แม้คุณจะไม่เคยทุบใครเจ็บ แต่แน่ใจเหรอ ว่าสิ่งที่คุณกดแชร์ในโลกโซเชียลไม่เคยทำร้ายใครให้บอบช้ำ
ผู้คนที่เต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยว เปลี่ยนวัฒนธรรมออนไลน์ให้กลายเป็นพื้นที่แสดงออกทางความรุนแรง และการที่เราเฝ้ามองความรุนแรงเคลื่อนผ่านราวพายุบุแคม อาจทำให้คุณโดนลูกหลงทางอารมณ์อยู่บ้าง
บนโลกออนไลน์เต็มไปด้วยเรื่องราว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ชื่นชอบเรื่องดีๆ เพราะมีมนุษย์บางกลุ่มใช้พื้นที่อันพิเศษและรโหฐานนี้ ส่งต่อข่าวสารโดยนำมายำกับความรู้สึกให้เผ็ดร้อน เดือดดาล และกระตุ้นให้ทุกคนส่งต่อความโกรธแค้นจนคุณต้องแปลกใจว่า เอาจริงๆ ความอดทนอดกลั้นของพวกเรามีอยู่แค่ไหน และทำไมพวกเราจึงถูกชักจูงไปสู่ความเกลียดชังได้ง่ายนัก
สมรภูมิอารมณ์ที่เปลี่ยนไป
น่าสนใจว่าบุคลิกภาพสังคมอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไป จากชุมชนแลกเปลี่ยนความรู้และความสนใจ (อย่างเนิร์ดๆ) จากเมื่อ 15 ปีก่อน ที่ผู้คนร่วมกันเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้ข้อมูลลื่นไหลราวน้ำป่า (Free flow information) แต่ในระยะหลังที่ทุกคนมีศักยภาพผลิตข้อมูลโดยไม่ต้องรอ ผนวกกับการออกแบบหน้าตาของ Content ให้ ‘ปุ่มแชร์’ ปรากฏเห็นเด่นชัดขึ้น และอยู่ถัดจากสิ่งที่คุณอ่านไม่เกินคืบนิ้วมือ อนุญาตให้พวกเรา ‘เกลียดก่อน ถามทีหลัง’ ได้เสมอ
การแชร์ด้วยอารมณ์ เชื้อเชิญให้คุณไปพบกองหินนับล้านก้อนในกระบะ ทุกคนมีสิทธิหยิบจับก้อนที่ถนัด และคว้างมันไปสู่เป้าหมาย ใครกันเป็นเจ้าของความคิดอันน่าสะอิดสะเอียน นั่นไงเขาถูกฝังดินอยู่ตรงหน้า ไม่อยากขว้างหินไปกระทบเขาสักหน่อยหรือ
ใครๆ เขาก็ทำกัน
“ก็ไม่เห็นจะผิดอะไรเลยนี่”
นักจิตวิทยามองว่า ภาวะสมยอมที่ไม่ปกตินี้ เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม ‘Online inhibition effect’ หรือ การสูญเสียการยับยั้งชั่งใจในโลกออนไลน์ แม้ตัวคุณในโลกแห่งความเป็นจริงจะสุภาพและไม่เคยทำร้ายใครโดยตรง แต่เมื่ออยู่ในออนไลน์กลับแสดงความก้าวร้าว รุนแรง ทั้งๆ ที่มันสวนทางกับศีลธรรมและความเชื่ออันดีงามที่คุณมี
- Youtube พบว่า คอมเมนต์ที่มุ่งทำร้ายจิตใจ แบบฮาตกเก้าอี้ มีแนวโน้มได้รับการ Upvote ให้อยู่บนสุดเสมอ
- ใน Twitter ระบบอนุญาตให้ Tag คนที่ไม่รู้จักได้ในข้อความ ทำให้มุ่งโจมตีไปยังเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
- Facebook แม้มีความส่วนตัว แต่ยังมีช่องว่างให้กลุ่ม Stalker เข้าไปวนเวียนในพื้นที่ส่วนตัวได้
จากผลสำรวจของ Pew Researcher Center ที่ทำการสำรวจพื้นที่ออนไลน์ พบว่าวัยรุ่นในช่วงอายุ 18 – 24 ปี เคยมีประสบการณ์ถูกทำร้ายให้เจ็บช้ำน้ำใจถึง 70% จากการแชร์ไปด่า ถูกเปิดโปงเรื่องส่วนตัว และบอยคอตออกจากกลุ่มเพื่อนๆ โดยผู้หญิงมักเป็นเหยื่อมากที่สุด หญิงสาวกว่า 26% ยอมรับว่า พวกเธอถูกสะกดรอยตามและโดนล่วงละเมิดพื้นที่ส่วนตัวจากคนที่ไม่รู้จัก
ในวารสารวิชาการด้านจิตวิทยา Personality and Individual Differences พบว่า ผู้ในอินเทอร์เน็ตอย่างน้อย 5% มีอาการทางจิต อาทิ เป็นพวกหลงตัวเอง (Narcissism) มีอาการโรคจิตประเภทไซโคพาธ (Psychopathy) และ มีแนวคิดใช้ความรุนแรงแบบเผด็จการ (Machiavellianism) หรือ ชื่นชอบความรุนแรง (Sadism) ปะปนอยู่เสมอ
แต่ในชีวิตปกติ คนกลุ่มนี้สามารถจัดการตัวเองได้ดี ไม่พยายามดึงดูดปัญหา และไม่แสดงออกอย่างเปิดเผย
ส่วนกลุ่มคนที่นิยมการกลั่นแกล้ง (Trolling) ยังใช้พื้นที่ออนไลน์ในการบิดเบือน บั่นทอนความคิดของกลุ่มคนที่เป็นปรปักษ์ เป็นเรื่องปกติที่คุณจะเห็น คนที่รวมตัวกันเพื่อกีดกันคนรักร่วมเพศ กลุ่มที่มองผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาสังคม กลุ่มเหยียดเชื้อชาติ พวกชอบวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างสัดส่วน และเร็วๆ นี้ คือกลุ่มที่พยายามอ้างเรื่องปกป้องสถาบัน โดยใช้มาตรการความรุนแรง (หรือเพจนายแพทย์ทหารอะไรนั่น ที่พร้อมจัดการผู้คนแบบข้ามโลก แถมมีคนนับแสนเห็นดีเห็นงามด้วย)
ในอเมริกามีกลุ่มก่อตั้งใหม่ๆ ที่มีแนวคิดเกลียดชังสุดโต่ง อย่างในคอมมูนิตี้ Reddit มี User ที่มักสร้างบรรยากาศ ‘มาคุ’ อย่างต่อเนื่อง จนเว็บไซต์ต้องตัดสินใจปิดกลุ่มใหญ่ๆ ถึง 5 กลุ่ม หนึ่งในนั้นคือชุมชน ‘กลุ่มเกลียดคนอ้วน’ (fatpeoplehate) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 150,000 ราย โดยมีพฤติกรรมไปสรรหาภาพคนอ้วนๆ มาโพสต์ลงให้สมาชิก เหยียดหยามรูปร่าง และใส่ถ้อยคำตลกๆ ให้กลายเป็นมีม (Meme) ชวนหัวเราะ (แต่เราไม่ยักตลกแฮะ) ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ
หลังจากนั้นสมาชิกบางส่วน จะไปสรรหา Facebook ของเจ้าตัว และโพสต์ลงใน Wall เพื่อทำลายภาพลักษณ์ผู้มีน้ำหนักเกิน
“อะไรที่คุณเห็นจากฉากหน้าของ Reddit และคิดว่ามันแย่แล้ว ข้างในมันเน่าฟอนเฟะกว่า 10 เท่า”
Dan McComas อดีตลูกจ้าง ของ Reddit เคยให้สัมภาษณ์กับสื่ออย่าง Time และยอมรับว่าบางครั้ง คอมมูนิตี้ของพวกเขา ก็เป็นพื้นที่หลบซ่อนอาชญากรทางอารมณ์ที่โหยหาการทำร้ายจิตใจผู้อื่น
กลุ่มผู้สร้าง Content น้ำดี เริ่มถอยทัพ โดยเฉพาะ กลุ่มสิทธิผู้หญิง ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และศาสนาทางเลือก ลดเนื้อหาลง เพราะกลัวการถูกเป็นเป้าจู่โจม และหลีกเลี่ยงการพูดคุยประเด็นอื่นๆ
กลายเป็นว่าความเกลียดชังในมิติเดียว ลดความหลากหลายของชีวิตไปไม่น้อย เพราะไม่มีใครอยากสวนกระแสและตกเป็นเป้านิ่ง
เฟซบุ๊ก สเตตัส บอกตัวตนของคุณ
หน้า Feeds ของคุณกำลังบอกสภาวะทางอารมณ์ง่อนแง่นที่คุณมี
“ทำดีแค่ไหนก็ได้ผลเท่าเดิม”
“แม่งก็เท่านี้ล่ะว่ะ”
เครียด โกรธ ผิดหวัง เศร้าใจ หรือ ความต้องการอยากจะฆ่าใครสักคน
โซเชียล มีเดีย เป็นพื้นที่อันหลากหลายและรุ่มรวยทางความรู้สึก ในมิติของจิตวิทยาเอง ถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรชั้นดี แม้แต่ภาษาที่คุณใช้ในการโพสต์ สามารถบ่งบอกได้ถึง อายุ เพศ บุคลิกภาพ สถานภาพทางการเงิน สภาพจิตใจ หรือแม้กระทั่งสุขภาพร่างกาย นักจิตวิทยา นักสังคมศาสตร์ และนักระบาดวิทยาใช้ข้อมูลที่คุณปล่อยวันละหลายร้อยเมกะไบต์ในการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพจิตชุมชนจากระยะไกล
จากการวิจัยในหลายสิบปีพบว่า คำพูดหรือวลีติดปาก ที่คุณใช้ในชีวิตประจำวันเองหรือ โพสต์มันลงไปใน Facebook เป็นสัญญาณที่เชื่อมโยงกับสุขภาพจิต ความเครียด ทัศนคติเชิงลบ ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และอาการป่วยทางจิต
ย้อนไปปี 1990 นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Texas ในออสติน ทำสำเร็จในการพิสูจน์ว่า ถ้อยคำทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเชื่อมโยงกับสุขภาพจิต แล้วทำไมผู้คนถึงอยากเล่าเรื่องราวอันขมขื่นและบาดแผลทางจิตใจให้คนอื่นรับรู้ กระบวนการนี้เรียกว่า ‘การเขียนเพื่อถ่ายทอดความรู้สึก’ (Expressive Writing)
พวกเขาพบความเชื่อมโยงที่น่าสนใจว่า บุคคลที่กำลังมีภาวะซึมเศร้าหรือทุกข์ใจ มักใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 ในการแสดงความคิดเห็นอย่าง
“ฉัน ของฉัน ตัวฉัน จากความคิดของฉัน”
ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า สามารถเห็นแนวโน้มความผ่อนคลายมากขึ้น หากพวกเขาเริ่มใช้คำว่า
“เพราะว่า ดังนั้น แต่”
แสดงสัญญาณให้เห็นว่า พวกเขามีแนวโน้มตอบรับกับความเป็นจริงยิ่งขึ้น เป็นเหตุเป็นผล และลดความเป็นศูนย์กลางของตัวเองลง
ถึงแม้พวกเราในฐานะคนทั่วไปจะไม่ได้มีอาชีพนักจิตวิเคราะห์มืออาชีพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะละเลยสัญญาณสุขภาพจิตดังกล่าวจากเพื่อนๆ ใน Friend list หรือเจ้าของ Content ที่คุณแชร์
การเฝ้าระวังภาวะอารมณ์ของพวกเขาก่อนเนิ่นๆ โดยที่ไม่พยายามไปฟันธงแบบวินิจฉัย ทำให้เราตั้งข้อสังเกตก่อนกดปุ่มแชร์ทุกครั้ง
สังคมมนุษย์มีความผูกพันซับซ้อนระหว่างกัน มีการถ่ายเทอารมณ์ความรู้สึก จนก่อให้เกิดการกระทำร่วมที่เป็นพลวัตร (Group Dynamics) บางครั้งยอมรับว่ามันยากที่คุณจะคิดต่างและอยู่อย่างเป็นสุขท่ามกลางกระแสธารแห่งอารมณ์
คุณอาจไม่ชอบสิ่งที่สังคมคิด หรือความเกลียดชังที่ไม่รู้จะพาคุณไปไหน
แต่คุณเลือกได้ที่จะไม่ส่งต่อมัน การไม่ตั้งคำถามกับอารมณ์เลย ทำให้คุณอาจเป็นอาชญากรทางอ้อม และลงมือขว้างปาหินแห่งความเกลียดชังต่อไปโดยไม่รู้ตัว
เราต้องการกระบวนการทางสังคม ที่ลดความกำแพงระหว่าง ‘เรา’ กับ ‘เขา’
โดยไม่สูญเสียความงดงามและเอกลักษณ์ตัวตนเดิมที่มี
อย่างไรก็ตามใน Newsfeeds คุณยังมีเรื่องดีๆ ที่ทำให้ยิ้มได้ไม่ใช่เหรอ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Linking Social Media and Medical Record data : BJM Quality & Safety