สมัยเรียน เรามักจะบ่นๆ เวลาถูกบังคับให้ไป ‘ทัศนศึกษา‘ อยุธยา-สุโขทัย อันที่จริงการได้ไปเห็นโบราณสถานของจริงมันก็ดีอยู่หรอก แต่พอเจอป้าย ‘ห้ามเข้า‘ จุดนี้ก็ไม่ให้เข้า จุดนั้นก็หวงห้าม จุดนู้นก็กำลังบูรณะ อ้าว แล้วจะมาทำไมเนี่ย! นอกจากไม่สบอารมณ์แล้วยังไม่ได้ข้อมูลที่น่าสนใจ ให้ไปยืนอ่านป้ายกลางแดดร้อนๆ ก็ไม่ได้ใจเด็กยุคดิจิทัลเอาเสียเลย
ก็ต้องเห็นใจกันหน่อย โบราณสถานของไทยล้วนบอบบาง จำเป็นต้องมีการติดตามสภาพเพื่อการอนุรักษ์อย่างเข้มงวด หลายจุดที่เขาไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าไป ก็เป็นเหตุผลเชิงโครงสร้าง เพราะโบราณสถานอายุนับหลายร้อยปีไม่ได้ก่อด้วยปูนซีเมนต์แข็งแรงเหมือนสิ่งก่อสร้างในปัจจุบัน มีอิฐโบราณที่สภาพอ่อนแอ มีช่องว่างที่ทำให้ทรุดตัวได้ง่าย ยิ่งจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทำให้โบราณสถานไทยทั้งประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต
แต่เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่แม่นยำล้ำสมัย จะยกโบราณสถานไทยสู่โลก ‘ดิจิทัล” แบบอลังการ โดยที่คุณสามารถโลดแล่นได้ผ่านโลกเสมือนจริง Virtual reality ที่เห็นอิฐเป็นก้อนๆ ตะไคร่น้ำขึ้นเป็นแผ่นๆ แบบละเอียดยิบ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกข้อมูลวิศวกรรมของโบราณสถานที่ละเอียดและรอบคอบที่สุดของประเทศ เป็นข้อมูลอันล้ำค่าในการบูรณะซ่อมแซมและสื่อการเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้
ทรัพย์สมบัติบ้านเราเอง ถ้าไม่สำรวจ ใครเล่าจะทำ พบกับเทคนิคสุดล้ำเบื้องหลังที่อาจทำให้คุณมั่นใจได้ว่า โบราณสถานที่คุณคุ้นเคยถูกเก็บเป็นข้อมูลครั้งสำคัญที่แม่นยำกว่าครั้งไหนๆ
งานเก็บข้อมูลระดับยอดด้านวิศวกรรม
วิทยาศาสตร์มีบทบาทอย่างมากในการรักษาอัตลักษณ์ของชาติ โครงการนี้จึงเป็นวิจัยขนาดใหญ่ที่รวมนักวิจัยหัวกะทิจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยไว้มากมาย เพื่อจัดทำฐานข้อมูลทางวิศวกรรมโบราณสถานที่เรียกได้ว่า ‘ละเอียดและแม่นยำที่สุด’
แน่นอนว่าต้องใช้เวลา เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญแทบเรียกได้ว่าครบองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมที่ยังไม่มีใครทำได้ครบเครื่องเช่นนี้มาก่อน จากปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2555 เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่สร้างความเสียหายให้กับโบราณสถานจำนวนมากในประเทศ น้ำได้กัดเซาะฐานวัดโบราณสำคัญ เกิดเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ที่เสี่ยงต่อการชำรุด บวกกับสภาพภูมิอากาศแบบ microclimate ที่ทวีความรุนแรง ทั้งพายุ ลมแรง หรือแผ่นดินไหวเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้โครงสร้างโบราณสถานพังครืนลงมาแทบทั้งหมด
ถ้าเราไม่มีข้อมูลอะไรเลยเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยทางโครงสร้าง ก็เหมือนปิดตาคลำช้างแล้วพยายามขึ้นขี่ จากที่พยายามแก้ปัญหา ก็อาจสร้างปัญหามากกว่าเดิม เพราะโบราณสถานทุกแห่งยังกุมความลับในการก่อสร้างค่อนข้างมาก มีระเบียบแบบแผนไม่เหมือนสิ่งก่อสร้างในปัจจุบัน
งานวิจัย “การพัฒนาฐานข้อมูลทางวิศวกรรม เพื่อการประเมินและติดตามสภาพโครงสร้างโบราณสถานของไทย” จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากการสนับสนุนของ สกว. ทำให้เราเห็นว่า การเก็บข้อมูลสักอย่างควรทำด้วยความละเอียดรอบคอบและต่อยอดได้
เปลี่ยนโบราณสถานให้กลายเป็น 3D
สิ่งที่น่าสนใจในโครงการวิจัยนี้ คือการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือสูงมาก จนสามารถใช้ในการอ้างอิงได้เลย ซึ่งจำเป็นต่อการวิเคราะห์โครงสร้าง ไม่ใช่การทำ Model 3D ขึ้นมาโดยการนั่งจินตนาการ หรือเอาแค่ความสวยงาม แต่ต้องให้สมจริงถึงขั้นเห็นแนวโน้มการทรุดเอียงตามความเป็นจริงเลยทีเดียว
ทีมวิจัยใช้เทคโนโลยีสแกนวัตถุ 3 มิติด้วยแสงเลเซอร์ ในการสำรวจและเก็บข้อมูลพิกัดจากสภาพแวดล้อมจริง ทำให้คุณได้เห็นสภาพทางโครงสร้างที่ละเอียดมากๆ ได้สัดส่วนที่สมจริง เมื่อเก็บข้อมูลไปแล้วสามารถเอาไปเทียบเคียงกับผลสแกนก่อนหน้าได้ชัดเจน คุณสามารถเห็นยอดที่มีแนวโน้มหักงอ หรือมีความเอียงมากกว่าครั้งก่อนอย่างไร
ทีมวิจัยวางเครื่องสแกนสามมิติตามจุดต่างๆ เก็บภาพให้ครบทุกมุม แค่เฉพาะวัดไชยวัฒนาราม ก็ใช้เวลา 5 วัน มีจุดตั้งกล้องไม่น้อยกว่า 100 จุด เก็บรายละเอียดทั้งภายในและภายนอก
พอมีข้อมูลเช่นนี้ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะเห็นแนวโน้มว่าสภาพต่อไปของโบราณสถานจะมีหน้าตาอย่างไร ส่วนไหนจำเป็นที่ต้องซ่อมแซมก่อนโดยที่ไม่ต้องรอพัง
สำรวจด้วย VR สัดส่วนสมจริง
ไฮไลต์ที่สำคัญและน่าสนุกมากๆ เมื่อเราได้ฐานข้อมูลทางวิศวกรรมของโบราณสถานแบบละเอียดยิบอิฐเป็นก้อนๆ เช่นนี้แล้ว ก็ควรมีโอกาสเข้าไปสำรวจแบบใกล้ๆ สักหน่อย
ต้องขอบคุณเทคโนโลยี VR (Virtual reality) ที่ทำให้เราสวม Headset เข้าไปเดินสำรวจได้แบบ 360 องศา ราวกับอยู่ตรงนั้นจริงๆ จากที่ทดลองเล่นดู ก็พบว่าโบราณสถานมีสัดส่วนที่สมจริงและเป็นธรรมชาติ แต่ Interface อาจยังไม่น่าดูนัก เพราะอยู่ในขั้นตอนวิจัย รายละเอียดบางส่วนยังเว้าแหว่งที่ต้องรอข้อมูลมาเติมให้เต็ม
เราสามารถเดินเข้าไปชม ‘วัดถ้ำพระโพธิสัตว์’ อำเภอแก่งคอย สระบุรี ไปดูสถานที่ถ่ายทำละครใน ‘วัดไชยวัฒนาราม’ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือสำรวจ ‘พระที่นั่งจอมทอง’ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่สามารถเห็นรายละเอียดของอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างจนบ่งบอกความแตกต่างได้ โดยมีสัดส่วนที่แม่นยำมากๆ เดินสำรวจได้เพลิน แถมยังเข้าไปในพื้นที่หวงห้ามที่ปกติจะไม่เปิดให้คนทั่วไปสำรวจมาก่อนแบบ exclusive ผ่านระบบ VR
เราอดคิดไม่ได้ว่า ต่อไประบบ VR ชมโบราณสถาน อาจสามารถนำไปประยุกต์เป็นสื่อการสอนประวัติศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับศึกษาหาความรู้ ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์แบบ interactive คล้ายกับที่ต่างประเทศทำ หรือมองในเชิงพาณิชย์หากรัฐบาลอยากสนับสนุนเพิ่ม เราจะมี set โบราณสถาน 3D ที่ครบทุกแห่งในประเทศไทยที่เอาไปสร้างประโยชน์ได้สารพัด
แม้งานวิจัยอยู่ในจุดเริ่มต้น แต่ก็สดใสมากๆ เพระาประเด็นคือ คนไทยเริ่มทำแล้ว
แข็งแรง แต่ไม่ทิ้งอดีต
พูดถึงอิฐเป็นก้อนๆ ที่ละเอียดยิบ งานวิจัยยังพัฒนาต่อเนื่อง หากว่าถึงเวลาต้องบูรณะเข้าจริงจะทำอย่างไรให้โครงสร้างนั้นแข็งแรง แต่ต้องรักษาวัสดุโบราณให้ได้มากที่สุดด้วย ซึ่งถือเป็นความท้าทายมากๆ ของการบูรณะโบราณสถานที่บางครั้งเป็นการสู่กันระหว่าง ‘เทคนิคเก่า vs. เทคนิคใหม่’
งานวิจัยจึงเก็บตัวอย่างจริงมาทดสอบในห้องปฏิบัติการ หาองค์ประกอบทางแร่ธาตุ และองค์ประกอบทางเคมีพื้นฐานของอิฐและปูนก่อโบราณ กำลังที่สามารถรับแรงอัด ความพรุน อัตราดูดกลืนน้ำ การระเหยน้ำ ถึงแม้ว่าจะเป็นอิฐที่มาจากโบราณสถานยุคเดียวกันก็มีลักษณะต่างกันไปอีก
ใช้ความใหม่มาช่วยของเก่า
การซ่อมโบราณสถานไม่เหมือนซ่อมบ้านของคุณ เพราะต้องหาความเหมาะสมในสัดส่วนที่ลงตัว จะเอาแค่ความแข็งแรงโดยเมินเฉยต่อประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้ แต่จะเอาตามประวัติศาสตร์แบบเป๊ะๆ ตามวัสดุในยุคนู้นก็หาไม่ได้แล้ว ชุดข้อมูลการสำรวจนี้ทำให้เรารู้คุณสมบัติวัสดุโบราณด้วย
ทีมวิจัยมีโจทย์ว่าต้องหลีกเลี่ยงการใช้ปูนซีเมนต์ในส่วนผสม และใช้วัสดุเดิมให้มากที่สุด คือ ปูนหมัก เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุโบราณ และต้องไม่ก่อให้เกิดการเสื่อมสภาพของวัสดุดั้งเดิม ไม่ทำให้เป็นเกลือ ได้กำลังรับแรงอัด ดูดกลืนน้ำและระเหยน้ำ ซึ่งทีมวิจัยพบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะใช้วัสดุประเภท ปอซโซลาน เช่น เถ้าแกลบและเถ้าลอบ มาปรับปรุงสูตรปูนก่อให้มีความเข้ากันได้กับอดีตมากที่สุด
เวลาไปเยี่ยมชมโบราณสถาน คุณจะได้ไม่ต้องสะดุดกับปูนซีเมนต์ขาวๆ ที่ทำให้ฟิลลิ่งความขลังหายไปเยอะ
เข้าถึงข้อมูลได้ทุกคน
องค์ความรู้นี้สำรวจด้วยคนไทย ก็เสมือนคนในประเทศได้เป็นเจ้าของ ใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการและสามารถทำให้เราสนุกไปกับประวัติศาสตร์ อีกขั้นของงานวิจัยคือการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว ซึ่งการสแกนวัตถุ 3 มิติของโบราณสถาน มีขนาดข้อมูลที่ใหญ่มาก แต่ต่อไปจะทำให้เข้าถึงง่ายๆ ดูได้ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ และพัฒนาเว็บไซต์ฐานข้อมูลตัวอย่าง เพื่อนำเสนอข้อมูลที่รวบรวมมาในรูปแบบที่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
ยุค Big data อาจทำให้เรื่องราวในอดีตกลับมางอกเงยอีกครั้ง จุดประกายความกระหายครั้งใหม่ของคนในประเทศ เพราะท้ายที่สุด ทุกคนก็ยังอยากอนุรักษ์ ‘ของจริง’ ให้คงอยู่ต่อไปมากกว่าจะเป็นโครงสร้าง 3D หรือไฟล์คอมพิวเตอร์ จริงไหม?
อ้างอิงข้อมูลจาก
โครงการวิจัย ‘การพัฒนาฐานข้อมูลทางวิศวกรรมเพื่อการประเมินและติดตามสภาพโครงสร้างโบราณสถานของไทย’
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สำนักสนับสนุนทุนวิจัย สกว.