เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้มีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งระบุว่า กรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. กำลังจะปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ เพื่อให้สะท้อนต้นทุน และปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในปีหน้า
และเมื่อใดก็ตามที่รัฐท่านออกมาพูดอย่างนี้มันก็แน่นอนว่า จะมีการ ‘ขึ้นค่าไฟ’ นั่นแหละนะครับ เพราะดูเหมือนรัฐบาลท่านจะเข้าใจผิดว่า การขึ้นภาษี และค่านู่นนี่อีกสารพัด รวมทั้งค่าไฟนี่ก็ด้วย จะเป็นวิธีการคืนความสุขอย่างหนึ่งให้กับประชาชน
แต่การขึ้นค่าไฟครั้งนี้ดูจะมีรายละเอียดที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งก็คือ การจะเรียกเก็บค่าไฟเพิ่มขึ้นเฉพาะผู้ใช้ไฟในเวลากลางคืน ซึ่งทาง กกพ. ก็ให้เหตุผลเอาไว้ว่า เป็นเพราะตามอาคารบ้านเรือนบางส่วนเริ่มนิยมติดแผงโซลาร์เซลล์มากขึ้น ทำให้ลดปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดช่วงกลางวันลงไปได้
(อ้อ! และก็ไม่ใช่ว่าใครติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานใช้เองจากแสงอาทิตย์แล้ว จะไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าหรอกนะ เพียงแต่ กกพ. ท่านยังใจดี ไม่เรียกเก็บในรายย่อย เช่น บ้านเรือนต่างๆ ที่มีกำลังการผลิตเพียง 2-3 กิโลวัตต์ แต่ในส่วนของรายใหญ่ๆ นี่ถูกเรียกเก็บก่อนแน่ โดยเฉพาะพวกพลังงานที่ผลิตจากฟอสซิล จำพวกถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ส่วนพวกที่ติดแผงโซลาร์เซลล์ที่เอาไว้ขายพลังงานให้กับการไฟฟ้านี่ ยังไม่มีรายงานข่าวออกมาพร้อมกันในคราวนี้ว่า ท่านจะประสบชะตากรรมเยี่ยงไร?)
ผมไม่มีความรู้เรื่องพลังงานเลยไม่แน่ใจนักว่า พลังงานที่ได้จากโซลาร์เซลล์นั้นไม่สามารถเก็บสะสมไว้ใช้ในตอนที่ไม่มีแสงแดด อย่างตอนกลางคืนบ้างเลยหรือ? สมมติว่าถ้าสะสมได้ ข้ออ้างของ กกพ. ก็ดูค่อนข้างจะประหลาดที่จะต้องเรียกเก็บเพิ่มเฉพาะตอนกลางคืน ก็เมื่อเขาผลิตสะสมเอาไว้แล้ว จะเอามาใช้ตอนไหนก็ไม่เห็นจะเกี่ยวกับกลางวัน หรือกลางคืนเลยสักนิด
แต่เรื่องนั้นก็ช่างมันเถอะนะครับ เพราะเรื่องที่ผมอยากจะชวนให้คิดกันมากกว่าคือ เอาเข้าจริงแล้ว คนไทยส่วนใหญ่ใช้ไฟฟ้าที่บ้านของตัวเองในเวลากลางวัน หรือเวลากลางคืนมากกว่ากัน?
และโดยไม่มีการสำรวจวิจัย หรือทำโพลอะไรเลยทั้งนั้น (เออ! เล่นกันงี้แหละ) ผมอยากจะเดาเอาจากวิถีชีวิตของคนในเมือง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะทำงานกันตอนกลางวัน และกลับเข้าบ้านเวลาเย็นไปจนถึงช่วงค่ำ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ชีวิตของพวกเขาส่วนใหญ่ อยู่บ้านกันตอนกลางคืนมากกว่ากลางวัน ยกเว้นก็แต่ช่วงวันหยุด ซึ่งก็ย่อมจะมีน้อยกว่าวันที่ไม่หยุดแน่นอน
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเวรี่แม่บ้านอย่างการดูโทรทัศน์ แล้วด่านางอิจฉาในละครภาคค่ำ, นั่งเชียร์หน้ากากเต่าแล้วพลิกแพ้หน้ากากซาลาเปาตกรอบมันซะอย่างนั้น (ที่จริงผมคิดว่าซาลาเปาควรตกรอบตั้งแต่แบตเทิลกับไก่ฟ้าละนะ!), อาบน้ำจากเครื่องทำน้ำอุ่น, หยิบเอาอาหารจากตู้เย็นมายัดใส่เตาไมโครเวฟ, เปิดเแอร์เย็นๆ ก่อนเปิดคอมพิวเตอร์แล้วโหลดบิท เล่นเกมส์ ออนเฟซบุ๊ค หรืออะไรสารพัด ไปจนกระทั่งการเอาโทรศัพท์มือถือไปเสียบสายชาร์จเข้ากับปลั๊กไฟ ทั้งหมดนี่ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในบ้าน หรือห้องพักของพวกเขา ในช่วงเวลาที่ค่อนมาทางตอนกลางคืนมากกว่าที่จะเป็นช่วงกลางวัน
แน่นอนว่า สำหรับบริษัท ห้างร้าน ที่ทำงาน สารพัดออฟฟิศแล้ว อะไรที่ผมร่ายมาในย่อหน้าที่แล้วก็คงจะตรงกันข้าม แต่ในที่นี้เราจะพูดกันถึงเฉพาะค่าไฟที่บุคคลธรรมดาต้องจ่ายไม่ใช่นิติบุคคล หรือบริษัทใดๆ ดังนั้นการที่ กกพ. เลือกที่จะขึ้นค่าไฟเฉพาะตอนกลางคืนก็เท่ากับเลือกเวลาที่คนในเมืองส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน
และก็ไม่ใช่เพิ่งจะมีในสมัยปัจจุบันหรอกนะครับ ที่คนจะใช้ชีวิตกันในเวลากลางคืน เพราะเอาเข้าจริงแล้วในเมื่อมันมีการนอนกลางวันมาตั้งนานแล้ว แล้วเวลาในช่วงกลางคืนน่ะจะไปนอนอะไรให้มันมากนัก?
และก็ไม่ได้มีแค่เฉพาะพวกฝรั่ง อย่างฝรั่งเศสที่เขามีวัฒนธรรมการนอนกลางวันเท่านั้น ผู้คนในภูมิภาคละแวกอุษาคเนย์ของเรานี่เองก็มีการนอนกลางวันกันอยู่ด้วยเป็นเรื่องปกติ ลองสังเกตดูง่ายๆ ก็ได้ว่า ชาวไร่ชาวนาพอทำโน่นนี่นั่นที่ไร่ หรือนาของพวกเขาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็หาที่ร่มๆ แล้วงีบหลับเอาแรงกันทั้งนั้นนั่นแหละ ก็แดดบ้านเราน่ะมันชวนให้ไปอาบเหมือนทางฝั่งยุโรปเขาที่ไหนกัน?
คำอธิบายที่มักจะอ้างต่อๆ กันมา (โดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนแรกที่อ้าง) ว่า การที่ผู้คนในลาว เวียดนาม และกัมพูชา มีวัฒนธรรมการหยุดพักงานเพื่อนอนกลางวันนั้น เป็นสิ่งที่พวกฝรั่งเศสนำมาปลูกฝังให้เมื่อสมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของรัฐอินโดจีน ภายใต้อารักขาของฝรั่งเศส อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว เพราะอันที่จริงแล้วพวกฝรั่งเศสแค่มาทำให้การนอนกลางวันเป็นเวลาที่ถูกระบุให้ชัดเจน และตายตัวมากยิ่งขึ้น พร้อมการเข้ามาของเวลาแบบสมัยใหม่ ที่แบ่งช่วงเวลาในแต่ละวันเสียจนละเอียดยิบมากกว่าที่เคยมีมาในสังคมของอุษาคเนย์ ด้วยความถี่ระดับ 60 วินาที เท่ากับ 1 นาที และ 60 นาที เท่ากับ 1 ชั่วโมง
แต่ก็ไม่ใช่ว่า ผู้คนในภูมิภาคนี้จะไม่มีการจำแนกช่วงเวลาให้ละเอียดลออ โดยสัมพันธ์กับงานการอยู่เลยนะครับ ในเอกสารเก่าแก่ระดับยุคต้นอยุธยาอย่าง ‘กฎมณเฑียรบาล’ ซึ่งก็คือกฎหมายที่ใช้กันเองในวัง ที่ถูกรวบรวมมาเก็บเอาไว้ในกฎหมายตราสามดวงนั้น มีข้อความระบุถึง ‘พระราชนุกิจ’ (อักขรวิธีตามต้นฉบับ ตามศัพท์บัญญัติปัจจุบันสะกดว่า พระราชานุกิจ) ซึ่งก็คืองานประจำวันปลีกย่อยของพระเจ้าแผ่นดินว่า แบ่งออกเป็นช่วงกลางวัน และช่วงกลางคืน เฉพาะช่วงกลางคืนมีใจความระบุว่า
“ค่ำแล้วทุ่ม 1 เบีกนอก พิภากษาการศึก 2 ทุ่มพิภากษาการเมือง สามทุ่ม พิภากษาเนื้อคดีโบราณ 4 ทุ่มเรียกพระกยาเสวย 5 ทุ่มเบีกโหรราชบัณฑิตย สนทนาธรรม 6 ทุ่มเบีกเสภาดนตรี 7 ทุ่มเบีกนิยาย 8 ทุ่ม 9 ทุ่มเข้าบันทมหาประถมตีนม่าน” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
ถึงแม้ พระราชนุกิจ ข้างต้นจะมีลักษณะเป็นพิธีกรรม ไม่ได้มีการปฏิบัตโดยเคร่งครัด เพราะเป็นแบบแผนศักดิ์สิทธิ์ที่ปรับปรุงมาจากพระมนูธรรมศาสตร์ คือคัมภีร์การปกครองของอินเดีย แต่ก็จะพอจะเห็นภาพได้ว่า มีการใช้เวลาสำหรับทำงาน หรือกระทำความรื่นเริง (6 ทุ่มเบีกเสภาดนตรี 7 ทุ่มเบีกนิยาย) ในช่วงกลางคืนอยู่ด้วยจนดึก เพราะหากเชื่อถือตามนี้แล้ว กว่าพระเจ้าแผ่นดินจะได้บรรทมก็ 8 ทุ่ม 9 ทุ่ม หรือตี 2 ตี 3 โน่นเลยแหละครับ เพราะหากย้อนกลับไปดูในพระมนูธรรมศาสตร์ของอินเดียเองจริงๆ แล้ว เขาให้บรรทมกันตั้งแต่ 4 ทุ่มครึ่ง
แต่ของอินเดียจะโหดโฮกกว่ากฎมณเฑียรบาลเรามากเลยทีเดียว เพราะได้บรรทมเร็วก็จริง แต่ก็ต้องทรงพระตื่นตั้งแต่ตี 1 ครึ่งแล้ว ในขณะที่กฎมณเฑียรบาลอยุธยาให้โอกาสทรงพระงีบจนถึง 7 โมงเช้า แถมยังมีช่วงเข้าบรรทมตอนกลางวัน หลัง 10 โมงเช้า และยังให้สำราญพระราชอิริยาบถคือ ถ้าง่วงก็นอนต่อได้จนถึงบ่ายโมงอีกต่างหาก (ก็บอกแล้วว่า นอนกลางวันน่ะ มันเรื่องปกติในหลายๆ วัฒนธรรม) ในขณะที่พระมนูธรรมศาสตร์ของอินเดีย ไม่อนุญาตให้บรรทมตอนกลางวันเลย ดังนั้นในความเป็นจริงแล้ว ‘พระราชนุกิจ’ นี้จึงเป็นเพียง ‘ตุ๊กตา’ ว่าแต่ละวันจะมีตารางงานคร่าวๆ อย่างไรบ้าง โดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามนั้นจริงอย่างเคร่งครัด เพราะคงไม่มีใครที่สามารถนอนหลับเพียงวันละ 3 ชั่วโมงได้ทุกวันหรอก จริงไหม?
ความรู้เรื่อง ‘เวลา’ ของไทยแต่เดิม จึงไม่ได้ละเอียดลออไปจนกระทั่งมีการจำแนกระยะเวลาเป็น นาที หรือวินาที เวลาที่เป็นมาตราอย่างที่สามารถคำนวณและวัดค่าได้ละเอียดถี่ยิบ เป็นวิทยาการจากโลกตะวันตก ที่หลั่งไหลเข้ามาในสยามอย่างท้วมท้นโดยเฉพาะในช่วงสมัยของรัชกาลที่ 4 เท่านั้นเองนะครับ
ดังนั้นต่อให้ในสมัยโน้นมีไฟฟ้าใช้แล้ว อัตราการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนก็ยังต้องสูงอยู่ดี เพราะไม่ใช่ว่าฟ้ามืดแล้วก็จะขึ้นเหล่าเต๊งกันหมดเสียหน่อย แถมการมีไฟฟ้าใช้นั่นแหละที่จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้ชีวิตกลางคืนเป็นไปอย่างสะดวกดายมากยิ่งขึ้น
แต่เรื่องที่ดูจะเป็นวิทยาศาสตร์มากๆ อย่างมาตราการนับเวลา เมื่อเข้ามาสู่สยามในระยะเริ่มแรกกลับถูกนำมาใช้ในเรื่องทางโหราศาสตร์อย่างการดูฤกษ์ยามเป็นสำคัญ เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณเวลาที่จะเกิด ‘กบกินตะวัน’ หรือที่เรียกอย่างสมัยใหม่ว่า ‘สุริยุปราคา’ ได้อย่างเหมาะเหม็ง จนไม่ผิดไปสักวินาทีเดียวนั้น ผมไม่แน่ใจว่าชาวบ้านร้านตลาดในสยามจะชื่นชมในพระอัจฉริยภาพทางด้านดาราศาสตร์ หรือพระกฤษดาภินิหาริจากการคำนวณเลขผานาทีของพระองค์มากกว่ากัน ในเมื่อพวกเขายังเข้าใจว่าพระอาทิตย์นั้นดับลงชั่วคราวเพราะถูกกบ หรือไม่ก็พระราหูอมเข้าไว้ในปาก ไม่ใช่เกิดขึ้นจากเงาของดวงจันทร์มาพาดทับเอาเสียหน่อย?
ดังนั้นต่อให้ในสมัยโน้นมีไฟฟ้าใช้แล้ว อัตราการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนก็ยังต้องสูงอยู่ดี เพราะไม่ใช่ว่าฟ้ามืดแล้วก็จะขึ้นเหล่าเต๊งกันหมดเสียหน่อย แถมการมีไฟฟ้าใช้นั่นแหละที่จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้ชีวิตกลางคืนเป็นไปอย่างสะดวกดายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่เวลากลายเป็นเรื่องที่มีแบบแผนเป็นมาตรฐานตายตัว ไม่ใช่แบบแผนอันศักดิ์สิทธิ์ที่ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้เหมือนแต่ก่อน
การขึ้นค่าไฟฟ้าในช่วงกลางคืนก็คือการเรียกเก็บเอาเงินค่าไฟให้หนักขึ้น ในช่วงที่คนเมืองจำเป็นต้องใช้นั่นแหละครับ ไม่ต้องไปอ้างโซลาร์เซลล์อะไรหรอก ใครๆ เขาก็รู้ทันนะรู้ไหม? ปั๊ดโธ่!