ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารและโรคภัยพัฒนาตัวขึ้นเรื่อยๆ อย่างตอนนี้ ทำให้สังคมไทยเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของแพทย์และการสาธารณสุขในฐานะปัจจัยสำคัญในทางความมั่นคงมากขึ้นมาก
แม้ก่อนหน้านี้สังคมไทยดูจะให้ความสำคัญกับอาชีพ ‘หมอ’ มาโดยตลอด แต่ความสำคัญที่ให้นั้นโดยมากแล้ววางอยู่บนฐานของการเป็นอาชีพที่ทำรายได้สูง มีเกียรติ หรือบ่งบอกถึงความรู้ความสามารถของผู้ประกอบอาชีพมากกว่าในฐานะบทบาทเชิงความมั่นคงเอง
อย่างไรก็ตามสถานะของบุคลากรผู้ให้การรักษากับบทบาทเชิงความมั่นคงในโครงสร้างอำนาจนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย ..ตรงกันข้าม ‘สถานะทางอำนาจ’ ของบุคลากรทางการแพทย์นั้นมีมานานมากแล้วต่างหาก และสถานะดังกล่าวก็ดูจะยังคงฝังตัวอยู่เรื่อยมาด้วย ทั้งยังพัฒนาเพิ่มมากขึ้นด้วยเงื่อนไขต่างๆ จนดูจะกลายเป็นตัวตนที่ไม่อาจจะขัดขืนได้ในที่สุด
กระทั่งมีสถานะของผู้ให้คำสั่งชนิดที่เราไม่อาจจะขัดขืนได้ราวคำกล่าวคือประกาศิตดังที่ผมเคยเขียนถึงมาแล้ว วันนี้ผมเลยอยากจะพาย้อนกลับไปดูว่าสถานะทางอำนาจที่ว่านี้มันมายังไง และมันมีเงื่อนไขอะไรที่ช่วยสนับสนุนสถานะทางอำนาจอย่างที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบันได้
การจะทำความเข้าใจสถานะพิเศษทางอำนาจของหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์นั้น เราอาจจะต้องย้อนกลับไปหลายหมื่นปีนับตั้งแต่ยุคของชาแมนหรือคนทรงวิญญาณซึ่งมีมาตั้งแต่ช่วงตั้งต้นของชุมชนมนุษย์เลยก็ว่าได้ ในยุคนั้นมีคำเรียกหลายคำที่ใช้เรียกคนเหล่านี้ ทั้งคนทรงวิญญาณ (Shaman), ผู้รักษาด้วยพลังวิญญาณ (Spiritual Healer) หรือ แม่มดหมอผี (Witch Doctor) แม้คำที่ใช้เรียกทั้งสามนี้จะไม่ได้เหมือนกันเป๊ะหมด โดย Ronald Hutton นักวิชาการที่ศึกษาเรื่อง Shamanism มาอย่างยาวนาน ได้อธิบายไว้ว่ามีการพยายามแยกความแตกต่างของคนทั้งสามกลุ่มนี้อยู่ แต่หลักๆ แล้วความต่างจะอยู่ที่ ‘ตัวพิธีกรรม’ ที่คนเหล่านี้ประกอบที่จะมีความแตกต่างกันในทางเนื้อหาบ้าง แต่โดยสรุปแล้วก็คือ โดยโครงสร้างหน้าที่หลักๆ แล้วทั้งสามทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน นั่นคือ เป็นคนที่อยู่ระหว่างกลางหรือผู้เชื่อมต่อระหว่าง ‘องค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่กว่า’ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าตำนานเรื่องเล่าในแต่ละพื้นที่จะเรียกว่าอะไร (ภูติผี, ธรรมชาติ, พดระเจ้า, ฯลฯ) กับเหล่ามนุษย์ธรรมดาสามัญที่อยู่ร่วมเผ่าหรือร่วมชุมชน
เอาเข้าจริงๆ แล้วกระทั่งที่มาของคำว่า ‘ชาแมน’ ก็ดูจะสัมพันธ์กับความรู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าที่ว่า เพราะนักวิชาการเชื่อกันว่ารากศัพท์ของคำว่าชาแมนนั้นมาจากคำว่า šaman ในภาษาแมนจูทังกุส (Manchu-Tangus) ที่แปลว่า ‘ผู้รู้’ หรือ One who knows นั่นเอง ซึ่งนอกจากความรู้เรื่องพิธีกรรมต่างๆ แล้ว ก็ยังมีทั้งเรื่องการผสมสมุนไพร ปรุงยา หรือกระทั่ง “ชี้ทางสว่างให้ชุมชน” เป็นต้น
ด้วยความที่เหล่าชาแมน หรือ spiritual healer ต่างๆ เหล่านี้มีสถานะเป็นผู้ซึ่ง ‘กุมความรู้ที่เหนือกว่าแต่เพียงกลุ่มเดียว’ นี้เองทำให้พวกเขาอยู่ในสถานะของ ‘ผู้นำ’ ชุมชนทางการเมืองมาแต่โบราณกาล เป็นผู้ตัดสินใจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติ ตั้งแต่การรักษาโรคภัยของสมาชิกในชุมชน ไปยันการแก้ไขภัยธรรมชาติที่คุกคามต่างๆ นานา
ว่าอีกแบบก็คือ พวกเขาทำหน้าที่ในการเป็น ‘คนเล่าเรื่องหลัก’ ของชุมชนทางการเมืองนั้นๆ นั่นเอง เพราะเนื้อหาที่ออกจากปากของพวกเขาคือเนื้อหาซึ่งส่งผ่านมาจากองค์ความรู้ซึ่งสูงส่งกว่า สูงส่งเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าถึงได้
ต่อมาที่โลกดูจะเข้าสู่ยุคของกษัตริย์นักรบ (Warrior King) บทบาทของคนกลุ่มนี้ก็ดูจะมีการเปลี่ยนสถานะบ้างจากการเป็นผู้นำในยุคแรกๆ
แต่อย่างไรก็ตามบทบาทของพวกเขาก็ดูจะสูงกว่าคนทั่วไปเสมอ เพราะแม้ผู้นำใหม่ที่วางฐานอยู่บนขีดความสามารถในการต่อสู้จะเกิดขึ้นมา แต่ก็ยังต้องการ ‘ความรู้’ ของคนเหล่านี้ ทั้งเพื่อตัวเอง เพื่อเรื่องเล่าตำนานที่พวกเขาเชื่อ หรือเพื่อการปกครองเองก็ตาม เพราะฉะนั้นแล้วบทบาทของผู้ทำการรักษาที่เชื่อมต่อกับความรู้ที่อยู่สูงกว่านั้นจึงเพิ่มสถานะของการเป็นตัวกลางมากขึ้นไปอีก นอกเสียจากตัวกลางระหว่างความรู้ที่สูงส่งกว่ากับสังคมโดยทั่วไปแล้ว พวกเขายังทำหน้าที่คั่นกลางระหว่างกษัตริย์กับประชาชนทั่วไปด้วย ไม่ต้องนับถึงบทบาทของการคั่นกลางที่สำคัญที่สุดก็คือ การคั่นอยู่ระหว่างความเป็นและความตาย
กษัตริย์ในหลายอารยธรรมปราถนาที่จะได้ชีวิตที่ยืนยาวไร้จุดสิ้นสุด ดั่งจินตนาการที่พวกเขามีต่อเทพเจ้าของพวกเขา บ้างเพื่อได้อยู่ในอำนาจการปกครองตราบชั่วกาลปวสาน บ้างเพื่อจะได้ยิ่งใหญ่เยี่ยงเทพ ด้วยเหตุนี้เหล่าผู้เชื่อมต่อกับความรู้ที่สูงส่งกว่าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุ หมอยา หรือนักพรตคนทรงทั้งหลาย จึงมีสถานะที่สูงส่งอย่างมากในโครงสร้างอำนาจทางสังคมเมื่อเทียบกับคนทั่วๆ ไป พวกเขาคือผู้ที่เข้าถึงหรือเข้าใกล้ความรู้อันสูงส่งที่แม้แต่มหากษัตริย์ก็ไม่อาจถือครอง สถานะของการเชื่อมต่อที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งจึงเกิดขึ้นสำหรับบุคลากรผู้ทำหน้าที่รักษาเหล่านี้ คือ ตัวกลางระหว่างคนธรรมดากับทวยเทพ (the mortals and immortals)
อย่างไรก็ตาม สถานะของคนเหล่านี้ก็ยังค่อนข้างจะเข้าถึงได้เฉพาะกับคนเพียงหยิบมือ (แม้จะมีหมอชาวบ้านตามชุนชนต่างๆ หรือนักพรตบาทหลวงที่คนในบางชุมชนบางยุคสมัยเชื่อว่าสามารถรักษาอาการป่วยไข้อยู่ด้วยก็ตาม) ทั้งตัวแทน ‘ผู้เล่าเรื่องหลัก’ ในฐานะผู้นำทางองค์ความรู้ในแต่ละยุคสมัยก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ชาแมน นักเล่นแร่แปรธาตุ คริสตจักร หมอยา อะไรเรื่อยมา
จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ จนนำมาสู่ยุครู้แจ้ง การปฏิวัติอุตสาหกรรม ไปจนถึงการค้นพบจุลชีวิน (Microorganism) ขึ้นที่ทำให้วิทยาศาสตร์และหมอสมัยใหม่กลายมาเป็นผู้นำของ ‘เรื่องเล่าหลัก’ ในยุคสมัยใหม่ไป เป็นผู้ชี้ว่า ‘เรื่องใดถูก เรื่องใดผิด’ หรือเกณฑ์แบบใดคือข้อกำหนดที่ทำให้ ‘เรื่องเล่านั้นสมบูรณ์น่าเชื่อถือ’ อย่างพวกความเป็นเหตุเป็นผล ขั้นตอนการพิสูจน์ความอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของ กระบวนการคิดแบบเป็นวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่วางรากฐานมาจาก Hypothetical-deductivism (ไม่ต้องไปรู้จักก็ได้ครับ ผมใส่มาพอเท่ๆ) ของนิวตั้นนั้น ไม่ได้แค่ท้าทาย ‘ผู้เล่าเรื่องหลัก’ อย่างคริสตจักรเดิมจนสุดท้ายชิงสถานะมาได้ แต่มันได้สร้างสถานะทางเรื่องเล่าแบบใหม่ขึ้นมาอย่างไม่เคยเกิดมาก่อนด้วย ซึ่งก็คือเงื่อนไขอย่างน้อย 2 ประการนี้ (1) การมีลักษณะของเรื่องเล่าอันเป็นสากล (Universality) และ (2) การไม่มีผู้ครองสิทธิ์สูงสุดเหนือเรื่องเล่า นั่นเองครับ
เงื่อนไขทั้ง 2 นี้คืออย่างงี้ครับ
ความเป็นสากลนั้นมันเกิดจากการที่ กระบวนการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์รวมถึงกระบวนการค้นหา พิสูจน์ วิจัยต่างๆ นั้นมีลักษณะที่เป็น ‘ภาษา/วีธีการ’ (language/method) มากกว่าที่จะเป็นตัวเนื้อหาหรือเรื่องเล่าชัดๆ (Content/Narrative) โดยตัวมันเอง แต่มันเป็น ‘เรื่องเล่าที่เอาไว้ใช้ตัดสินความถูกผิด ใช้ได้ใช้ไม่ได้ของเรื่องเล่าอื่นอีกทีหนึ่ง’ เมื่อหลักๆ แล้วมันเป็น ‘วิธีการที่ไม่ได้มีเนื้อหาหลักโดยตัวมันเอง’ มันจึงมีคุณสมบัติที่จะเข้าได้กับทุกวัฒนธรรม ทุกอุดมการณ์ไปด้วย ซึ่งมันต่างจากเรื่องเล่าแบบเดิมที่มี ‘เนื้อหา’ เป็นตั้งตั้งหลัก และแต่ละสังคมแต่ละวัฒนธรรมก็จะมีเนื้อหาของเรื่องเล่านี้แตกต่างกันออกไป ที่ต่อให้โครงเรื่องหลักอาจจะใกล้เคียงกัน แต่รายละเอียดนั้นอย่างไรเสียก็ต้องมีขัดกันบ้าง ทำให้เรื่องเล่าต่างๆ ก่อนหน้าวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้นมันจึงขาดคุณสมบัติของความเป็นสากลที่จะสามารถ ‘รวบเอาทุกสังคม ทุกจักรวาลวิทยามาอยู่ภายใต้อิทธิพลของมันได้’
ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์หรือแพทย์สมัยใหม่ที่อาศัย ‘ภาษา’ ทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างเรื่องเล่าของตนนั้นจึงสามารถทั้งรวมตัว และโอนถ่ายความรู้เรื่องเล่าระหว่างกันได้อย่างไม่สิ้นสุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่เพียงเท่านั้นการเข้าถึงเรื่องเล่าที่มีความเป็นสากลอย่างวิทยาศาสตร์นี้ยังสามารถทำได้โดยคนจากทุกที่มาอีกด้วย
ว่าอีกแบบก็คือ ความสากลของวิทยาศาสตร์คือ มันไม่ปฏิเสธที่มาอันเป็นอื่นใดๆ จากตัวมัน แต่มันตัดสินความถูกผิด ความเชื่อถือได้ของเรื่องเล่าอื่นๆ นะครับ แค่มันไม่เลือกที่จะกีดกันการเข้ามาหามัน
จุดนี้เองทำให้เกิดการขยายตัวของ ‘ผู้เล่าเรื่องทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์สมัยใหม่’ ขึ้นอย่างมากมายกว่าที่เคยมีมาก่อน การกระจายตัวของคนกลุ่มนี้ก็มีเพิ่มขึ้นมาก จากที่เคยกระจุกตัวและเข้าถึงได้เฉพาะจากคนกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่คน
ส่วนการไม่มีผู้ถือครองสิทธิ์สูงสุดเหนือเรื่องเล่าทางวิทยาศาสตร์นั้น มันมาจากรากฐานทางความคิดที่สำคัญตัวหนึ่งของกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์เองนั่นก็คือ falsifiability หรือการแย้งหาที่ผิดได้
ว่ากันอีกแบบก็คือ ลักษณะของเรื่องเล่าที่มีมาก่อนหน้านี้นั้น เนื่องจากมันเป็นเรื่องเล่าชนิดที่อุ้มชูตัวเนื้อหาหรือเล่าผ่านเนื้อหานั้น มันต้องการความคงที่ความนิ่งของเรื่องเล่า เพื่อให้เนื้อหาชุดดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดไปจากรุ่นสู่รุ่น จะเรียกว่าเป็นเรื่องเล่าที่ให้คุณค่ากับ ‘ความถาวร’ (Permanence) ก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมันมีการตีความหรือเข้าใจเนื้อหาของเรื่องเล่าไม่ต้องตรงกัน ก็จะต้องมีการตัดสินหรือกระทั่งชำระเนื้อหา เพื่อให้ชัดเจนและสามารถสืบต่อไปได้โดยแน่นิ่งที่สุด อย่างแนวคำสอนของศาสนาต่างๆ ที่มีลักษณะเป็น ‘ความจริงนิรันดร์’ (Absolute Truth) ที่ไม่อนุญาตให้แย้งคำสอนของศาสดาได้ ฉะนั้นแล้วในแต่ละช่วงเวลาจึงต้องมีผู้ถือครองอำนาจสูงสุดในการตัดสินความถูกผิดของเรื่องเล่านั้นๆ แต่ในโลกวิทยาศาสตร์ที่เทคุณค่าให้กับการแย้งหาที่ผิดได้นั้น ก็แปลว่ามันปฏิเสธเรื่องเล่าอันถาวรด้วย เพราะทุกเรื่องเล่าที่มีมาก่อนหน้านี้สามารถถูกค้านว่าผิดและปัดตกไปได้ทั้งสิ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ มันจึงไม่มีจุดปลายทางของเรื่องเล่า รวมทั้งไม่มีผู้ถือครองสิทธิ์สูงสุดเหนือตัวเรื่องเล่าไปตามไปด้วย หรือก็คือคุณลักษณะสำคัญของเรื่องเล่าแบบวิทยาศาสตร์ก็คือ ‘ความไม่ถาวร’ (Impermanence) นั่นเอง แต่ความไม่ถาวรที่ว่านี้นี่แหละที่นำมาซึ่งเงื่อนไขทางอำนาจที่แข็งแกร่งมากๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อนของเรื่องเล่าใดๆ นั่นก็คือ ‘ความถาวร’ กล่าวคือ เพราะความไม่ถาวรจากลักษณะที่ว่ามาของวิทยาศาสตร์นี้เอง มันทำให้เกิดลักษณะของปลายทางแบบเปิด (infinite end) ขึ้นมา เพราะเรื่องเล่าก่อนหน้าสามารถถูกลดทอนหรือเพิ่มเติมขึ้นได้ตลอดเวลา ตราบเท่าที่เรื่องเล่านั้น ‘ผ่านหลักเกณฑ์ในทางวิธีการ’ ของโลกและภาษาแบบวิทยาศาสตร์ ความไม่ถาวรที่ว่านี้เอง จึงได้สร้างโครงเรื่องที่จะถูกเล่าต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่ซ้ำเดิมอย่างถาวรขึ้นมา
เงื่อนไข 2 ประการนี้เองของวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้เกิดการขยายตัวอย่างยากจะหยุดยั้งของพลังของเรื่องเล่าแบบวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงการได้ชัยชนะในโลกทางวัตถุอย่างขาดลอยหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะโจทย์ที่วิทยาศาสตร์พยายามจะตอบคือ ‘ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกนี้ (ชาตินี้)’ ไม่ใช่ปัญหาที่มีในโลกก่อนหรือโลกหน้า
ทำให้สถานะทางอำนาจของผู้ถือครองและใช้องค์ความรู้ชุดนี้กลายเป็นที่ต้องการของคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์สมัยใหม่ที่นอกจากจะถือครองคุณสมบัติของนักวิทยาศาสตร์อย่างครบถ้วนแล้ว พวกเขายังคงคุณสมบัติเชิงโครงสร้างทางสังคมที่ยืนพื้นมาตั้งแต่ยุคก่อนได้ด้วย นั่นคือ การเป็นผู้ซึ่ง ‘คั่นระหว่าง’ ทั้งความเป็นและความตาย ทั้งองค์ความรู้ที่อยู่สูงกว่ากับสังคมทั่วไป คำพูดของพวกเขาจึงเกิดสถานะอันเป็นประกาศิตขึ้นมา สังคมยอมรับว่าหมอรู้จักร่างกายของเรามากกว่าตัวเราเอง เรื่องเล่าที่มาจากหมอสามารถกำหนดวิถีการดำเนินชีวิตของเราได้โดยที่เราไม่รู้สึกว่าโดนบังคับอยู่
ไม่เพียงเท่านั้นอำนาจทางเศรษฐกิจเองก็กลายเป็นกลไกอีกประการหนึ่งที่สร้างสถานะความเหนือกว่าให้กับอาชีพทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะแพทย์สมัยใหม่ เพราะหลังจากเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น เกิดการขยายตัวทางด้านฐานการผลิตและตลาดขึ้นอย่างมากมายครับ เกิดความต้องการกำลังแรงงานในหมู่นายทุนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จุดนี้เองที่อาชีพของหมอยิ่งถูกขับเน้นความสำคัญและความต้องการให้มากขึ้นไปอีก เพราะสามารถรักษาชีวิต (ซึ่งหมายถึงแรงงาน) ให้ไม่ลดลงได้ กระทั่งยังช่วยให้อัตราการเสียชีวิตขณะแรกเกิดลดต่ำลงเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงทั้งแรงงาน และตลาดที่ใหญ่ขึ้นในฐานคิดแบบทุนนิยม ฉะนั้นอาชีพหมอจึงกลายเป็นอาชีพที่ได้รับการประกันในทางสังคมโดยปริยายว่า จะเป็นอาชีพที่มีรายได้สูง (อย่างน้อยๆ ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไปในสังคม) ในสังคมที่บริหารด้วยระบบทุนนิยม และกลายเป็นอาชีพที่คนเฝ้าฝันอยากจะเป็นกันโดยเฉพาะเพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจของตน
ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้เอง (จริงๆ ยังมีอีกมากด้วย แต่เกินกว่าพื้นที่จะเขียนได้) ได้สร้างสถานะทางอำนาจของหมอและนักวิทยาศาสตร์ขึ้นมาในสังคมสมัยใหม่
และผมอยากจะเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า ประเด็นที่เราเพิ่งมาตระหนกกันถึงความสัมพันธ์กับอำนาจและการเมือง จากเหตุการณ์ไวรัสระบาดต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมานี้ ราวกับเป็นสิ่งใหม่นั้น แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานมากๆ แล้ว แค่ไม่ถูกใส่ใจ หรือกลายเป็นมุมมองที่มักจะถูกละเลยไป
อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้เขียนอภิปรายมาเพื่อจะบอกให้เราเลิกเชื่อหมอ หรือละทิ้งวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ เปล่าเลยครับ ผมมองว่าตัวเองเป็นมนุษย์ของยุคสมัยใหม่คนหนึ่งเช่นกัน และสนับสนุนเรื่องเล่าชุดนี้ แต่พร้อมๆ กันไป ผมก็เห็นว่าสังคมควรจะตระหนักถึงอำนาจและที่มาของอำนาจนั้นๆ ของผู้ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าเราในทางสังคมให้ได้มากและถี่ถ้วนที่สุดด้วย ทั้งเพื่อคอยตรวจสอบ และเข้าใจที่มาที่ไปของมัน รวมถึงตัวผู้ใช้อำนาจนั้นเองก็จะได้ตระหนักรู้และเข้าใจถึงบทบาททางอำนาจของตน รวมถึงเหตุผลว่าทำไมภาระความรับผิดชอบที่ตนต้องแบกรับไว้จึงดูจะมีมากกว่าคนทั่วๆ ไป (ส่วนนั้นสามารถหาอ่านโดยละเอียดได้ในบทความของผมที่เคยเขียนถึงไปก่อนหน้านี้แล้วครับ)
ขอให้ทุกท่านแคล้วคลาดจากไวรัสที่ระบาดกันนะครับ