พอแปะยี่ห้อว่า ‘เพื่อสุขภาพ’ แล้วไซร้ จะเป็นเงินทองเท่าไหร่ก็ยอมเสีย ความสมบูรณ์ของร่างกายเรียกคืนไม่ได้ หากจ่ายด้วยเครดิตผ่านก็โอเค้!
ความเชื่ออันฝังรากลึกของปัญหาสุขภาพไทยที่ผลักดันให้เราต้องทำงานเยอะๆ เพื่อจ่ายประกันสุขภาพดีๆ จะได้มีโอกาสเข้ารับการรักษาที่ดีที่สุดจากโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ แม้ใบเสร็จค่ารักษาจะยาวเป็นหางว่าวงู (ที่หากเอาไปติดจริงๆแล้วคงแล่นลมดีพิลึก) จ่ายจนหน้าซีดก็ยังไม่มีใครเคยกล้าถามตรงๆว่า
“ค่ารักษาที่ว่ามา จำเป็นแล้วไหมคุณหมอ?”
จากการผ่าตัดไส้ติ่งง่ายๆ ที่นักศึกษาแพทย์ชั้นปี 6 สามารถทำหัตถการได้ แต่หมอแนะนำให้คุณทำ CTscan (Computed Tomography) ก่อนเพื่อความแม่นยำดุจจับวาง แต่ไหงผลออกมาบอก “มองไม่เห็น” เสียเวลารอผล เสียเวลาเดินทางไป-กลับ กระตุ้นให้ไส้ติ่งแตกรอนๆ แถมซ้ำยังเพิ่มเป็นรายจ่ายให้กับเจ้าเครื่อง CTscan อีกครั้งละ 3,000 บาท โดยทำให้คุณเสี่ยงเป็นมะเร็งอีกขั้น ครั้นจะถามหมอว่าจำเป็นไหม ก็กลัวจะเป็นการหมิ่นวิชาชีพกันให้ขัดข้องหมองใจกันเปล่าๆ
“ต่อไปคุณต้องถามหมอ คุณต้องสงสัยหมอให้มากๆ
“คุณรู้ไหมเครื่อง CTscan ที่โรงพยาบาลซื้อมา ส่วนใหญ่ไม่จำเป็น แต่หากตั้งทิ้งไว้อย่างนั้นก็เสียผลประโยชน์โรงพยาบาล เขาจึงพยายามให้คุณใช้พวก CTscan MRI หรือ PET/CT ที่มีราคาเป็นร้อยล้านขึ้นไป ทุกโรงพยาบาลอยากมีเพื่อความเป็นเลิศ ซึ่งเราควรมาดูต่างหากว่าโรงพยาบาลระดับไหนควรมี และระดับไหนไม่ควรมี ไม่ใช่ทุกที่ต้องมี มิฉะนั้นงบประมาณสาธารณสุขลงมาขนาดไหนก็ไม่พอ เพราะทุกที่อยากมี และประชาชนทั่วไปอย่างพวกคุณก็ต้องแบกรับภาระท้ายสุด”
ไม่ใช่เรื่องปกติที่คุณจะได้ยินหมอวิพากษ์วิจารณ์แวดวงหมอด้วยกันอย่างออกรส The MATTER ได้รับโอกาสพิเศษสัมภาษณ์ ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้เป็นแพทย์โดยสายเลือด แต่มองอย่างนักเศรษฐศาสตร์ถึงระดับโครงสร้าง ที่ออกมาตีแผ่แวดวงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ในไทยที่มักมีลับลมคมในและเกี่ยวพันกับบริษัทยารายใหญ่จากผลประโยชน์ทับซ้อน ที่น้อยคนจะกล้าพูดถึง
ปัญหาบ้านเรารุนแรงหนัก คุณมักได้ยินข่าวโรงพยาบาลขาดทุน แต่การขาดทุนมี 2 แบบ คือ ‘เงินไม่พอจริงๆ’ กับ ‘เอาไปซื้อในของไม่จำเป็น’ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกรายงานว่าทุกประเทศทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทย) มีสิ่งที่เรียกว่า ‘การลงทุนขยะ (Wasted Investment)’ ถึง 1 ใน 5 ของงบประมาณระบบสุขภาพ หรือคิดเป็น 1แสนล้านต่อปีจากงบประมาณ 5 แสนล้าน
เป็นการลงทุนที่ไม่ได้ประโยชน์ ซึ่งล้วนจมไปกับเครื่องมือแพทย์และยาสารพัด
ดร.นพ.ยศกล่าวเปิดประเด็นสู่ข้อสงสัยหลายๆ อย่างที่สังคมตั้งคำถาม ทั้งการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ของไทย ทำไมไม่เคยเพียงพอ ปัญหาการขึ้นทะเบียนบัญชียาหลักแห่งชาติที่ต้องตบตีกับบริษัทยาที่มักเสนอราคาแบบแพงลิบหวังขูดเลือดขูดเนื้อ และทำไมพอถึงเวลาโรงพยาบาลประกาศว่า เครื่องมือแพทย์ขาดแคลน ใครๆ ถึงเชียร์ให้ดาราออกมาวิ่งเพื่อจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ หรือปัญหาบ้านเรา เอาเข้าจริงๆ แก้ได้ด้วยเพียง ‘จิตศรัทธากับมาราธอน’ แค่นั้นหรือ?
เทคโนโลยีแพงอาจไม่จำเป็นทุกครั้ง
ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ในอดีตเคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา เห็นธรรมชาติที่ผันแปรด้วยอำนาจเงินตราในระบบสาธารณสุขไทยเป็นอย่างดี จึงตัดสินใจมองปัญหาให้เห็นภาพกว้างขึ้นจากโครงสร้างทางพื้นฐานสังคม โดยก่อตั้ง โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ให้ข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจด้านนโยบายของหน่วยงานต่างๆ ในระดับประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์
อะไรคุ้ม ไม่คุ้ม ซื้อดี ไม่ซื้อดี HITAP จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากใช้งบประมาณ
แต่เรื่องสุขภาพเป็นสิ่งละเอียดอ่อน เพราะนโยบายสุขภาพนั้นหากตัดสินใจไปแล้ว ก็เหมือนกำหนดความเป็นความตายของชีวิตคนเป็นล้านๆ ในสังคมโดยปริยาย ซึ่งบางครั้งการเข้าไปตรวจสอบก็มักถูกมองว่าจ้องจะไปจับผิดวงการเสื้อกาวน์เสียมากกว่า
“เราไม่ได้ทำแบบลักษณะตำรวจจับผู้ร้าย เพราะบางทีคุณก็ไม่ชอบตำรวจ แต่เนื่องจากเรามีเทคโนโลยีอยู่มาก ที่ส่วนหนึ่งก็มีประโยชน์ แต่อีกมากก็ไม่มีประโยชน์ เรามองเทคโนโลยีสองแง่ ทั้งแง่บวกและลบ หากไม่มีการประเมินเลย เราอาจใช้เวลา 10–20 ปี กว่าจะยอมรับเทคโนโลยีนั้นได้ ป้องกันของที่มันไม่มีประโยชน์ กับพยายามดึงของที่มีประโยชน์อยู่แล้วให้ใช้ได้เร็วขึ้น
“ยกตัวอย่าง ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบเรื้องรังชนิดซี (Chronic hepatitis C) สมัยก่อนไม่มีใครคิดว่าควรจะให้สิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนกระทั่งเราไปทำวิจัยว่าหากคุณจ่ายเงินไปวันนี้จัดซื้อยามารักษา คุณใช้เงินน้อยกว่าเทียบกับปล่อยให้ผู้ป่วยกลายเป็นเป็นมะเร็งตับในอนาคต ดังนั้นการลงทุนถึงจะคุ้มค่า เราจึงทำงานร่วมกันกับแพทย์คือ ชมรมแพทย์ แพทย์เองรู้ว่ายาหรือมีเครื่องมืออะไรใหม่ ก็นำมาเสนอให้ HITAP ช่วยประเมิน เราทำงานคู่กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกมิติ”

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ความไฟแรงของคุณหมอยศ ทำให้โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ HITAP เป็นที่ยอมรับโดยใช้เวลาเพียง 10 ปี จนได้รับรางวัลเมธีวิจัยอาวุโส จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. หรือ TRF) ที่คัดเลือกเพียงงานวิจัยที่สามารถเปลี่ยนกระบวนทัศน์สังคมแบบพลิกฝ่ามือเท่านั้น (Paradigm Shift) ถึงจะอยู่ในทำเนียบนี้ได้
เพราะปัญหาจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่เรื้อรัง ท้ายสุดมันสะเทือนกระเป๋าตังค์ของพวกเราอย่างเจ็บปวด ก็ภาษีคุณทั้งนั้นนี่ ดีไม่ดีทำคุณตายอีกต่างหาก
ความสัมพันธ์ลับๆ ของหมอและพริตตี้บริษัทยา
เมื่อ 100 ปีที่แล้ว วงการแพทย์เป็นวิทยาศาสตร์ที่เน้นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่ตอนนี้วงการแพทย์เปลี่ยนไปมีความมุ่งหวังเพื่อค้าทำกำไรด้วย ผู้ทรงอิทธิพลในวงการแพทย์ตัวต้นๆ คือบริษัทยา บริษัทเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก
ข้อมูลจากทั่วโลกพบว่าธุรกิจยาเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ทำกำไรมากที่สุด มากกว่าธุรกิจพลังงาน ธุรกิจสื่อสาร
บริษัทยาขนาดใหญ่ปิดบังข้อมูลผลเสียของยา แอบอ้างสรรพคุณยาที่เป็นเท็จเพื่อหวังทำกำไรให้มากที่สุด และยังพบว่าบริษัทยาเหล่านี้ไปจ่ายเงินให้กับแพทย์ที่เป็นผู้สั่งยาทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกด้วย
คุณหมอยศเล่าให้เราฟังว่า “ก่อนที่จะมีการประเมินความคุ้มค่านั้น ในเกือบทุกประเทศจะใช้กลไกของแพทย์ที่มีความรู้ ซึ่งแพทย์ก็ต้องคอยหาความรู้ และเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนไข้ แต่เทคโนโลยีและนวัตกรรมยาแต่ละวันมันเยอะมาก อ่านยังไงก็ไม่ไหว แพทย์เลยต้องฟังจากเพื่อนเอา และเพื่อนส่วนใหญ่ก็ดันเป็น ‘ตัวแทนบริษัทยา (Drug representative)’ มีหน้าที่โปรโมตยาตัวใหม่ๆ
“แต่ทำไปทำมา มันมีแรงจูงใจ ทำให้แพทย์ตัดสินใจโดยไม่ได้เป็นตัวแทนของคนไข้ พูดตรงๆ แพทย์กับบริษัทเอกชนก็มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างส่วนตัว สมัยก่อนผู้แทนยาจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์เช่น เภสัชกร พยาบาล เดี๋ยวนี้ผู้แทนยาเป็นพริตตี้ คุณลองไปสังเกตโรงพยาบาลใหญ่ๆ นะ จะมีคนกลุ่มหนึ่งแต่งตัวสวยๆ ถือกระเป๋ากระดาษใบใหญ่ๆ สังเกตง่าย บนกระเป๋ามีตัวอักษรภาษาอังกฤษ
“บางทีแพทย์กับตัวแทนบริษัทยาสนิทกันมากไป แพทย์เองก็ไม่แคลงใจ ไม่หาข้อมูลต่อ ก็เพราะแพทย์เองก็ยุ่งหัวปั่นอยู่แล้วในแต่ละวัน (ผู้เขียน : คุณก็เห็นข่าวหมอตายนี่) ลืมไปว่าคนที่มาเล่าสรรพคุณยาไม่ใช่เพื่อนอย่างเดียว แต่เป็นผู้แทนยาด้วย มีผลประโยชน์ทับซ้อน เขาพาคุณไปประชุมต่างประเทศ ให้นั่ง Business class ผมเคยไปประชุมองค์การอนามัยโลก WHO บริษัทยาพาอาจารย์แพทย์เหมาลำนั่ง Business class ซึ่งมันอาจจะไม่ได้เป็นการรับเงินตรง แต่เป็นการหยิบยื่นผลประโยชน์ให้”
ในปี 2011 เกิดเรื่องใหญ่ของวงการยาโลก เมื่อบริษัท Merck ปิดบังข้อมูลยาแก้ปวด Vioxx ที่กำลังอยู่ในช่วงขายดี ซึ่งแพทย์ไทยก็สั่งยาชนิดนี้ให้กับคนไข้มากมาย ทั้งๆ ที่บริษัทรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่ายานี้สามารถส่งผลข้างเคียงทำให้คนไข้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้มีคนเสียชีวิตไปหลายพันคนจากสาเหตุที่ป้องกันได้ จึงถูกปรับเป็นเงินถึง 950 ล้านเหรียญ
“ยา Vioxx ตอนนั้นไอเดียมันดี กินแล้วอาการข้างเคียงน้อย แก้ปวดและไม่ต้องกังวลเรื่องปวดท้อง ยาแพงกว่ายาแก้ปวดปกติ 10 เท่า เราก็ว่าควรจะมียาตัวนี้ในโรงพยาบาลบ้าง จะได้จ่ายให้กับข้าราชการ นายอำเภอ แพทย์สั่งจ่ายยาตัวนี้ให้ข้าราชการเป็นว่าเล่นเลย แม่ผมไปหาหมอก็ได้ Vioxx มา
“หลังจากนั้น 3-4 ปี เริ่มมีรายงานว่าคนที่กินยาตัวนี้มีอาการหัวใจวายตาย จนมีคนตั้งข้อสังเกตแล้วขอข้อมูลบริษัทยามาตรวจสอบ ล่าสุดมีวิจัยว่าคนกินยา Vioxx จะมีอาการสัมพันธ์กับการหัวใจวาย แต่บริษัทยาปกปิดข้อมูล ยาขายดีไปทั่วโลกกำไรปีละหมื่นล้านสหรัฐ
“ยิ่งเราทำงานไปเรื่อยๆ จะรู้ว่ามันมียาใหม่ๆ ที่ถูกถอนออกจากตลาดเยอะมาก เพราะจริยธรรมของนักวิจัยมันน้อย พวกบริษัทกลุ่ม Big Pharma มันปกปิดเยอะมาก หลอกลวงแพทย์และคนไข้ให้ใช้ยาพวกนี้ ทุกบริษัทมีประวัติอันไร้จริยธรรมอย่างรุนแรง”
‘วิ่ง’ เพื่อเครื่องมือแพทย์

ภาพ : มติชน
ปีที่แล้วปรากฏการณ์ฮือฮา เมื่อ ตูน บอดี้สแลม วิ่งมาราธอน 10 วันจาก กรุงเทพถึงโรงพยาบาลบางสะพาน เพื่อระดมทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ถึง 63 ล้านบาท แม้เหตุการณ์ครั้งนั้นจะช่วยโรงพยาบาลจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ได้ แต่ยังมีโรงพยาบาลอีกมากมายที่ขาดเครื่องมือแพทย์
หรือต่อไปปัญหานี้จะถูกแก้ได้ด้วยศรัทธาและมาราธอนแค่นั้นหรือ?
“มันมองได้ 2 อย่าง โรงพยาบาลบางแห่งผมเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าขาดแคลนจริงๆ แต่บางที่อยากได้เงินมาซื้ออุปกรณ์ไม่จำเป็น คุณเคยเห็นโรงพยาบาลเอกชนไหม เขามักแข่งกันว่าใครมีเครื่องมือใหม่แห่งเดียวในประเทศ มันเป็นความภาคภูมิใจ บางครั้งต่อให้มันขาดทุน มันก็ต้องยอมมี ยกตัวอย่างเครื่องมือแพทย์ที่แพงที่สุดในโลก ในบ้านเราก็มีชื่อ PET/CT Scan (Positron Emission Tomography/Computed Tomography) มันเป็นภาคต่อของ CTscan ใช้สารกัมมันตรังสีฉีดเข้าไปในเส้นเลือดคุณ เซลล์ตรงไหนที่มันมีการอักเสบหรือมีเนื้องอกอยู่มันจะมีสีออกมาได้ ปกติทำ CT จะมีแค่ขาวดำ
“เราวิจัยมา ตอนนี้มีเครื่องนี้ในประเทศไทย 6 เครื่อง ซึ่งงานวิจัยเราบอกว่า 4 เครื่องก็พอแล้ว ไม่ต้องมีมากกว่านี้ ไม่งั้นขาดทุน (ขาดทุนได้ถึงวันละ 1 แสนบาท จากค่าบำรุงรักษา) เครื่องละ 350 ล้าน แล้วมันถูกบวกเพิ่มในค่ารักษาพยาบาล”
“หากมันออกรูปแบบนี้ แล้วมาบ่นว่า ‘โรงพยาบาลเจ๊ง’ ผมว่ามันก็น่าจะปล่อยให้เจ๊งไป อยู่ในสังกัดโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเหมือนกันในกรุงเทพ ทำไมไม่แบ่งกันใช้ เอาจริงๆ ไอ้เครื่อง PET/CT Scan มีคนใช้บริการ 8 คนขึ้นไปต่อวันถึงจะไม่ขาดทุน แต่ที่วิจัยมามันมีกันแค่ 2–3 คนต่อวัน
“คิดดีๆ ว่าแบบนี้ควรสนับสนุนไหม บางแห่งโรงพยาบาลเล็กๆ อยากได้ CTscan ทั้งๆ ที่ไม่มีความสามารถในการผ่าตัดสมอง”
ผู้ป่วยต้องมีส่วนร่วม คุณต้องกล้าถาม หมอต้องกล้าตอบ
จะให้วงการยากับโรงพยาบาลตีวงแคบคลุกวงในอย่างไร คนที่รับผลกระทบขั้นปลายสุดก็คือพวกเราเอง ยังไงชีวิตเราต้องเกี่ยวโยงกับสาธารณสุขวันยังค่ำ และได้รับผลกระทบโดยตรงจากการประเมินเทคโนโลยีและการตัดสินใจเชิงนโยบาย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดว่าผู้ป่วยจะสามารถได้รับบริการหรือเข้าถึงเทคโนโลยีนั้นๆ ได้หรือไม่ ต้องเสียค่าบริการหรือรัฐจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายให้มากน้อยเพียงใด การมีส่วนร่วมของผู้ป่วยหรือตัวแทน จะทำให้เกิดมุมมองในการประเมินที่กว้างขึ้น ส่งผลให้เทคโนโลยีนั้นๆ ได้รับการยอมรับมากขึ้น
หมอยศกล่าวว่า “ถ้าคุณอยากจะเริ่มเปลี่ยน ต่อไปคุณต้องกล้าถามหมอ โดยมีคำถามเบื้องต้น 5 คำถาม
- เมื่อแพทย์จะสั่งให้คุณทำอะไร ถามเลยว่าจำเป็นไหมที่ต้องทำแบบนี้?
- ที่หมอกำลังทำ มีความเสี่ยงอะไรไหมต่อคุณ?
- หากทำไปแล้วมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ไหม?
- มีวิธีการอย่างอื่นที่ปลอดภัยกว่าไหม?
- จะเกิดอะไรขึ้น หากคุณไม่ทำ ?
หากหมอที่กำลังจะฉวยโอกาสได้ยินคำถามเหล่านี้ พวกเขาจะชะงัก และจะต้องไปหาคำตอบมาให้คุณ
“คุณก็เคยได้ยินว่า ‘ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic)’ เป็นสาเหตุของเชื้อดื้อยา แต่คนไข้แค่เจ็บคอ ชอบมาขอยาปฏิชีวนะ หมอก็ยุ่งขี้เกียจมาตอบคำถาม และกลัวจะโดนมองว่าไม่ใส่ใจ ก็เลยติดนิสัยจ่ายยาปฏิชีวนะให้กิน แล้วต่อไปมันสร้างปัญหาระยะยาวกับคุณ แต่หากคุณถาม 5 ข้อกับผม ในฐานะหมอก็สบายใจแล้ว เพราะเอาเข้าจริงๆ คุณกลับไปพักผ่อนมากๆ สัก 2 วันก็น่าจะหาย หากไม่ดีขึ้นค่อยมาหาผม แล้วคนไข้จะได้ตระหนักรู้ข้อเสียและความปลอดภัย”
ก่อนหมดเวลา เราถามคำถามสุดท้ายกับคุณหมอยศ “มีอะไรที่ทำให้หน่วยงาน HITAP ของคุณหมอทำงานง่ายขึ้นบ้าง?”
“ถ้าอยากให้พวกเราทำงานได้ดีที่สุด อย่ามายุ่งกับผมเลย สำคัญที่สุดคือ HITAP ต้องเป็นอิสระ ก็ต้องขอบคุณกระทรวงสาธารณะสุขที่ผู้บริหารเขาไม่ค่อยมาล้วงลูกกับเรามาก
“เราเป็นอิสระจากการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่รับทุนจากบริษัทที่แสวงหากำไร แล้วก็ต้องพยายามทำงานอย่างโปร่งใส คุณเข้าไปดูเว็บไซต์เราทุกอันมีรายงาน มีเอกสารทุกขั้นตอน แม้กระทั่งรายงานการประชุมเรา เราไปประชุมอะไรที่ไหน อะไรกับใครก็จะมีหมด”
วงการแพทย์ยังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมาก หรือสิ่งที่รู้มีข้อมูลข้อเท็จจริงอยู่แล้วก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด งบประมาณการแพทย์เต็มไปด้วยพื้นที่ผลประโยชน์ทับซ้อนที่สูญเสียไปกับความว่างเปล่าและความเคยชินของระบบราชการ
‘หมอ’ ที่กล้าให้คุณตั้งคำถามกับหมอมากๆ อาจจะไม่เจอได้บ่อยๆ หากมีโอกาสต้องล้มหมอนนอนเสื่อ อย่าลืม 5 คำถามที่แนะนำโดย ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ คุณหมอหนุ่มผู้มุ่งมั่นต่อการพัฒนาระบบสุขภาพของคนไทย
ขอขอบคุณ
ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP
ฝ่ายสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
The Thailand Research Fund (TRF)