื้นที่ทั่วโลกก็คือ การเข้ามาของการเรียนทางไกล ที่บังคับให้เด็กต้องมีอุปกรณ์การเรียนพร้อมนั้น เป็นการถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้สูงขึ้นหรือเปล่า?
อย่างในออสเตรเลีย ก็มีงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบต่อการเรียนออนไลน์ ระบุว่า ยิ่งขยายช่วงเวลาให้เรียนทางไกลนานแค่ไหน ผลลัพธ์ในเรื่องการศึกษายิ่งแย่ลงสำหรับเด็กๆ เกือบครึ่งหนึ่ง ก็ยิ่งแย่ลงเท่านั้น
แม้จะเป็นงานวิจัยจากออสเตรเลีย แต่ก็สามารถนำมาพิจารณากับสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยได้เช่นกัน โดยงานวิจัยดังกล่าว ระบุอีกว่า นักเรียนที่ไม่ค่อยมีฐานะ นักเรียนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษากลางของประเทศเป็นหลักในการพูดคุยในชีวิตประจำวัน นักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และนักเรียนที่อยู่ห่างไกล สุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกไปจากระบบการศึกษา เพราะการเรียนทางไกลนั่นเอง
นอกจากเรื่องความไม่พร้อมของอุปกรณ์แล้ว วิธีการเรียนและรูปแบบที่ไม่เป็นระบบ เช่น วิธีการปรับจูนช่องเพื่อรับสัญญาณเรียนทางไกล ก็สร้างความสับสนให้กับเด็กๆ อย่างมากเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิจัยมองว่า การเรียนทางไกลเป็นแนวทางที่อาจจะได้ผลตอบรับดี ถ้าคุณครูและนักเรียนมีอุปกรณ์เพียงพอ และได้รับการช่วยเหลือตามที่พวกเขาควรได้ ขณะเดียวกัน ก็แนะนำให้ผนวกการเรียนรู้แบบที่ใช้ในห้องเรียนกับการเรียนแบบออนไลน์เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างประสิทธิภาพให้ใกล้เคียงกับการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน
ขณะเดียวกัน ก็มีคนที่มองว่า ในช่วงนี้ควรให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนทักษะ และเรียนหนังสือไปพลางๆ โดย แอนดรูว์ มาร์ติน (Andrew Martin) นักจิตวิทยาการศึกษา มองว่า การเรียนทางไกลเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงที่ COVID-19 แพร่ระบาดทั่วโลก แต่ก็ยังย้ำว่า การเรียนทางไกล ไม่สามารถทดแทนการเรียนรู้ในห้องเรียน ที่นักเรียนจะได้นั่งฟังครูพูดต่อหน้า และมีเพื่อนๆ รายล้อมรอบตัวได้
การออกแบบการเรียนการสอน เป็นสิ่งที่ครูทำก่อนจะเริ่มสอนเด็กๆ แต่การเรียนแบบทางไกล หรือออนไลน์ เพิ่มความยากให้กับครูขึ้นไปอีกสเต็ป เพราะต้องใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของการสอนเด็กๆ ด้วย
“มีเด็กถามฉันว่า ‘ผมจะเขียนลงบนเอกสารนี้ยังไง?’ แล้วฉันก็ ..อืม นั่นเป็นคำถามที่ดีนะ ฉันรู้ว่าฉันทำได้ยังไง แต่ฉันไม่คิดว่าเด็กๆ จะมีเครื่องมือแบบเดียวกับฉัน ในคอมพิวเตอร์ของพวกเขา” กลอเรีย นิโคเดมี (Gloria Nicodemi) ครูสอนชั้น ม.4-5 จาก East-West School of International Studies กล่าว
ยิ่งกว่านั้น หากต้องเรียนทางไกลหรือออนไลน์ผ่านหน้าจอแล้ว การจะให้เด็กนั่งดูและรับฟังความรู้ที่ครูสอนแบบเต็มเวลาเหมือนตอนที่เรียนในห้อง ก็เป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีกขั้น เพราะการเรียนผ่านหน้าจอจะทำให้เด็กๆ หมดแรงมากกว่าการเรียนแบบปกติ ดังนั้น การเรียนด้วยชั่วโมงเต็มเหมือนเดิมนั้น อาจยิ่งส่งผลเสียต่อเด็กมากกว่าปกติ
อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Workpoint ว่า ครูไม่สามารถสอนเด็กเป็นเวลานานๆ ได้เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะการต้องดูวิดีโอตลอดเวลา ก็ทำให้นักเรียนรับความรู้ไม่ไหวเช่นกัน
“โรงเรียนต้องตั้งหลักดีๆ เพราะตอนนี้หลายที่เข้าใจผิดว่า สอนออนไลน์ คือถ่ายคลิป แล้วคาดหวังให้เด็กเรียนที่บ้านด้วยการดูคลิป 7 คาบต่อวัน เด็กๆ น่าจะยิ่งสู้ไม่ไหว”
เมื่อต้องย้ายไปเรียนในโลกออนไลน์ หรือใช้สื่อการเรียนแบบทางไกล ระบบการเรียนซึ่งรวมถึงการออกแบบสื่อ เครื่องมือ และเนื้อหาที่เด็กๆ จะได้เรียน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เพราะเด็กๆ จะเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
ระยะเวลาเดือนกว่าๆ ที่ต้องทดลองเรียนทางไกล อาจเป็นเพียงช่วงสั้นๆ สำหรับบางคน หรือกินเวลายาวนานสำหรับคนอีกกลุ่มก็ได้ทั้งนั้น แต่ไม่ว่าช่วงเวลาแห่งการทดลองนี้จะสั้นหรือยาวเท่าไหร่ สิ่งสำคัญที่เราต้องทบทวน และเตรียมการรับมือก็คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากการที่เด็กๆ เข้าเรียนผ่านทางระบบออนไลน์ หรือเรียนทางไกลเป็นเวลานานๆ
หากไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือที่ดีแล้ว ต่อให้เราจะใช้ระบบการเรียนแบบไหน แต่ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่เด็กๆ หลายล้านคนควรได้รับ อาจส่งไปไม่ถึงพวกเขาก็เป็นได้
อ้างอิงจาก