“ทำไมมันซับซ้อนจังวะ?” .. มันต้องมีสักครั้งแหละที่คุณเคยหลุดคำนี้ออกมา (หรืออาจจะบ่อยๆ ด้วยซ้ำ)
ทั้งที่คอนเซปต์ ‘มินิมอล’ หรือการพยายามทำอะไรให้เรียบง่ายที่สุด ดูเหมือนจะเป็นตัวเลือกที่น่าจะดีสำหรับชีวิตเรา แต่ดูสิ่งที่เราทำกันทุกวันนี้สิ ตั้งแต่เรื่องเรียน เรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องภาษี ไปจนถึงเรื่องสุขภาพ การติดต่อต่างๆ หรือโครงสร้างการบริหารประเทศ ฯลฯ ล้วนแต่ซับซ้อนจนหลายครั้งเรารู้สึกต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่าย และพลังงานมากมาย
บางทีเราอาจจะโทษใครไม่ได้หรอก “เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะทำเรื่องอะไรๆ ให้ยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น” นี่คือข้อสรุปจากงานวิจัยล่าสุดของทีมนักวิจัยจาก University of Virginia ที่ทำการวิจัยโดยการสังเกต (observational study) และการทดลองหลายต่อหลายครั้ง จนค้นพบถึงพฤติกรรมบางอย่างของคนเราที่ชวนให้ฉงนใจว่า “จริงเหรอ? เรา ‘เยอะ’ กันขนาดนี้จริงๆ เหรอ?”
หนึ่งในการทดลองของทีมวิจัย คือการให้ผู้เข้าร่วมช่วยหุ่น Storm Trooper จากตึกเลโก้ที่กำลังจะถล่ม โดยลักษณะของตึกนั้นคือมีหลังคาที่มีเสายกระดับค้ำอยู่เพียงแค่เสาเดียว (ดูในภาพ) ผู้เข้าร่วมจะต้องทำให้หลังคานี้มั่นคงขึ้น และจะได้รับเงิน 1 ดอลลาร์กลับบ้านไป โดยที่สามารถใช้ตัวเลโก้เพื่อต่อเพิ่มเติมได้ แต่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มชิ้นละ 10 เซนต์
ถ้าเป็นคุณจะทำอย่างไร?
จริงๆ แล้ววิธีที่ง่ายและ (ราคา) ถูกที่สุด คือการถอดเสาค้ำยกระดับอันเดียวอันนั้นออกไปซะ แล้วปล่อยให้หลังคาร่วงลงมาติดกับตัวอาคารไปเลย แต่ปรากฎว่า 60% ของผู้เข้าร่วม เลือกที่จะเติมเสาค้ำให้ครบทั้ง 4 ด้านแทน เพื่อให้เสาค้ำที่เป็นฐานมีความมั่นคงมากขึ้น มากกว่าที่จะถอดเสาค้ำด้านเดียวนั้นออก จนเมื่อทีมวิจัยได้ทำการกระตุ้น (nudge) ด้วยการบอกว่า “การถอดตัวเลโก้ออกนั้นจะไม่เสียค่าใช้จ่ายนะ” จึงมีผู้เข้าร่วมคิดถึงทางเลือกนี้มากขึ้น
ทีมวิจัยได้ลองทำการทดลองในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้กับกลุ่มผู้เข้าร่วมอีกหลายครั้ง โดยจุดร่วมของปัญหาคือ “ทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านั้นดีขึ้น?” ไม่ว่าจะเป็นให้ปรับแก้บทความให้น่าอ่านขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วม 80% เลือกที่จะเติมคำเข้าไปมากกว่าที่จะตัดคำฟุ่มเฟือยออก หรือให้ลองปรับภาพด้านล่างนี้ให้สมมาตร กลายเป็นว่าคนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะเติมสี่เหลี่ยมเข้าไปอีก 3 ด้าน มากกว่าที่จะลบสี่เหลี่ยมมุมซ้ายออก รวมถึงการให้ปรับแก้สูตรอาหาร ตารางเที่ยว หรือการสร้างสนามกอล์ฟ ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่เลือก ‘เพิ่ม’ มากกว่า ‘ลด’ เพื่อแก้ปัญหาทั้งนั้น
ทีมวิจัยยังได้ลองเอาโจทย์ในลักษณะนี้ไปใช้กับสถานการณ์ในชีวิตจริง อย่างการให้ผู้นำองค์กรลองระดมไอเดียจากทีมงานว่า “จะพัฒนา/เปลี่ยนแปลง …(บางอย่าง)… อย่างไร?” ปรากฏว่าคำตอบที่ได้มาเป็นการ ลด : เพิ่ม บางอย่าง ในสัดส่วน 1 : 8 โดยประมาณ
ทีมวิจัยนี้ จึงสรุปจากการทดลองหลายๆ ครั้งได้ว่า คนเรามักมีแนวโน้มที่จะทำเรื่องอะไรต่อมิอะไรให้ซับซ้อนกว่าที่ควรจะเป็น เพราะการพยายามต้องคิดหาทางออกที่ง่ายกว่า (simplify) ให้กับสิ่งต่างๆ หรือการหาทาง ‘ลด’ ยิ่งเพิ่มภาระให้สมองเราทำงาน (cognitive load) และทำให้เราต้องใช้ความพยายามมากกว่านั่นเอง
ทีมวิจัยพยายามอธิบายพฤติกรรมนี้ว่า มันมาจากความคิดแวบแรก (heuristics) ของคนเรา ซึ่งความคิดแวบแรกของเราเมื่อถูกถามว่า “จะพัฒนา/เปลี่ยนแปลง …(บางอย่าง)… อย่างไร?” มักจะเป็นการตั้งคำถามต่อว่า “ฉันจะเพิ่มอะไรได้อีก?” มากกว่าที่จะถามว่า “มีอะไรที่ฉันลดหรือเพิ่มได้บ้าง?” โดยสิ่งหนึ่งที่อธิบายความคิดนี้ได้นั้นคือ การที่เราเชื่อมโยงการเพิ่มหรือเติมอะไรบางอย่าง กับการได้แสดงออกว่า “ฉันได้มีส่วนร่วม ฉันได้ทำบางอย่างให้เกิดขึ้น ฉันได้สร้างแล้ว” และเป็นความจริงที่ว่าคนแบบนั้นมักได้รับการชื่นชมมากกว่า
การที่คนเราปักใจเชื่อและตัดสินใจไปตามความคิดแวบแรก (heuristics) มันก็อาจจะได้ผลดีในหลายๆ กรณี และการ ‘เพิ่ม’ ก็ไม่ได้มีข้อเสียเสมอไป แต่ข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้ก็อาจชวนให้เรากระตุกคิดก่อนตัดสินใจได้ว่า หลายๆ กรณีเหมือนกันที่การทำอะไรให้ง่าย (simplify) อาจจะได้ผลลัพธ์ดีกว่า ดูอย่างเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือสิ ถ้าสตีฟ จ๊อบ เลือก ‘เพิ่ม’ เพื่อแก้ปัญหา เราก็คงพกพาสิ่งเหล่านี้ไปไหนมาไหนไม่ได้แบบทุกวันนี้ หรือการลองคิดถึงวิธี ‘ลด’ ดูบ้าง ก็ทำให้ Marie Kondo หรือ Muji สร้างแบรนด์จากความน้อยได้เหมือนกัน
ในระดับที่ใหญ่ไปกว่านั้น ในองค์กร สังคม หรือประเทศ เราอาจลองมองหาวิธีการ ‘ลด’ ทอน หรือทำอะไรๆ ให้เรียบง่าย (simplify) ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาที่แก้ไม่ตก อย่างเช่นการลดขั้นตอน ลดระบบเอกสาร หรือลดกฎกติกาต่างๆ (แทนที่จะไปตั้งคณะทำงานหรือออกกฎเพิ่มเพื่อลดปัญหากฎเดิม) ซึ่งยังช่วยลดต้นทุน ลดเวลา และลดภาระได้ด้วย
ชีวิตเราแต่ละคน มีเรื่องซับซ้อนมากพออยู่แล้ว อย่าคิดแต่จะไป ‘เพิ่ม’ อะไรให้ซับซ้อนไปกว่านี้ แต่ลองคิดหาวิธี ‘ลด’ ทอนหรือมองหาทางแก้ปัญหาแบบอื่นดูบ้าง
อ้างอิงจาก
- https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2021-04-24/research-shows-why-simplifying-is-hard-and-complicating-is-easy
- https://www.nature.com/articles/s41586-021-03380-y
- https://news.virginia.edu/content/when-it-comes-problem-solving-new-uva-study-finds-less-more
- https://grist.org/science/subtraction-climate-change-freeways-problem-solving