ในแต่ละวันเราอาจกินปลาเนื้อฉ่ำหรือกุ้งตัวอวบอย่างเอร็ดอร่อย โดยไม่รู้มาก่อนว่ากว่าจะมาถึงจานของเรา เกษตรกรต้องผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกับความเสี่ยงจากสภาพน้ำมากขนาดไหน เพราะหากอุณหภูมิหรือค่าความเป็นกรด-ด่างในน้ำเปลี่ยนไปเพียงนิดเดียวอาจทำให้สัตว์น้ำตายยกบ่อ ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นหลักแสนหรือหลักล้านบาท
นี่คือปัญหาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำกว่า 90% เคยประสบ แอพพลิเคชั่น เล่นน้ำ ที่ใช้ตรวจสอบคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์จึงเกิดขึ้น
อานนท์ บุณยประเวศ เริ่มต้นโปรเจกต์นี้ตั้งแต่สามปีที่แล้ว เมื่อเขายังเรียนอยู่คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยเขาเริ่มจาก เล่นดิน เครื่องมือตรวจสอบคุณภาพดิน แต่เมื่อพบว่าเราเป็นห่วงแต่สภาพดินอย่างเดียวไม่ได้ เล่นน้ำ จึงเกิดขึ้น ภายใต้แบรนดิ้งใหญ่ที่มีชื่อว่า Tech Farm ซึ่งพัฒนามาจากไอเดียบนเวทีประกวด จนถึงตอนนี้อานนท์ได้พาตัวเองเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพอย่างเต็มตัว
“ในตลาดส่งออกสัตว์น้ำ เราอาจจะแข่งขันกับประเทศอื่นในแง่ปริมาณผลผลิตได้ยาก ผมเลยอยากให้เกษตรกรไทยเล่นเรื่องคุณภาพมากกว่า”
ผลิตภัณฑ์ของเขาจึงไม่ได้ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำตายไป แต่ยังช่วยให้เกษตรกรเพิ่มคุณภาพของผลผลิตได้ด้วย
“พูดง่ายๆ เช่น ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่มักเจอปัญหากุ้งตัวเล็กในฤดูหนาว เพราะน้ำเย็นทำให้กุ้งอยู่นิ่ง และกินอาหารน้อย ดังนั้นถ้าพวกเขาใช้เครื่องมือนี้ในการตรวจสอบและควบคุมอุณหภูมิของน้ำให้เหมือนในฤดูร้อนได้ก็จะทำให้ได้กุ้งตัวใหญ่ในฤดูหนาว” อานนท์เล่าให้ฟังด้วยตาเป็นประกาย
สิ่งที่เขามีให้ลูกค้าคือตัวเครื่องตรวจสอบที่เอาไว้ติดตั้งในบ่อน้ำ และเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นในมือถือได้อย่างง่ายดาย มีทั้งแบบลอยน้ำ 24 ชั่วโมงที่ชาร์ตแบตฯ อัตโนมัติด้วยโซลาร์เซลล์ และแบบพกพาที่สามารถนำไปตรวจได้หลายๆ บ่อ พร้อมบอกอุณหภูมิรวมถึงค่าความเป็นกรด-ด่างในบ่อได้อย่างแม่นยำ และหากสภาพน้ำเปลี่ยนไปในเวลากลางคืน แอพฯ ก็จะส่งเสียงเตือนให้แก้ปัญหาได้อย่างทันการ
“ถ้าพูดถึง smart farm คนจะนึกถึงสายระโยงระยาง มีมูลค่าเป็นแสนเป็นล้าน เราปฏิเสธตรงนั้น เรามองว่า smart farm ไม่จำเป็นต้องแพง มันควรมีเครื่องมือที่ทุกคนเข้าถึงได้ เราเลยออกแบบให้ใช้ง่ายในราคาแค่หลักพันบาท” เขาเล่าพร้อมกับเอาเครื่องมือขนาดพกพาออกมาให้เราดู
ตลอดเวลาที่พูดคุย อานนท์ทำให้เราเชื่อว่าความหวังของเกษตรกรไทยมีอยู่จริง เขาบอกว่าการเกษตรกับเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องห่างไกลกัน ลูกค้าของเขาเข้าถึงสมาร์ตโฟนและพร้อมจะใช้มันเพื่อพัฒนาการเกษตรของตัวเองเสมอ หน่วยงานภาครัฐเองก็ให้ความสนับสนุน เขายืนยันว่าทุกฝ่ายต่างเหนื่อยและพยายาม นั่นทำให้เขาเองไม่คิดจะหยุดยั้งในการใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ด้วยเช่นกัน
จากคอลัมน์ Start Up โดยฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์
giraffe magazine 46 – Pet Issue