ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีน COVID-19 ในหลายมุม ทำให้หลายคนต่างวิตกกังวลและชั่งใจว่าควรเข้ารับการฉีดวัคซีนดีไหม สวนทางกับฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่างออกมาพูดประสานเป็นเสียงเดียวกันว่า ควรฉีด ต้องฉีด และให้ไว้ที่สุด
คำอธิบายระหว่างบรรทัดของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลายคือ ถึงแม้วัคซีน COVID-19 ทุกชนิดไม่ได้ผ่านการสำรวจและวิจัยตามมาตรฐานของสถานการณ์ปกติ และแม้จะมีตัวเลขและผู้ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนอยู่บ้าง แต่การฉีดวัคซีนก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีกว่าปล่อยให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จนระบบสาธารณสุขล่มสลาย รองรับผู้ป่วยไม่ไหว และความตายร่วงโรย ไม่ต่างจากที่เคยเกิดในอิตาลี เมื่อปีที่แล้ว และอินเดียในขณะนี้
The MATTER ขอรวบรวมประสิทธิภาพและผลข้างเคียงจากวัคซีน 5 ชนิดที่คนไทยมีโอกาสจะได้ฉีดในเร็ววันนี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจให้แก่ผู้อ่านในกรณีที่ท่านเลือกได้ว่าจะฉีดวัคซีนชนิดใด
๐ Sinovac
Sinovac เป็นวัคซีนสัญชาติจีนที่ผลิตด้วยวิธีใช้ไวรัสเชื้อตาย (Inactivated) ซึ่งแตกต่างกับวัคซีนชนิด Astra Zeneca ที่กำลังจะถูกฉีดให้แก่ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีในเดือนมิถุนายนนี้
แต่หากพูดถึงประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ เคยชี้ไว้เมื่อวันที่ 6 พฤษาคมว่า Sinovac มีประสิทธิภาพสำคัญสามารถป้องกันอาการรุนแรง/ตายได้ทั้ง 100 % และสามารถช่วยผู้ป่วยที่มีอาการระดับปานกลาง ต้องนอนโรงพยาบาลแต่ไม่ถึงกับใส่เครื่องช่วยหายใจได้ 83.7% และช่วยป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการได้อีก 50.7%
ถึงแม้ว่า Sinovac จะยังไม่มีงานวิจัยการทดลองระยะที่ 3 ตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์ มีเพียง Press Release ของบริษัทเท่านั้น แต่เคยมีการเก็บข้อมูลการใช้วัคซีนชนิดนี้ ทั้งในบราซิล, อินโดนีเซีย และชิลี ซึ่งประเทศหลังสุดได้มีการทดลองฉีดให้แก่บุคลากร และผลออกมาว่าสามารถลดอัตราผู้ป่วยร้ายแรงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ในทางกลับกัน แทบไม่สามารถลดอัตราการแพร่เชื้อได้เลย
ซึ่งทาง WHO เองก็ตระหนักดี และยังไม่ได้รับรองวัคซีนชนิดนี้สำหรับการใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่มีข่าวว่ากำลังอยู่ในช่วงพิจารณาเช่นกัน
หลังจากที่ Sinovac เริ่มถูกฉีดให้ชาวไทยบางส่วน และมีรายงานถึงผลข้างเคียงตั้งแต่ระดับเล็กน้อย อาทิ มีไข้, ปวดเมื่อย หรือคลื่นไส้ จนถึงผลในระดับรุนแรง อาทิ เหน็บชาและอัมพฤกษ์เป็นระยะสั้นๆ คล้ายกับทางการฟิลลิปปินส์ที่เผยว่ามีอาการข้างเคียง 5 ชนิดที่พบบ่อยหลังฉีดวัคซีนชนิดนี้ ได้แก่ ความดันสูง, ปวดศีรษะ, ปวดจุดที่ฉีด, เวียนหัว และผื่น
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ติดตามผลการฉีดวัคซีนในไทย ได้ให้ความเห็นว่ามาถึงขณะนี้ พบอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีน อาทิ หน้าบวมหรือตาบวม อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อ 100,000 โดส และมีอาการข้างเคียงระดับเล็กน้อยประมาณร้อยละ 35 ของผู้ที่ได้รับการฉีดทั้งหมด
๐ Astra Zeneca
Astra Zeneca หรือ Vaxzevria เป็นวัคซีนอีกชนิดที่กำลังเดินทางมาถึงไทยในเร็ววันนี้ โดยเป็นวัคซีนที่ผลิด้วยวิธีการ Adenovirus เช่นเดียวกับวัคซีนชนิด Sputnik-V ของรัสเซีย
โดย นพ.ทวี ยกข้อมูลถึงวัคซีนชนิดนี้ว่า สามารถป้องกันอาการป่วยได้ราว 76% และสามารถป้องกันการป่วยหนัก/ตายได้ทั้ง 100% และที่สำคัญสามารถช่วยในเรื่องป้องกันการแพร่เชื้อได้อีกถึง 50%
อย่างไรก็ตาม Astra Zeneca เป็นวัคซีนชนิดหนึ่งที่หลายประเทศในยุโรปแจ้งว่าพบอาการข้างเคียงรุนแรงหลายชนิด โดย ศ.พญ.กุลกัญญา เผยผลสำรวจผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ในไทยว่า พบว่ามีผู้อาการแพ้รุนแรงอยู่ที่ 1.6 ต่อ 100,000 โดสที่ฉีดไป
ทางสำนักงานควบคุมยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (MHRA) ในสหราชอาณาจักร ได้เผยผลการเก็บข้อมูลตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนชนิดนี้ จนถึง 31 มีนาคม 2021 เป็นจำนวน 20.2 ล้านโดสว่า ผู้ได้รับวัคซีนมีโอกาสที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ 1 ใน 250,000 ราย หรือ 4 ใน 1,000,000 ราย
ทางด้านองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป หรือ European Medicines Agency (EMC) ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 23 เมษายนว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งจะหายไปในเวลา 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า 1 ใน 100,000 รายที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้อาจมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ทั้งนี้ Astra Zeneca เป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจาก WHO ตามหลังเพียงวัคซีนชนิด Pfizer อย่างไรก็ตาม ด้วยผลข้างเคียงที่มีการรายงานจากหลายประเทศทั่วยุโรป ทำให้ WHO แนะนำว่าควรฉีดวัคซีนชนิดนี้แก่ประชาชนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ขณะที่หลายประเทศในยุโรปก็มีความเห็นในทิศทางคล้ายกันว่าวัคซีนชนิดนี้เหมาะกับผู้สูงอายุมากกว่า
๐ Sputnik V
วัคซีนที่ตั้งชื่อตามดาวเทียมดวงแรกของโลกจากรัสเซียนี้ เป็นวัคซีนที่ถูกผลิตขึ้นด้วยวิธี Adenovirus เช่นเดียววัคซีนชนิด Astra Zeneca ซึ่งหลายคนคงจำได้ว่าประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นคนแรกที่ออกมาประกาศว่ารัสเซียเป็นชาติแรกที่สามารถผลิตวัคซีน COVID-19 ได้สำเร็จ
หลายคนคงแอบมองวัคซีนชนิดนี้ไว้บ้าง เพราะหลังจากที่ Tony Woodsome นามจริง ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกมาเสนอตัวผ่านคลับเฮ้าส์ว่าพร้อมที่จะเจรจากับทางรัสเซียเพื่อนำเข้าวัคซีนนี้ให้ ไม่นานหลังจากนั้นก็มีข่าวว่ารัฐบาลไทยพุ่งตัวไปเจรจากับรัสเซียในทันที เพื่อนำเข้าวัควีนชนิดนี้
โดย นพ.ทวี ยกข้อมูลถึงวัคซีนชนิดนี้ว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยหรือติดเชื้อแบบมีอาการ 92% และป้องกันอาการป่วยหนัก/ตาย 100% แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าสามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้
โดย นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก เขียนถึงผลการทดลองระยะที่ 3 ของวัคซีนชนิดนี้ ไว้ในบทความ ‘เจาะลึกวัคซีน Sputnik V ที่รัฐบาลดีลกับรัสเซียสำเร็จแล้ว’ ว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้จะมีผลข้างเคียงเล็กน้อย โดยในกลุ่มผู้สูงอายุจะพบอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ 15.2% ปวดบริเวณที่ฉีด 5.4% ปวดศีรษะ 2.9% อ่อนเพลีย 2.5%
สำหรับผลข้างเคียงรุนแรงที่ระบุไว้ในงานวิจัยว่า ผู้ที่เข้ารับวัคซีนจำนวน 45 จาก 16,427 ราย ที่พบมีอาการรุนแรง อาทิ ความดันโลหิตสูง, เส้นเลือดในสมองแตก และลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำ และมีผู้เสียชีวิตอีก 4 ราย นพ.ชนาธิป อธิบายไว้ในบทความข้างต้นว่า เกิดทั้งในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและกลุ่มควบคุม ดังนั้น “จึงสรุปได้ว่าไม่มีความสัมพันธ์กับวัคซีน”
แต่แม้จะมีข้อมูลมายืนยันและ 64 ประเทศทั่วโลกได้ประกาศใช้วัคซีนชนิดนี้แล้ว Sputnik V ก็ยังไม่ได้รับการรับรองจาก WHO และ EMC อยู่ดี
๐ Moderna
อีกหนึ่งวัคซีนสัญชาติอเมริกัน ที่ถูกผลิตขึ้นด้วยวิธี mRNA ซึ่งกำลังถูกพูดถึงอยู่ไม่น้อยในสังคมไทย เพราะข่าวคราวแว่วมาหลายครั้งว่าภาคเอกชนเตรียมนำวัคซีนชนิดนี้เข้ามาภายในประเทศ และล่าสุดก็มีข่าวว่าวัคซีนดังกล่าวกำลังถูกพิจารณาจาก อย. ของไทยอยู่
ทางด้าน นพ.ทวี ยกข้อมูลพูดถึงวัคซีนชนิดนี้ว่าสามารถป้องกันอาการป่วยได้ 94% และสามารถป้องกันอาการป่วยหนัก/ตายได้ 100% อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลว่าสามารถช่วยในด้านป้องกันการแพร่เชื้อ
โดยจากกการทดลองในระยะที่ 3 พบว่าวัคซีนชนิดนี้ผลข้างเคียงเล็กน้อย อาทิ อ่อนเพลีย, ปวดศีระษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน โดยมักจะพบในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปีมากกว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลของทางการสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 14 ธ.ค. 2020 – 18 ม.ค. 2021 ในการฉีดวัคซีน Moderna ทั้งหมด 7,581,429 โดส พบว่ามีผู้เกิดอาการภูมิแพ้รุนแรงจากวัคซีนชนิดนี้ 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.5 รายต่อหนึงล้านโดส
ทางด้านข้อมูลจนถึงวันที่ 27 เมษายนจาก MHRA ของสหราชอาณาจักร เผยว่า หลังจากได้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ไปครบ 100,000 พบว่ามีผู้ได้รับวัคซีนที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงจำนวน 2 ราย
ทั้งนี้ ทาง WHO ได้รับรองให้ Moderna เป็นวัคซีนลำดับที่ 5 สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน และได้มีคำแนะนำในการใช้ว่า ควรใช้สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
๐ Pfizer
Pfizer เป็นวัคซีนที่ได้รับการชื่นชมและมีข้อมูลรอบด้าน และในมุมมองของผู้เขียนมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะถูกนำเข้ามาใช้ในไทย หลังจากที่มีข่าวคราวว่าจะมีการตั้งโรงงานผลิตในสิงคโปร์ เมื่อไม่กี่วันมานี้
โดย นพ.ทวี ยกข้อมูลถึงวัคซีนชนิดนี้ว่า สามารถป้องกันอาการป่วยได้ 95% และสามารถป้องกันอาการป่วยหนัก/ตายได้ 100% รวมถึงสามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ถึง 60% ซึ่งมากกว่าวัคซีนทุกชนิดข้างต้น
โดยจากการเก็บข้อมูลของทางการสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 14 ธ.ค. 2020 – 18 ม.ค. 2021 ในการฉีดวัคซีน Pfizer ทั้งหมด 9,943,247 โดส พบว่ามีผู้เกิดอาการภูมิแพ้รุนแรงจากวัคซีนชนิดนี้ 47 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.7 รายต่อหนึงล้านโดส
ทางด้านข้อมูลจนถึงวันที่ 27 เมษายนจาก MHRA ของสหราชอาณาจักร เผยว่า หลังจากได้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ไปครบ 19.5 ล้านโดส พบว่ามีผู้ได้รับวัคซีนที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงจำนวน 283 ราย
ทางด้าน WHO ได้ประกาศรับรองวัคซีนชนิดนี้เป็นชนิดแรกตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา และเป็นวัคซีนชนิดเดียวที่ WHO แนะนำว่าสามารถใช้ในเด็กที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปได้ ดังนั้น ถ้าดูจากความเชื่อมั่นของ WHO แล้ว อาจไม่แปลกที่ทำไมหลายประเทศ รวมถึงผู้คนในสังคมไทย มองว่าวัคซีนตัวนี้คือม้าเต็งหนึ่งที่รัฐบาลควรนำเข้ามา
ผู้เขียนเองเข้าใจดีว่าหลายคนมีความหวั่นใจหลังจากเสพข่าวผลกระทบของวัคซีนในช่วงที่ผ่านมา แต่หากดูจากสถิติที่ออกมา รวมถึงฟังคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทั้งแพทย์และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ การรับวัคซีนเป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการติดไวรัส COVID-19 มาก นอกจากนี้ มันยังเป็นทางเดียวที่จะพาสังคมเราออกจากวิกฤตในยามนี้ เช่นนั้น ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงและไม่เกิดผลข้างเคียงร้ายๆ ด้วยเถิด ธุจ้าา
อ้างอิง: