“วัคซีนที่ดีที่สุด ก็คือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด” คือหนึ่งใน key message ที่ภาครัฐใช้รณรงค์ให้คนไทยออกไปฉีดวัคซีน COVID-19 ให้ได้มากที่สุด
ไม่รวมถึงกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ ที่พยายามทำให้คนรู้สึกผิดหากจะไม่ไปฉีดวัคซีน โดยใช้ถ้อยคำ อาทิ เพื่อชาติ เพื่อสังคม ซึ่งในทางกลับกันการรณรงค์เช่นนั้นอาจสร้างปัญหามุมกลับด้วยซ้ำ โดยเฉพาะท่ามกลางสภาวะที่คนจำนวนไม่น้อย ยังเคลือบแคลง สงสัย และมีคำถามกับวัคซีนที่ภาครัฐจัดหามาให้ ทั้งเรื่องประสิทธิภาพและผลข้างเคียง
จนถึงวันนี้ จะมีใครไม่รู้บ้างว่า การสร้าง ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (herd immunity) ผ่านการฉีดวัคซีน คือหนึ่งในวิธีการต่อสู้กับโรค COVID-19 ที่ดีที่สุด
เพียงแต่วิธีอธิบาย-สื่อสารของภาครัฐ กลับไปเน้นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกส่วนบุคคล แทนที่จะให้ข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างเข้าอกเข้าใจ เพื่อคลี่คลายสิ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดภาวะ vaccine hesitancy หรือ ‘ลังเลที่จะฉีดหรือปฏิเสธรับวัคซีน’
The MATTER ไปคุยกับ นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ถึงเหตุผลที่บุคลากรการแพทย์หลายๆ คน อยากให้ประชาชนไปฉีดวัคซีน COVID-19 กัน หากมีโอกาส
เพราะมันไม่ใช่เรื่องของ COVID-19 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดสรรทรัพยากรของ ‘ระบบสาธารณสุข’ ของไทย เพื่อดูแลสุขภาพคนไทยในภาพรวมด้วย
โดย อ.นพ.ศุภโชค ย้ำว่า การฉีดวัคซีนเป็นสิทธิ ไม่ใช่หน้าที่ “เพียงแต่ประชาชนควรรู้ว่า ทำไมเราถึงอยากให้ฉีด” แต่เมื่อรู้แล้ว ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนเลยว่า จะตัดสินใจอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและความจำเป็นของเขา
และนี่คือบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ที่เราถอดความจากบทสนทนายาวครึ่งชั่วโมง แต่ถ้าใครอยากดูฉบับสั้นๆ ดูได้ในคลิปความยาวห้านาทีด้านล่าง
ข้อมูลพื้นฐาน: ประโยชน์ของวัคซีน
วัคซีนมีความสำคัญ ผลลัพธ์จะดู 3 อย่าง หนึ่ง ‘กันหนัก-กันตาย’ สอง ‘กันติด’ สาม ‘กันหมู่’
กันหนัก-กันตาย หมายถึงช่วยผ่อนหนักเป็นเบา เช่นเมื่อฉีดวัคซีนไปแล้ว ก็ช่วยลดการเชื้อลงปอด ลดการที่ปอดอักเสบรุนแรงจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือเข้า ICU และลดอัตราการเสียชีวิต นี่คือผลอย่างแรกที่จะได้ อย่างที่สอง ฉีดไปแล้วกันติด คือถ้าเราฉีดแล้ว ออกไปสัมผัสสิ่งแวดล้อม ไปเจอผู้คนที่ติดเชื้อ เราหวังว่าภูมิต้านทานจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ และอันสุดท้าย มันเป็นผลพวงการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ร่วมกับจำนวนการฉีด ฉีดให้มากพอในหมู่ประชาชน หมายความว่าถ้าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้ฉีดวัคซีนกันมาก เช่น 70-80% ของประชากร จะเหมือนกับทุกคนมีโล่ละ พอทุกคนกางโล่ คนบางคน ต่อให้ยังไม่ได้ฉีด ก็เหมือนได้ผลบุญ ได้อานิสงส์จากการที่ฉีดเป็นวงกว้าง ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ภูมิต้านทานหมู่’ (herd immunity)
นี่คือผลลัพธ์ของวัคซีนที่เราอยากได้ 3 อย่าง แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ไม่ใช่ทุกวัคซีนที่จะทำได้ครบทั้ง 3 ข้อ บางวัคซีนทำได้แค่ข้อหนึ่ง คือกันหนัก-กันตาย บางวัคซีนทำได้แค่ถึงกันติด กับกันหนัก-กันตายได้ แต่ไม่สามารถกันหมู่ได้
ผมยกตัวอย่าง เช่น วัคซีนในอดีต ที่เป็นวัคซีนโปลิโอ หลายคนอาจจะทันการ ‘หยอด’ วัคซีนโปลิโอในเด็ก แต่ตอนนี้หลายคนอาจจะรับวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก กับโปลิโอ ด้วยการ ‘ฉีด’ จริงๆ แล้วเราจะพบว่าประสิทธิในการป้องกันเชื้อไม่ต่างกัน แต่การหยอดเกิดภูมิคุ้มกันแต่แบบฉีดไม่เกิด แต่ถ้าเทียบกับ 20-30 ปีที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เลือกวัคซีนแบบหยอดเพื่อให้เกิดภูมิต้านทานหมู่โดยเร็ว แต่พอวัคซีนมันถูกปูพรมในวงกว้าง ปัจจุบันเราก็จะสังเกตว่า เรื่องการหยอดก็ลดละ ไม่ได้ใช้แล้ว ใช้ฉีดเอา เพราะเราถือว่าเรามีภูมิต้านทานหมู่แล้ว จากการที่เราได้หยอด ซึ่งยอดในการได้รับวัคซีนพวกเนี้ย คือ 80-90% ของประชากรทั้งหมด
ถามว่าโควิด เราก็อยากให้เกิดภาพนี้ แต่ปัญหาคือว่า วัคซีนไม่ใช่ทุกแพล็ตฟอร์มที่ทำได้ เรายกตัวอย่างเช่น วัคซีนตอนนี้ สำหรับโควิด ทุกแพล็ตฟอร์มกันหนัก-กันตายได้จริง ในระดับ 80-90% แต่เราพบว่าบางชนิดกันติดได้ดี เช่น mRNA-based ของ Pfizer Moderna เรามีข้อมูลชัดเจนว่า เราฉีดไปปุ๊บ มันลดการติดเชื้อได้มาก อาจจะมีประสิทธิภาพที่เขาบอก 94-95% ส่วน AstraZeneca ก็ 70-80% แต่ข้อมูลของ Sinovac มันค่อนข้างหลากหลาย แต่ถ้าเราสังเกตตัวเลข ก็น่าจะป้องกันได้น้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่น
จะสร้าง ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ได้ แค่วัคซีนไม่พอ
การกันหมู่เป็นสิ่งที่พูดยากที่สุด มันเป็นอุปสงค์-อุปทานรวมกัน ระหว่างการได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างภูมิต้านทานได้สูง รวมกับการฉีดในจำนวนประชากรได้มากพอ เช่น วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพสูงมาก คุณก็ฉีดแค่ 50-60% ของทั้งหมด ก็เห็นภูมิต้านทานหมู่แล้ว
ยกตัวอย่าง Pfizer กับ Moderna ที่ฉีดที่สหรัฐฯ เราพบว่ายุคก่อนประธานาธิบดีโจ ไบเดนขึ้น เรตในการฉีดวัคซีนไม่ได้เยอะ พอโจ ไบเดนรับตำแหน่ง มีนโยบายกระตุ้นการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เขาฉีดได้สัก 120 ล้านโดส คิดเป็นสัก 50% ของประชากร แต่เราพบว่ายอดผู้ป่วย จากที่บวกวันละหลักหมื่น มันลดลงมาพอสมควรเลย กราฟเนี่ยเห็นชัดเจน อันนี้ก็จะเห็นว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง การฉีดในประชากรสัก 50% ก็เริ่มเห็นผลในการลดการติดเชื้อใหม่ๆ
หรือยกตัวอย่างที่อิสราเอล ที่หลักๆ ใช้ Pfizer มีติดเชื้อใหม่น้อยมาก จากที่เคยหลักพันหลักหมื่นก็เหลือหลักสิบไม่เกินหลักร้อยต่อวัน แล้วก็เหมือนเป็นแคมเปญว่า ชั้นฉีดวัคซีนมากพอแล้วนะ ฉันเกิดภูมิต้านทานหมู่แล้ว ฉันจะให้ประชาชนถอดแมสก์เข้าชุมชนได้บ้างแล้วนะ ต้องใช้คำว่าบ้าง ไม่ใช่ว่าไม่ใส่แมสก์เลย แต่แค่ไม่ใส่แมสก์ในบางพื้นที่ ส่วนพื้นที่ปิด เช่น โรงหนัง หรือการเข้าไปในที่ชุมชนหนาแน่น เขาก็ยังแนะนำให้ใส่แมสก์
ส่วนของ AstraZeneca ก็จะมีข้อมูล เช่นว่า ในอังกฤษเขาฉีด 3 ตัว มี Pfizer Moderna และ AstraZeneca ก็พบเหมือนกันว่า หลังจากทีนโยบายของอังกฤษที่เดิมบอกว่าจะให้ติดเยอะๆ แล้วเกิดภูมิต้านทานหมู่ เขาก็รู้แล้วว่าอันนั้นผิด เพราะประชากรเสียชีวิตล้มตายไปเยอะ เขาก็กระจายการฉีดวัคซีน ก็พบว่ายอดผู้ติดเชื้อลดลงมาก
ฉะนั้น จะเห็นว่าถ้าเราได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพแล้วก็ฉีดในจำนวนประชากรที่มากพอ ก็อาจจะสัมฤทธิ์ผล
บทเรียนจาก ‘ชิลี-บราซิล’
แต่ก็เริ่มจะมีคนมาถามว่า เรื่องของ Sinovac ที่ใช้ในหลายๆ ประเทศ เช่น ชิลี บราซิล เอ๊ะ ทำไมผลลัพธ์ไม่ค่อยเหมือนประเทศ อื่นที่ใช้คนละแพล็ตฟอร์ม จริงๆ อันนี้ต้องไปดูให้ดี ในข้อมูลต้องแปรผลอย่างระมัดระวัง เพราะในชิลีเอง เขาฉีด Sinovac ได้ค่อนข้างเยอะ คือเขาฉีดเข็มแรก และนโยบายเขาบอกว่าถ้าฉีดสองเข็มแล้วคลายล็อกดาวน์เลย ข้อเท็จจริงของ Sinovac คือคุณจะมีภูมิขึ้นได้ดีเมื่อฉีด 2 เข็มไปแล้ว 2 สัปดาห์ ตอนนั้นอาจจะเป็นเรื่องของการคลายล็อกดาวน์เร็วเกินไป คนฉีดหนึ่งเข็ม อาจเท่ากับยังไม่ฉีด ภูมิยังไม่มากพอที่จะทำอะไรได้ ยอดประชากรผู้ติดเชื้อเลยยังขึ้นอยู่ ช่วงนั้น เขาเลยกลับมาล็อกดาวน์ใหม่และรอให้คนฉีดครบ 2 เข็ม
หรืออย่างบราซิลที่ฉีด Sinovac เขาก็สงสัยว่าเหตุการณ์คล้ายๆ กัน คือประชากรเขายังได้ไม่เยอะหรือเปล่า เพราะถ้าไปดูในบางเมืองที่ฉีดประชากรไปได้ 80-90% ก็พบว่ายอดผู้ป่วยในเมืองนั้นมันลดนะ
สุดท้ายคือเรื่องสายพันธุ์ อย่างที่เราได้ยินกันเรื่องสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แอฟริกา สายพันธุ์บราซิล เอ๊ะ วัคซีนตอบสนองได้ดีหรือเปล่า ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณา
สิ่งที่ผมอยากชี้ ซึ่งไม่ค่อยมีใครพูดก็คือ ต่อให้ยอดผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหรืออาจจะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าภูมิต้านทานหมู่ แต่ถ้าเราไปดูให้ดี ชิลีเนี่ยเห็นชัดเลยว่า ยอดผู้เสียชีวิตไม่เพิ่ม ทั้งๆ ที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มนะ แปลว่า มันบอกได้อย่างหนึ่งว่า ในสถานการณ์ที่ใช้จริงในโลก มันป้องกันการเสียชีวิตได้ มันป้องกันการตายได้จริง
ผมเลยคิดว่าตรงนี้มันเป็นจุดสำคัญที่ว่า ไม่ว่าจะเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ตอนนี้เรามีวัคซีนอยู่แค่ 2 เจ้า เราต้องยอมรับความจริงว่า ตอนนี้มันเกิดการระบาดไปทั่ว แล้วสถานการณ์เนี่ยยังไม่มีที่ทางว่าดีขึ้น ระบบสาธารณสุขตอนนี้มันเรียกว่า overload แล้ว ICU เต็มไปหมด ทุกที่ จะมีข่าวว่าบางคนรออยู่ที่บ้านแล้วเสียชีวิต แต่ทุกคนก็พยายามนะ เพิ่มโรงพยาบาลสนาม พยายามจัดการกระจายผู้ป่วยเต็มที่ แต่นั่นแหละ
เหตุผลที่ชวนฉีดวัคซีน ..มากกว่าเรื่อง COVID-19
ถ้าเราไม่ฉีดวัคซีน จุดนึงมันจะคล้ายๆ กับอินเดียที่บอกว่า คนต้องแชร์เตียง ต้องแชร์อ็อกซิเจนให้กัน เพราะมันไม่พอ บางโรงพยาบาลบอกว่า อ็อกซิเจนหมด เปิดแท๊งก์มาไม่มีแก๊ส เรากลัวเหมือนกันว่า ถ้าเรายังไม่สามารถจัดการได้ ภาพนั้นจะเกิดขึ้น
นี่เป็นที่มาว่า อาจารย์หมอทุกคน แพทย์ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่วงการไหนก็แล้วแต่ ก็จะอยากให้ฉีดวัคซีน เราอาจจะลดยอดผู้ติดเชื้อไม่ได้ แต่เราขอลดยอดผู้เสียชีวิต ลดยอดการเข้า ICU ลดยอดของคนไข้หนัก อย่างน้อยจะได้ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ได้หายอกหายใจ และจัดการกับทรัพยากร เพื่อสำหรับคนที่หนักจริงๆ
ปัญหาคือมันไม่มีใครรายงานอีกด้านว่า ตอนนี้เราเททรัพยากรไปโควิดหมด ปรากฎว่าในทาง ICU ของโรคที่ไม่ใช่โรค COVID-19 เช่น โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรค stroke เส้นเลือดสมองตีบ พวกนี้มันก็ยังต้องแอดมิท คนไข้กลุ่มนี้ก็ยังป่วย เราพบว่าตั้งแต่โควิดรอบแรก ตอนที่เราปิดเมืองรอบแรก คนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ พวกเบาหวาน ไขมัน ความดัน คอนโทรลไม่ดีเลย คุมไม่ดีเลย เพราะมันขาดช่วงในการดูแล แล้วเราก็ยอมเลือกที่จะส่งยาไปทางไปรษณีย์ เพื่อป้องกันลดความแออัดไม่ให้เขามารับเชื้อ แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือ การดูแลโรคต่างๆ เหล่านี้ เราทำได้แย่ลง
ฉะนั้น เราก็ไม่อยากเกิดภาพว่า ตอนนี้เราเททรัพยากรไป COVID-19 หมด แต่กลายเป็นว่าโรคเดิมที่เรามี ก็แย่ลง แล้วคนไข้ได้รับการรักษาที่คุณภาพแย่ลงและเสียชีวิตมากขึ้น
ข้อควรระวัง ในการดู ‘ตัวเลข’ ประสิทธิภาพ
เวลาเราดูงานวิจัย ความยากมันอยู่ที่ว่า เราต้องพูดแบบนี้ว่า งานวิจัยแต่ละอันมันทำในต่างประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน นโยบายในการดูแลผู้ติดเชื้อก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการทำงานวิจัยในแต่ละประเทศ จำนวนประชากรผู้ติดเชื้อก็จะหลากหลาย แล้วคนที่เข้าร่วมวิจัยเป็นใคร คนทั่วไปหรือบุคลากรทางการแพทย์ สมมุติเป็นงานวิจัยที่ทำเรื่องเกี่ยวกับ Sinovacในบราซิล คนที่เข้าร่วมงานวิจัยเยอะๆ คือบุคลากรทางการแพทย์ ที่เราก็รู้กันอยู่แล้วว่า เขามีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ ผมเลยจะบอกว่า การเอาประชากรที่ทำในงานวิจัยวัคซีน ลักษณะของประชากรผู้เข้าวิจัยยังไม่เหมือนกันเลย
ดังนั้นก็จะมีอาจารย์บางท่านที่ชอบพูดว่า ตัวเลขประสิทธิภาพมันจะเอามาเทียบกันไม่ได้นะ เพราะตั้งต้นประเทศก็แตกต่างกัน ลักษณะประชากรก็แตกต่างกันในเชิงรายละเอียด ฉะนั้นเราจะเอาตัวเลขมาเทียบกันตรงๆ ว่า 95% มากกว่า 70% และ 50% ดูจะไม่แฟร์
เวลาเราอ่านงานวิจัยจริงๆ (หนึ่ง) เราต้องอ่านถึงวิธีการทำงาน ระเบียบวิธีที่ทำ
ความยากของ Sinovac อันนึงคือเราไม่เห็นเฟสสามจริงๆ เราเห็นแต่ press ที่เขาประกาศในเว็บไซต์ แล้วก็ล่าสุดเราเพิ่งเห็น preprint คืองานวิจัยที่ทำ manuscript ไว้เสร็จแล้ว รอตีพิมพ์ แต่อาจจะคล้ายๆ โดน reviewer ตามวารสารการแพทย์นั่งเช็คอยู่ว่า ข้อมูลเป็นยังไง ตรงไหนมันดูมีจุดที่รู้สึกว่าไม่ชัดเจน ต้องให้ผู้ทำวิจัยไปเคลียร์ ซึ้งเราเพิ่งเห็น preprint เมื่อเดือนที่แล้ว เดือน เม.ย.2564 เอง แต่ข้อมูลที่ดู ก็สอดคล้องกับที้เขาออก press มาเหมือนกัน เราพบว่าความน่าสนใจคือ Sinovac เขาทำเซ็นเตอร์ไว้หลายที่ แล้วแต่ละที่ เช่น บราซิล ชิลี อินโดนีเซีย ข้อมูลเรื่องการป้องกันการติดเชื้อแตกต่างกันหมดเลย แต่ก็อย่างที่บอกเพราะนโยบาย ไม่เหมือนกันด้วย
(สอง) เรื่องสายพันธุ์ เราต้องดูระยะเวลาการทำ อย่างถ้าเขาทำในช่วงหลังๆ สายพันธุ์น่าจะมีส่วน เพราะเป็นสายพันธุ์เฉพาะ เช่น บราซิล แอฟริกาใต้ อังกฤษ แต่ถ้าเป็นงานวิจัยที่ทำในช่วงต้นๆ อย่าง Pfizer Moderna สายพันธุ์ ณ ตอนนั้นน่าจะเป็นยังเป็นต้นตำรับอู่ฮั่น ซึ่งยังไม่มีการกลายพันธุ์อะไรเลย ฉะนั้นประสิทธิภาพของวัคซีนน่าจะออกมาดีเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้ก็มีงานวิจัยออกมาแล้วว่าบางสายพันธุ์มันมีการเปลี่ยนในส่วนของโปรตีนหนาม ที่ทำให้ความสามารถในการทำ antibody เพื่อไปจัดการกับโปรตีนหนามของไวรัสมันลดลง
ก็เลยเป็นที่มาว่า ทำไมประสิทธิภาพมันดูผันผวน มันก็ขึ้นกับ ‘เวลา’ ที่ทำ ‘สายพันธุ์ที่ระบาดในช่วงนั้น ‘ประชากร’ ที่ทำ แถมยังมีเรื่องของ ‘นโยบาย’ ของรัฐในแต่ละประเทศ ผมเลยบอกว่า ตัวเลขพวกนี้เวลาเอามาเปรียบเทียบกันตรงๆ ต้องระวัง ฉะนั้นถ้าใครมาบอกว่า อันนี้ดีกว่าอันนี้ตรงๆ เลย มันอาจจะไม่แฟร์
ทำไมจึงมีคำพูดว่า ยี่ห้อไหนก็ได้ “ฉีดดีกว่าไม่ฉีด”
แต่มันก็จะมีศึกษาอีกแบบ คือการฉีดวัคซีนเหล่านี้ไปในคนปกติ ที่เป็น normal subject แล้วก็ดูดเลือดมาเมื่อครบตามเวลา แล้วไปตรวจภูมิต้านทานว่าใครขึ้นมากขึ้นน้อย อันนี้เราเรียกว่าเป็น immunological study เป็นงานวิจัยที่ดูเรื่องการสร้างภูมิโดยเฉพาะ ซึ่งต้องยอมรับว่า mRNA-based ของ Pfizer Moderna มันกระตุ้นภูมิได้สูงสุดจริงๆ ถ้าเป็นหลักหน่วย ก็หลักพันหน่วย ในขณะที่ถ้าเป็น AstraZeneca ที่ใช้แพล็ตฟอร์มไวรัสพาหะ ข้อมูลที่ฉีดมันกระตุ้นได้หลักร้อย อาจจะ 200-300 แล้วของ Sinovac ที่เป็นแพล็ตฟอร์มโบราณที่สุด คือไวรัสเชื้อตาย คือเพาะไวรัสมา แล้วทำให้มันตาย แล้วทำวัคซีน เราพบว่าภูมิขึ้นสัก 70-80 เท่าที่มีข้อมูลที่ทำเขาทำงานวิจัยออกมา ซึ่งมันพอๆ กับคนที่ติดเชื้อโควิดไปแล้วแล้วหาย แล้วมีภูมิต้านทาน
ฉะนั้นมันก็เลยเป็นที่มาที่อาจารย์หลายๆ ท่านบอกว่า การฉีด Sinovac คุณก็มีภูมิสูงมากพอแล้วนะ เพราะเทียบกับคนที่ติดเชื้อแล้วหายแล้ว ระดับมันไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน เผลอๆ จะสูงกว่าด้วยซ้ำ
ประเด็นก็คือภูมิที่มีป้องกันการติดเชื้อใหม่ได้หรือเปล่า ผมเชื่อว่าป้องกันได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภูมิมันจะค่อยๆ ลดลง เหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดกระตุ้นทุกปี COVID-19 ก็เหมือนกัน 3 เดือน 6 เดือน ภูมิต้านทานจะค่อยๆ ลดลง ไม่ว่าจะติดเชื้อเองและหายแล้วหรือฉีดวัคซีน ฉะนั้น ถ้าเราฉีดตั้งต้นได้ 1,000 ระยะเวลาที่มันลด มันอาจจะลดลงเหลือ 500 มันก็ยังสูงพอจะป้องกันตัวคุณได้ แต่ถ้าเราฉีดตั้งต้นสัก 200-300 ผ่านไป 6 เดือนก็อาจจะดรอปเหลือสัก 100
แต่โจทย์ที่ยากก็คือ มันยังไม่มีตัวเลขบอกว่า ผลลัพธ์เท่าไร ถึงจะป้องกันการติดเชื้อได้ มันเลยเป็นที่มาว่า บางวัคซีนมันอาจจะป้องกันการเจ็บป่วยได้ แต่อาจจะป้องกันการติดได้ไม่ดี เพราะตอนที่มันสร้างภูมิต้านทานอาจจะไม่ได้สูงมาก
ฉะนั้นเรื่องประสิทธิภาพ ก็ต้องยอมรับว่าแพล็ตฟอร์ม mRNA-based ก็น่าจะดีที่สุด รองลงมาคือไวรัสพาหะ แบบAstraZeneca จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ส่วนที่โบราณ เช่นไวรัสเชื้อตาย อย่าง Sinovac Sinopharm มันก็จะกระตุ้นภูมิได้ประมาณนี้ ซึ่งไม่แปลกใจ เพราะตามหลักวิชาการมันได้ประมาณนี้อยู่แล้ว
‘ผลข้างเคียง’ เรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักกับ ‘ประโยชน์’
วัคซีนทั้งหมดที่ทำ เราต้องเข้าใจว่าอายุปีเศษๆ ปกติวัคซีนที่เราใช้ มันวิจัยไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี กว่าจะผ่านเฟสสามแบบปกติ เพราะมันจะเก็บระยะเวลาที่ดูผลข้างเคียง เราจะดูกันนาน ประเด็นคือ วัคซีนโควิดทุกอันจะถูกจดทะเบียนแบบที่เรียกว่า ‘ใช้ฉุกเฉิน’ คือเราไม่สามารถรอให้ผ่านเฟสสามแบบ complete จริงๆ เพราะถ้ารอขนาดนั้น เราอาจจะตายกันทั้งโลกกันก่อน เขาก็เลยบอกว่า โอเค ไม่ว่าจะสหรัฐฯ หรืออังกฤษ ยอมให้จดทะเบียนแบบใช้ฉุกเฉิน โดยมีข้อแม้ว่า “ใช้ไปเก็บข้อมูลไป”
ฉะนั้น เราต้องยอมรับว่าผลช้างเคียงแต่ละอันตอนนี้ แม้แต่อันที่ดีที่สุด Pfizer หรือ Moderna ก็ยังต้องตามต่อ เพราะในตอนนี้เราอาจจะเห็นว่า 1 ปีนี้ ยังไม่เจอผลข้างเคียงรุนแรง อาจจะเจอแค่แพ้รุนแรง แต่ไม่แน่ 5-10 ปีข้างหน้า มันอาจจะไปเจอผลข้างเคียงอื่นๆ อีกก็ได้ เราไม่รู้
ที่เราจะกังวลที่สุดตอนนี้ จะเป็นเรื่อง AstraZeneca กับ Sinovac ที่เราจะฉีด AstraZeneca จะมีคนพูดเรื่องลิ่มเลือดอุดตันค่อนข้างเยอะ ความเป็นจริงคือ กลไกการเกิด มันเกิดจากพอวัคซีนไปกระตุ้นการเกิดภูมิต้านทาน ซึ่งภูมิต้านทานนี้ดันไปกระตุ้นการแข็งตัวของเลือด ให้แข็งตัวผิดปกติ ซึ่งโดยปกติ อัตราการเกินมันน้อยมาก 1 ต่อ 250,000-1,000,000 ถามว่า ทำไมอุบัติการณ์ถึงแตกต่างกัน เรื่องนี้มีรายงานในแถบยุโรป ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าคนผิวขาวมันพันธุกรรมที่จะทำให้ลิ่มเลือดแข็งตัวซ่อนอยู่ และวัคซีนนี้อาจจะฉีดแล้วไปกระตุ้น ดังนั้นเวลาไปดูใน press เขาก็จะบอกว่า ให้ระวังพันธุกรรมที่มีเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน/แข็งตัวเป็นพิเศษ ซึ่งในฝั่งเอเชีย เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องลิ่มเลือดอุดตันมากขนาดนั้นอยู่แล้วเมื่อเทียบกับฝั่งยุโรป เรื่องที่จะเป็นอุบัติการณ์นี้จึงค่อนข้างกังวลน้อยกว่า
ประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้ AstraZeneca อย่างเกาหลี เขาก็ฉีดไปแล้ว ไม่มีรายงานเรื่องลิ่มเลือดอุดตันเลยเหมือนกัน และจากประสบการณ์ที่ใช้ AstraZeneca ในไทย ก็ยังไม่มีรายงานเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน และเมื่อมาดูอุบัติการณ์เหล่านี้จะเกิดในช่วงไหน เราพบว่า ผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 30 ปี โอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันก็สูงกว่า แต่ยิ่งอายุสูงขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่จะเกิดเรื่องนี้ มันน้อยมาก ก็จะเป็นที่มาว่า คำแนะนำในไทย ก็คือจะใช้ AstraZeneca ในคนสูงวัย รวมถึงมันมีข้อมูลในผู้สูงอายุพอดี ก็เลยว่าถ้าเราต้องฉีดผู้สูงอายุ ตัวนี้ก็จะมีข้อมูลมากกว่า Sinovac
เรื่องที่น่าจะ hot hit คือ “ฉีดแล้วตาย มีแข็งขาอ่อนแรง มีชาครึ่งซีก” ผมต้องตอบตรงๆ ว่า Sinovac เรายังไม่รู้ว่าผลข้างเคียงกับระบบประสาทมันเป็นยังไง แต่เราก็พยายามเก็บข้อมูล และมีการศึกษาอยู่ ข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุดคือทีมของอาจารย์จุฬาฯ ที่เขาเก็บคนที่ฉีดมากว่า 1 หมื่นโดส
ที่บอกว่าเสียชีวิต ต้องบอกอย่างนี้ว่า มันยังไม่เคยมีการพิสูจน์ชัดๆ ตรงว่า ที่บอกว่าฉีดวัคซีนแล้วตาย มันตายเพราะวัคซีนจริงๆ หรือเปล่า มันยังไม่สามารถสรุปได้จริงๆ ผมคิดว่าโดยส่วนตัว ถ้าเราเจอเคสแบบนี้ ต้องสอบสวนเป็นกิจจะลักษณะว่าใช่หรือไม่ใช่ ถ้าใช่เกิดจากอะไร เช่น อาจจะต้องชันสูตรพลิกศพ แล้วก็ต้องทำให้โปร่งใส ให้ชัดเจน ประชาชนจะได้รู้สึกว่าอุ่นใจ
รณรงค์ยาก เพราะปัญหาการสื่อสาร-ข้อมูลเปลี่ยนเร็ว
พอข้อมูลมันออกมาแบบนี้ กับสถานการณ์ตอนนี้ มันก็เหมือนกับต้องชั่งระหว่าง ‘ประโยชน์’ กับ ‘โทษ’ ที่จะได้จากวัคซีน อาจารย์หลายท่านก็คงคิดแหละว่า อย่างน้อยประโยชน์ที่ชัดเจน คือการฉีดวัคซีนไม่ว่าจะชนิดไหน คือลดตายแน่ๆ ลดอาการหนักแน่ๆ กันการติดได้ไหม ขึ้นกับชนิดวัคซีน Sinovac ก็กันได้บ้าง AstraZeneca ก็กันได้ดีกว่า นี่คือประโยชน์
ความเห็นของผม ความยากในการรณรงค์ เพราะยังไงตอนนี้ ประชาชนก็เกิดความสงสัยเคลือบแคลงในการฉีดวัคซีน เป็นเรื่องที่เราเข้าใจ ใช้คำว่า vaccine hesitancy จุดหนึ่งคือกังวลว่าฉีดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น สองคือความไม่ตรงไปตรงมาที่ประชาชนเขารู้สึกนะ ทำไมมันพูดกลับไปกลับมา ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการสื่อสาร อีกส่วนคือข้อมูลมันเปลี่ยนไปไวมากจริงๆ วานนี้ข้อมูลเป็นแบบนี้ วันนี้เป็นอีกแบบนึง
ท้ายที่สุด เราอาจจะต้องอยู่กับความเป็นจริงว่า ตอนนี้ ข้อมูลมันมีประมาณนี้ จะฉีดไหม ทีนี้ถ้าผมให้ข้อมูลย้อนหลัง คือ case fatality rate เราพบว่า ติดเชื้อร้อยคน ตายอย่างน้อย 1 คน อันนี้ค่าเฉลี่ยนะ ในขณะที่ฉีดวัคซีน โอกาสที่จะเกิดการชาแปบๆ เป็นแล้วหาย อาจจะหนึ่งในหมื่น ส่วนเส้นเลือดอุดตันในสมองหรือในที่ต่างๆ เกิดหนึ่งในแสนหรือหนึ่งในล้าน
ผมก็คิดกลับมาว่า เรื่องวัคซีน การจะทำให้ประชาชนอยากฉีดและมั่นใจการฉีด เขาก็ต้องรู้สึกว่า ผมข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น ผู้ดูแลหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบาย เขาจะจัดการอย่างไร สมมุติว่าเกิดเรื่องขึ้นมา เกิดอ่อนแรงเฉียบพลัน เขาจะไปแอดมิทที่ไหนได้บ้าง สมมุติผมไปฉีดวัคซีนที่โรงเรียนแพทย์ กลับบ้านมาเกิดอาการไปเข้าโรงพยาบาลเอกชนข้างๆ บ้าน ทำ MRI ทำทุกอย่าง ผมหมดไปสัก 4 หมื่น คำถามก็คือ เขาก็อาจรู้สึกว่า ชั้นต้องจ่าย 4 หมื่นเลยใช่ไหม มันเป็นความผิดของชั้นหรือ หรือชั้นต้องเสี่ยงๆ ดวงไป ถ้าเกิดเรื่องมา ประชาชนต้องรับผิดชอบกันเอง
ผมคิดว่าถ้ามันมีการสื่อสารตรงนี้ให้ชัดเจนว่า เราเคลียร์ระบบต่างๆ ให้ประชาชนรู้สึกว่า ถ้าฉีดไปแล้วเกิดผลข้างเคียง เราจะมีวิธีจัดการอย่างไร และมีการเยียวยา เพราะถ้าฉีดแล้วต้องหยุดงาน 1-2 วัน จะมีอะไรช่วยเขาได้บ้าง
ฉีดวัคซีนเป็น ‘สิทธิ’ ไม่ใช่ ‘หน้าที่’ ทุกคนมีสิทธิเลือก
ความที่คนลังเลไม่อยากฉีด เป็นสิทธิส่วนบุคคล มันไปบังคับหรือไปห้ามใครไม่ได้ มันไม่ใช่หน้าที่ เขามีสิทธิที่จะเลือกว่าจะฉีดหรือไม่ฉีด แต่เขาควรรู้ว่าทำไมเราอยากให้ฉีด แล้วผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด เราต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง ไม่อวยบางวัคซีนเกินไป หรือไม่ไปด่าบางวัคซีนว่ามันแย่มาก เพราะทุกวัคซีนมันมีข้อดีข้อด้อยของมัน
บางคนอาจจะใช้ได้บางแพล็ตฟอร์มด้วยซ้ำ เพราะข้อจำกัดทางสุขภาพของเขา ทุกคนควรจะเลือกวัคซีนที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและความจำเป็นของเขา และนี่คือสิ่งที่สำคัญ
ผมมีรุ่นน้องไปเรียนหมอติดเชื้อที่สหรัฐฯ กระทั่งที่นั่นมีคนอยากฉีดวัคซีนแค่ 50% ผมก็เลยถามว่า แล้วเขาทำยังไงให้คนอยากฉีดวัคซีนมากขึ้น รุ่นน้องก็บอกว่า ที่โน่น อาจารย์แพทย์และผู้เชี่ยวชาญก็จะมานั่งเป็น panelist เลย และบอกว่า ใครมีปัญหาอะไรก็สอบถามมา ทุกคนก็จะมีคำถามว่า ตั้งครรภ์อยู่ฉีด Pfizer ได้ไหม สิ่งที่เขาตอบ ผมชอบมากเลย เขาตอบว่า “ผมไม่รู้ ตอนนี้ข้อมูลมีจำกัด แต่ข้อมูลในสัตว์ทดลองเป็นแบบนี้ คำแนะนำของผม ผมแนะนำว่าควรทำแบบนี้ แต่ถ้าถามผม ผมไม่รู้ ข้อมูลยังน้อยเกิน” วิธีการพูดของเขา เขาจริงใจและชัดเจนมาก บอกเลยว่าอะไรที่เขารู้ เขาไม่รู้ อะไรเป็นข้อคิดเห็น based on อะไร คนที่ฟังก็จะรู้ว่า ความน่าเชื่อถือประมาณไหน
แล้วเขาจะบอกว่า เวลาคุณท้อง แล้วฉีดวัคซีน ประโยชน์ที่จะได้ จะเป็นยังไงบ้าง ถ้าคุณเลือกไม่ฉีด ก็ต้องป้องกันตัวเองดีๆ นะ นี่ผมยกตัวอย่าง เขาก็จะถามแบบนี้ตลอด แล้วจัด session แบบนี้ทุก 2-4 สัปดาห์ แล้วเขาก็วัด rate ของการอยากฉีดวัคซีน ก็พบว่าค่อยๆ ไต่ขึ้น จาก 50% เป็น 60-70% ค่อยๆ ขึ้นมา ในดินแดนที่มีคนแอนตี้วัคซีนครึ่งประเทศ
ผมว่าประเทศไทย คนอยากฉีด แต่คนต้องข้อสงสัยว่า ที่มีอยู่ตอนนี้ ควรจะฉีดดีหรือควรจะรอ ฉะนั้น ผมคงให้ข้อมูลแบบนี้ว่า มันเป็นสิทธิของคุณว่า จะรอตัวที่ตัวเองอยากได้ ที่เขาว่ากำลังจะเอามากัน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมาได้หรือเปล่า หรือมาเท่าไรกันแน่ จะรอเพราะมั่นใจในแพล็ตฟอร์มนั้นเพราะมั่นใจในประสิทธิภาพ อันนั้นเป็นสิทธิของคุณ
แต่ถามว่าทำไมเราอยากให้ฉีด เท่าที่มีวัคซีนตอนนี้ เพราะตอนนี้ เราต้องเตือนว่า ICU ทั้งหมดแทบจะไม่มีแล้ว ทุกที่ ICU แน่นหมด หลายคนบอกว่า เห้ยโรงพยาบาลมี ICU เยอะแยะ แต่คุณอย่าลืมว่า ICU สำหรับผู้ป่วยโควิด ต้องเป็น ICU เฉพาะ ต้องทำเป็น negative pressure ทีมพยายบาลที่จะดูแลได้ ก็ต้องเป็นทีมพยาบาลวิกฤตชั้นสูง คือต้องผ่านการฝึกหลายปี ไม่ใช่จบพยาบาลมาก็ทำได้เลย
ตอนนี้ ความสามารถในการดูแลสุขภาพของระบบสุขภาพเรา มัน overload แล้ว มันกำลัง burn out ไม่ได้หมายความว่าหมอเหนื่อย ไม่อยากดูแลนะ แต่คือหมอไม่มีแม้แต่เตียงคนไข้ และเราไม่อยากเกิดเหตุการณ์ว่า มีผู้ป่วย 3 คนที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แต่เราต้องใส่แค่คนเดียว เราจะเลือกใคร เราไม่อยากเกิดเหตุการณ์นั้น เราอยากรักษาทุกคน เราอยากช่วยทุกคน
แต่ถ้าเราไม่สามารถคอนโทรลอะไรได้ในตอนนี้ เราเชื่อว่าวันนั้นมันอาจจะมาถึง ฉะนั้นการฉีดวัคซีนตอนนี้ ไม่ต้องมองว่า เพื่อใครเลย เพื่อตัวคุณ อย่างน้อย คุณลดโอกาสที่จะเกิดหนึ่งในร้อย คือไม่ตาย ถ้าต้องตาย ก็มีภูมิต้านทาน และอาจจะโชคดีคือกันติดได้บ้างบางส่วน
คำถามคาใจ: ฉีดเข็มแรกไปก่อน แล้วเปลี่ยนยี่ห้อเข็มสองได้ไหม?
มีคนถามว่า ชั้นฉีดอันนี้ไปก่อน แล้วค่อยฉีดอันที่ต้องการในอนาคต ผมก็ต้องตอบตรงๆ ว่า อันนี้ข้อมูลยังน้อย แต่มีคนศึกษาอยู่ เรื่องการเปลี่ยนแพล็ตฟอร์มวัคซีน ซึ่งในส่วนตัว ในทางทฤษฎี คิดว่าเปลี่ยนได้อยู่แล้ว เช่น ชั้นฉีด Sinovac แล้ว อยากฉีดPfizer มาพอดี แต่ถามว่าจะฉีดได้กี่เข็ม ตรงนี้มันยัง lack of knowledge ยังไม่รู้ แต่ทางทฤษฎีเราเชื่อว่า เวลาฉีดวัคซีนไป ภูมิจะขึ้นดีในช่วงแรก 3 เดือน 6 เดือนถึงจะเริ่มลดลง ถ้าอยากจะ boost หรือฉีดวัคซีนแพล็ตฟอร์มใหม่ เวลาที่เหมาะสมคือหลังจากฉีดวัคซีนแรกไปแล้วอย่างน้อย 3-6 เดือน
มีคนถามว่าอยากฉีดเร็วกว่านั้นได้ไหม ถ้าอยากเร็วสุดและยังปลอดภัย ผมคิดว่า 1 เดือน ด้วยเหตุผลว่า ถ้าภูมิต้านทานในร่างกายยังมีสูงมาก และเราไปฉีดกระตุ้นเร็วเกินไป มันอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากภูมิต้านทานสูงเกิน เช่น ปวดเมื่อยบริเวณที่ฉีดมาก หรือไข้ขึ้นสูงมาก เป็นต้น
แต่ทั้งหมดที่ผมพูด ตอนนี้เป็นทฤษฎีทั้งหมด based on จากวัคซีนในการรักษาโรคอื่นๆ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าเปลี่ยนได้ และตอนนี้เขากำลังทำงานวิจัย หนึ่ง เปลี่ยนได้จริงไหม สอง ระยะเวลาที่เหมาะสม จำนวนโดสที่เหมาะสม ควรจะเป็นเท่าไร
ผมคิดว่าอันนี้ค่อยๆ ติดตามได้ และผมคิดว่าคนในโลกหลายคนคิดแบบนี้ มีข้อมูลแน่ในอนาคต