กลิ่นในค่ำคืนของเยาวราชช่างหลากหลายเหลือเกิน
ทั้งกลิ่นพริกไทยจากร้านกวยจั๊บน้ำใส กลิ่นน้ำเชื่อมจากร้านน้ำแข็งไสสักร้านหนึ่ง กลิ่นเครื่องเทศแห้งๆ ที่ผสมเข้ากับฝุ่นอันเกาะติดอยู่บนชั้นวางเก่าเก็บในร้าน กลิ่นควันจากร้านอาหารข้างทาง กลิ่นจากรถยนต์ที่ประดับป้ายไฟนีออนสีแดงและจอดแน่นิ่งอยู่บนถนน กลิ่นน้ำขังในซอยมืด กลิ่นกองขยะข้างเสาไฟ หรือกลิ่นฝูงชนเดินเบียดกันแน่นขนัด ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นที่ดีหรือแย่ ทั้งหมดนั่นคือกลิ่นของย่านเยาวราช ซึ่งหากเราถูกปิดตาแล้วนำตัวไปไว้ ณ ตรงนั้น เราก็คงรู้ได้ทันทีว่าเราอยู่ที่ไหน
แม้แต่ห้วงเวลาไร้กลิ่นจากการเดินหลบเลี้ยวเข้าซอยเล็กๆ ไร้คนเดินถนน ส่วนหนึ่งของความทรงจำอย่างร้านค้า หรือควันบุหรี่ของคนคนหนึ่ง แม้เราจะไม่ชอบ แต่หากมันถูกผูกเข้ากับห้วงอารมณ์ที่เราอยากถนอมเอาไว้ กลิ่นและห้วงอารมณ์เหล่านั้นย่อมอาศัยอยู่ในใจเรา เพื่อรอวันที่จะตื่นขึ้นมาพบว่าเขาคนนั้นไม่อยู่กับเราแล้ว คงเหลือไว้เพียงคนแปลกหน้าที่เดินผ่านเราไป และบังเอิญสูบบุหรี่รสเดียวกันกับเขาก็เท่านั้น
กลิ่นไม่ใช่แค่กลิ่น เพราะภายใต้กลิ่นเหล่านั้น ยังมีอะไรสักอย่างซ่อนเอาไว้อยู่เสมอ หลากหลายกลิ่นที่ควบรวมเป็นภาพจำของเราต่อสถานที่ กลิ่นควันบุหรี่ที่ปกติเราไม่ชอบ แต่กลับทำให้นึกถึงจูบแรก หรือกลิ่นน้ำหอมกลิ่นเดิม ที่กลับไม่เหมือนเดิมเมื่อมันไม่ได้อยู่บนผิวของคนที่เราคุ้นเคย ดังนั้น กลิ่นจึงเป็นดั่งพาหนะของความทรงจำ สำหรับบางความทรงจำก็สามารถหวนกลับมาแม้ไม่ได้ขอด้วยกลิ่นที่เราคุ้นเคย
อย่างนั้นแล้วกลิ่นและความทรงจำเชื่อมโยงกันยังไง? ทำไมการรับรู้ถึงกลิ่นสามารถทำงานได้ไว และลงลึกไปยังความรู้สึกได้มากกว่าประสาทสัมผัสที่ชัดเจนกว่ามัน?
มนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และวิธีที่เราได้กลิ่นนั้นเกิดจากสิ่งที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดต้องทำ นั่นคือการหายใจ เมื่อโมเลกุลอากาศลอยผ่านการกรองแล้ว พวกมันจะพบกับเยื่อบุผิวรับกลิ่น (Olfactory Epithelium) ในจมูกของเรา ซึ่งมีเซลล์ประสาทที่ส่งสัญญาณให้โมเลกุลกลิ่นที่เราดมนั้นไปสู่สมองของเรา โดยมีความแตกต่างจากประสาทสัมผัสอื่น เช่น การมองเห็น หรือการได้ยิน ที่มีเส้นทางการเดินทางของกลิ่นไปยังระบบประสาทส่วนกลางก่อน แต่กลิ่นจะเดินทางไปยังระบบลิมบิก (Limbic System) ทันที
การเดินทางไปยังระบบลิมบิกโดยตรงนี้ ทำให้การได้กลิ่นนั้นทำงานไวกว่าประสาทสัมผัสอื่นๆ เนื่องจากมันไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางที่จะจำแนกแจกจ่ายไปยังส่วนต่างๆ ของสมอง นั่นคือเหตุผลว่าเมื่อเรากลิ่นของควันไฟหรือซากศพ ก็สามารถทำให้เราเปลี่ยนโหมดตัวเองเข้าสู่การเอาตัวรอดได้ โดยที่เราไม่ต้องมองเห็นจุดกำเนิดของกลิ่นเหล่านั้นด้วยซ้ำ เพราะระบบลิมบิกประกอบไปด้วย
- ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลต่างๆ ในร่างกายของเรา เช่น ความหิวโหย อุณหภูมิร่างกาย ความดันเลือด ฯลฯ
- อะมิกดาลา (Amygdala) ทำหน้าที่ประมวลผลอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ โดยประมวลพฤติกรรมที่นำมาซึ่งความกลัว การลงโทษ และการได้รับรางวัล เรียกว่าเป็นส่วนที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์อย่างมาก
- ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ทำหน้าที่จดจำสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา รวมไปถึงการสร้างและเก็บความจำเชิงประกาศ (Declarative Memory) ที่เราสามารถหยิบขึ้นมาใช้ได้เมื่อต้องการ
เมื่อเราแจกแจงออกมาเช่นนี้แล้ว จึงทำให้เห็นถึงที่มาของจุดเชื่อมโยงสำคัญระหว่างกลิ่น ความทรงจำ และความรู้สึก เพราะว่าการเดินทางของกลิ่นผูกติดโดยตรงกับชิ้นส่วนในสมองที่ควบคุมพฤติกรรม ความรู้สึก และความทรงจำของเรานั่นเอง
แม้ว่าร่างกายจะเชื่อมโยงกลิ่นต่ออะไรสักอย่างจากการอยู่รอด และเราแต่ละคนก็มักซ่อนอะไรบางอย่างไว้ในกลิ่นโดยไม่รู้ตัวด้วยเหตุผลอื่นอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็พบได้จากการทดลองที่ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวชื่อ Neuroimaging evidence for the emotional potency of odor-evoked memory โดยเรเชล เฮอซ์ (Rachel Herz) นักวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยบราวน์ ที่วัดคลื่นสมองของผู้หญิงกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5 คน ระหว่างกำลังดมกลิ่นน้ำหอมจำนวนมาก
ในจำนวนของน้ำหอมเหล่านั้น มีทั้งน้ำหอมทั่วไปที่กลุ่มตัวอย่างอาจจะหรืออาจจะไม่เคยได้กลิ่น และมีน้ำหอมที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับอดีตและความทรงจำในแง่บวก ซึ่งผลการทดลองพบว่า เมื่อพวกเธอได้กลิ่นน้ำหอมที่มีประสบการณ์ด้านบวก การทำงานของคลื่นสมองในกลุ่มตัวอย่างทั้ง 5 คนนั้นจึงสูงกว่าการได้กลิ่นน้ำหอมที่ไม่เคยได้กลิ่น โดยการกระตุ้นความทรงจำจากกลิ่นดังกล่าวเรียกว่า Proustian Moment เป็นห้วงความทรงจำที่เราไม่ได้ตั้งใจหยิบขึ้นมา แต่กลับผ่านมาอย่างรั้งไว้ไม่ได้ด้วยการได้รับกลิ่น
อย่างไรก็ดี ความทรงจำจากกลิ่น ไม่ได้เป็นความทรงจำที่แม่นยำมากเท่าไรนัก งานวิจัย Does exposure to ambient odors influence the emotional content of memories? โดยคีเนีย คาสเตลาโนส์ (Kenia Castellanos) นักวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เขาศึกษาผลของกลิ่นต่อการประกอบร่างภาพความทรงจำวัยเด็ก พบว่าเมื่อมีกลิ่นน้ำหอมที่เชื่อมโยงกับความทรงจำของกลุ่มตัวอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ความรู้สึกในแง่ลบของห้วงเวลาเหล่านั้นของพวกเขาจะลดลงไปด้วย
ฉะนั้น แปลว่าข้อเท็จจริงของความทรงจำจากกลิ่น จึงคล้ายกับการ Romanticize ห้วงเวลาหนึ่งในชีวิต มากกว่าการจดจำแบบแม่นยำ
คำถามที่ต้องเกิดขึ้นถัดไปคือ ถ้าหากว่ากลิ่นเกี่ยวข้องกับการจดจำแล้ว การไม่ได้กลิ่นจะเกี่ยวข้องกับการลืมได้ด้วยหรือเปล่า? ในปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวข้องกับผลกระทบทางใจของการสูญเสียกลิ่นไม่มากนัก แต่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับคนที่มีอาการไม่ได้รับกลิ่น เนื่องจากการระบาดของโควิด-19
หนึ่งในงานวิจัยเหล่านั้นคือ Anosmia in COVID-19 could be associated with long-term deficits in the consolidation of procedural and verbal declarative memories โดยทาเนียร์ ยาน่า (Tania Llana) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอเวียโด งานวิจัยดังกล่าวพบว่า ผู้ป่วย Long-Covid มีโอกาสที่จะรวบรวมความทรงจำ และเรียกใช้ความทรงจำชัดแจ้งช้ากว่าคนที่ไม่ป่วย มากไปกว่านั้นยังค้นพบว่า กลุ่มผู้มีอาการไม่ได้รับกลิ่นจะสามารถทำทั้ง 2 อย่างข้างต้นได้ช้าที่สุด ซึ่งช้ากว่าผู้ป่วยที่สามารถรับกลิ่นได้เป็นธรรมดา
จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าการไม่ได้กลิ่น อาจจะเกี่ยวข้องกับการลบเลือนอะไรบางอย่างในชีวิตของเราไปก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม การลืมไม่ใช่ผลกระทบเดียวของการไม่ได้รับกลิ่น เพราะในงานวิจัยชิ้น Assessing the Impact of Anosmia: Review of a Questionnaire’s Findings โดยสตีฟ ฟาน โทลเลอร์ (Steve Van Toller) คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยวาร์วิก ยังพบผลกระทบในแง่ลบอื่นๆ ด้วย
งานวิจัยพบว่า ผลกระทบแง่ลบของกลุ่มตัวอย่างผู้สูญเสียความสามารถในการรับรู้กลิ่น นำไปสู่ความรู้สึกไม่ปลอดภัยทางใจ กาย และสังคม ซึ่งมาจากความไม่สามารถพึ่งพาสัมผัสการดมกลิ่น ในการเป็นปราการแรกของการเตือนภัย รู้สึกไม่อาจรับรสอาหารได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากรสชาติของอาหารส่วนมากก็มาจากกลิ่น และสุดท้ายคือขาดความเป็นที่เข้าใจโดยคนรอบข้างที่มีจมูกดีและได้รับกลิ่นเป็นปกติ
ฉะนั้น ถ้าอยากจะลบใครสักคนออกจากความทรงจำด้วยการไม่ได้กลิ่นละก็อย่าพยายามเลย เพราะการไม่ได้กลิ่นมีผลกระทบเยอะกว่าที่คิด และเราอาจไม่รู้เลยว่าจะต้องใช้ชีวิตยากขนาดไหน
อ้างอิงจาก