ความกังวลที่ดูไร้แก่นสาร แต่แทบจะกำหนดชีวิตอนาคต เมื่อคนรุ่นใหม่ต้องมานั่งถามใจตัวเองว่า “จะเลือกเรียนสายไหนดี ระหว่างวิทย์หรือศิลป์” เหมือนถูกบังคับให้เผชิญหน้าแค่ 2 ทางเลือกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อชีวิต
ทำไมต้องบังคับให้เลือก? ไปพร้อมกันสองทางไม่ได้หรือ?
จุดบอดของการศึกษาคือการขีดเส้นหนาๆ ระหว่าง วิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงการมองเด็กเรียนสายวิทย์ ‘เก่ง’ ส่วนเด็กสายศิลป์เรียน ‘อ่อน’ กลับทำร้ายจิตใจคนรุ่นใหม่ดุจก้อนมะเร็งลุกลาม
กลายเป็นว่าเราผลิต นักวิทย์ที่ไร้จินตนาการ และศิลปินที่ขาดการคิดอย่างเป็นระบบ ป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ไม่สอดรับกับความต้องการทางเศรษฐกิจอย่างที่ฝันไว้ ซ้ำยังเตะฝุ่นใส่ศักยภาพคนรุ่นใหม่อีกแน่ะ
ใครอะคะ ซัลวาดอร์ ดาลี?
ผู้เขียนมีโอกาสทำความรู้จักกับด็อกเตอร์สาวชาวต่างชาติท่านหนึ่ง เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในแถบตะวันออกกลาง ทำงานเป็นนักวิจัยและอาจารย์สอนด้านชีวโมเลกุลในสถาบันที่ได้รับการยอมรับแห่งหนึ่งของไทย เธอเล่าให้ฟังว่า มีนักศึกษาสาวเอาผลการทดลองมาให้เธอวิเคราะห์ด้วยข้อมูลยุบยับ
“โอ้โห ดาต้าพวกนี้ มันดูเซอร์เรียล อย่างกับภาพวาดของ ซัลวาดอร์ ดาลี แน่ะ !”
นักศึกษาไทยอึ้งไปสักครู่ งงกับลีลาการประชดประชันของเธอ
“ที่ประเทศไทยนี่ เขาไม่ได้สอน เรื่องศิลปะเหนือจริง (Surrealism) กันเหรอ” ด็อกเตอร์สาวถาม
“อาจารย์ ก็หนูเรียนวิทย์มานะคะ เพิ่งเคยได้ยินครั้งแรกเนี่ย”
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอตั้งคำถามว่า ทำไมลูกศิษย์ของเธอกลับแทบไม่รู้อะไรเลยในโลกของศิลปศาสตร์ ศิลปินใครทำอะไรไว้บ้าง แม้แต่ในเชิงปรัชญาอย่างใครคือ วอลแตร์ (Voltaire) หรือ อัลแบร์ กามู (Albert Camus) ชื่อเหล่านี้ไม่กระดิกเลยสักนิด กลายเป็นว่านักศึกษาของเธอรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในตำรา แต่รู้จักความหมายของการมีชีวิตน้อยมาก
“การศึกษาประเทศยู มีปัญหาแล้วล่ะ” เธอคุยกับผม
กำแพงหนาๆ ของสองโลก
น่าเสียดายที่คนรุ่นใหม่ถูกกรอบการศึกษาตีไว้ บังคับให้พวกเขามองโลกได้แคบกว่าที่ควรจะเป็น เด็กๆ ถูกกำหนดด้วยข้อเท็จจริงในตำราและขาดแรงบันดาลใจ ที่สำคัญพวกเขาถูกบังคับให้เลือก ชอบหรือไม่ชอบ ในอายุเพียง 15 ปี ไม่แปลกที่เด็กๆ หลายคนต้องอยู่ในสภาวะกังวลสะสมไปจนถึงช่วงเวลาทำงานจริง
เอาเป็นว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย (ผู้เขียนขออนุญาตดีเฟนส์) เพราะในสังคมอเมริกันที่มีรูปแบบการศึกษาดีอันดับต้นๆ และสนับสนุนการเรียนวิทยาศาสตร์ก็ยังออกไปไม่พ้นกำแพงทางความคิดเหล่านี้เช่นกัน
ผู้ว่าการรัฐเคนตักกี้ Matt Bevin ประกาศอัดฉีดเงินอุดหนุนนักเรียนทุนที่เลือกเรียนสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering) แต่มองข้ามนักเรียนที่เลือกเรียนเอกวรรณกรรมฝรั่งเศส คนในภาครัฐส่วนใหญ่ยังโปรฯเด็กๆ ที่เดินสายแผนวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะวิศวกรรม และรับรองว่าพวกเขาจบมาจะมีงานทำทุกคน อเมริกันในยุคสร้างชาติใหม่ยังอยากได้คนจบวิศวกรรมโยธา มากกว่าเด็กสายปรัชญาที่ไม่รู้จะไปสร้างชาติได้อย่างไร
การสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องดี และมันนำมนุษยชาติไปสู่จุดหมายที่น่าตื่นเต้น แต่แท้จริงแล้วสังคมกำลังมองข้ามประเด็นสำคัญอะไรไป เมื่อถามถึงองค์ความรู้อะไรจำเป็นต่อการพัฒนา นักการศึกษามักกล่าวว่า ต้องเป็น STEM สิ
Science วิทยาศาสตร์ Technology เทคโนโลยี Engineering วิศวกรรม Mathematic คณิตศาสตร์
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการศึกษาเซลล์ในมิติของชีวโมเลกุล หรือการเขียนโปรแกรมให้รถขับเคลื่อนตัวเองได้ จะถูกจำกัดตัวอยู่เพียง 4 ศาสตร์นี้ เพราะแรงบันดาลใจที่กว่าจะมาระเบิดในจุดที่เหมาะสมนั้น วรรณกรรมคลาสสิคหรือปรัชญาทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ก็มีอิทธิพลต่อการตกผลึกทางความคิดคุณไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ทำให้กลมกลืนกันสิ
นั่นทำให้มหาวิทยาลัย ต้องสอนทฤษฎีดนตรี (Music Theory) ไม่น้อยไปกว่า ทฤษฎีเส้นเชือก (String Theory) หากจักรวาลน่าสนใจ ทำไมไม่ใช้ดนตรีผสานให้น่าหลงใหลกว่าเดิม ในอเมริกาเองพิสูจน์ว่า มีเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมระหว่าง ‘ซิลิคอน วัลเลย์’ และ ‘ฮอลลีวู้ด’ เข้าไว้ด้วยกัน วิทยาศาสตร์ไม่สามารถปฏิเสธศิลปศาสตร์ ที่เสมือน 2 โลกที่เหลื่อมกันอยู่เสมอ
ฮอลลีวู้ดจะพัฒนานวัตกรรมทางภาพยนตร์ไม่ได้ หากขาดนักวิจัยฝีมือดี และซิลิคอน วัลเลย์ จะไม่มีคนหน้าใหม่ๆ ตบเท้าเข้ามา หากพวกเขาไม่ได้เคยดูหนังที่สร้างแรงบันดาลใจ
สตีฟ จอบส์ อยู่บนบัลลังก์แห่งนวัตกรรมกว่าสิบปี ทั้งที่เขาไม่ใช่นักเขียนโค้ดที่ดีที่สุดหรือวิศวกรคอมพิวเตอร์มือฉมัง เขาโดดเด่นกว่าคนอื่นโดยใช้ความสุนทรียะทางศิลปะ เปลี่ยนโทรศัพท์ที่หนาหนัก เทอะทะ ให้ปราดเปรียวน่าหลงใหล ทั้งรูปทรงและประสิทธิภาพ ครั้งหนึ่ง สตีฟ จอบส์ เคยกล่าวว่า
DNA ของ Apple คือการที่เราเชื่อว่า เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ เทคโนโลยียังต้องแต่งงานกับศิลปศาสตร์ แต่งงานกับมนุษยศาสตร์ มันถึงจะทำให้หัวใจของพวกเราขับกล่อมเป็นบทเพลงออกมา
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบทั่วโลกคือ ระบบการศึกษาขาดการเชื่อมต่อระหว่างแผนวิทย์และแผนศิลป์ที่แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่มุ่งสู่เส้นทางอาชีพที่ถูกกำหนดไว้ให้เร็วที่สุด แต่ตลาดงานปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่า ตลาดยังต้องการคนที่จบการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่าแขนงเดียว
นักศึกษาที่จบเอกฟิสิกส์ โทกวีนิพนธ์ มีแนวโน้มได้รับเลือกเข้าทำงานมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มเรียนสาขาเดียว จากการสำรวจโดย สมาคมมหาวิทยาลัยอเมริกัน Association of American Colleges & Universities หรือ AAU ในปี 2013 โดยองค์กรให้ความเห็นว่า กลุ่มนักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งฝั่งวิทย์และศิลป์ สามารถคิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์เป็น สื่อสารได้อย่างแม่นยำ และมีแนวโน้มการแก้ปัญหาที่ออกนอกกรอบกว่า แผนวิทย์เดี่ยวๆ
การทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติของการสื่อสาร ทำให้ STEM เป็นได้มากกว่าแผนวิทยาศาสตร์อันน่าเบื่อหน่าย มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ก่อนที่จะเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คือนักเรียนที่ทำคะแนนได้ยอดเยี่ยมในวิชาวัฒนธรรมกรีกและโรมัน แถมยังคล่องภาษาลาตินอย่างยิ่งยวด ความเข้าอกเข้าใจในการสื่อสารตั้งแต่รากเหง้าทำให้เขาพัฒนานวัตกรรมที่เชื่อมคนทั้งโลกไว้ด้วยกัน
การบังคับให้เด็กต้อง “เลือกเรียนสายวิทย์หรือสายศิลป์?” เป็นความบอบช้ำที่ระบบการศึกษาทำร้ายจินตนาการอันกว้างไกลของพวกเขา
ในขณะที่คุณกำลังมีโอกาสศึกษาในระดับสูง อย่าปิดกั้นตัวเองด้วยเพียงเพราะว่า “มันไม่เกี่ยวกับงานฉันเลย”
หากโลกนี้ต้องการพลังหยินหยาง ความมืดความสว่าง นวัตกรรมสังคมก็ต้องการศาสตร์และศิลป์ เป็นพลังหล่อเลี้ยงเช่นกัน
“คุณรู้ไหม เวลาฉันสอนเรื่องเซลล์ให้นักเรียน รูปแต่ละรูป ฉันวาดเองกับมือ”
“งานหลักของฉันเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็จริง แต่งานรองฉันคือการเป็นศิลปิน ฉันวาดทุกอย่างจากข้อเท็จจริงและจินตนาการ”