เหมือนดอกมะลิลาที่ถูกเด็ดออกมาจากต้นกำลังค่อยๆ โรยรา ภาพยนตร์เรื่อง ‘มะลิลา’ (2017) ก็ใกล้ลาโรงไปทุกขณะจิต และก็เหมือนกับหนังเรื่องก่อนๆ ของผู้กำกับ อนุชา บุญยวรรธนะ ที่ตัวละครหลักคือชายรักเพศเดียวกันและเกี่ยวพันกับแหล่งน้ำ ‘อนธการ’ (The Blue Hour, 2015) ก็เล่าถึงคู่รักเพศเดียวกันในฐานะคนชายขอบกับการแสวงหาพื้นที่อิสระและปลอดภัย ต้องการค้นพบโลกที่จะมีเพียงแต่เราสอง ในพื้นที่ลับที่ถูกปล่อยให้รกร้าง ทั้งบ่อน้ำหรือบ่อพักขยะ
แต่ปรัชญาของหนังมะลิลายังคงเชื่อมต่อกับหนังเรื่องแรกของผู้กำกับ ‘ตามสายน้ำ’ (Down The River, 2004) ที่สนทนากับผู้ชมด้วยความเชื่อแบบศาสนาพุทธ ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ของเรา
เพียงแต่ ‘มะลิลา’ หรือ ‘The Farewell Flowers’ อ้อยอิ่ง ละเมียดละไม เก็บงำอารมณ์ความรู้สึกมากกว่านั้น มากซะจนราวกับว่าผู้กำกับกำลังทำบายศรีด้วยมือเธอเองผ่านหนัง และหนังก็ช่าง exotic รุนแรงเหลือเกิน ตั้งแต่ประเดิมด้วย ‘รำพันพิลาป’ ของสุนทรภู่ ความเชื่อในชนบท งูเหลือมกินเด็ก พิธีกรรมบายศรี ป่าเขาลำเนาไพร พระธุดงค์ ไปจนถึงการบำเพ็ญกรรมฐานเพ่งซากศพ
และต่อไปนี้จะเป็นความพยายามสนทนากับมะลิลาแบบที่พยายามสปอยล์น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
หนังอมทุกข์ระคนเศร้าเรื่องนี้ แม้จะเล่าเรื่องหลักๆ ถึงความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มหนึ่งคู่ ‘เชน’ ที่ลงทุนทำธุรกิจไร่มะลิเพื่อ ‘พิช’ ช่างประดิษฐ์บายศรี (บายศรีเบ้อเร่อเท่อขนาดนั้น แถมต้องแข่งกับเวลาอีก มันทำคนเดียวไหวหรอวะ) ทั้งสองอมทุกข์และแบกรับความรู้สึกบอบช้ำ แต่หนังไม่ได้บอกว่าความรักเพศเดียวกันมันเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม ดิ้นรนกว่ารักต่างเพศเหมือนหนังเรื่องอื่นๆ ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘หนังเกย์’ เพราะไม่ว่าใครก็ต้องดิ้นรนและรับความขมขื่น และถูกตีตรา และผลักไสให้เป็นอื่นของสังคม ไม่ว่าจะเพศสภาพเพศวิถีใด แม่ของพิชเองก็ถูกชาวบ้านว่าให้เป็นปอบ โดนทำพิธีไล่ปอบจนถึงแก่ความตาย
หากแต่ ‘มะลิลา’ จัดวางความรักความสัมพันธ์ทั้งคู่ในฐานะรักของปุถุชนสุดแสนสามัญ ที่มีเกิดและแตกดับ เพียงแต่ความรักระหว่าง ‘เชน’ (แสดงโดย ศุกลวัฒน์ คณารศ) และ ‘พิช’ (แสดงโดย อนุชิต สพันธุ์พงษ์) ต้องผ่านอะไรมามากมายเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ทว่าช่างมีอายุขัยอันสั้นและเปราะบาง เหมือนกับบายศรีสู่ขวัญที่ต้องปลิดดอกไม้ ตัดใบตองจากต้น มากรีดพับกรองร้อยอย่างปราณีต กลายเป็นงานฝีมือที่งดงามซับซ้อน ทว่าเปราะบางช้ำง่าย และถูกกำหนดเวลาหมดอายุไว้แล้ว และท้ายที่สุดก็ถูกลอยไปกับสายน้ำ คืนสู่สภาพเดิมที่เป็นธรรมชาติของมัน
บายศรีเก่าจากงานสู่ขวัญที่กำลังจะถูกเทลงน้ำถูกวางขั้นระหว่างทั้งคู่จึงชวนให้เห็นพิธีมงคลสมรสของทั้งคู่ท่ามกลางแมกไม้และสายน้ำ และการหวนกลับมาอีกครั้งของความรักทั้งสองก็เสมือนขวัญกลับคืนสู่กายหยาบ หลังจากต่างออกไปเผชิญเรื่องเลวร้ายความเจ็บปวดแสนสาหัส
บายศรีจึงเป็นสัญลักษณ์ความรักของเชนกับพิช ที่ต้องอาศัยความอดทนใจเย็น ใช้นิ้วจุ่มน้ำเย็นจัดบรรจงประดิษฐ์ประดอยพับกลีบบัวอย่างเบามือ เพราะกลีบดอกช้ำง่ายและบัวเป็นดอกไม้ที่เหี่ยวไว เนื่องจากดูดน้ำไปเลี้ยงดอกได้ช้า
ขณะเดียวกันก็ต้องตัดฉีกใบตองและใช้เข็มแหลมเสียบแทงเข้าไปใจกลางดอกรักและมะลิ เซ็กซ์ของทั้งคู่ก็เช่นกันที่ต้องใช้น้ำลายช่วยไม่ให้ช้ำฉีกขาด ทั้งทะนุถนอมและเสียบแทงเข้าไปในเวลาเดียวกัน
ดอกไม้ดอกเล็กกลิ่นหอมสีขาวบริสุทธิ์อย่างมะลิจึงไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งรักอันบริสุทธิ์ของแม่ ไม่ใช่ตัวแทนความรักของหญิงผู้ให้กำเนิด หากแต่เป็นความรักระหว่างผู้ชายด้วยกันที่ไม่สามารถให้กำเนิดลูกได้ด้วยวิธีทางธรรมชาติ พวงมาลัยมะลิที่พิชบรรจงร้อยจึงถูกวางแนบอกซ้ายและขนหัวนมเชน ด้วยเหตุนี้พื้นที่ปลอดภัยในอดีต ที่จะได้อยู่ด้วยกันสองต่อสองในโลกที่ไม่มีใครเห็น เป็นสรวงสวรรค์ในป่ารกชัฏหลังจอมปลวกที่มีแต่เพียงเชนและพิชที่รู้จัก ทั้งคู่ใช้พร้าฟาดฟันบุกป่าหักล้างถางพง แลกมาด้วยทั้งหยาดเหงื่อแรงกายกรำแดด ก็เป็นที่ที่เดียวกับที่ลูกสาวเชนถูกงูรัดตาย
ในป่ารกร้างของชนบทไม่ว่าตรงไหนก็กินขี้ปี้นอนและตายได้ แม้แต่ข้างจอมปลวก เราจึงเห็นฉากพลอดรัก พระฉันข้าว พระนั่งเยี่ยว ซากศพเน่า ท่ามกลางธรรมชาติหมู่มวลพฤกษชาตินานาพันธุ์
ในโลกรักต่างเพศนิยม (heterosexism) และปิตาธิปไตย (patriarchy) ชายรักเพศเดียวกันถูกจัดวางให้มี ‘ความเป็นชาย’ ที่มีค่าต่ำสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตลักษณ์เกย์ที่เชื่อมโยงกับ ‘ความเป็นหญิง’ ถูกขับให้ไปอยู่ชายขอบของสังคม (marginalization) ขณะที่ ‘ความเป็นชาย’ ที่ถูกจัดวางในช่วงชั้นที่สูงสุดให้เป็น ‘ความเป็นชาย’ ที่มีอำนาจนำ (hegemony) คือกลุ่มผู้ชายที่มีอิทธิพลเหนือกว่าผู้อื่น สามารถชี้นำให้คุณให้โทษกับสังคมได้ เช่นพระ (เพราะผู้หญิงบวชไม่ได้ พระในประเทศนี้จึงโยงกับ ‘ความเป็นชาย’) และทหาร[1] เพราะ ‘ความเป็นชาย’ ที่มีอำนาจนำ (hegemony) มีสถาบันสำคัญๆ เป็นกลไกเกื้อหนุน การยืนยัน ‘ความเป็นชาย’ สูงสุดจึงต้องผ่านอำนาจรัฐและศาสนา
เหมือนในฉากบวชที่พระจะถามว่า “ปุริโสสิ ?” แล้วเชนกล่าวรับว่า “อามะ ภันเต”
ขณะเดียวกันการผจญภัย ออกเดินป่าเขาลำเนาไพร ก็เป็นการประกาศถึง ‘ความเป็นชาย’ เพราะแสดงถึงความกล้าหาญ ความอดทนเอาตัวรอด ต่อสภาวะยากลำบาก นอนกลางดินกินกลางทราย เรียนรู้ธรรมชาติ ภูเขา แมกไม้ แม่น้ำลำคลอง เผชิญหน้าและใกล้ชิดสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่รุนแรงและโหดร้ายอย่างพายุฝนและโรคภัยไข้เจ็บ เสมือนไปออกรบ ทั้งพระธุดงค์และทหารพราน จึงมีอารมณ์ “…วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า” เหมือนกัน พระป่าอย่างพระสัญชัยจึงเคยเป็นทหารกองทัพบกมาก่อน และมีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘หลวงพี่ผู้พัน’
ทว่าทหารที่ถูกส่งไปรบตามพื้นที่สีแดงก็มี ‘ความเป็นชาย’ มากกว่าพระป่า เพราะยิ่งเผชิญกับความลำบากมากเท่าใดยิ่งประกาศถึง ‘ความเป็นชาย’ ชัดเจนมากเท่านั้น และพระหาอาหารจากการบิณฑบาต อุ้มบาตรออกเดินเท่านั้น แต่ทหารต้องล่าและถืออาวุธสงครามออกรบกับข้าศึกศัตรู ทหารจึงมีอำนาจนำเหนือกว่าพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้หากพระจะบิณฑบาตจึงต้องแจ้งให้ทหารทราบก่อน
ไม่เช่นนั้นจะเหมือนพระธุดงค์ก่อนหน้าพระเชนกับพระสัญชัยที่ทะเล่อทะล่าบิณฑบาตในพื้นที่ปะทะจนโดนยิงตาย
ทหารทำให้เกิดศพจากการต่อสู้ แต่พระภิกษุแสวงหาประโยชน์จากศพด้วยการทำกรรมฐานพิจารณาซากผีตายเน่าฝึกปรือความปลงในอนิจจัง ตรงกันข้ามกับกรรมฐานการทำสมาธิของผู้ชายที่มี ‘ความเป็นหญิง’ อย่างพิชที่กรรมฐานจากหัตถกรรมบายศรี เขาเชื่อว่าการทำบายศรีสามารถเยี่ยวยารักษาอาการเจ็บป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายของเขาได้ หลังจากเลิกศรัทธาต่อวิธีการรักษาด้วยเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่และยาสมุนไพร
แม้อสุภกรรมฐาน เป็นแนวทางปล่อยวาง แบบ hard core ของพระสัญชัย พระพี่เลี้ยงพระเชนที่เคร่งจัดๆ แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ เขาเองก็กำลังดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อหลุดพ้นจากความยึดติดเช่นเดียวกับพระใหม่อย่างพระเชน เพราะทุกคนล้วนมีอดีตคอยหลอกหลอน เหมือนผีคนรู้จัก ไม่ว่าจะย้ายที่ไปไหน แม้แต่หนีเข้ารกเข้าพง มันก็ยังจะคอยติดตามเราไปทุกเมื่อ เหมือนภาพศพติดตาเวลาอสุภกรรมฐาน
‘มะลิลา’ จึงเผยให้เห็นสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ‘ความเป็นชาย’ แม้จะเป็นความเป็นชายในระดับสูงสุด ก็ต้องพยายามประกอบสร้างเช่นกัน
ไม่ได้ผุดขึ้นมาเองตามธรรมชาติหรือโชคช่วย มีการนัดแนะซักซ้อม เหมือนกับที่พระสงฆ์ต้องนัดเวลาบิณฑบาต กุลีกุจอให้ทันเวลาตามที่กำหนด แล้วไปปรับจีวรให้สุภาพก่อนจะย่างกายอย่างสงบสำรวมย่านชุมชน
ขณะเดียวกัน ‘มะลิลา’ ก็เป็นชาดกฉบับเควียร์ที่ให้โอวาท (แบบไม่เสียอรรถรสเหมือนละครหลังข่าวตอนจบ ที่ทำราวกับเขวี้ยงพระไตรปิฎกใส่หน้า) ว่าไม่ว่าจะเพศสภาพเพศวิถีใด การยึดติดในความรักความใคร่ตัณหาราคะก็นำมาซึ่งความทุกข์ ขณะเดียวกันก็สอนมนุษย์ว่าไม่ควรยึดติดกับเพศกำเนิด ไม่ว่าจะเกิดมามีอวัยวะเพศใดเพศสรีระใด ก็ใช่ว่าจะต้องยึดมั่นถือมั่นกับ ‘ความเป็นเพศ’ นั้นๆ เพราะมันก็เป็นสิ่งประกอบสร้างเช่นกัน เหมือนกับศพที่ถูกทิ้งกลางป่า จนบวมเฟะแทบแยกเพศไม่ออก ถูกแมลงกัดกินหนอนไชจนจู๋เว้าแหว่งหายไป
และโอวาทที่อรรถรสที่สุดสำหรับหนังเรื่องนี้ก็คือ ผู้ชายในเครื่องแบบมันก็ออกจะดู sexy รุนแรง พระธุดงค์เองก็เช่นกัน ทั้งจีวรเปียกฝนจน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากจบที่พี่เวียร์-ศุกลวัฒน์ ในบทพระเชนค่อยๆ เปลื้องจีวรที่ละผืนอย่างตั้งใจ เผยให้เห็นที่ละสัดส่วนของเรือนร่าง ก่อนจะเปลือยกายเดินลงสู่ลำธารเหมือนบายศรีเก่าๆ กำลังลอยน้ำ
ไม่มีความจำเป็นต้องอวยใดๆ ทั้งสิ้นสำหรับพี่เวียร์-ศุกลวัฒน์ ที่แสดงดี กล้าหาญ จนลืมไปว่าคนคนนี้เป็นดาราละครหลังข่าวช่อง 7
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Connell, Robert William. Masculinities. Berkeley : University of California Press, c1995, pp. 76-81