ทุกสรรพสิ่งไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังปรากฏการณ์บิ๊กแบง หลังการระเบิดครั้งใหญ่ทั่วทั้งจักรวาลปกคลุมไปด้วยความหนาวเหน็บและความมืดมิด จนเวลากว่า 200 ล้านปีผ่านพ้นไป แสงแรกของจักรวาลถึงค่อยถือกำเนิดขึ้น
‘The Thesan Project: How the universe first evolved, immediately after the Big Bang’ คือคลิปจำลองเหตุการณ์ที่จักรวาลตื่นจากความดำมืด จุดเริ่มต้นของดวงดาว กลุ่มแก๊ส กาแล็กซี การก่อตัวก่อนจะมาเป็นโครงสร้างอันซับซ้อนของจักรวาลอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ตัวคลิปเป็นส่วนหนึ่งของ THESAN โปรเจกต์ที่นักวิทยาศาสตร์จาก MIT ทำการจำลองช่วงเวลารุ่งอรุณของจักรวาล (cosmic dawn) หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ Epoch of Reionization (EOR)
แอรอน สมิท (Aaron Smith) ผู้เชี่ยวชาญจาก NASA บอกว่า “ตามหลักการแล้วจะใช้กระดาษกับปากกาเขียนเอาก็ได้” แต่เหตุผลที่การจำลองนี้ไม่ง่ายและต้องใช้หลายโมเดลกว่าจะสำเร็จคือ “พอถึงจุดจุดหนึ่ง แรงดึงดูดจะเริ่มดึงและฉุดวัตถุมาชนกัน ในช่วงแรกจะค่อนข้างช้า แต่แล้วก็เปลี่ยนเป็นเร็วจนทำให้การคำนวณยุ่งเหยิง” สมิทพูดเสริม
การจำลองภาพรุ่งอรุณของจักรวาลคือการบีบอัดระยะเวลากว่าหลายร้อยล้านปี ให้เป็นคลิปที่มีความยาวไม่ถึง 50 วินาที ในเวลาสั้นๆ นี้ เราจะได้ตั้งแต่ตอนที่จักรวาลดำมืดหลังปรากฏการณ์บิ๊กแบง ก่อนจะมีแสงระยิบระยับ ตามมาด้วยกลุ่มแก๊สขมุกขมัวที่ค่อยๆ ก่อตัวเป็นโครงสร้างแบบเส้นใย (cosmic web) กลายเป็นโครงข่ายที่ซับซ้อนและน่าทึ่ง
ดูคลิปได้ที่ : www.youtube.com
อ้างอิงข้อมูลจาก