การผสมวัคซีนเป็นประเด็นที่ถูกหยิบมาพูดถึงกันมากช่วงหลังมานี้ โดยเฉพาะหลังจากที่มีงานวิจัยจากสหราชอาณาจักรและสเปนที่ทำการเก็บข้อมูลภูมิคุ้มกันในผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer และ AstraZeneca ผสมกัน และผลออกมาค่อนข้างดีมาก
ล่าสุด คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้แถลงเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา อนุญาตให้ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ในเข็มแรก รับเข็มที่สองเป็นวัคซีน AstraZeneca ได้
ทางด้าน เพจ ‘สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี’ ก็เพิ่งโพสต์ยืนยันการปรับเปลี่ยนสูตรรับวัคซีนทั้งหมด โดยนับตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมเป็นต้นไป ผู้ที่มีคิวรับ Sinovac เข็มที่สองจะถูกเปลี่ยนเป็น AstraZeneca ทั้งหมด แต่ผู้ที่ได้ AstraZeneca เข็มแรกแล้ว เข็มที่สองยังคงยืนยันเป็นชนิดเดิม
นอกจากนี้ เมื่อวานยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กบางรายที่โพสต์กระดาษแผ่นนึงที่ได้รับหลังเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยพาดหัวกระดาษเขียนว่า ‘ขอเชิญชวนฉีดวัคซีนแบบไขว้ชนิด Sinovac-AstraZeneca’ โดยมีการระบุว่าการฉีดไขว้มีประสิทธิภาพสูงกว่า Sinovac สองเข็มถึง 8-10 เท่า และได้มีการทดลองสูตรนี้กับผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 1,102 ราย แต่ยังไม่มีรายงานเสียชีวิตหรือผลข้างเคียงรุนแรง
ในกระดาษแผ่นดังกล่าวยังระบุขั้นตอนการศึกษา หลังได้รับวัคซีนไขว้ว่าจะมีการเจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนไขว้แล้ว 3 ครั้ง คือภายใน 2 สัปดาห์, 4 สัปดาห์ และ 3 เดือน
แต่ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนไขว้เป็นอย่างไร ป้องกันได้ดีจริงไหม โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดเก่งกว่าสายพันธุ์อัลฟาถึง 4 เท่า The MATTER ขออาสาเปิดข้อมูลงานวิจัยเบื้องต้นจาก นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประสิทธิภาพจากการทดลองเบื้องต้น
จากผลการทดลองเบื้องต้นที่โพสต์ในเฟซบุ๊กของ นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา บ่งชี้ว่า
1)Sinovac + Sinovac + AstraZeneca
ระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง: 99%
ประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์อัลฟา: ป้องกันได้ (ค่า IC50: เกือบ 1,600)
ประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตา: ป้องกันได้สูงที่สุดจากการทดสอบ (ค่า IC50: เกือบ 1,600)
2) AstraZeneca + AstraZeneca
ระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง: 99%
ประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์อัลฟา: ป้องกันได้ (ค่า IC50: 1,280)
ประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตา: ป้องกันได้สูงลำดับสองจากการทดสอบ (ค่า IC50: มากกว่า 640)
3. Sinovac + AstraZeneca
ระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง: 75%
ประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์อัลฟา: ป้องกันได้บ้าง (ค่า IC50: ไม่ถึง 320)
ประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตา: ป้องกันได้ดีกว่า SN สองเข็ม แต่ไม่เท่า AZ สองเข็ม (ค่า IC50: ไม่ถึง 320)
4. Sinovac + Sinovac
ระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง: 80%-90% (ขึ้นอยู่กับว่าตรวจตอนไหน)
ประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์อัลฟา: ป้องกันได้บ้าง (ค่า IC50: ไม่ถึง 320)
ประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตา: ป้องกันไม่ได้ (ค่า IC50: ไม่ถึง 320)
5. ผู้ที่เคยติด COVID-19 สายพันธุ์อัลฟา + AZ หนึ่งเข็ม
ระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง: 99%
ประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์อัลฟา: ป้องกันได้ (ค่า IC50: 1,280 – 1,600)
ประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตา: ป้องกันได้ (ค่า IC50: 320 – 640)
6. ผุ้ที่ติด COVID-19 แต่ไม่ได้รับวัคซีน
ระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง: 72%
ประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์อัลฟา: ป้องกันได้ (ค่า IC50: มากกว่า 320)
ประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตา: ป้องกันได้บ้าง ใกล้เคียงกับผู้ที่ได้รับ Sinovac + AstraZeneca (ค่า IC50: ไม่ถึง 320)
มติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ
หลังจากที่ นพ.ธีรวัฒน์ โพสต์ผลวิจัยเบื้องต้นได้ไม่นาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติก็ได้มีมติใน 4 ประเด็น
- การฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือเข็มสามสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยจะฉีดห่างจากเข็มสอง 3-4 สัปดาห์ โดยอาจเป็นวัคซีน Pfizer หรือ AstraZeneca ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
- ให้ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ในเข็มแรกจะได้รับ AstraZeneca เป็นเข็มที่สอง ซึ่งมีผลในการสร้างภูมิคุ้มกันในต่อมน้ำเหลืองและป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ใกล้เคียงกัน เพียงแต่สูตรนี้ใช้ระยะเวลาเข็มหนึ่งและสองห่างกันเพียง 3-4 สัปดาห์ เทียบกับ AstraZeneca สองเข็มที่ยังยืนยันให้ห่างกัน 12 สัปดาห์
- แนวทางการใช้ Antigen Test Kit ในการตรวจหาเชื้อ และ 4
- แนวทางการแยกกักที่บ้าน (Home isolation) และการแยกกักในชุมชน (Community isolation) สำหรับผู้ป่วย COVID-19
ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติยังยืนยันว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มแรก ยังควรรับ AstraZeneca เป็นเข็มสองเหมือนเดิม โดยให้ห่างกัน 12 สัปดาห์
ขณะที่สหราชอาณาจักรเว้นห่างกัน 8 สัปดาห์เท่านั้น
คำอธิบายจากนักวิจัย
“ที่เราเปลี่ยนมาใช้สูตรนี้เพราะยังไม่มีวัคซีน mRNA เข้ามา ฉะนั้น เมื่อวิกฤตอยู่หน้าด่าน เราต้องเอาของใกล้มือมาฉีดก่อน ซึ่งต้องฉีดแล้วได้ประโยชน์จริง ทั้งในระดับภูมิคุ้มกันและการต่อสู้กับสายพันธุ์เดลตา”
หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนสูตรวัคซีนผสม สาเหตุหลักมาจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตา, ข้อจำกัดทางด้านวัคซีน รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่เรามี
- จำนวนวัคซีนไม่พอ การ mix & match จึงเป็นภาคบังคับ
- กลไกป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง (NAb) จึงมีความพยายามรวมวัคซีนหลายชนิดเข้าด้วยกัน เช่นในต่างประเทศก็เป็น AstraZeneca + วัคซีนชนิด mRNA โดยเป้าหมายคือให้ NAb สูงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
- สายพันธุ์ใหม่ วัคซีนแต่ละชนิดไม่ได้ออกแบบเพื่อสู้กับวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ อย่างมากที่สุดคือออกมาเพื่อสู้กับ สายพันธุ์ G หรือ สายพันธุ์อัลฟา แม้สูตรที่ออกมาดีที่สุดก็ยังจับไวรัสได้ไม่แน่นเท่าไร แต่หวังว่าจะใช้ปริมาณ NAb ระดับสูงเพื่อยับยั้งไวรัส
- อาการหนักต้องใช้หลายอย่างในการวัดทั้ง NAb และ T-cell ร่วมด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดทางข้อมูล (Sinovac) ที่มีตอนนี้ จึงเชื่อว่าถ้าป้องกันติดได้ น่าจะป้องกันอาการหนักได้ดีด้วย
- ระดับภูมิคุ้มกัน NAb ยิ่งสูงเกิน 90% ยิ่งดี แต่ต้องดูความสามารถในการต้านไวรัสชนิดนั้นๆ คู่ด้วย
หัวหน้าภาควิชาโรคอุบัติใหม่กล่าวถึงความจำเป็นในวัคซีน mRNA ว่า “ผมคิดว่าในที่สุดแล้ววัคซีน mRNA ยังจำเป็น และไม่ว่าคนที่ฉีดสูตร AZ + AZ หรือ SV + SV + AZ คงต้องต่อด้วยวัคซีนเจเนอเรชั่นสองอีกเข็ม (วัคซีนที่เปลี่ยนส่วนผสมใหม่) เพราะขณะนี้หลายสายพันธุ์หลีกหนีภูมิคุ้มกันได้เก่งมาก”
เช่นเดียวกับ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการ BIOTEC และหนึ่งในผู้ร่วมวิจัยที่มองว่า วัคซีน mRNA ยังคงสำคัญ “วัคซีน mRNA ยังคงสำคัญ เพราะเราไม่รู้ว่ามันอาจจะมิกซ์กับ Sinovac และได้ผลที่ดีสูตรที่ผสมมาก็ได้ และถ้านำเข้ามาเราก็รู้อยู่แล้วว่ามันบูสต์กับตัว AstraZeneca เพิ่มได้ และตัว Pfizer ยังสำคัญที่ฉีดให้เด็กได้ด้วย”
คุณหมอธีรวัฒน์กล่าวต่อถึงผลข้างเคียงจากการวิจัยว่า ในขณะนี้ยังไม่มีพบในไทย “แต่มีรายงานเรื่องผลข้างเคียงตั้งตอนแรกๆ ที่มีการทดลองนำ Pfizer + Az ทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โต แต่ผลข้างเคียงอย่างอื่นยังไม่มีมาก คงต้องดูในระดับ Real Word Data อีกที”
ในช่วงท้าย หัวหน้าภาควิชาโรคอุบัติใหม่มองว่า ถ้าปราศจากซึ่ง 3 ข้อ การคัดกรองผู้ป่วยจากผู้ที่ไม่ป่วย, วินัยของประชาชน และวัคซีน การควบคุมโรคระบาดในระดับสายพันธุ์เดลตาเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ และถ้าเป็นไปได้ก็เพียง
“ป้องกันระดับนึง เพื่อรอให้มันปะทุออกมา..”
อ้างอิง: