กระแสตื่นตัวที่ผลักดันให้กัญชาจากที่มองว่าเคยเป็น ‘ยาเสพติด’ ให้เป็น ‘ยา’ ซึ่งคนทั่วไปควรมีสิทธิพื้นฐานในการใช้รักษาตัวเอง และปลดล็อคให้มีการศึกษาอย่างแพร่หลายที่จะนำไปสู่การใช้อย่างถูกต้อง
จากการสำรวจในปัจจุบันมีคนไทยแอบใช้กัญชาราว 2 ล้านคน แต่มีการขึ้นทะเบียนถูกต้องเพียงระดับหมื่นคนเท่านั้น
อีกทั้งมีกระแสข่าวที่จะ ‘นำเข้า’ กัญชาจากต่างประเทศ ทำให้เกิดความเป็นห่วงว่าจะเป็นการผูกขาดกลุ่มทุน ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการปลูก พัฒนาสายพันธุ์ มีกระบวนการผลิตที่เหมาะสม จนกระทั่งการใช้ในเชิงการแพทย์ แต่อาจติดกริดล็อกทางข้อกฎหมายที่ต้องนำเข้าเนื่องจากปริมาณกัญชาในประเทศไม่เพียงพอ
จากการสัมมนาในงาน ‘Young Smart Farmer SHOWCASE’ วันที่ 23 พ.ค. 2562 ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช ที่เน้นเรื่องการผลักดันให้กัญชาเป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาโรค และควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการปลูก สกัด และใช้เพื่อรักษาบำบัดตัวเอง ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจใหม่ๆ ของกัญชาในทางการแพทย์ที่น่าอัพเดท
“กัญชาทำงานกับร่างกายแบบวงดนตรีออเครสตร้า มีสารสำคัญหลายชนิดที่ทำงานควบคู่กันในร่างกายของมนุษย์ แต่ผมยืนยันเสมอว่า กัญชาควรเป็นยาเสริมที่ใช้ในการรักษาโรค ต้องควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน ห้ามทิ้งเด็ดขาด แต่ที่ผ่านมากัญชาผูกขาดติดกับกลุ่มทุน แทนที่ประชาชนควรมีสิทธิใช้เพื่อการพึ่งพาตนเอง กัญชาเป็นยา”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ กล่าว
ในการประชุมผู้เชี่ยวชาญยาเสพติด Expert Committee on Drug Dependence โดย WHO มีความพยายามให้กัญชาออกจากการเป็นสารเสพติด โดยแยกการศึกษาระหว่างสารหลัก 2 ตัว คือ THC (Tetrahydrocannabinol) ที่แม้จะมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรค แต่มีโทษแฝงทำให้มีอาการเกี่ยวกับระบบทางประสาท มึนเมา จึงต้องมีการควบคุมในการใช้อย่างเหมาะสม นักวิจัยจึงให้ความสนใจสาร CBD (Cannabidiol) ที่ไม่มีฤทธิ์ในการเสพติด แต่มีคุณสมบัติในการรักษา ไม่ทำให้มึนเมา ซึ่งมีโอกาสใช้งานทางการแพทย์ได้มากขึ้น
ปัจจุบันนักวิจัยไทยสามารถควบคุมสารสกัดของ THC และ CBD ในสัดส่วนที่ต้องการได้ แต่ไม่สามารถผลิตในการจำหน่ายได้จากข้อบังคับทางกฎหมาย
โรคที่กัญชาใช้รักษา
เป็นที่รู้ดีว่า กัญชาสามารถรักษาโรคทางประสาทได้ ในประเทศยุโรปเองก็ไม่มีการจำกัดว่าต้องใช้กัญชากับโรคใดจำเพาะ แต่ให้อยู่ในวิจารณญาณของแพทย์เป็นผู้กำหนด “ผมอยากให้มองการใช้กัญชาเป็นศิลปะ ไม่เหมือนกับยาแผนปัจจุบัน ไม่มีสูตรการใช้ตายตัว ขึ้นอยู่กับแต่ละคน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กล่าว
เด็กที่เป็นโรคลมชักชนิดรุนแรงที่ชักวันละ 400 ครั้งต่อวัน พบว่าสาร CBD ช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้มากขึ้น ในกลุ่มชมรมใต้ดินที่มีการใช้กัญชากับเด็กสมองพิการ ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากยากันชักที่มีราคา 8,000 บาทต่อเดือน
กลุ่มโรคอาการแข็งเกร็ง และการบิดของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการผิดปกติของสมอง ความผิดปกติของไขสันหลัง รวมถึงความผิดปกติของเด็กหลังคลอดที่มีอาการสมองพิการหรือมีการเจริญเติบโตผิดปกติ เป็นกลุ่มที่ได้รับกัญชาแล้วอาการดีขึ้น ส่วนในผู้สูงอายุใช้ลดความเจ็บปวดทรมาน จำพวกข้ออักเสบ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ ซึ่งที่ผ่านๆ มาผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องใช้ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์รุนแรง
กัญชานำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาอาการหดหู่ และซึมเศร้าได้ เพราะการใช้ในปริมาณที่น้อยมากจะส่งผลให้แคนนาบินอยด์ในร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติ โดยเฉพาะการนำมาช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากโรค เสริมสร้างแคนนาบินอยด์เพื่อช่วยปรับสภาวะทางอารมณ์ และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องรักษาไปควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่กัน
แต่อย่างไรก็ตามกัญชายังมีข้อห้ามใช้กับกลุ่มคนที่เป็นโรคจิต schizophrenia หรือโรคจิตเภท ซึ่งกัญชามีฤทธิ์ทางจิต
กัญชาทำให้คนเกิดอาการทางจิตหรือไม่
ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่มากที่กัญชาจะทำให้คนมีอาการทางจิตหรือไม่ จากรายงานล่าสุดในวารสาร Annals of Internal Medicine ในเดือนมีนาคม 2562 พบว่า อาการทางจิตจากการเสพกัญชานั้นเกิดขึ้นได้ ซึ่งผู้เสพใช้การกินหรือหยดน้ำมันใต้ลิ้นแบบ Overdose แทนที่จะเป็นการสูบในปริมาณพอเหมาะ เพราะกัญชาออกฤทธิ์ช้า โดยจะออกฤทธิ์ได้ตั้งแต่ 1 – 4 ชั่วโมง ผู้เสพจึงหยดซ้ำๆ เพื่อเร่งการออกฤทธิ์ ทำให้มีแนวโน้มได้รับสารในปริมาณสูงเกินไป เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้กับผู้เสพที่มีความโน้มเอียงเป็นโรคจิตอยู่แล้ว แต่ไม่มีรายงานกับคนที่มีจิตใจปกติ
สาร CBD (Cannabidiol) จึงได้รับการพูดถึงกันมากขึ้น เมื่อ CBD มีคุณสมบัติไปช่วยปรับความเข้มข้นของฤทธิ์ THC และช่วยเพิ่มสาร Anandamide ที่มีอยู่ในร่างกายของมนุษย์ สาร CBD มีส่วนช่วยลดการเกิดโรคประสาทหลอนได้ในระดับหนึ่ง
โรงงานกัญชาในร่างกายมนุษย์
ในร่างกายของเราเองนั้นก็มีกัญชาอยู่แล้ว เรียกว่าเป็นระดับโรงงานก็ว่าได้ ซึ่งเรียกว่า ‘Cannabiniod Receptor’ ที่ไม่จำเป็นต้องรับกัญชาจากภายนอก แต่จากภายในร่างกาย เช่น การออกวิ่งแล้วรู้สึกแจ่มใส กินช็อคโกแล็ตแล้วเบิกบาน ระบบนี้จะทำงานตามปกติจนกระทั่งร่างกายเจ็บป่วยเรื้อรัง ร่างกายจะร้องขอจากภายนอกเพิ่ม สารตัวนี้มีตัวรับสัญญาณที่อยู่คนละส่วนกับระบบประสาท เป็นตัวรับสัญญาณที่ทำหน้าที่ต่างกัน นี่เป็นสิ่งที่ต่างจากสารสื่อประสาทตัวอื่นๆ สิ่งที่เราทำคือเราไปกระตุ้นร่างกายว่าเราสร้างสารกัญชาน้อยไป ร่างกายก็จะจัดการเอง
การใช้กัญชาสามารถปรับใช้กับการแพทย์แผนไทยได้ โดยนำสมุนไพรไทยที่เราสามารถปลูกได้อยู่แล้ว มาประยุกต์ใช้เป็นตำรับยา เพื่อรักษาโรค ก็จะเกิดประโยชน์ในการรักษา มีหลักฐานปรากฏใน ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ 5 กัญชาเป็นยาฤทธิ์เย็น แก้อาการนอนไม่หลับ แก้วาโยธาตุกำเริบ ซึ่งมีการตีความของคำว่า ‘วาโยธาตุกำเริบ’ ทางการแพทย์หมายถึง ลมชัก พาร์กินสัน และไมเกรน ที่น่าสนใจคือตำรับยาโบราณจะใช้พริกไทยที่เป็นฤทธิ์ร้อน เสริมระบบภูมิคุ้มกันในระหว่างที่กัญชากดภูมิคุ้มกันเมื่อนอนเกินเวลาที่เหมาะสม ศาสตร์ความรู้โบราณจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน
มีตัวเลขจากการสำรวจด้านการรักษาพบว่า ในประเทศที่มีอนุญาตให้กัญชาเป็นตัวยาสำหรับการรักษาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถลดการใช้มอร์ฟีนเพื่อการรักษาลงถึง 30% เนื่องจากสามารถใช้สารจากกัญชา เพื่อทดแทนการรักษาอาการเจ็บปวดด้วยมอร์ฟีนได้ โดยที่ร่างกายจะได้รับผลข้างเคียงน้อยลง
อีกด้านที่ต้องระวังของกัญชา
การใช้สารสกัดกัญชาในทางการแพทย์ไม่มีสูตรตายตัว ดังนั้นแพทย์จะต้องวิเคราะห์ว่าสารสกัดจากกัญชา จะตอบสนองกับตัวรับกัญชาภายในร่างกายของผู้ป่วยอย่างไร เพื่อให้สารกัญชาสามารถสั่งระบบประสาทเพื่อการรักษา ได้อย่างเหมาะสมตามอาการของโรค
การนำไปใช้แบบผิดวิธีเป็นเรื่องที่อันตราย เช่น การหยดกัญชาใต้ลิ้นเกินขนาด บางครั้งอาจไม่ออกฤทธิ์ทันที ซึ่งอาจจะหน่วงเวลาได้ถึง 2 ชั่วโมง และทำให้เกิดอาการมึนเมา ความดันตก ชีพจรต่ำผิดปกติ อาจวูบจนถึงขั้นอันตรายต่อชีวิตได้
การใช้กัญชาอย่างต่อเนื่อง หรือ ใช้มากกว่า 100 วันต่อปี จะเป็นการเสพติดจนเกิดโทษได้ ซึ่งหากมีการติดกัญชามาก อาจทำให้เกิดอาการทางจิต หรือ อาจจะกลายเป็นโรคจิตได้ หากว่ามียีนเด่นบางชนิดที่อยู่ในร่างกายที่มีส่วนให้กระตุ้นเป็นบุคคลไม่สมประกอบได้ เช่น NCAM1, CADM2, SCOC และ KCNT2 ดังนั้น การใช้กัญชาจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนใช้
การใช้สารสกัดจากกัญชาที่ขาดการควบคุมให้ได้มาตรฐาน จะทำให้เกิดผลเสีย เนื่องจากการวิจัยสารสกัดจากกัญชานั้น จะเน้นสกัดสาร CBD ซึ่งเป็นสารบริสุทธิ์ และส่งผลข้างเคียงน้อย จนทำให้สามารถฉีดเข้ากระแสเลือดเพื่อการรักษาได้ โดยให้ผลข้างเคียงน้อยกว่าสาร THC ที่เข้าสู่ร่างกายแล้วจะเกิดอาการมึนเมา และมีผลข้างเคียงที่อันตราย
การประยุกต์ใช้กัญชาอย่างขาดความรู้ความเข้าใจ เช่น การนำไปสกัดเองเพื่อกิน หรือทาภายนอกในอัตราส่วนที่เกินขีดจำกัดที่ร่างกายสามารถรับได้ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย ระบบประสาททำงานผิดปกติ จนอาจทำให้เป็นอัมพาต ชีพจรต่ำจนถึงขีดอันตราย และเสียชีวิตได้
บทสรุปแล้วก็คือ ‘กัญชา’ ที่เป็นพืชสมุนไพรสุดฮอตในตอนนี้สามารถให้อะไรกับเราได้ทั้งคุณประโยชน์และโทษที่ถึงชีวิต ดังนั้น การใช้กัญชาควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้กัญชานี้ทำเพื่อประโยชน์ทางการรักษาจริงๆ ซึ่งนับเป็นความหวังสำคัญ สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญกับโรคร้ายในปัจจุบัน เช่น ลมชัก พาร์กินสัน มะเร็งท่อน้ำดี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยปลดล็อคให้งานวิจัยไทยที่ค้นพบสารสกัดจากกัญชา ได้ใช้ปัญญาจากการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการผลิตตัวยารักษาชีวิตคนไทยได้อีกมากมาย และโบนัสคือการลดภาระจากต้นทุนยารักษาที่นำเข้าจากต่างประเทศได้อีกมหาศาล
ขอบคุณข้อมูลจากการสัมมนาเชิงวิชาการ
Young Smart Farmer SHOWCASE ม.สุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) จ.นนทบุรี