โชคดีแค่ไหนที่เกิดมาในยุควงการแพทย์เจริญก้าวหน้าแล้ว ถ้าให้ย้อนกลับไปรับประสบการณ์พบแพทย์ของบรรพบุรุษคุณ การไปหาหมอเพียงสักครั้งก็อาจส่งคุณลงหลุมด้วยโอกาส 50/50 หรือมากกว่านั้น (นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่หลายคนยังกลัวหมออยู่)
มีการพบหลักฐานทางโบราณคดีอายุราว 7,000 ปีก่อนว่า หมอชาวบ้านยุคบุกเบิกฝนหินคมๆ เพื่อเปิดกะโหลกของคุณออก เพียงต้องการลดอาการปวดหัว เอาชิ้นส่วนกะโหลกออก หรือเปิดเป็นช่องให้วิญญาณชั่วร้ายออกจากร่าง (อื้อหือ!) ซึ่งอุปกรณ์หินดังกล่าวเป็นเครื่องมือแพทย์ชิ้นแรกๆที่บ่งบอกหลักฐานว่า ‘มนุษย์กำลังพยายามต่อกรกับความเจ็บปวดของชีวิต’ ตั้งแต่ยุคหินใหม่ (Neolithic) เลยด้วยซ้ำ
ย้อนกลับมาปัจจุบัน แม้คุณจะเชื่อว่าการแพทย์ของเราไปไกลกว่ายุคหิน แต่หมอก็ยังอยากเปิดกะโหลกคุณอยู่ดี! (แต่อาจใช้วิธีนุ่มนวลกว่าหน่อย) แพทย์ยังจำเป็นต้องผ่าเปิดกะโหลกศีรษะเพื่อลดความดันในกะโหลกที่เรียกว่า Decompressive Craniectomy เพื่อบรรเทาภาวะเลือดออกในสมอง
‘ความเก่า’ ล้วนส่งต่อสู่ ‘ความใหม่’ ถ้าคุณไม่รีบไปไหน มาพบกับ 7 เครื่องมือหมอยุคบุกเบิกที่ปัจจุบันยัง ‘จำเป็น’ ต้องใช้ ซึ่งหากไม่มีมัน คุณอาจจะไปเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้แล้ว หวังว่าคุณไม่กลัวการไปหาหมอนะ!
1. เข็มฉีดยา (Hypodermic Needle)
อันดับ 1 ของคนที่กลัวหมอ เพราะเขาไม่อยากเจอเข็ม แต่ต้องทำใจหน่อยนะ เพราะแพทย์จำเป็นต้องเข้าถึงเส้นเลือดคุณไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ซึ่งก่อนหน้านี้ล้วนเต็มไปด้วยความเสี่ยง พอจะยุ่งอะไรกับเส้นเลือดก็มักมีอัตราการตายสูงตามมา
จนกระทั่งปี ค.ศ. 1844 แพทย์ชาวไอริช Francis Rynd ฝนเหล็กให้เป็นแท่งที่มีความแหลมคม เจาะเข้าไปในผิวหนังเบิกทางส่งของเหลวเพื่อทำการรักษา ต่อจากนั้นเข็มยุคบุกเบิกก็ค่อยๆ มีส่วนประกอบของหลอดแก้ว ท่อโลหะ ลูกสูบ โดยแพทย์คนอื่นๆ มาร่วมกันออกแบบเพิ่มเติม จนมีหน้าตาเป็น ‘เข็มฉีดยา’ ที่คุณคุ้นเคยอยู่ทุกวันนี้
สถิติระบุว่า มีการใช้เข็มฉีดยามากถึง 2 ล้านล้านเข็มต่อปีทั่วโลก ตั้งแต่ใช้เพื่อฉีดยาปฏิชีวนะ ฉีดสารระงับปวด ฉีดวัคซีน ฉีดยาชา ฉีดยาต้านการแข็งตัวของเลือด ฉีดอินซูลีน สิ่งเหล่านี้จัดในหมวด ‘ถูกกฎหมาย’ และยังมีแบบผิดกฎหมายอีกเพียบที่สาธยายได้ไม่ได้หมดจากศักยภาพของเข็มฉีดยา
2. หนอน (Maggots)
อุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่จำเป็นจะต้องเป็นวัตถุสิ่งของ แต่อาจเป็น ‘สิ่งมีชีวิต’ ดิ้นได้ มนุษย์ใช้ ‘หนอน’ (Maggots) ในการรักษามาช้านานตั้งแต่อารยธรรมมายาจวบจนชนเผ่าอะบอริจินในออสเตรเลีย พวกเขาใช้หนอนดุ๊กดิ๊กในการจัดการกับเนื้อตายและแผลติดเชื้อ แพทย์สนามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ยังเลี้ยงหนอนเหล่านี้ไว้เพื่อรักษาทหารในสงคราม ความตะกละตะกลามของพวกมันมีประโยชน์น่ะสิ!
หนอนทำหน้าที่ได้ดีในการต่อกรกับเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะที่รักษาไม่หาย ทุกวันนี้สถานบริการพยาบาลในสหรัฐอเมริกากว่า 800 แห่ง ยังใช้หนอนเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาแผลเรื้อรังจากเชื้อแบคทีเรีย ‘สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส’ (Staphylococcus aureus) ที่ต่อต้านยาเมทิซิลลิน (methicillin) ใช้รักษาโรคเท้าเน่าในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน และโรคแบคทีเรียกินเนื้อที่รักษาด้วยสารเคมีไม่ได้ผล
3. ปากกาเคมี (Permanent Marker)
แพทย์ผ่าตัดในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้มีมือนิ่งดุจ ‘หมอแปลก จอมเวทย์มหากาล’ (Dr. Strange) การผ่าตัดยังมีโอกาสผิดพลาดสูง มีงานวิจัยสำรวจว่า แพทย์ผ่าตัดในสหรัฐอเมริกายังมีโอกาสผิดพลาดถึง 20 กรณีต่อสัปดาห์! เพราะความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยในการผ่าตัด สามารถสร้างปัญหาสุขภาพตามมาเป็นพรวน
บางครั้งปากกาที่เขียนอะไรทื่อๆ ก็ทำให้มีดหมอเที่ยงตรงมากขึ้น แพทย์ใช้ ‘ปากกาเคมี’ (Permanent Marker) เพื่อระบุจุดที่แพทย์จะต้องทำการผ่าตัดบนตัวผู้ป่วยก่อนขึ้นเตียง ช่วยทำให้แพทย์ลงมีดได้ถูกตำแหน่งมากยิ่งขึ้น
จากงานวิจัยของ American Academy of Orthopaedic Surgeons เผยสถิติอันน่าตื่นตะลึงว่า การที่แพทย์ใช้เพียงปากกามาร์กเกอร์ก่อนผ่าตัดก็มีส่วนช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในห้องผ่าตัดได้ถึง 62% เลยทีเดียว
4. สเต็ตโทสโคป (Stethoscope)
ราวกับเป็นเครื่องประดับของแพทย์ แต่หมอทุกคนก็ไม่ได้คล้องสเต็ตโทสโคปอยู่ตลอดเวลาเหมือนในละครสักหน่อย ปฏิเสธไม่ได้ว่า เจ้าหูฟังสเต็ตโทสโคปเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของแพทย์ชิ้นหนึ่งไปแล้ว
ย้อนไปในอดีต หมอจะต้องเอาหูไปแนบกับบริเวณทรวงอกของผู้ป่วยเพื่อทำการวินิจฉัยปอดและการเต้นของหัวใจ นายแพทย์ชาวฝรั่งเศส René Laennec พบว่าการฟังเสียงปอดและหัวใจช่วยทำให้พบความผิดปกติของร่างกายได้ แต่ก็ทำไม่ได้ง่ายนักเพราะผู้ป่วยบางคนที่อ้วนท้วนก็มีชั้นไขมันที่หนาจนเกินไป หรือการที่หมอแนบหูไปที่ทรวงอกของผู้ป่วยหญิงก็เป็นภาพที่น่าครหาอยู่สักหน่อย
ดังนั้นเอง ‘สเต็ตโทสโคป’ (Stethoscope) ชิ้นแรกจึงถูกสร้างขึ้นมาอย่างหยาบๆ ในปี ค.ศ. 1816 เพื่อทำให้แพทย์ทำงานสะดวกขึ้น แม้มันจะให้เสียงที่ไม่ชัดเจนมาก แต่หลังจากถูกพัฒนาอยู่อีกหลายสิบปีจนกระทั่งปี ค.ศ. 1850 แพทย์ก็เริ่มคล้องเจ้าสิ่งนี้ในโรงพยาบาลจนเป็นสัญลักษณ์ในที่สุด
สเต็ตโทสโคปช่วยให้แพทย์จับความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต การทำงานของปอด นักประวัติศาสตร์การแพทย์ Jacalyn Duffin กล่าวว่า สเต็ตโทสโคปสร้างนิยามของการแพทย์สมัยใหม่ ที่ไม่ว่าจะกี่ร้อยปีมันก็ยังจำเป็นอยู่ที่แพทย์จะขอฟังเสียงการทำงานในร่างกายคุณ
5. เครื่องชำระเลือดผ่านเยื่อกรอง (Dialysis Machine)
การที่มานั่งคิดว่า วันหนึ่งเครื่องจักรจะเข้ามาทดแทนอวัยวะสำคัญของมนุษย์เป็นเรื่องสุดเพ้อฝันในอดีต แต่ปัจจุบันนี้ความคิดนี้กลับเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว ซึ่งหากไม่มีเครื่องมือที่สามารถทำงานทดแทนอวัยวะที่ล้มเหลว คุณก็อาจเสียชีวิตโดยไม่มีโอกาสครั้งที่สอง
เรามักคุ้นเคยกับเครื่องล้างไต หัวใจและปอดเทียม ซึ่งเป็นของสุดจำเป็นในโรงพยาบาล แต่หากย้อนกลับไปปี ค.ศ. 1940 แพทย์เริ่มเห็นความเป็นไปได้ที่จะนำเครื่องจักรมาทดแทนการทำงานของอวัยวะสำคัญของร่างกาย ไม่ว่าจะปอด ไต หัวใจ แม้เครื่องรุ่นบุกเบิกเหล่านี้จะมีขนาดใหญ่โตจนคุณเดินเหินไปไหนไม่ได้ แนวคิดนี้กลับส่งต่อให้เกิดการสร้างอวัยวะทดแทนที่สามารถเข้าไปอยู่ในร่างกายของมนุษย์ที่เหมือนกับอวัยวะชิ้นเดิมของคุณ (และอาจทำงานได้ดีกว่าในบางมิติ)
ผู้คนในสหรัฐอเมริการอดชีวิตราว 500,000 คนในทุกๆ ปีจากเครื่องจักรที่ช่วยชีวิต ซึ่งเพิ่มอัตรารอดชีวิตสูงขึ้น 57% เมื่อเทียบกับการไม่มีเลย เครื่องกู้ชีวิตยังมีความจำเป็นมาก แต่ยังเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงซึ่งไม่สามารถมีได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง
6. รถพยาบาล (Ambulance)
เสียง “หวอออออ” ทำให้ทุกคนต้องหยุดและใส่ใจ มันคือเสียงแห่งความฉุกเฉินที่มีความเป็นความตายเป็นเดิมพัน
รถพยาบาลคันแรก (เรียกว่าเป็น ‘เกวียน’ จะดีกว่า) มีอายุกว่า 2,100 ปี เป็นฝีมือออกแบบโดยชาวแองโกล-แซกซัน (Anglo-Saxons) มีลักษณะเป็นเปลที่มีล้อเกวียนใช้คนลากส่งผู้ป่วย
รูปแบบของมันแทบไม่ได้เปลี่ยนไปเลย จนกระทั่งปี ค.ศ. 1952 เกิดเหตุการณ์สยองขวัญเมื่อรถไฟชนกันในอังกฤษ (Harrow and Wealdstone rail crash) มีผู้เสียชีวิตกว่า 112 ราย โดยส่วนใหญ่ตายเพราะไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปถึงโรงพยาบาลได้ทันเวลา สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวอังกฤษ จนรัฐบาลต้องคิดกลยุทธ์ใหม่ในการส่งผู้ป่วยให้รวดเร็วที่สุด
นั่นจึงเป็นที่มาของรถพยาบาล (Ambulance) ทำให้เกิดนิยามของโรงพยาบาลสมัยใหม่ที่ต้องพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง การรักษาหรือประคับประคองอาการก็ควรเริ่มตั้งแต่ล้อหมุนอยู่บนถนน
รถพยาบาลคันแรกที่ทำหน้าที่อย่างเต็มตัวในปี ค.ศ. 1968 ในเมือง Jacksonville ตั้งแต่มีรถพยาบาลประจำการเพียง 3 ปี อัตราการเสียชีวิตของผู้คนในเมืองลดลงถึง 24% ปัจจุบันเรามีทั้งเรือ ทั้งเฮลิคอปเตอร์ที่พร้อมส่งแพทย์ไปยังจุดเกิดเหตุที่สามารถตัดสินชีวิตได้
ถ้าคุณได้ยินเสียงหวอรถพยาบาล อย่าลืมให้ทางพวกเขาด้วยล่ะ
7. เครื่องกระตุกหัวใจ (Defibrillator)
ทำหัวใจที่หยุดเต้นกลับมาฟื้นได้ใหม่เป็นเรื่องใหญ่ แพทย์ค้นพบความเป็นไปได้ที่จะกระตุกหัวใจคุณด้วยไฟฟ้ามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 (และแนวคิดนี้ไปปรากฏในนิยายเขย่าขวัญของ Mary Shelley เรื่อง แฟรงเกนสไตน์)
สิ่งมีชีวิตตัวแรกที่ถูกกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าสำเร็จคือ ‘สุนัข’ โดยการทดลองของนายแพทย์ 2 คนจากมหาวิทยาลัย University of Geneva ส่วนในกรณีมนุษย์คือเด็กชายอายุ 14 ปี ชื่อ Claude Beck ที่ถูกกระตุกด้วยไฟฟ้าสำเร็จเป็นรายแรกของโลกในปี ค.ศ. 1947
เครื่องกระตุกไฟฟ้าถูกพัฒนาอยู่ตลอดเวลา จนมีขนาดเล็กลงติดรถพยาบาลไปได้ และปัจจุบันมันยิ่งเล็กลงไปอีกจนกระทั่งคนธรรมดาสามารถใช้เองได้ด้วยการอบรมเพียงไม่กี่ชั่วโมง คุณสามารถเห็นเจ้าเครื่องนี้ได้จนชินตา ทั้งในห้างสรรพสินค้า ฟิตเนส โรงเรียน เครื่องบิน หรือสถานที่ราชการ หากคุณไม่มีประสบการณ์เลย เครื่องกระตุกรุ่นใหม่ ‘มีเสียง’ ที่ออกคำสั่งว่าคุณควรทำอย่างไรในสถานการณ์ฉุกเฉิน
งานวิจัยพบว่า คนทั่วไปที่พร้อมจะใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าขนาดเล็ก (AED) ช่วยคนจากภาวะหัวใจหยุดเต้น มีส่วนสร้างโอกาสให้คนที่เกือบตายรอดชีวิตได้ถึง 3 เท่าทีเดียว
เมื่อถึงเวลาไม่คาดฝัน คุณเองก็สามารถเป็นฮีโร่ช่วยชีวิตคนได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
- One Of The World’s Worst Rail Crashes, In Harrow
- WHO Guidelines for Safe Surgery 2009: Safe Surgery Saves Lives
- Staphylococcus aureus: a well-armed pathogen.
- Decompressive Craniectomy in Traumatic Brain Injury: A Review Article