กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดด
ความต้องการที่จะแหกปากของเราเป็นเรื่องน่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยมีไม่กี่เสียงที่สร้างความหวาดผวาให้มนุษย์ได้เท่าการกรีดร้อง นักประสาทวิทยาบางคนทำการทดลองแล้วพบว่า เสียงกรีดร้องนั้นส่งผลต่อสมองแบบเดียวกันกับเสียงไซเรนของรถตำรวจ แต่ถ้าเป็นแบบนั้นแล้ว ทำไมเราถึงจะต้องกรี๊ดเลย ไม่ต้องกลั้นเอาไว้ กรี๊ดสิครับ ระบายมันออกมา?
เบื้องหลังการกรีดร้องมีอะไร? อะไรทำให้เรารู้สึกว่าการกรี๊ดออกมามันเท่ากับการปลดปล่อย? และความรู้สึกเหล่านั้นมีคำอธิบายได้บ้างหรือเปล่า?
เรากรี๊ดเพราะอะไร? งานวิจัย Fear screams and adaptation to avoid imminent death: effects of genetic variation and predation โดยวารสาร Ethology Ecology & Evolution เล่าว่าการกรีดร้องของสัตว์นั้นเป็นปฏิกิริยาตอบสนองเพื่อความอยู่รอด อาจจะเพื่อทำให้ผู้ล่าไขว้เขว หรือเพื่อเรียกพวกพ้องของมันในสถานการณ์ที่สัตว์ตัวนั้นตกอยู่ในอันตราย และในฐานะมนุษย์ เราเองก็ใช้เสียงกรีดร้องสำหรับสถานการณ์ที่เป็นอันตรายแก่เราเช่นกัน
อีกเหตุผลหนึ่งคือ การกรีดร้องเป็นวิธีพื้นฐานของการแสดงออกทางอารมณ์ งานวิจัย Screaming, Yelling, Whining and Crying: Categorical and intensity differences in Vocal Expressions of Anger and Sadness in Children’s Tantrums โดยเจมส์ กรีน (James Green) นักวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัต เล่าว่าในวัยเด็ก รูปแบบต่างๆ ของการออกเสียงหมายถึงการสื่ออารมณ์ที่มีความเข้มข้นสูง โดยมากในเด็กจะเป็นอารมณ์โกรธหรือเศร้า แต่มีความเป็นไปได้หรือไม่ หากว่าเรายังคงแสดงออกถึงวิธีการนั้นไว้อยู่แม้จะโตขึ้น ทว่าจะใช้ในหลากหลายอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าตอนเป็นเด็ก?
ซาช่า ฟรูโฮลซ์ (Sascha Früholz) นักวิจัยจากแผนกจิตวิทยา มหาวิทยาลัยซูริก ศึกษาเกี่ยวกับประเภทของการกรีดร้องในผู้ใหญ่ งานวิจัย Neurocognitive processing efficiency for discriminating human non-alarm rather than alarm scream calls พบว่ามนุษย์นั้นกรีดร้องหลากหลายแบบแตกต่างกันตามอารมณ์ ผู้วิจัยจัดประเภทการกรีดร้องออกเป็นความผ่อนคลาย ความเศร้า และความสุข เอาไว้ในกลุ่ม Non-Alarm Scream ส่วนการกรีดร้องจากความเจ็บปวด ความกลัว และความโมโห จัดอยู่ในกลุ่ม Alarming Scream โดยทั้งหมดนี้มีลักษณะความหยาบของเสียงต่างกัน ยิ่งมีอารมณ์ในแง่ลบ ความหยาบจะยิ่งมาก
การแบ่งแยกดังกล่าวมีความสำคัญยังไง? นั่นเพราะผลของการกรีดร้องแต่ละแบบต่อความรู้สึกของมนุษย์แตกต่างกัน “ในงานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า การกรีดร้องในแง่บวกจากความสุขและความผ่อนคลาย เกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์และการสร้างสัมพันธ์ทางสังคมของพวกเขามากกว่า” ฟรูโฮลซ์กล่าวกับสำนักข่าว The Guardian จากบทความที่เกี่ยวกับข้อกังขาต่อผลลัพธ์ในแง่บวกของการกรีดร้อง
ทำไมถึงเกิดข้อกังขาเหล่านี้ขึ้นมาแต่แรก? เราไม่ใช่คนแรกในโลกที่เชื่อว่าการกรีดร้องนั้นจะสามารถนำไปสู่การปลดปล่อยได้ แต่อาเธอร์ จานอฟ (Arthur Janov) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เชื่อเช่นนั้นอย่างแรงกล้า มากเสียจนช่วงปี 1960 เขาพัฒนาวิธีจิตบำบัดชื่อ ‘Primal Therapy’ ซึ่งมีฐานความเชื่อว่าโรคทางประสาท มีรากมาจากความทรงจำเจ็บปวดที่อาจถูกกดทับเอาไว้ในวัยเด็ก และวิธีการจัดการกับมันคือการดึงมันออกมาเผชิญหน้าอีกครั้งผ่านวิธีการต่างๆ
จุดสูงสุดของ Primal Therapy นั้นเกิดขึ้นเมื่อจานอฟตีพิมพ์ The Primal Scream ขึ้นในช่วงปี 1970 หนังสือเกี่ยวกับวิธีจิตบำบัดดังกล่าวนั้น เมื่อโฟกัสไปตั้งแต่ที่หน้าปกมันคือภาพการกรีดร้อง หลังจากหนังสือขายดีอันดับหนึ่งเล่มนี้ไปอยู่ในมือของคนนับล้านแล้ว คลินิกที่ยึดวิธีจิตบำบัดดังกล่าวก็เกิดขึ้นตามมา แต่ละที่เต็มไปด้วยผู้คนที่นอนขดลงบนพื้น และกรีดร้องเกี่ยวกับความทรงจำย่ำแย่ในวัยเด็กของพวกเขา ทว่านั่นยังไม่นับรวมกับการที่มีคนมีชื่อเสียงจำนวนหนึ่ง เช่น จอห์น เลนนอน (John Lennon) โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono) หรือเจมส์ เอิร์ล โจนส์ (James Earl Jones) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนและเข้าร่วมการบำบัดดังกล่าวอีกด้วย
หลายปีที่ผ่านมา เกิดข้อกังขาต่อ Primal Therapy สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากเสียงของดาราแล้ว การบำบัดรูปแบบดังกล่าวของจานอฟ ถูกจำกัดด้วยหลักฐานและการสนับสนุนจากวิทยาศาสตร์อย่างมาก ในบทสนทนาก่อนหน้านี้ระหว่าง The Guardian กับฟรูโฮลซ์ เขาพูดอย่างชัดเจนว่าในโลกการบำบัดและจิตวิทยาปัจจุบันที่ยึดหลักฐานเป็นหลัก Primal Therapy นั้นนับได้ว่าเป็นความเชื่อที่ผิด
“Primal Scream Therapy วางอยู่บนความเชื่อผิดๆ ว่าความทรงจำเจ็บปวดในชีวิตนั้น ถูกกักเก็บอยู่ในร่างกายเหมือนคุกที่ต้องได้รับการแก้ผ่าน การ ‘แหกออก’ มันด้วยการกรีดร้อง ซึ่งไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้” ฟรูโฮลซ์ยังเสริมอีกว่า การแสดงออกถึงความโมโหโกรธาอย่างต่อเนื่องในฐานะการบำบัด ไม่มีผลในแง่บวก และบ่อยครั้งอาจส่งผลในแง่ลบอีกด้วย ทั้งยังเสริมแรงมุมมองดังกล่าวด้วยหลักฐาน และความเห็นของเขาต่อประเภทของการกรีดร้อง
ทว่าเราจะเรียก Primal Therapy ว่าการบำบัดที่ตายไปแล้วก็ไม่เชิง เพราะในปัจจุบัน แนวคิดการปลดปล่อยผ่านการกรีดร้องและร้องไห้นั้นยังแพร่หลายอยู่เสมอๆ อาจจะด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อจะบำบัดหรือควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของคนในห้องก็ตาม หากลองมองไปยังวิดีโองานเสวนาพัฒนาตัวเองบางแห่ง ที่พยายามทำให้คนในห้องร้องไห้หรือกรีดร้องไปด้วยกัน หรือมองไปยังธุรกิจ Rage Room ที่อนุญาตให้คนเข้าไปในห้องแล้วระบายความโมโหหรือความเศร้าของพวกเขา ผ่านการทุบทำลายห้องห้องหนึ่ง นั่นคือ Primal Therapy แห่งปี 2023
นอกจากนั้นแล้ว ในช่วงหลังมานี้ เรายังเห็นความต้องการ ‘ห้องกรี๊ด’ ให้พนักงานบริษัท เป็นห้องที่เปิดไว้สำหรับให้คนที่ทำงานเครียด สามารถเดินเข้าไปแล้วปลดปล่อยอารมณ์ของพวกเขาออกมาและเดินออกมาทำงานต่อได้ ซึ่งในโลกปัจจุบัน มีเรื่องมากมายเหลือเกินที่ทำให้เรารู้สึกเช่นนั้น
ห้องรูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นจริงมาแล้วที่บริษัทพัฒนาวิดีโอเกม Bioware ในช่วงปี 2018-2019 ระหว่างการพัฒนาเกม Anthem เกมออนไลน์ไลฟ์เซอร์วิสซึ่งปิดตัวไปแล้วของพวกเขา ในบทความตีแผ่เบื้องหลังการทำงานอันหฤโหดของเกมนี้ โดยเจสัน ชไรเออร์ (Jason Schrier) เล่าว่าในชั่วโมงเร่งงาน (Crunch) ที่ออฟฟิศเอ็ดมอนตัน พนักงานหลายๆ คนได้รับคำสั่งจากแพทย์ให้ลาจากความเครียดได้เป็นเดือนๆ หนึ่งในอดีตพนักงาน Bioware เล่าว่าพวกเขาต้องเดินไปเปิดห้องเพื่อร้องไห้ออกมา “ผู้คนโกรธและเศร้าตลอดเวลา”
จากใจความข้างต้น จึงนำมาถึงคำถามสำคัญว่าสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับการร้องไห้ การกรีดร้อง การพยายามรักษาแผลใจผ่านการกรีดร้อง และการเดินเข้าหาห้องระเบิดอารมณ์นั้น เป็นหนทางที่ดีจริงๆ ในการรักษาและปลดปล่อยหรือไม่? เพราะไม่ใช่ทุกเสียงกรีดร้องจะช่วยเยียวยาจิตใจของเรา และเสียงที่ถูกนำมาใช้ในการบำบัดรูปแบบที่เราเห็นอยู่นั้น ก็ไม่ใช่เสียงที่จะรักษาอะไรได้
ฉะนั้น ก่อนจะสร้างห้องให้คนกรีดร้อง เราควรลองคิดถึงทางแก้จากรากความเจ็บปวดของพวกเขาเสียก่อน
อ้างอิงจาก