ตั้งแต่เราเติบโตมาในยุคอินเทอร์เน็ต 56K ก็ได้เห็นชีวิตดารานักแสดงจำนวนไม่น้อยที่บังเอิญมีภาพหลุด ข้อความวาบหวามที่เรียงร้อยอย่างออกรส และเรื่องลับๆ ที่ถูกเผยแพร่ออกมาในที่แจ้ง ตามสัญชาตญาณติดตัวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มันจึงอดไม่ได้ที่คุณจะขอส่องพื้นที่หวงห้ามของคนอื่นเสียหน่อยว่ามีอะไรซ่อนอยู่
น่าเสียดายที่คนส่วนหนึ่งเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด เมื่อภาพหรือถ้อยคำเหล่านี้หลุดออกไปสร้างการแพร่ระบาดในโลกออนไลน์ บางรายเสียชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ และหลายคนคิดว่าการโชว์พื้นที่สงวนผ่านคลื่นมือถือเป็นเรื่อง ‘วิตถาร’
ปัจจุบันพวกเราใช้ Application ในการแชทมากกว่าการคุยจริงๆ ข้อความที่ถูกส่งมีลูกเล่นมากมาย และมันเปิดพื้นที่ให้คุณส่ง Hyperlink หรือไฟล์ Multimedia เป็นโขยงต่อคนที่คุณโคจรอยู่รอบๆ ด้วย
แม้กระทั่ง ‘ข้อความทะลึ่งตึงตังใต้สะดือ’ ที่พวกเราเกี้ยวพาราสีผ่านเส้นใยแก้วนำแสง
Sexting คือกิจกรรมการเกี้ยวแบบใหม่ๆ ที่รวมความหมายของ Sex และ Texting มาฟิวชั่นกันอย่างลงตัว (และออกเสียงยากเชียว) เราพิมพ์ข้อความส่งหากันทั้งในเชิงยั่วยวน ปลุกเร้า หรือ ‘ร่วมเพศเสมือน’ ผ่านลีลาภาษาและตัวอักษร ก็แล้วแต่ว่าใครจะอยู่เลเวลไหน
พวกเราใช้มันในการเขยิบความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดขึ้นไปอีกสเต็ป Application ในมือถือเปิดโอกาสให้คุณเริ่มบรรเลงกิจกรรมเกี้ยวพาราสี (Courtship) ที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตในสปีชีส์ใดเสมอเหมือน
กลับมาที่คำถามของ Sexting อีกครั้ง มันโอเคหรือเปล่าที่เราจะเปิดเผยพื้นที่ส่วนตัวและล่วงล้ำไปยังพื้นที่ความลับของคนอื่นอย่างโรแมนติกโดยที่ไม่เจ็บตัวภายหลัง
Sexting ไม่เจ็บปวด?
ในมิติของงานวิจัยเชิงสังคมศาสตร์ก็ไม่ได้มองมันเป็นเรื่องแย่เต็มประตู และมันมีมุมดีๆ อยู่ด้วยซ้ำ
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Drexel พยายามศึกษาผลกระทบของความสัมพันธ์ของผู้คนที่ส่ง Sexts ให้แก่กัน ในอาสาสมัครชายและหญิงกว่า 870 ชีวิตที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 82 ปี เพื่อศึกษาว่า พวกเขาส่งข้อความวาบหวามอะไรกัน ทำไมถึงส่ง มีระดับความสัมพันธ์อย่างไร และได้รับความพึงพอใจจากกิจกรรมทางเพศหรือไม่?
ซึ่งที่ผ่านมา Sexting เป็นหนึ่งในภาพจำของปัญหาสังคมเชิงลบกันไปเสียหมด นั่นทำให้เรากำลังมองข้ามอะไรบางอย่าง
น่าสนใจที่คนราว 88% เคยมีประสบการณ์ Sexting อันเร่าร้อนมาแล้วทั้งนั้น เพื่อตักตวงผลประโยชน์จากมันให้ได้มากที่สุด
75% ใช้มันเพื่อเพิ่มความใกล้ชิดทางความสัมพันธ์ ในขณะที่ 43% ก็มีพฤติกรรม Sexting ในความสัมพันธ์ทั่วไปที่ไม่จริงจัง หรือหยอกเอิน (Flirting) หมาหยอกไก่ไปวันๆ
Emily Stasko หัวหน้าชุดวิจัยจัดให้กิจกรรม Sexting เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความสัมพันธ์ที่พัฒนาความรักได้ไม่แพ้กัน หากคุณใช้มันอย่างเข้าใจ และเหมาะสม โดยไม่ทำร้ายคู่ที่คุณหมายปอง
หากว่ากันตามตรง การพิมพ์ข้อความทะลึ่งตึงตัง ดูเหมือนจะเป็นกลยุทธ์ที่ค่อนข้าง ‘ตรงไปตรงมา’ เพื่อให้เราได้กระชับความสัมพันธ์อย่างแนบชิด (ทั้งในเชิงอุปมาอุปมัยและเนื้อแนบเนื้อจริงๆ) ซึ่งความกังวลของสังคมส่วนรวมคือ วัยรุ่นกำลังหมกมุ่นพิมพ์ Sexting แบบเหวี่ยงแห แต่เมื่อมาจับเข่าคุยกันดีๆ เราจะพบว่า พวกเขาพิมพ์ข้อความเซ็กซี่หากัน ส่วนใหญ่อยู่ในระดับความสัมพันธ์ที่ตกลงปลงใจกันระดับหนึ่งแล้ว ไม่ได้ผิวเผินเสียทีเดียว และผู้ใหญ่ต่างหากใช้ Sexting มากที่สุด
คู่รักหลายคู่ใช้ Sexting ในการง้อ หรือหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางอารมณ์ ทำให้มันผ่อนคลายลงและยืดหยุ่นขึ้นผ่านทางตัวอักษร โดยไม่ถึงขั้นแตกหักเมื่อเผชิญหน้าโดยตรง
แต่หาก Sexting มากเกินไป มันกำลังบอกอะไรคุณ
การสานสัมพันธ์อันมีรสชาติเป็นเรื่องความสมดุล คุณถ่ายเทพลังความปรารถนาให้กันและกัน แต่หากทุกอย่างมันล้ำเส้นเกินไป มันแน่นอนจะต้องมีใครสักคนเจ็บปวด (หรือเจ็บทั้งคู่) จากถ้อยทำที่ดูทะลึ่งดีในช่วงแรก กลายเป็นการดูหมิ่น หยาบคาย และคุกคามในท้ายที่สุด
ความวิตกกังวล (Anxiety) ก็เป็นปัจจัยร่วมที่ให้คุณ Sexting ถี่ขึ้น เพราะคุณกำลังกังวลว่า ไม่สามารถทำภารกิจได้ดีพอเมื่อเผชิญหน้าอย่างตัวต่อตัว หรือการเดทจริงๆ มันไม่ราบรื่น คุณคาดหวังความสัมพันธ์ครั้งนี้มากไป และคุณคิดว่า ‘เจ็บไม่เป็น’
หนึ่งในทฤษฎีความสัมพันธ์ที่หยิบยกมาพูดบ่อยๆ คือ ทฤษฎีการแนบติด (Attachment Theory) ที่มักกล่าวถึงช่วงความสัมพันธ์ที่คนเราพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่วัยแบเบาะกับผู้เลี้ยงดู ทฤษฎีการแนบติดเริ่มตั้งแต่ในวัยทารก เบบี๋ และต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นสุดอายุขัย โดยมีระบบการควบคุมพฤติกรรมซ่อนอยู่ภายใน และมันเป็นตัวกำหนดบางปัจจัยที่คุณมีทัศนคติความสัมพันธ์ภายภาคหน้าอย่างไร
หากคุณเติบโตและได้รับการดูแลเอาใจใส่ตอบสนองได้อย่างพอเหมาะจากผู้เลี้ยงดู คุณจะพัฒนาความรู้สึกแนบติดอันปลอดภัย (Secure attachment) ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายและสุขสมเมื่อความสัมพันธ์อันใกล้ชิดมอบประสบการณ์ที่ดีอย่างสมเหตุสมผล พ่อแม่หรือใครก็ตามปรากฏตัวเมื่อคุณหิวโหย เครียด หรือแม้กระทั้งหนาวสั่น
พวกเราเรียนรู้ว่าการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดนั้นปลอดภัย และมีการถ่ายเทซึ่งกันและกัน ทำให้คุณไม่วิตกกังวลที่จะสานสัมพันธ์ครั้งใหม่ๆ กับผู้คนหลากหลาย เพราะมัน Good, feel good แต่หากพวกเราเติบโตจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เคยสนองความต้องการ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นไม่ถูกเติมเต็ม (และบางทีมันก็ไม่มีความหมาย) มักพัฒนาเป็นความรู้สึกไม่ปลอดภัยกับการแนบติด (Insecure attachment) อะไรก็ตามที่คุณต้องการทั้งในเชิงอารมณ์ความรู้สึกและทางร่างกาย หากมองในกรอบทฤษฎีนี้ คุณอาจมีแนวโน้มวิตกกังวลในการสานสายสัมพันธ์ครั้งใหม่ๆ กลัวการผูกมัดระยะยาว เกิดความเครียดที่ต้องใกล้ชิดผู้อื่นอย่างโรแมนติก
แต่คนที่ขี้กังวลเท่านั้นหรือเปล่าที่ Sexting?
จากสมมติฐานที่ยกมา ใครก็ตามที่มีแนวโน้มวิตกกังวลในความสัมพันธ์ ทั้งกลัวโสด กลัวเหงา หรือกลัวที่จะเดท จะพิมพ์ Sexting เพิ่มมากขึ้นไหม?
เอาเป็นว่าเวลาพวกเรามีเซ็กซ์กันปกติ ก็ไม่มีใครพูดกันฟุ่มเฟือยกันหรอก แม้หลายคนจะชอบให้มี Dirty Talk ในกิจกรรมอยู่บ้าง แต่หลายคนก็เกลียดอย่างจริงจัง กลายเป็นว่าค่ำคืนโรแมนติกจบลงด้วยหายนะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
แต่ Sexting เพิ่ม ‘เสียง’ ที่คุณไม่สามารถมีได้ โดยไม่ทำให้คุณขายหน้าระหว่างกิจกรรมรัก และเพิ่มพื้นที่ผ่อนคลายมากขึ้นในความสัมพันธ์ มันช่วยให้คุณรักษาเคมีระหว่างคู่ครองเมื่อบางอย่างเกิดหย่อนยานไปบ้าง ชีวิตเต็มไปด้วยความเครียดรุมเร้า เรื่องใต้สะดือทำให้คุณมีชีวิตชีวา และเปิดจินตนาการระหว่างคุณสองคุณให้ร่วมโลดแล่นร่วมกันได้อีกครั้ง
Sexting สำหรับคุณจึงควรมีระดับที่คุณมีโอกาสกำหนดเอง การยั่วล้อเบาๆ ทอดสะพานสู่ความสัมพันธ์ใหม่ หรือการโลมเล้าอย่างถึงพริกถึงขิงผ่านตัวอักษรเพื่อจุดถ่านไฟรักอันจืดชืดให้กับมาลุกอีกครั้ง
ทะลึ่งวันละนิดไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเลย สำหรับการวางรากฐานความสัมพันธ์ระยาว
คุณเพียงต้องรู้ว่าควรเตะเบรกถึงจุดไหนที่ไม่ทำให้คุณและคนที่รักเจ็บตัว
อ้อแล้วอีกอย่าง ระวังข้อมูล Love life ของคุณไว้ให้ดี
เพราะใครๆ ก็อยากดูหนังสดที่คุณแสดงนำโดยไม่รู้ตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก
drexel.edu/now/archive/2015/August/Sexting-Study/